#ELLEMEN5Facts ย้อนร้อยเส้นทาง Kim Jones พลิกโฉมโลกแฟชั่นชายยุคใหม่

นานมากแล้วที่ผมไม่เห็นข่าวการเล่นเก้าอี้ดนตรีโยกย้ายสลับสับเปลี่ยนตัวดีไซเนอร์ยกใหญ่ขนาดนี้ การเปลี่ยนตัวหัวเรือของแต่ละแบรนด์ชั้นนำระดับเท่าโลกที่เห็นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นสัญญาณให้คนแฟชั่น ‘ต้อง’ จับตาดูให้ดีว่าโลกพาณิชยศิลป์แขนงนี้จะหมุนไปในทิศทางใด

แน่นอนว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งเรื่องให้ได้ลุ้น ปลาบปลื้ม และรู้สึกใจหาย อย่างเช่นกรณีการประกาศโบกมือลาลงจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์คอลเล็กชั่นบุรุษของ Kim Jones (คิม โจนส์) ที่เมซง Dior เมื่อปลายเดือนมกราคมคืออีกหนึ่งข่าวที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้น เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 7 ปีที่เข้าไปคุมบังเหียนกำหนดทิศทางคอลเล็กชั่นสำหรับฝั่งชายของเมซงหลังนี้ Kim Jones ทำให้ผมรู้สึก ‘ว้าว!’ ได้เกือบทุกคอลเล็กชั่น ตั้งแต่ผลงานแรกที่เขาต้องการให้เรียกเพียงชื่อ Dior โดยตัดคำว่า Homme มรดกจากยุค Hedi Slimane (เอดิ สลิมาน) แะ Kris Van Assche (คริส แวน อาช) ออก เพื่อไม่ต้องแยกไลน์ว่าเป็นหญิงหรือชายให้วุ่นวายในฤดูกาล Spring-Summer 2019 จนถึงฤดูกาลล่าสุด Fall-Winter 2025 ที่ผมกล่าวถึงไว้ในรีวิวบนเว็บไซต์ของแอลเมนไทยแลนด์ว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม สอดคล้องกับความคิดเห็นของสื่อดังอีกหลายสำนัก และเสียง ‘Bravo!’ จากผู้ชมในเต็นท์ที่ลุกขึ้นยืนปรบมือนานต่อเนื่องหลายนาที

Dior Spring-Summer 2019 ผลงานแรกโดย Kim Jones

ELLE MEN Thailand ขอทำหน้าที่เป็นไดอารี่บันทึกประวัติศาสตร์ของโลกแฟชั่น พาไปพบกับ 5 Facts Get to About Kim Jones ว่าทำไมนักออกแบบแฟชั่นชาวอังกฤษวัย 51 ปีรายนี้จึงเป็นที่รักของคนทั่วทั้งวงการ มีแฟนคลับติดตามคอยอุดหนุนผลงานทุกๆ ซีซั่น และทำไมจึงเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าชายที่น่ายกย่องที่สุดคนหนึ่งของโลกแฟชั่นในศตวรรษที่ 21

Dior Fall-Winter 2025 ผลงานสุดท้ายโดย Kim Jones

1. ศิษย์เอกจากรั้ว Central Saint Martins

Kim Jones จบจากสถาบันแฟชั่นเบอร์ต้นของโลก Central Saint Martins สถานที่บ่มเพาะนักออกแบบผู้มีชื่อเสียงอยู่ในวงการเวลานี้ อาทิ John Galliano (จอห์น กัลลิอาโน), Sarah Burton (ซาร่าห์ เบอร์ตัน), Phoebe Philo (ฟีบี ไฟโล) และ Stella McCartney (สเตลา แมคคาร์ทนีย์) และหนึ่งในโมเมนต์ที่ทำให้ชื่อของเขาถูกพูดถึงเป็นวงกว้างคือครึ่งหนึ่งของคอลเล็กชั่นจบการศึกษาในปี 2002 ได้ถูกกว้านซื้อไปโดยสุดยอดกูตูริเยร์ระดับ John Galliano ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่แม้แต่เจ้าตัวก็ยังรู้สึกเซอร์ไพรส์และประทับใจจนบอกเล่าเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง และเมื่อเขาตัดสินใจจะเปิดแบรนด์แฟชั่นในชื่อตัวเองปี 2003 (ปิดตัวลงในปี 2008) ยังได้ที่ปรึกษาเป็นถึงอีกหนึ่งสุดยอดนักออกแบบที่ไม่มีใครไม่รู้จัก Lee Alexander McQueen (ลี อเล็กซานเดอร์ แมคควีน) จึงบอกได้ว่าในช่วงยุค 2000s ไม่มีแฟชั่นดีไซเนอร์หน้าใหม่รายใดฮอตไปกว่า Kim Jones อีกแล้ว

“ยุคนั้นคนแฟชั่นและผู้ชื่นชอบแฟชั่นนิยมพูดคุยกันผ่านเว็บบอร์ด และ Kim Jones คืออีกหนึ่งชื่อที่ถูกพูดถึงอยู่เนืองๆ เพราะแฟชั่นฝั่งผู้ชายเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น มีหลายแบรนด์ทำเสื้อผ้าผู้ชายน่าสนใจกว่าฝั่งหญิงด้วยซ้ำไป Kim มีมุมมองในการทำเสื้อผ้าผู้ชายฉีกไปจากเสื้อผ้าแบบสกินนี่ลุคซึ่งกำลังได้รับความนิยมในท้องตลาด และทำเสื้อผ้าน่าสนใจตั้งแต่งานจบจนถึงคอลเล็กชั่นภายใต้ชื่อแบรนด์ของตัวเอง” Wattakul N. นักเขียนแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ผู้เคยร่วมทำหน้าที่ดูแลเว็บบอร์ดของเว็บไซต์แฟชั่นไทยเจ้าดัง ThaiCatWalk ถ่ายทอดเรื่องราวในช่วงเวลานั้น

Umbro โดย Kim Jones

“เรียกว่าในช่วงยุค 2000s ใครกำลังเบื่อหรืออาจมีรูปร่างไม่เหมาะกับเสื้อผ้าแนวสกินนี่ของแบรนด์ดังๆ ทั้งจากฝั่งยุโรปหรือแม้แต่จากฮ่องกงที่กำลังได้รับความนิยม อาทิ Dior Homme โดย Hedi Slimane, April 77 และ 5CM ก็จะชอบผลงานของ Kim Jones เพราะมีกลิ่นอายของแฟชั่นสปอร์ต เหมาะกับคนเมือง สวมใส่สบาย และเท่มาก มีกิมมิกชุดกีฬาชัดเจน การผสานเสื้อสไตล์สปอร์ตแวร์ เข้ากับแฟชั่นคนเมืองนี่ถือเป็นเอกลักษณ์ของ Kim Jones ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และนั่นจึงทำให้ไปเข้าตาแบรนด์กีฬาชื่อดังอย่าง Umbro ร่วมกันทำคอลเล็กชั่นพิเศษ คอแฟชั่นพากันกรีดร้องด้วยความอยากได้ การร่วมงานของ Kim Jones และ Umbro นี่ละ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการวางรากฐานแนวคิดการทำคอลลาบอเรชั่นจนทำให้เขากลายเป็นตัวพ่อด้านการทำคอลแลปส์”

Dunhill Spring-Summer 2011 โดย Kim Jones

2. ตัวพ่อด้านการทำคอลลาบอเรชั่น

ย้อนกลับไปปลายปี 2021 ขณะดำรงตำแหน่งควบดูแลทั้งแฟชั่นฝั่งบุรุษของ Dior และฝั่งสตรีที่ Fendi ได้สร้างความฮือฮาด้วยการจับมือ Donatella Versace (โดนาเทลลา เวอร์ชาเช่) ร่วมกันออกแบบคอลเล็กชั่นพิเศษ Fendace หรือเป็นคอลแลปส์พิเศษ Fendi x Versace ตอกย้ำสองประเด็นที่กล่าวไว้ตอนต้น เขาเป็นที่รักของคนทั่ววงการ และ Kim เหมาะกับฉายา ‘ราชาแห่งการคอลแลปส์’ อย่างแท้จริง โดยจุดเริ่มแนวคิดนี้คือคำที่ยิ่งใหญ่ ‘โอกาส’ เขาเคยอยู่ทั้งในฐานะของผู้รับโอกาส และจะทำหน้าที่มอบโอกาส โดยโอกาสที่ว่าซึ่งมาในคราบการคอลลาบอเรชั่นมักสร้างผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ การผสานองค์ความรู้จากเหล่าผู้สันทัดในงานต่างแขนงนั้นมักนำมาซึ่งผลงานน่าสนใจ

Fendace: Fendi and Versace, 2022

Kim ดึงเหล่าคนสร้างสรรค์หลากแขนงมาร่วมงานอยู่เสมอ และทำเช่นนี้ทั้งที่แบรนด์ของตัวเอง (Kim Jones 2003-2008) ขณะดูแลคอลเล็กชั่นบุรุษของ Alfred Dunhill (ปี 2008-2011) ตำแหน่งเดียวกันที่เมซง Louis Vuitton (ปี 2011-2018) แต่เด่นชัดที่สุดก็คือตอนมาอยูที่ Dior และฮือฮาตั้งแต่โชว์เดบิวต์ในปี 2019 มีทั้งประติมากรรมใหญ่ยักษ์เป็นรูป Companion มาสคอตของ Kaws ศิลปินชาวอเมริกันคนดังแห่งวงการสตรีท ตัวสีชมพูใหญ่ยักษ์สวมชุดสูทสีดำสไตล์ Dior Monsieur ยืนเด่นเป็นสง่าอยู่กลางรันเวย์ ฮาร์ดแวร์สำหรับเสื้อผ้าและกระเป๋าที่ออกแบบร่วมกับ 1017 ALYX 9SM เครื่องประดับที่ออกแบบร่วมกับ Ambush งานปักโดย Maison Lemarié ยกระดับเสื้อผ้าบุรุษให้เทียบเท่าโอตกูตูร์ฝั่งสตรี แถมคอลเล็กชั่นนี้ยังมีเชิ้ตซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากกูตูร์ชุดเด่นและนาฬิกาคลิปล็อกชิ้นไอคอนิกของ Dior ในยุคของ John Galliano นักออกแบบที่ Kim เคารพรัก

Companion โดย Kaws, Dior Spring-Summer 2019

ตลอดช่วงเกือบ 10 ปีนี้ Kim Jones ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของการเป็นตัวพ่อสายคอลแลปส์ ไม่เพียงร่วมกันออกแบบผลงานสำหรับแบรนด์ Dior และ Fendi แต่รวมไปถึงโปรเจ็กต์ส่วนตัวที่ไปทำการคอลแลปส์กับ GU, Nike และ Converse ตลอดสองทศวรรษนับตั้งแต่ที่ลงถนนสายแฟชั่นอย่างเต็มตัว Kim ได้ร่วมงานกับทั้งแบรนด์และศิลปินดังไปค่อนวงการ แถมโปรเจ็กต์พิเศษต่างๆ ที่ออกมาก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ดังว่า และทำให้มีแฟนคลับต่างเจเนอเรชั่นมากขึ้นตามลำดับ

Nike x Kim Jones, 2021

3. ราชาแห่ง Men’s Couture ยุคใหม่

Kim Jones พยายามยกระดับผลงานฝั่งบุรุษของ Dior ให้เทียบเท่ากับอาภรณ์ชั้นสูงฝั่งสตรี เมื่อบวกกับการที่เขาชื่นชมกูตูริเยร์ระดับตำนาน อาทิ Karl Lagerfeld (คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์), Gianni Versace (จิอานนิ เวอร์ซาเซ่) และ John Galliano และมีโอกาสได้เข้าไปดูแลแผนก Reay-to-Wear ฝั่งสตรี และ Haute Couture ของ Fendi ด้วยแล้วทำให้ Kim เริ่มซึมซับศาสตร์การรังสรรค์อาภรณ์ชั้นสูงมากขึ้น เราจึงได้เห็นงาน ‘มาสเตอร์พีซ’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโอตกูตูร์ชิ้นเลื่องชื่อในอดีตของเมซง Dior ในคอลเล็กชั่นบุรุษภายใต้การดูแลของเขาอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งมีการแนะนำ Men’s Couture อย่างเป็นทางการในฤดูกาล Fall-Winter 2024 และในคอลเล็กชั่นสุดท้ายเมื่อต้นปี ลุคฟินาเล่ที่ได้แรงบันดาลใจจากเสื้อคลุม Pondichéry ของคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ฤดูร้อนปี 1948 ผลงานการออกแบบของเมอซิเออร์ Christian Dior ก็ได้รับการชื่นชมอย่างล้นหลาม

การมาของ Kim Jones ที่ Dior จึงไม่เพียงเป็นการยกระดับผลงานคอลเล็กชั่นฝั่งบุรุษให้เทียบเท่ากับโอตกูตูร์ฝั่งสตรีเพียงเท่านั้น แต่ยังทำให้แผนกตัดเย็บของ Dior ฝั่งชายได้ทำงานใกล้ชิดกับเหล่าอาเตอลิเยร์ด้านงานหัตถศิลป์ผู้อยู่เบื้องหลังคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ ของเมซง และทำให้โลกของแฟชั่นบุรุษและสตรีแนบชิดกันยิ่งขึ้น

4. นักออกแบบผู้ทลายเส้นแบ่งของเพศ

อีกสไตล์ของ Dior ในยุค Kim Jones ที่เห็นได้ชัดระยะหลัง คือการออกแบบผลงานภายใต้แนวคิดทลายเส้นแบ่งเพศที่ใช้เครื่องแต่งกายภายนอกเป็นตัวกำหนด โดยเฉพาะกับในช่วง 3 ปีนี้ที่เขามักนำเสนอชิ้นงานดูคลุมเครือจนไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีไว้สำหรับเพศใด อย่างงานออกแบบกางเกงซึ่งดูคล้ายกระโปรงไปจนถึงกระโปรงอัดพลีตสำหรับบุรุษ เชิ้ตลูกไม้หรูหรา รองเท้าบัลเลต์ ไปจนถึงเครื่องประดับรูปทรงแปลกตา ยังไม่นับเหล่าชิ้น Men’s Couture บางชิ้นมีรูปแบบใกล้เคียงกับงานต้นฉบับราวกับต้องการให้ผู้ชายได้ลองสวมและสัมผัสกับอาภรณ์ชั้นสูงที่ครั้งหนึ่งเคยถูกออกแบบไว้สำหรับสตรี

Kim Jones ยังมีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายอย่างลึกซึ้ง เขาจึงกลับไปหยิบเอาสีชมพูที่เคยได้รับความนิยมในการแต่งกายของเหล่าสุภาพบุรุษในศตวรรษที่ 18 กลับมาทำให้เป็นเมเจอร์เทรนด์อีกครั้งตั้งแต่งานเดบิวต์สำหรับ Dior จนกระทั่งผลงานครั้งสุดท้าย รวมไปถึงการนำรายละเอียดงานปักและการตกแต่งของอาภรณ์ของเหล่าสตรีในราชสำนักโบราณมาปรับใช้กับเครื่องแต่งกายบุรุษยุคใหม่ หลอมรวมความเป็นชายและหญิงเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

Dior Spring-Summer 2019

5. ดีไซเนอร์ขวัญใจวัยมิลเลนเนียลส์

หากถามว่านักออกแบบรายใดเป็นขวัญใจของคนเสพแฟชั่นวัย Gen-Y ถึง Gen-Z ผมเชื่อว่าต้องมีชื่อของ Kim Jones ติดอยู่ในลำดับต้นๆ เขาคือนักออกแบบผู้เข้าใจวัฒนธรรมสมัยนิยมของโลกยุคใหม่ อีกทั้งยังสัมผัสได้ถึงวัฒนธรรมเยาวชนที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนโลกแฟชั่น โดยเฉพาะกับยุคนี้ที่โลกถูกขับเคลื่อนโดยโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ปรากฏการณ์โซเชียลแตกในปี 2017 ที่ไปทาบทามแบรนด์ขวัญใจสายสตรีต Supreme มาร่วมออกแบบกับ Louis Vuitton จนมาถึงการดึงเอา Nike Jordan มาเจอกับ Dior ในปี 2019 และร่วมงานกับ Travis Scott ภายใต้แบรนด์ Cactus Jack ในปี 2021 เขาสร้างกระแสให้แบรนด์ที่ดูแลอย่างต่อเนื่อง

Louis Vuitton Fall-Winter 2017 โดย Kim Jones

ด้วยความสำเร็จในทุกย่างก้าวตลอดระยะเวลา 14 ปีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญช่วยผลักดันแบรนด์แฟชั่นจากฝรั่งเศสทั้ง Louis Vuitton และ Dior ให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาทางรัฐบาลฝรั่งเศสจึงมอบเหรียญอัศวินเชิดชูเกียรติ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์พลเรือนชั้นสูงสุดของฝรั่งเศส โดยทางเมซง Dior ได้ออกแถลงการณ์ในโอกาสสำคัญ “การได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นการยกย่องความสามารถ ความหลงใหล และความมุ่งมั่นของผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของไลน์ผลิตภัณฑ์บุรุษของ Dior” ขณะที่เจ้าตัวเองก็ได้กล่าวด้วยความปีติแก่ทาง WWD

“ผมตกใจมากจริงๆ เมื่อได้รับจดหมาย ถึงกับร้องไห้เลย ถือเป็นการฉลองผลงานและความสำเร็จที่ผ่านมา นี่คือสิ่งที่ผมไม่เคยคิดว่าจะได้รับด้วยซ้ำ เพราะไม่คิดว่าชาวต่างชาติมีโอกาสที่จะได้รับ และถือเป็นคำชมเชยที่แท้จริง” …สำหรับผม Kim Jones คู่ควรกับการยกย่องสรรเสริญในฐานะคนสร้างสรรค์ผู้ยิ่งใหญ่ และไม่ว่าจะอย่างไรผมเชื่อว่าการปิดฉากของเขาที่ Dior ยังไม่ใช่ปลายทางของถนนสายแฟชั่นสำหรับเขา เพราะเชื่อว่าเขาคงมีเรื่องเซอร์ไพรส์ให้เราได้ติดตามกันต่อในเร็วๆ นี้แน่นอน

Photo: Courtesy of the Brand, Launchmetrics

Similar Articles

More