ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา กระแสรักษ์โลกกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษ สืบเนื่องจากผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่นับวันจะใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที และอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวการอันดับต้นๆ ของสาเหตุการก่อสภาวะโลกร้อนนี้ เมื่อถูกกล่าวหามีหรือที่คนแฟชั่นจะดูดายกับปัญหาระดับโลกขนาดนี้ กระแส ‘Sustainable’ หรือ ‘เทรนด์รักษ์โลก’ จึงถือกำเนิดขึ้นจากเหล่ากลุ่มคนแฟชั่นที่อยากจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เสพติดการซื้อที่ไม่จำเป็นมากเกินไป
Marine Serre Spring/Summer 2025
ในปี 2019 ได้มีการจัดประชุม G7 ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยได้จัดตั้งโครงการ ‘Fashion Pact’ ขึ้น โครงการที่มุ่งเน้นให้บริษัทที่ดำเนินการด้านแฟชั่นมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน ซึ่งการประชุมครั้งนั้นมีองค์กรแฟชั่นทั้งระดับไฮเอนด์และ Fast Fashion เข้าร่วมมากมายรวม 32 องค์กร กว่า 150 แบรนด์ อาทิ Chanel, Prada Group, Kering ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Balenciaga, Gucci, Saint Laurent รวมไปถึงแบรนด์สปอร์ตยักษ์ใหญ่อย่าง Adidas และ Nike
Balenciaga Fall/Winter 2024
หัวข้อหลักๆ ของการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยเรื่องการหยุดภาวะโลกร้อน สาระสำคัญที่ขอความช่วยเหลือจากทุกแบรนด์ที่เข้าร่วมฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเน้นหนักไปที่ระบบนิเวศทางธรรมชาติและการคุ้มครองสัตว์ สุดท้ายคือการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล กว่า 6 ปีในการตกลงกันมีรายงานว่าจาก 14 แบรนด์แฟชั่นชั้นนำทั่วโลก มีแค่ 4 แบรนด์เท่านั้นที่สามารถลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสตามกำหนดเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาวะโลกร้อนได้ หรือแม้กระทั่งแบรนด์ที่อุทิศตัวเองให้กับความยั่งยืนที่เห็นชัดๆ ยังมีแค่ Stella McCartney, Gabriela Hearst และ Marine Serre เท่านั้น นั่นอาจเป็นเพราะว่าการลงมือทำจริงๆ นั้นซับซ้อนและยากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลา ความเชี่ยวชาญ และเม็ดเงินที่ล้วนจำเป็นต้องใช้ในการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต
Prada Fall/Winter 2024
อย่างไรก็ตาม ในปี 2024 นี้มีความคืบหน้าขึ้นบ้างในแง่ของมาตราการในการปรับใช้ไม่ใช่แค่เรื่องการตลาดอย่างเดียว เริ่มด้วย EU ได้รับรองกฎหมายเรื่อง Eco-Design โดยมาตราการแรกคือการแบนการทำลายเสื้อผ้าและรองเท้าที่ไม่ใช้แล้วผ่านการเผาหรือฝังสาเหตุหลักในการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตรวจสอบวัสดุการผลิตโดยเฉพาะรองเท้าว่าสามารถนำมารีไซเคิล ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนไปใช้เป็นอย่างอื่นแทนได้หรือไม่ และ Digital Product Passport ใช้ในการเปิดเผยแหล่งที่มาของโปรดักต์เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าโปรดักต์นั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร
Gucci Fall/Winter 2024
หนึ่งปัญหาหลักของอุตสาหกรรมแฟชั่นเลยคือการผลิตมากเกินไป ซึ่งกระบวนการผลิตสินค้าแฟชั่นมักเกิดจากการคาดเดาขององค์กรผ่านตัวเลขเชิงสถิติที่ไม่ได้การันตีความแม่นยำ การซื้อสินค้าแบบ On-Demand จริงเริ่มเกิดขึ้น แบรนด์ Desigual เริ่มใช้โมเดลนี้ในการผลิตสินค้าผ่านการให้ลูกค้าเลือกสินค้าที่ตัวเองอยากซื้อจริงๆ ก่อนจะผลิต เช่นเดียวกับ Eckhaus Latta ที่พาร์ตเนอร์กับบริษัทเทคโนโลยี Unspun ในการใช้ 3D จำลองเสื้อผ้าขึ้นมาก่อนที่จะผลิตจริง
Marine Serre Fall/Winter 2024
เทรนด์แฟชั่นที่ไม่เคยหายไปเลยจากวงการแฟชั่นคือการย้อมสีผ้า เทคนิคที่แบรนด์ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ล้วนใช้กันอย่างแพร่หลาย หารู้ไม่ว่าการย้อมผ้าดังกล่าวเป็นการส่งสารพิษสู่สภาพแวดล้อมโดยตรง น้ำด่างที่เราใช้ย้อมผ้าเมื่อถูกเททิ้งสร้างมลภาวะเป็นพิษต่อทั้งแม่น้ำและพื้นดิน อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตสารย้อมผ้าได้ปรับวิธีการใช้สารเคมีเพื่อลดมลภาวะจากการย้อมนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอย่าง Colorifix สีย้อมผ้าที่ทำขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียที่สามารถสลายเองได้โดยธรรมชาติ
Marine Serre Fall/Winter 2024
ปัจจุบันแบรนด์ Pangaia ก็เลือกใช้สีย้อมผ้าชนิดนี้แทน Living Ink สีย้อมผ้าที่ผลิตขึ้นจากสาหร่าย เป็นต้น สาหร่ายยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเชิงอนุรักษ์โลก เพราะสาหร่ายกำลังกลายเป็นวัตถุดิบทางเลือกในการนำมาใช้เป็นเส้นใย เราเคยได้ยินเรื่องเห็ดที่ถูกนำมาใช้เป็นหนังเทียมแทนการใช้หนังสัตว์จริงๆ มาแล้ว เช่นเดียวกับสาหร่ายคอลเล็กชั่น Spring 2024 จาก Stella McCartney ได้นำเสนอเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยสาหร่ายชื่อ Kelsun ซึ่งจุดประกายให้แบรนด์อื่นๆ เริ่มหันมาสนใจการใช้เส้นใยจากธรรมชาติทดแทนนี้กันมากขึ้นตามลำดับ
Gabriela Hearst Fall/Winter 2024
เทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เทรนด์ยั่งยืนสามารถทำได้จริง การรีไซเคิลถือเป็นวิธีการที่ใช้บ่อยที่สุดในการแปรขยะให้เกิดประโยชน์ แต่หารู้ไม่การรีไซเคิลขยะให้กลายเป็นเส้นใยผลิตเสื้อผ้านั้นมีรายงานว่าเกิดขึ้นเพียงแค่ 1% เท่านั้น ด้วยสาเหตุของความซับซ้อนในการจำแนกเส้นใยของเสื้อผ้าเก่าๆ ที่จะนำมาใช้ทำเป็นเส้นใยรีไซเคิล บริษัท Circ ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยในการจำแนกประเภทของเส้นใย ซึ่งสามารถเปลี่ยนเส้นใยอย่างพอลิคอตตอนให้กลายเป็นพอลิเอสเตอร์ได้
Stella McCartney Fall/Winter 2024
Mara Hoffman ดีไซเนอร์คนแรกที่ใช้เทคโนโลยีจาก Circ ในการผลิตเส้นใยใหม่จากเสื้อผ้ารีไซเคิล ที่เรากล่าวมาทั้งหมดเป็นความคืบหน้าไม่ถึง 10% ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีต่อกระแสความยั่งยืน แม้จะดูน้อยแต่หลายๆ แบรนด์เริ่มขานรับและเลือกใช้วัสดุทางเลือกกันมากขึ้น เรายังต้องติดตามเรื่องนี้กันอย่างใกล้ชิด อย่าให้คำว่า ‘รักษ์โลก’ เป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากปัญหาสิ่งแวดล้อมก็คือพวกเราเองนี่เหละ
Stella McCartney Fall/Winter 2024