“Let Them Eat Cake” ประโยคเด็ดที่ พระนาง ‘มารี อองตัวแน็ต’ อาจไม่เคยพูด!?!

เดือนมีนาคมนี้ คอซีรีส์จะได้ชมซีรีส์ที่เหมาะกับคนชอบเรื่องประวัติศาสตร์และสนใจแฟชั่น Marie Antoinette หลังชาวฝรั่งเศสได้ชมกันแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยทีมผู้สร้างกล่าวว่าจะพาผู้ชมไปสัมผัสอีกแง่มุมของ มารี อองตัวแน็ต พระราชินีแห่งฝรั่งเศสและนาวาร์ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เธอคือสตรีสูงศักดิ์ผู้นำแฟชั่นในศตวรรษที่ 18 และเป็น ‘ผู้ถูกกล่าวหาว่า’ คือเจ้าของประโยคเด็ด “Let them eat cake” หรือ (ไม่มีเงินซื้อขนมปังหรอ) “ก็ให้พวกเขาไปกินเค้กแทนสิ” …

ผมไม่แน่ใจว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่อย่างไรที่ทางผู้สร้าง BBC และ Canal+ ปล่อยซีรีส์เรื่องนี้ในปี 2023 เพราะครบรอบ 230 ปีที่พระองค์ถูกบั่นพระศอด้วยเครื่องประหารกิโยติน ซึ่งหลักฐานทางวิชาการของโลกยุคโลกาภิวัตน์ค่อนข้างจะแน่ชัดจนนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ต่างเทน้ำหนักลงความเห็นไปในทิศทาง พระองค์ ‘น่าจะไม่เคยตรัส’ ประโยคที่เปรียบเป็นฟืนแท่งโตปลุกให้ไฟแห่งความโกรธาของประชาชนลุกโหมจนเกิดเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีนี้คงไม่ต่างจากเรื่องฉาว ข่าวลือ และการใส่สีตีไข่ ที่ผู้ถูกกระทำต้องเป็นคนแก้ต่างเองว่า ‘ฉันไม่ได้พูด ฉันไม่ได้ทำ’ ส่วนสังคมส่วนใหญ่ที่ฟังและเชื่อได้ตัดสินก่อนทราบข้อเท็จจริงไปเป็นที่เรียบร้อย

ซีรีส์เรื่อง Marie Antoinette นำแสดงโดย Emilia Schüle ฉายผ่านทาง BBC Two
Courtesy of BBC Two

หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่ค่อนข้างมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าพระองค์ไม่ใช่ผู้ที่ตรัสประโยคนี้คือ หากพระองค์เป็นผู้ที่ตรัสจริงก็ควรใช้เป็นภาษาฝรั่งเศสไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ดังนั้นประโยคคลาสสิกนี้ควรจะเป็น “Qu’ils mangent de la brioche” ซึ่งเจ้า brioche ที่ว่าก็คือขนมปังบรีย็อซของฝรั่งเศสที่มีเนยและไข่เป็นส่วนผสมสำคัญ ถือเป็นอาหารมื้อหรูหราในช่วงเวลานั้น … Antoia Fraser นักเขียนนวนิยายและเรื่องประวัติศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบลในปี 2005 ผู้เขียนหนังสือเล่มดัง Marie Antoinette – The Journey ได้สืบค้นเรื่องนี้จนพบหลักฐานในบันทึกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ที่ขึ้นครองราชย์หลังมีการปฏิวัติฝรั่งเสไปนานเกือบ 3 ทศวรรษ ได้ตรัสว่าเจ้าของประโยคดังกล่าว แท้จริงแล้วคือ Marie-Thérèse d’Autriche (มารี เตแรซแห่งออสเตรีย หรือมารี เตแรซแห่งสเปน) พระชายาเชื้อสายสเปนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งแก่กว่ามารี อองตัวแนตราว 100 ปีเลยทีเดียว

ส่วนนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่นั้นเชื่อว่าเจ้าของประโยคนี้คือ Jean-Jacques Rousseau นักปรัชญา นักเขียน และนักทฤษฎีคนสำคัญของโลก เพราะประโยคที่คนรู้จักกันมานานนับทศวรรษก่อนมารี อองตัวแน็ตจะเข้าสู่ราชวงศ์ฝรั่งเศสนี้ เคยปรากฏในหนังสือ The Confessions of Jean-Jacques Rousseau หรือคำสารภาพของรุสโซ ว่าด้วยเจ้าหญิงที่ตรัสแก่ชาวบ้านผู้ไม่มีเงินซื้อขนมปังเพื่อประทังชีวิต “Let them eat Brioche” ซึ่งต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสใช้ว่า “Qu’ils mangent de la brioche” นั่นเอง แม้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเจ้าหญิงในหนังสือเล่มนี้คือใคร แต่ช่วงที่หนังสือออกมานั้นมารี อองตัวแน็ตเพิ่งมีอายุเพียง 9 ชันษา หรือเทียบเท่าเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้นเอง และยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดด้วยว่าเจ้าประโยคนี้ตรัสโดยพระองค์

ประโยค “Let them eat cake” ถูกนำมาล้อเลียนจากยุคสู่ยุค โดยมักนำไปใช้เสียดสีบุคคลสำคัญที่ตั้งตัวอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่สนใจโลกความจริงและแคร์ความเป็นไปของบ้านเมือง ดังที่เราเห็นผู้นำหลายประเทศโดนทำมีมให้อารมณ์ขัน คู่กับความฟู่ฟ่าและรสนิยมการแต่งกายที่จะต้องหรูหราถึงขีดสุดในโลกแฟชั่น ว่ากันว่าในค่ำคืนสุดท้ายก่อนพระองค์ถูกจับ ยังใช้เวลาง่วนอยู่กับการเก็บข้าวของมีค่าเพื่อเตรียมจะกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เชื่อว่าถ้าหากมีการเตรียมตัวออกเดินทางได้เร็วกว่านี้ก็อาจจะไม่โดนจับตัว

หนึ่งในของมีค่าชิ้นดังที่มักถูกนำเสนอควบคู่กับเรื่องราวของพระราชินีคือ นาฬิกา Breguet No.160 ที่ถูกขนานนามว่าเป็นนาฬิกา Marie Antoinette … ในปี 1775 มีผู้ไม่ประสงค์ออกนามสั่งทำนาฬิกาเรือนพิเศษเพื่อเตรียมถวายแก่พระราชินี โดยให้เงื่อนไขว่าต้องใช้กลไกการผลิตที่ดีที่สุด และจะต้องใช้ทองคำผลิตทุกชิ้นส่วน อีกทั้งยังไม่มีข้อจำกัดในเรื่องราคาและระยะเวลา แม้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สั่งผลิตแต่สันนิษฐานกันว่า อาจเป็นตัวพระราชินีเองที่เป็นคนรับสั่งผ่านทหารรักษาพระองค์ เพราะราชินีก็เป็นลูกค้าคนสำคัญของ Breguet แต่ท้ายที่สุด พระองค์สิ้นพระชนม์ก่อนนาฬิกาเรือนนี้จะผลิตเสร็จ หรืออย่างสร้อยคอทำจากมุกธรรมชาติจำนวนมากถึง 300 กว่าเม็ด และจี้ไข่มุกทรงหยดน้ำประดับเพชรน้ำงามรูปวงรีที่ทาง Sotheby’s นำออกมาประมูลไปเมื่อปี 2018 ในราคา 36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการบันทึกว่าเป็นเครื่องประดับมุกที่มีราคาสูงที่สุดในโลก

เมื่อสองปีที่แล้ว Versace Jeans Couture ไลน์ลำลองของ Versace นำประโยคที่ว่ามาล้อเลียน โดยเปลี่ยนเป็น ‘Let them I Scream’ และ ‘Let them chew gum’ ใช้คู่กับลายพิมพ์เป็นรูปพระราชินีกำลังเป่าหมากฝรั่ง และมีไอศกรีมโคนรูปร่างคล้ายทรงผมตั้งสูงแปะอยู่บนพระเศียร สีสัน รูปทรง และรายละเอียดของเสื้อผ้าที่ลดทอนจากเครื่องแต่งกายของเหล่าคนในราชสำนักฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ส่วนปลายปีเดียวกันนั้นเองซีซันสองของซีรีส์ยอดฮิต นำเสนอเรื่องไลฟ์สไตล์ของคนฝรั่งเศส Emily in Paris มีซีนเด่นในช่วงท้าย เป็นแฟชั่นโชว์จัดจ้านและจุดประเด็นสำคัญขึ้นในพระราชวังแวร์ซายแสนหรูหราโอ่อ่า สถานที่พำนักสุดท้ายของพระราชินี ส่วนกลุ่มผู้ประท้วงในอเมริกายังคงนำประโยคลาสสิกนี้มาใช้ล้อเลียนนักการเมืองและบุคคลสำคัญในรัฐบาลของสหรัฐฯ

Let Them Eat Cake ถูกนำไปใช้ต่างบริบท ทั้งเพื่อความเก๋ไก๋ในโลกแฟชั่น ในเชิงสัญญะทางการเมือง และทุกครั้งที่ถูกหยิบไปใช้ก็มักมาคู่กับภาพวาด คาแรกเตอร์ฟู่ฟ่าและไลฟ์สไตล์แสนหรูหรา ราวกับเรื่องเล่าที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดได้ถูกประทับไว้บนพระพักตร์ และบันทึกคู่กับชีวิตของพระองค์โดยแยกจากกันไม่ออก กลายเป็นภาพจำที่ถูกสร้างและตีตราโดยสังคม โดยที่ผู้จากไปไม่มีสิทธิ์ได้ลุกขึ้นมาแก้ต่างด้วยซ้ำ

ฉากแฟชั่นโชว์ Let them eat cake ในซีรีส์ Emily in Paris ซีซัน 2
Courtesy of Netflix

ซีรีส์เรื่อง Marie Antoinette จึงเป็นอีกเรื่องที่ผมอยากชมเพราะองค์ประกอบศิลป์ชั้นยอด และยังต้องการทราบ ที่ทีมผู้สร้างกล่าวว่าจะพาไปสัมผัสอีกแง่มุมของราชินีแห่งฝรั่งเศสจะออกมาเป็นเช่นไร เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในแง่มุมใดที่จะถูกหยิบมาเน้นย้ำและนำเสนอ หรือเป็นเพียงอีกเรื่องที่ย่ำอยู่กับภาพจำเดิมๆของสตรีสูงศักดิ์ผู้นี้ ภาพของความหรูหราฟู่ฟ่า รักความสนุกสนาน และไม่สนใจความเป็นไปในคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งถูกยกระดับความเกลียดชังด้วยประโยคคลาสสิกที่ถูกนำมาล้อเลียนไม่ต่ำกว่า 2 ศตวรรษ … ‘Let Them Eat Cake’ ประโยคธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ถึงขั้นสามารถปลิดชีพคนได้ เมื่อประโยคที่ว่าถูกนำมาตีตราและให้ร้าย ไม่ต่างจากข่าวลือ ข่าวกอสซิป ที่ทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งพังได้ในพริบตา

Similar Articles

More