‘Raymond Poon’ กับบทบาทเบื้องหลังดิอาจิโอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในโลกของเครื่องดื่มระดับไฮเอนด์ ชื่อของ Diageo (ดิอาจิโอ) มักเป็นที่คุ้นหูในฐานะบริษัทผู้ดูแลแบรนด์สุราระดับตำนานกว่า 200 แบรนด์ในกว่า 180 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในบุคคลที่อยู่เบื้องหลังประสบการณ์สุดพิเศษของกลุ่มลูกค้าคือ Raymond Poon (เรย์มอนด์ พูน) ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลกลุ่มลูกค้าระดับไพรเวท ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้เดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมงานเปิดตัวโปรเจกต์ล่าสุดของแบรนด์

“ผมรู้สึกตื่นเต้นมากกับพลังของตลาดลักชัวรีในไทยที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง” เรย์มอนด์เปิดบทสนทนาด้วยรอยยิ้ม

เบื้องหลังความหรู ไม่ใช่แค่ชื่อแบรนด์ แต่คือ ‘เรื่องราว’

ในยุคที่ผู้บริโภคไม่ได้มองหาความหรูหราเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการ “ประสบการณ์” ที่ลึกซึ้งและมีความหมาย การเข้าใจต้นทางของสิ่งที่ดื่ม ทั้งประวัติศาสตร์ สถานที่ กระบวนการผลิต ไปจนถึงตัวบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง จึงกลายเป็นหัวใจของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า

เรย์มอนด์เล่าถึงประสบการณ์เฉพาะตัวที่ลูกค้าบางคนได้รับ เช่น การเดินทางไปยังโรงกลั่นที่สกอตแลนด์เพื่อเลือกถังด้วยตนเอง ทดลองชิมในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ให้รสชาติแตกต่างกันเพราะกระบวนการบ่มที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล และสำหรับใครที่ได้ไปเยือนเอดินบะระ เขาแนะนำให้ลองแวะ Johnnie Walker Princes Street อาคารสูง 7 ชั้นที่ผสานพิพิธภัณฑ์ บาร์ ร้านอาหาร และเวิร์กช็อปไว้ในที่เดียว

หนึ่งในบุคคลที่น่าสนใจในโลกของวิสกี้คือ ดร. Emma Walker (เอมม่า วอล์กเกอร์) มาสเตอร์เบลนเดอร์หญิงคนแรกของ Johnnie Walker ซึ่งเข้ารับตำแหน่งต่อจาก ดร. Jim Beveridge (จิม เบเวอริดจ์) พร้อมแนวทางการทำงานที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ประวัติศาสตร์ในถังไม้โอ๊ก

แบรนด์ในเครือของดิอาจิโอส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โรงกลั่นอย่าง Brora และ Port Ellen เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ Brora เคยปิดตัวไปเมื่อปี 1983 ก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากยุทธศาสตร์ของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการผลิตสำหรับการเบลนด์

อีกหนึ่งโรงกลั่นที่น่าจับตาคือ Royal Lochnagar ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พระราชวัง Balmoral ในสกอตแลนด์ โรงกลั่นขนาดเล็กแห่งนี้ถือเป็นสถานที่สำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

“ทุก ๆ 8 ปี เราจะต้องรีวิวสูตรการเบลนด์ทั้งหมด เพื่อให้รสชาติยังคงความต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจัยอื่น ๆ จะเปลี่ยนไป” เรย์มอนด์กล่าว

ความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้คน

ทีมของเรย์มอนด์ในสิงคโปร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าระดับไพรเวทโดยเฉพาะ ผ่านการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในโลกลักชัวรีและแฟชั่น ซึ่งช่วยให้ลูกค้าได้ทำความรู้จักกับแบรนด์ในอีกมิติหนึ่ง

หนึ่งในช่วงเวลาที่น่าจดจำ คือการร่วมงานกับ Olivier Rousteing (โอลิวิเยร์ รูสแตง) ครีเอทีฟไดเรกเตอร์จาก Balmain ในโอกาสพิเศษที่ Met Gala ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ดิอาจิโอเข้าสู่โลกของแฟชั่นอย่างเต็มตัว

เวลาที่หายไป กับสิ่งที่รอไม่ได้

เมื่อถูกถามถึงความกังวลว่าวิสกี้อายุ 30-40 ปีจะกลายเป็นของหายากขึ้นเรื่อย ๆ เรย์มอนด์ตอบว่า “มันเกิดขึ้นแล้วครับ” ถังไม้โอ๊กที่บ่มนานขนาดนั้นมีจำกัดมาก และในบางโรงกลั่นก็ไม่มีเหลืออีกต่อไปแล้ว บางครั้งลูกค้าต้องรออีกหลายสิบปีกว่าจะได้ของใหม่ในรุ่นเดียวกัน หรือไม่ก็เลือกที่จะเก็บของที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้ไว้เป็นคอลเล็กชันส่วนตัว

แม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพูดถึงว่าช่วยย่นระยะเวลาในการบ่มได้ แต่เรย์มอนด์ยืนยันว่า “ยังไม่มีอะไรทดแทนการบ่มตามธรรมชาติได้จริง”

ลูกค้าเปลี่ยนแปลงตามรสชาติ และรสชาติก็เปลี่ยนตามลูกค้า

ในมุมของเรย์มอนด์ ความเปลี่ยนแปลงคือธรรมชาติของทั้งผู้คนและเครื่องดื่ม “บางคนเริ่มต้นด้วยรสแบบหนึ่ง แล้วค่อยๆ เปลี่ยนไปชอบรสอื่นเมื่อได้ลองมากขึ้น” เขาเสริมว่า ลูกค้าที่อายุน้อยที่สุดที่เขาเคยดูแลเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 26 ปี ซึ่งเป็นรุ่นลูกของนักสะสมไวน์ ส่วนกลุ่มที่มีอายุมากหน่อยก็มักอยู่ในช่วงวัย 60-70 ปี

“สิ่งที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่แค่ของที่ดีที่สุด แต่คือความรู้สึกว่า ‘สิ่งนี้เป็นของฉัน’ บางคนถึงขั้นอยากปรับรสชาติในถังให้ตรงกับความชอบของตัวเอง และเราก็พร้อมจะฟังและพัฒนาให้”

Similar Articles

More