Words: Poom Petsophonsakul
Photo: Wikipedia
ภาพวาดสีน้ำมันยาวเกือบ 3 เมตร เป็นรูปของชายผู้สูงศักดิ์ยืนด้วยท่าทางที่สง่าผ่าเผย บนร่างปกคลุมด้วยเสื้อที่ปักดอกเฟลอร์เดอลี หรือดอกไอริส อันแสดงถึงตราประจำตระกูลที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์ฝรั่งเศส ใครที่คลุกคลีอยู่กับประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสจะรู้ทันทีว่าเขาคือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (Louis XIV of France) ผู้นำความเรืองรองด้านศิลปวิทยาการให้กับฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 17-18 ภาพวาดนี้ถูกวาดขึ้นในปี 1701 โดย อียาแซ็งต์ รีโก (Hyacinthe Rigaud) ศิลปินชาวคาตาลัน-ฝรั่งเศส ผู้เติบโตในกระแสศิลปะยุคบาโรก จะสังเกตว่าในภาพวาดสีน้ำมันนี้ไม่มีอะไรเด่นไปกว่ารองเท้าส้นสูงสีแดงที่เข้ากันได้ดีกับผ้าม่านสีแดงฉานที่อยู่ข้างหลัง
รองเท้าสีแดงของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
รองเท้าส้นสูงสีแดงคู่นี้ไม่ใช่รองเท้าธรรมดาทั่วไป แต่เป็นรองเท้าตัวเก่งของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระองค์ชอบสวมใส่ไปพบปะผู้คนในแวดวงชนชั้นสูงของพระราชสำนัก และกลายเป็นว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมา รองเท้าส้นสูงก็เริ่มเป็นที่แพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงของฝรั่งเศส และกลายเป็นแฟชั่นที่ฮิตกันในหมู่สุภาพบุรุษในยุคนั้น

ในปัจจุบันเราอาจเห็นว่ารองเท้าส้นสูงเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายที่ผู้หญิงนิยมสวมใส่กัน ทั้งที่จริง ๆ แล้ว รองเท้าส้นสูงของผู้หญิง ไม่ว่าจะส้นตึกหรือส้นเข็มล้วนมีที่มาจากรองเท้าของผู้ชายซึ่งเริ่มจากการเป็นรองเท้าสำหรับขี่ม้ามาก่อน

ที่มาของรองเท้าส้นสูงมาจากการแต่งตัวของทหารม้า
ที่มาของรองเท้าส้นสูงสืบย้อนไปได้ไกลถึงศตวรรษที่ 15 ในประเทศเปอร์เซีย โชคดีที่ศิลปินชาวเปอร์เซียในยุคกลางสามารถเก็บรายละเอียดเครื่องแต่งกายของทหารม้าเปอร์เซียในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี จะเห็นว่าทหารม้ามีการสวมรองเท้าส้นสูง ทั้งนี้เพื่อสามารถสอดรับกับโกลนเวลาขี่ม้าได้อย่างพอดิบพอดี ซึ่งต่อมาผู้ลี้ภัยชาวเปอร์เซียได้นำเทรนด์การใส่รองเท้าส้นสูงนี้ไปเผยแพร่ต่อในยุโรป ทำให้เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มชนชั้นสูง เพราะข้อดีของการใส่รองเท้าส้นสูงนั้น นอกจากจะให้ความสูงแล้ว (ว่ากันว่าชาวยุโรปยุคนั้นตัวเล็กกว่าปัจจุบัน) ยังช่วยเพิ่มความรู้สึกน่าเกรงขามอีกด้วย

รองเท้าส้นสูงพัฒนาเป็นรองเท้า ‘ส้นตึก’ นิยมในหมู่ผู้หญิงชนชั้นสูง
รองเท้าส้นสูงเริ่มมีพัฒนาการถึงจุดที่กลายเป็นรองเท้า ‘ส้นตึก’ และเป็นที่นิยมกันในหมู่ผู้หญิงชนชั้นสูงในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองเวนิส พบว่ามีรองเท้าที่มีความสูงของส้นถึง 54 เซนติเมตร ผู้หญิงในยุคนั้นมักสวมใส่รองเท้าและปิดคลุมด้วยชายกระโปรงเพื่อทำให้สูงตามธรรมชาติ และยิ่งชายกระโปรงยาวมากเท่าไรก็ยิ่งบ่งบอกถึงสถานะทางสังคมมากขึ้นเท่านั้น

รองเท้าส้นสูงของผู้ชายเริ่มเสื่อมนิยมลง
แฟชั่นการใส่รองเท้าส้นสูงของผู้ชายเริ่มเสื่อมนิยมลงในช่วงศตวรรษที่ 18 เนื่องจากการมาของยุคเรืองปัญญา ผู้ชายเริ่มหันมาให้ความสนใจกับเรื่องเพศ ปรัชญา สังคมมากขึ้น เกิดค่านิยมที่ว่าผู้ชายมีเหตุผลมากกว่าผู้หญิง และมองว่าผู้หญิงเป็นเครื่องหมายของความเจ้าอารมณ์ เรื่องนี้ยังส่งผลโดยตรงกับเรื่องการแต่งกายอีกด้วย ผู้ชายในยุคนั้นเริ่มแต่งตัวโทนสีเดียว ลดความมีสีสันน้อยลงเพื่อลดค่านิยมบ่งบอกสถานะผ่านการแต่งกาย การสวมรองเท้าส้นสูงที่มีดีไซน์สวยงามจึงตกไปจนกลายเป็นการแต่งกายเฉพาะผู้หญิง ขณะที่รองเท้าผู้ชายถูกพัฒนาให้กลายเป็นรองเท้าหนังที่เสริมส้นเรียบง่าย
จะว่าไปแฟชั่นนั้นล้วนผูกโยงอยู่กับบริบททางสังคมอยู่เสมอ ประวัติศาสตร์ที่มาของรองเท้าส้นสูงจึงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ และบางทีอาจต้องขอบคุณศิลปินในยุคก่อนที่นำเสนอแฟชั่น (แม้ว่าจะมาจากทหารก็ตาม) ออกมาเพื่อให้คนรุ่นหลังเข้าใจได้ชัดขึ้น กลับมาที่ยุคสมัยปัจจุบัน เราต้องตัดเรื่องค่านิยม ความเชื่อ และบริบททางสังคมเก่า ๆ ออกไป และใช้ชีวิตด้วยความเสรีภาพอย่างถ่องแท้ รองเท้าส้นสูงนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเพศใดเป็นพิเศษ แต่ถูกออกแบบมาเพื่อมนุษย์ทุกเพศทุกวัย ไม่มีใครเจ้าอารมณ์ หรือมีเหตุผลมากกว่าหรือน้อยกว่าใคร ทุกวันนี้เราคงไม่จำเป็นต้องสวมใส่เพื่อแสดงสถานะอีกต่อไปแล้ว ขอให้มีเพียงความมั่นใจในความเป็นตัวเราเพื่อแสดงความเป็นตัวเองต่อสังคมได้อย่างภาคภูมิ เพราะแฟชั่นนั้นล้วนเป็นของทุกคน