มังงะเล่มโปรดของผม The Kindaichi Case Files หรือที่นักอ่านการ์ตูนชาวไทยคุ้นหูกันในชื่อ ‘คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา’ มีอายุครบ 30 ปีไปได้ไม่นาน นอกจากเนื้อเรื่องชวนลุ้นระทึกกับการตามล่าหาฆาตกรและไขคดีสยองขวัญต่างๆ แล้ว ในวัยเยาว์ผมยังได้เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ จากมังงะเรื่องนี้ เช่นกรณี ‘ผู้โดยสารชั้น 1’ ในต้นศตวรรษที่ 20 กับค่านิยมการใช้หีบเดินทางของเมซงเก่าแก่ Louis Vuitton เช่นเดียวกับที่คอหนังเห็นผ่านภาพยนตร์ดังเรื่อง Titanic (1997) ที่ผู้กำกับ James Cameron ขอฉลอง 25 ปีนำกลับมาฉายให้ชมกันในโรงอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การกลับมารอบนี้ยังถูกรีมาสเตอร์ให้ฉายทั้งในระบบ 3D, ATMOS 3D และ IMAX 3D HFR เรียกว่าคมชัดทุกโสตสัมผัส ดื่มด่ำไปกับเรื่องราวของตัวละครบนสุดยอดสิ่งประดิษฐ์เคลื่อนที่ด้วยฝีมือมนุษย์ที่เคยครองตำแหน่งใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นเจ้าของฉายา ‘เรือที่ไม่มีวันจม’ … ที่เกริ่นมาทั้งหมดเพียงจะบอกว่า ทั้งมังงะเรื่องคินดะอิจิ และภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง Titanic ไม่ได้ต้องการโปรโมทหีบเดินทาง Louis Vuitton แบบออกนอกหน้าแต่อย่างใด เป็นเพียงการนำเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีหีบเดินทางของเมซงอายุ 169 ปี อยู่คู่กับยุคหนึ่งที่โลกใบนี้ช่างงดงาม ยุคที่รู้จักกันในนาม Belle Époque (แบล เอป้อก)


Courtesy of The Brands
‘Belle Époque’ คือ ‘ยุคสวยงาม’ ของยุโรปตะวันตกที่มีนครแห่งแสงไฟอย่างกรุงปารีสเป็นศูนย์กลางของความรุ่งเรืองทั้งทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ผู้คนรุ่มรวยไปด้วยรสนิยมด้านการแต่งกายและการใช้ชีวิต เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขสมที่กินระยะเวลายาวนานถึง 4 ทศวรรษ เริ่มต้นหลังสิ้นสุดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ค.ศ. 1871 ไปจนถึงช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกลางทศวรรษที่ 1910 ช่วงเวลาดังกล่าวพาดผ่านยุค ‘เอ็ดเวอร์เดียน’ (Edwardian Era) ที่สหราชอาณาจักรอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ซึ่งคอสตูมงดงามในเรื่อง Titanic ก็อิงรูปแบบการแต่งกายยุคนี้ เป็นยุคที่บ้านเมืองสงบสุขเพราะค่านิยมของผู้คนในสังคมมองโลกในแง่ดี เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าควบคู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความเฟื่องฟูของศิลปะ อีกทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรมส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนสะดวกสบาย การเดินทางหรือออกท่องโลกกว้างเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมที่หลากหลายถือเป็นจิตวิญญาณของยุคสมัยและเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด เป็นยุคในอุดมคติที่คนไม่เพียงอิ่มท้องแต่ยังมองเห็นคุณค่าของศิลปะเป็นดังที่มีการกล่าวไว้ “มนุษย์เราไม่ควรอิ่มเพียงแค่ท้อง แต่ควรให้สมองและจิตใจอิ่มเอมด้วยเช่นกัน” ศิลปะแขนงต่างๆ จึงกลายมาเป็นตัวช่วยเติมเต็มให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข


Courtesy of The Brand
ยุคที่ผู้คนนิยมออกท่องโลกกว้างโดยมีเรือเดินสมุทรและรถไฟเป็นยานพาหนะหลักที่จะพาข้ามประเทศนั้น ‘หีบเดินทาง’ ของแบรนด์ขวัญใจมหาเศรษฐีแห่งยุคอย่าง Louis Vuitton กลายเป็น must-have ไปโดยปริยาย เพราะนอกจากการสะท้อนเรื่องรสนิยมและความมั่งมีผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแล้ว หีบและกระเป๋าบรรจุสัมภาระและของมีค่ายามเดินทางก็ถือเป็นไอเทมที่จะยอมน้อยหน้ากันไม่ได้ ลวดลายโมโนแกรมและตัวอักษรย่อ LV บนหีบไม่เพียงทำหน้าที่บ่งบอกสถานะทางสังคม แต่ด้วยคุณสมบัติของตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้ผืนผ้าใบในการหุ้ม ทำให้แข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา กันน้ำและกลิ่นได้ดี นวัตกรรมสำหรับโลกยุคใหม่นี้จึงได้การยอมรับจากผู้มีฐานะ รุ่มรวยรสนิยม และนิยมใช้สินค้าคุณภาพชั้นเลิศ หีบเดินทางของ Louis Vuitton ในเวลานั้นไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงข้าวของเครื่องใช้ แต่ยังเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของยุคสมัยที่มีหลายธรรมเนียมปฏิบัติเกิดขึ้นควบคู่กับค่านิยมการท่องโลกกว้าง อาทิ วัฒนธรรมการดื่มแชมเปญเฉลิมฉลอง จากค่านิยมชมการแสดงคาบาเรต์ อย่างคลับดังที่เป็นหนึ่งในเจ้าแห่งความบันเทิงรูปแบบนี้ก็คือ Moulin Rouge ที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ดังในชื่อเดียวกันเมื่อปี 2001 โดย ‘บ้านกังหันแดง’ จะขายบัตรเข้าชมคู่กับการดื่มแชมเปญ หรืออย่างการไปช้อปปิ้งที่ Galeries Lafayette ห้างดังขวัญใจนักช้อปที่เปิดตัวในปลายศตวรรษที่ 19 มีจุดเด่นเป็นโดมโครงเหล็กประดับกระจกสี ถือเป็นอีกจุดเช็กอินยอดฮิตของกรุงปารีสมาจนถึงปัจจุบัน

Courtesy of The Brand
ตัดภาพมาช่วงเวลาที่โลกกำลังจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 … เดือนมีนาคม ปี 1998 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว Marc Jacobs อดีตผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของเมซง Louis Vuitton (ปี 1997 – 2013) เปิดตัวคอลเล็กชั่นเสื้อสำเร็จรูป (Ready-To-Wear) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พร้อมการย่อส่วนหีบเดินทางใบโตให้กลายมาเป็นหีบทรงกล่องใบจิ๋วชื่อรุ่น Bleecker ในซีรีส์ Monnogram Vernis “Marc Jacobs เข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกยุคโลกาภิวัตน์ว่าไม่ต้องการพกอะไรมากมายอีกต่อไป คนเริ่มพกของกันน้อยลงและยิ่งเล็กยิ่งดี มีบัตรเครดิตไม่ก็เดบิต มือถือฝาพับเครื่องเล็กๆ ของโมโต (Motorola) ลิปสติก เงินสดนิดหน่อย ทั้งหมดใส่กระเป๋าถือหีบจิ๋วนั้นได้หมด ถือเป็นอีกใบเด่นของ Louis Vuitton ในยุค Marc Jacobs ก็ว่าได้ แม้ค่าตัวค่อนข้างแรงคือเกือบ 4 หมื่นบาท ตอนนั้นราคานี้ซื้อกระเป๋าใบโตได้สบาย แต่รายชื่อสั่งจองที่ห้างเอ็มโพเรียมก็ยาวเป็นหางว่าว” – ป็อป วรรธกุล นักเขียนแฟชั่นและไลฟ์สไตล์เล่าความนิยมที่มีต่อผลงานเครื่องหนังคอลเล็กชั่นแรก Louis Vuitton by Marc Jacobs ให้ฟัง “ตัว Marc Jacobs เองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าชีวิตคือการเดินทาง แค่ก้าวออกนอกบ้านก็คือการออกไปท่องโลก เขาจึงพยายามออกแบบหีบ เพื่อนที่อยู่คู่การเดินทางให้พกพาได้สะดวก เพราะคงไม่มีใครอยากแบกหีบใบใหญ่ไปไหนมาไหนตลอดเวลา ทั้งไม่ร่วมสมัย และเกะกะ ซึ่งแนวคิดนี้ถือว่าล้ำมาก ยิ่งช่วงโควิดที่คนออกไปทำธุระข้างนอกไม่นานก็จะพกแต่ของจำเป็นจริงๆ กระเป๋าใบเล็กจึงได้รับความนิยมต่อเนื่องหลายปี”

Courtesy of Khanakon Phettrakul
“กระเป๋าหีบใบเล็กพวกนี้ทำให้ได้สัมผัสรากเหง้าและมรดกของ Louis Vuitton ที่เริ่มต้นจากการทำหีบสำหรับการเดินทางด้วยเรือ ซึ่งปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ใช้หีบแบบนั้นกันแล้ว พอแบรนด์ได้เปลี่ยนมรดกทางความคิดให้กลายเป็นกระเป๋าที่ใช้ง่ายและใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ก็เลยทำให้เราประทับใจ เหมือนได้หวนรำลึกถึงวันเก่าๆ ได้สัมผัสประวัติศาสตร์ที่แม้เราเองก็เกิดไม่ทัน แต่ได้ซึมซับเรื่องราวเหล่านั้นผ่านสื่อต่างๆ เป็นอีกชิ้นที่แฟนคลับควรมี เพราะมันสร้างความผูกพันกับแฟนๆ และตอบโจทย์การใช้งานของคนในยุคนี้” – หนึ่ง-รณัย ธมรัตน์ ลูกค้าวีไอพีของซูเปอร์แบรนด์ชั้นนำระดับโลก และเป็นอีกรายที่ประทับใจกระเป๋าทรงหีบ ให้ความเห็นที่สอดคล้องกัน … นี่กระมังที่แม้แต่ในคอลเล็กชั่นแรกของ Nicolas Ghesquière ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์คนปัจจุบันก็ยังมีกระเป๋าหีบใบเล็กไอคอนิกรุ่น ‘Petite Malle’ ออกมา และได้รับความนิยมต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 9 ปี ตั้งแต่เปิดตัวในฤดูกาล Fall/Winter 2014 กระเป๋าหีบจิ๋วที่ใช้ทั้งแบบถือและสะพายนี้มีราคาเปิดตัวสูงถึง 14x,xxx บาท ก่อนจะปรับราคาเป็นเกือบสองแสนบาท (รุ่นปกติ) ในปัจจุบัน หรืออย่างกระเป๋าหีบที่จิ๋วลงอีกจนเล็กเท่ากับขนาดฝ่ามือรุ่น ‘Essential Trunk’ เปิดตัวฤดูกาล Spring/Summer 2018 มีราคาสูงถึงครึ่งแสนบาท แม้แต่ฝั่งคอลเล็กชั่นชาย Virgil Abloh อดีตผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ผู้ล่วงลับก็ทำให้แฟนคลับประทับใจกับกระเป๋าหีบใบเล็กรุ่น ‘Soft Trunk’ ตั้งแต่เปิดตัวในคอลเล็กชั่นแรกสำหรับฤดูกาล Spring/Summer 2019 ซึ่งมีราคาสูงไม่แพ้ฝั่งหญิงเลยทีเดียว


Courtesy of Ranai Thamarat
ตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษที่ผ่านมา กระเป๋าหีบใบเล็กของ Louis Vuitton ยุคใหม่นั้นไม่ต่างจากกระเป๋า Bleecker เมื่อ 25 ปีที่แล้ว คือค่าตัวของมันสามารถซื้อกระเป๋าใบโตมาครอบครองได้สบาย อย่างไรก็ตามแฟนคลับนั้นยอมจ่ายเพื่อหีบไซส์เล็กเหล่านี้ที่ใส่ของได้ค่อนข้างจำกัด … ถ้ามองว่ามันคือแค่ ‘กระเป๋า’ กับราคาขนาดนี้ก็อาจจะดูสวนทาง แต่สินค้าแฟชั่นทุกวันนี้ ขนาดกับราคาก็ไม่บาลานซ์กันอยู่แล้ว เพราะพวกกระเป๋าจิ๋วทำหน้าที่เป็นชิ้นสเตทเม้นท์ เป็นเครื่องประดับไปในตัว คือเอาติดตัวไปอวดกันได้ทุกที่แม้อยากไปแค่ปากซอยก็ตาม ขณะที่กระเป๋าใบใหญ่มีโอกาสให้เอาออกไปใช้ได้น้อยกว่า ที่สำคัญ! หีบจิ๋วของวิตตอง ถือเป็นเอสเซนเชียล เพราะหากตัดเรื่องความยุ่งยากในการผลิตที่ต้องย่อส่วนฮาร์ดแวร์ บลา บลา … ออกไป แค่คุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็ทำให้ราคาสูงกว่าใบปกติได้ “กระเป๋าตระกูลทรังก์ของ Louis Vuitton ราคาจะโดดไปเลย คือจะสูงกว่ากระเป๋ารุ่นอื่น เพราะทางแบรนด์ให้น้ำหนักกับคุณค่าการเป็นอาร์ไคฟ์ เป็นมรดก ส่วนตัวคิดว่าแบรนด์เองก็ทราบดีว่าลูกค้ารับรู้ได้ มันควรจะเป็นไอเท็มที่มีราคาสูง เพราะไม่ใช่ของที่คนส่วนใหญ่จะซื้อใช้ และเพื่อสนองลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อ คนที่อยากสัมผัสประสบการณ์การใช้หีบเดินทางและรักในความเป็น Louis Vuitton จริงๆ แม้ลูกค้าบางท่านอาจคิดว่าด้วยขนาดและประโยชน์ใช้สอยดูสวนทางกับราคาที่ส่วนหนึ่งสูงขึ้นด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็ตาม” – หนึ่ง-รณัย แสดงความเห็นเรื่องราคาหีบใบจิ๋วแต่ราคาสูงลิบลิ่วไว้น่าสนใจ


ตัดภาพมาที่ปี 2023 หลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย โลกกลับมาหมุนอีกครั้ง ผู้คนยังคงให้ความสำคัญกับการท่องโลกกว้างโดยดูได้จากปริมาณนักท่องเที่ยวชาวไทยที่หลั่งไหลออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันชาวต่างชาติก็แห่กันมาเที่ยวเมืองไทยจนติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยว … ‘ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง’ กับหีบใบใหญ่จากต้นศตวรรษที่ 20 กลายมาเป็น ‘Jet-Set’ ที่นิยมเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ไม่ก็นั่งชั้นธุรกิจ หรือเฟิร์สคลาสบนเครื่องบินพาณิชย์ซึ่งถือเป็นตัวแทนความทันสมัยและบ่งบอกความมั่งมีมาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปนานแค่ไหน วิธีการเดินทางจะง่ายดายและสะดวกขึ้นเพียงไร ‘หีบเดินทาง’ ของ Louis Vuitton ไม่ว่าจะเป็นไซส์ขนาดใดก็ยังคงได้รับความนิยมและทำหน้าที่เชิงสัญญะได้ไม่เสื่อมคลาย นอกจาก ‘บรรจุข้าวของ สะท้อนสถานะ และรสนิยมผู้ครอบครอง’ แล้ว วันนี้ชื่อของ Louis Vuitton ได้กลายเป็นแบรนด์หรูมหาชน ทุกคนที่มีงบสามารถก้าวเข้ามาสัมผัสประสบการณ์เยี่ยงผู้โดยสารชั้นหนึ่งในยุค ‘Belle Époque’ ได้ แม้มีเพียงหีบจิ๋วขนาดเล็กเท่าฝ่ามือก็ตาม

