เดินทางสู่ ‘ภูฏาน’ ประเทศเล็กๆ กลางหุบเขาที่คงความงามของธรรมชาติและอากาศที่บริสุทธิ์

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ประเทศเล็กๆ กลางหุบเขาที่มีความเป็นที่สุดหนึ่งเดียวในโลกหลายรายการ ตั้งแต่ประเทศที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุด ประเทศที่มีเขตอนุรักษ์มากที่สุดเมื่อคิดเป็นสัดส่วนกับพื้นที่โดยรวม ประเทศแรกในโลกที่เป็น Carbon Negative ประเทศที่เป็นที่สุดของความยั่งยืน จนไปถึงการเป็นประเทศที่มีสนามบินที่มีความท้าทายมากที่สุด (เพราะถูกสร้างอยู่กลางหุบเขา) คราวนี้กลับมาพร้อมกับสโลแกนใหม่ที่พร้อมจะเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง ที่นี่ ภูฏาน ครับ

สวัสดีครับ ผมเปียง ประเทศที่เป็นที่สุดที่ผมพูดถึงเป็นประเทศในความทรงจำของผมครับ สำหรับท่านที่ติดตามมาด้วยกันตั้งแต่ผมสร้างเพจใหม่ๆ อาจจะจำทริปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ที่ประเทศภูฏานของผมได้ #PYONGSEEWHATISEE ในครั้งนี้ผมพาทุกท่านมายังหนึ่งในประเทศที่น้อยคนนักจะเคยมาเยือน หลายท่านอาจจะติดภาพจำว่าภูฏานเป็นประเทศปิดที่ไม่เปิดรับนักท่องเที่ยว แต่นั่นไม่เป็นความจริงครับ ขณะนี้กรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏาน (Bhutan’s Department of Tourism) และ UNDP ลงทุนผ่านโครงการกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (GEF Ecotourism) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างให้เกิดบรรยากาศของการสนทนาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของภูฏาน

ซึ่งเป็นจุดดึงดูดหลักของภาคการท่องเที่ยวของภูฏาน เพื่อสร้างเป็นโปรดักต์ด้านการท่องเที่ยวระดับสูงที่จะเพิ่มพูนคุณค่าของธรรมชาติเหล่านี้ที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไปด้วยในเวลาเดียวกัน พร้อมกับเปิดตัว ‘Bhutan Believe’ สโลแกนและวิสัยทัศน์ใหม่ของภูฏานที่ผ่านการบ่มเพาะพัฒนาขึ้นในช่วงการปิดประเทศที่ผ่านมา Bhutan Believe บอกเล่าเรื่องของความมุ่งมั่นที่จะรักษา ปกป้อง มรดกภูมิปัญญาของประเทศไว้ และหล่อหลอมเส้นทางสำหรับคนรุ่นต่อไปและเด็กๆ ที่เป็นใจความสำคัญของความตั้งใจนี้ ด้วยความเชื่อที่เชื่อในอนาคตของภูฏาน เชื่อในคุณค่า ในศักยภาพของผู้คน และเชื่อว่าภูฏานสามารถไปถึงความเชื่อนั้นได้

“We see a bright future. And we believe in our ability and responsibility to realise it together, and shine as a beacon of possibility in the world” คำแถลงการณ์ของแบรนด์ Bhutan Believe

เวลาผ่านไป 9 ปี ผมเพิ่งมีโอกาสได้เวียนกลับมาเหยียบที่อาณาจักรแห่งความยั่งยืนนี้อีกครั้ง สิ่งต่างๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่ ธรรมชาติยังคงงดงาม ตึกรามบ้านช่องยังคงลักษณะเด่นทางด้านวัฒนธรรมไว้ดังเดิม คิดถึงและดีใจมากๆ ที่ได้กลับมาอีกครั้ง แต่นี่ไม่ใช่เวลาของการรำลึกความหลัง แต่เป็นช่วงเวลาแห่งการทำความรู้จักวิสัยทัศน์ใหม่ของดินแดนมังกรสายฟ้าแห่งนี้ใครพร้อมแล้ว ตามผมไปเที่ยวประเทศภูฏานกันครับ

PARO

หมุดหมายแรกของเราในวันนี้อยู่ที่เมือง Paro ระหว่างทางนั่งรถเข้าไปที่ตัวเมือง ผมอยากจะขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวของภูฏานให้ทุกท่านได้ฟังกัน หลายๆ คนอาจจะมีภาพจำเกี่ยวกับภูฏานว่าเป็นประเทศปิดที่ไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม ขอให้ทุกท่านลบภาพจำนั้นไปก่อน เพราะจริงๆ แล้วภูฏานเปิดรับนักท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวด้วยตัวเองได้แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องมีการจ้างไกด์นำทางเป็นคนในประเทศ

เหตุผลที่ภูฏานจำกัดภาคการท่องเที่ยวในอดีตนั้น มีสาเหตุมาจากข้อจำกัดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการด้วยเหตุผลหลายประการ และเป็นประเทศที่มีความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการที่ภูฏานมีพื้นที่ธรรมชาติมากถึง 70% ของพื้นที่ทั้งประเทศ และมากกว่า 50% ของพื้นที่ก็ถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ด้วย จึงมีการจำกัดนักท่องเที่ยว โดยยึดหลักการรับนักท่องเที่ยวปริมาณน้อย เพื่อให้ได้สัมผัสคุณค่าและประสบการณ์ที่ดีที่สุด เมื่อภูฏานเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งสำหรับนักเดินทางอย่างเราที่จะได้ไปเที่ยวชมสัมผัสสิ่งที่เป็นผลลัพธ์ของความพยายามอนุรักษ์ที่ตกผลึกถ่ายทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่น ธรรมชาติที่งดงาม วัฒนธรรมประเพณีที่ยังคงความดั้งเดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์

ยินดีต้อนรับสู่เมือง Paro อย่างเป็นทางการอีกครั้ง เมื่อมองจากมุมสูงจะสามารถเห็นลักษณะของ Paro ได้อย่างชัดเจน ทั้งการวางตัวของแม่น้ำและเมือง ทุ่งไร่การเกษตรที่กระจายตัวอยู่โดยรอบ เป็นภาพความงามที่ชวนให้ลืมหายใจ ให้นั่งมองอยู่ตรงนี้ทั้งวันก็คงไม่เบื่อ

Paro เป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่มาก มีประชากรอาศัยอยู่เพียงหมื่นกว่าคนเท่านั้น ตั้งอยู่ในหุบเขา Paro Valley ชื่อเดียวกันกับเมือง เป็นที่ตั้งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และมรดกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของภูฏานจำนวนมาก แต่ไม่ใช่เมืองหลวงของภูฏาน ที่นี่เป็นเมืองที่เน้นเรื่องของการแลกเปลี่ยนซื้อขายมาตั้งแต่สมัยก่อน ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์และพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ Paro จึงเป็นพื้นที่สำหรับการเกษตรมาตั้งแต่ในอดีต เพิ่มเติมด้วยสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์มากมาย ก่อตัวเป็นศูนย์รวมทางด้านวัฒนธรรมและศาสนาด้วยเช่นกัน

Paro Valley ถูกขนาบด้วยแนวเทือกเขาสูง มีแม่น้ำ Paro Chhu ไหลผ่านกลางหุบเขา แม่น้ำสายนี้มีต้นกำเนิดมาจากภูเขา Jomolhari ที่มีความสำคัญทางศาสนา เชื่อกันว่าเป็นที่อยู่อาศัยของ 5 Tsheringma Sisters (Jo Mo Tshe Ring Mched Lnga) เทพธิดาผู้พิทักษ์ของทิเบตและภูฏาน ถือเป็นหนึ่งในยอดเขาที่สูงที่สุดของบริเวณนี้ ด้วยความสูง 7,326 เมตร ซึ่งเราสามารถมองเห็นบางส่วนได้จากในตัวเมือง Paro

มองจากระยะไกลอาจจะคิดว่าเมือง Paro นั้นเต็มไปด้วยบ้านโบราณที่ไม่พัฒนา แต่เมื่อเข้ามาในเมืองแล้วจะเห็นร้านรวงต่างๆ เต็มสองข้างทางไปหมด ด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการก่อสร้างที่มีใจความในการอนุรักษ์อย่างเข้มงวด บ้านทุกหลังต้องถูกสร้างตามรูปแบบเดิมทำให้ทิวทัศน์โดยรวมของภูฏานถูกห่อหุ้มไว้ด้วยสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของภูฏาน แต่ด้านในมีการพัฒนาตามทันกระแสโลกอย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่ทิ้งกลิ่นอายความเป็นตัวตนของเอกลักษณ์ภูฏานไป

RINPUNG DZONG

สำหรับที่หมายแรกของเรา Rinpung Dzong หรือ Paro Dzong คำว่า Dzong คือชื่อเรียกของลักษณะสถาปัตยกรรมที่เป็นทั้งสำนักปฏิบัติธรรมและป้อมปราการในเวลาเดียวกัน มักจะพบได้ในเขตภูฏานและทิเบต ก่อนจะมารู้จัก Rinpung Dzong คงต้องแวะไปทำความรู้จักกับ Dzong ก่อน หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมสถานปฏิบัติธรรมถึงต้องเป็นป้อมปราการด้วย เรื่องนี้เป็นเพราะว่า Dzong เป็นพื้นที่ที่ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์สองประการครับ ประการแรกเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามีเพื่อจุดประสงค์ทางศาสนา แต่ในส่วนที่สองมีไว้เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมอำนาจการปกครองพื้นที่ในอดีต จึงมีการสร้างเป็นป้อมปราการเพื่อรับมือการรุกรานจากประเทศรอบด้านเช่นทิเบต และใช้เป็นที่หลบภัยสำหรับประชาชนโดยรอบในขณะที่มีการสู้รบ

ประวัติศาสตร์ของ Rinpung Dzong หากจะเริ่มจริงๆ นั้นต้องย้อนกลับไป 1,200 ปี จนถึงช่วงศตวรรษที่ 8 เลยทีเดียว ตั้งแต่มีกูรูนาม Padmasambhava ซึ่งเป็นกูรูรินโปเชท่านหนึ่ง (กูรูรินโปเชเป็นคำเรียกที่แสดงถึงความเคารพ) มายังบริเวณนี้ และตั้งชื่อที่นี่ว่า Rinpung Drak ก่อนจะมีการก่อสร้างวัดขึ้นในศตวรรษที่ 15 ซึ่งพัฒนาก่อร่างขึ้นเป็นป้อมปราการ 5 ชั้น ในชื่อ Hungrel Dzong แต่ถูกรื้อบางส่วนออกและสร้างขึ้นใหม่บนฐานเดิมในปี 1644 จนกลายเป็น

PARO TAKTSANG

Paro Taktsang ตั้งอยู่บนหน้าผาที่ความสูงถึง 3,120 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นจุดที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของที่นี่คือถ้ำที่กูรู Padmasambhava มานั่งสมาธิเมื่อครั้งอดีตกาล ถ้ำแห่งนี้เป็นหนึ่งใน 13 ถ้ำเสือที่กูรูท่านนี้เคยไปนั่งสมาธิ อารามแห่งนี้เปิดให้เราสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ตั้งแต่ช่วงแปดโมงเช้า จนถึงหกโมงเย็น เว้นช่วงบ่ายโมงถึงบ่ายสองเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ด้านในบริเวณอารามหลักมีกฎห้ามถ่ายภาพเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้เดินทางมาแสวงบุญ และเป็นการรักษาบรรยากาศความสงบน่าเลื่อมใสของที่แห่งนี้ไว้ด้วย

บอกตามตรงว่าภาพที่ผมถ่ายมาไม่สามารถถ่ายทอดความน่าตื่นตาตื่นใจของอารามแห่งนี้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์ ทิวทัศน์นี้ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้นถึงจะเข้าใจในความน่าตื่นตาตื่นใจของบรรยากาศเหนือธรรมดาที่ตึกอารามและบรรยากาศตรงนี้แผ่ออกมา

ในภาพนี้คือ Dhar หรือ Lungdhar หนึ่งในสิ่งที่ทุกท่านจะเห็นได้ตลอดทั่วทั้งภูฏาน ผืนผ้าสี่เหลี่ยมหลากสีสันที่ร้อยอยู่บนเชือกและขึงไว้บนที่สูงนี้ถูกผลิตขึ้นด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมของภูฏาน บนผืนผ้าจะถูกพิมพ์ไว้ด้วยบทสวดและสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่เมื่อต้องลมจะโบกสะบัดพัดพาเอาสิ่งดีๆ ไปอำนวยพรให้แก่ผู้คนและป่าเขาลำเนาไพร ผืนผ้าเหล่านี้จะมีอยู่ทั้งหมด 5 สี สีขาว อากาศ เป็นตัวแทนของโชคลาภและการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย สีน้ำเงิน ท้องฟ้า เป็นตัวแทนของสุขภาพและความยืนยาว สีเหลือง ผืนดิน เป็นตัวแทนของชัยชนะเหนืออุปสรรค สีเขียว น้ำ เป็นตัวแทนของความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สีแดง เปลวไฟ เป็นตัวแทนของการสำเร็จในสิ่งที่สมปรารถนา

THIMPHU

วันนี้เราเดินทางออกจาก Paro ไปที่เมือง Thimphu เมืองหลวงของประเทศภูฏานถึงแม้ที่นี่จะเป็นเมืองหลวงของประเทศ แต่ลืมภาพป่าคอนกรีต เสียงรถอึกทึกวุ่นวาย หรืออากาศเสียเป็นมลพิษไปได้เลย เพราะ Thimphu เป็นเมืองหลวงที่ยังคงล้อมรอบไปด้วยภูเขาและป่าไม้สีเขียว อัดแน่นไปด้วยต้นไม้ใบหญ้าแทบทุกหย่อม ที่นี่เพิ่งถูกจัดตั้งเป็นเมืองหลวงเมื่อปี 1955 หรือ 69 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเกิดจากการรวมหมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงเข้าด้วยกันแล้วสร้างเป็นเมืองขึ้นมาโดยกษัตริย์องค์ที่ 4 ของภูฏาน รวมถึงการจัดตั้งระบบการปกครองแบบกระทรวงที่ตั้งขึ้นมาหลังจากนั้น

เช่นเดียวกับ Paro เมือง Thimphu เองก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นหุบเขามีแม่น้ำ Raidak ไหลผ่านกลาง ที่นี่จะมีอากาศเย็นกว่าเล็กน้อย เฉลี่ยอยู่ที่ 20 – 22 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนที่ผมเดินทางไปอากาศกำลังเย็นสบายสดชื่นบริสุทธิ์เหมาะแก่การออกมาเดินเล่น เมืองนี้มีประชากรอยู่ประมาณ 140,000 คน

เช่นเดียวกับ Paro อย่าให้วิวด้านนอกหลอกตาเรา ตึกรามของที่นี่ถูกสร้างขึ้นตามข้อบังคับการก่อสร้าง อย่างการจำกัดความสูง หรือการต้องปฏิบัติตามแนวทางสถาปัตยกรรมของภูฏาน ด้านในตึกเหล่านี้เต็มไปด้วยร้านค้าสมัยใหม่มากมายที่มีทั้งแบรนด์ในประเทศและแบรนด์ต่างชาติเข้ามาเปิดทำการ ผู้คนที่นี่ใช้ชีวิตกันแบบสบายๆ สไตล์ชาวภูฏาน มีก็แต่จำนวนผู้คนบนถนนที่เห็นจะเยอะกว่าที่ Paro อยู่พอสมควร

สมกับที่ภูฏานได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งความยั่งยืน ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมได้อยู่ในที่แห่งนี้ ถือเป็นโอกาสให้ผมได้สัมผัสว่าการบูรณาการแนวคิดแบบอนุรักษ์อย่างเป็นระบบที่แฝงตัวอยู่ในทุกหย่อมหญ้าของประเทศนั้นเป็นอย่างไร ภูฏานไม่ใช่ประเทศเล็กๆ ที่ไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกต่อไป แต่เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนที่จะเป็นแบบอย่างให้กับทั้งโลกต่อไปในอนาคต ด้วยสโลแกนใหม่ Bhutan Believe ที่เป็นก้าวเดินก้าวต่อไปของภาคการท่องเที่ยวของภูฏาน เป็นการเปิดศักราชสำหรับนักเดินทางที่ต้องการไปเยือนภูฏานอย่างแท้จริง ในฐานะผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจคนหนึ่ง ผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาประวัติศาสตร์นี้ หากทุกท่านคิดว่าภาพที่ผมนำมาเล่านั้นสวยแล้ว บอกตามตรงว่าของจริงน่าตื่นตาตื่นใจเกินกว่าที่ภาพถ่ายของผมจะเล่าออกมาได้หมด อยากให้ทุกท่านได้ลองไปสัมผัสกันสักครั้งจริงๆ ครับ

Words: เปียง-กันตพงศ์ ทองรงค์

Similar Articles

More