การที่ผมเป็นคน Gen-Y (เกิดระหว่างปี 1980-1994) เติบโตในต่างจังหวัดยุค ’90s แล้วดันชอบเรื่องแฟชั่นถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะยุคนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตให้ใช้อย่างแพร่หลาย ไม่มีร้านรวงแฟชั่นให้ได้เดินโฉบเข้าไปสัมผัส การเสพเรื่องราวเกี่ยวกับโลกแฟชั่นจึงถูกจำกัดอยู่เพียงรายการดังในหน้าจอโทรทัศน์ และผ่านหน้านิตยสารแฟชั่นชั้นนำของไทย อย่าง ELLE Thailand ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเพื่อนแท้ที่เปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับเรื่องราวแฟชั่นทั้งฝั่งไทยและเทศ
“วันนี้เราจะพาคุณไปชมแฟชั่นโชว์สุดตระการตาของแบรนด์มักเล่อกันค่ะ” – พิธีกรรายการบันเทิงช่องหนึ่งพูดถึงโชว์สุดยิ่งใหญ่ของ … ‘มักเล่อ’!?! … ใช่แล้วครับ เป็นอย่างที่คุณอาจจะกำลังคาดเดากัน มักเล่อที่เธอกล่าวถึงคือ Mugler แบรนด์ฝรั่งเศสที่อ่านว่า ‘มูแกลร์’ ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอบคุณ ‘นิตยสารแอล ประเทศไทย’ ที่ทำให้ผมทราบมาก่อนว่า Mugler อ่านว่า ‘มูแกลร์’ ไม่ใช่มักเล่อ, Lanvin อ่านว่า ‘ลองแวง’ ไม่ใช่แลนวิน, Saint Laurent อ่านว่า ‘แซงต์ โลรองต์’ ไม่ใช่เซนต์ ลอเร้นท์, Jean Paul Gaultier อ่านว่า ‘ฌอง-ปอล โกลติเยร์’ ไม่ใช่ยีน พอล โกเตีย และ Lancôme อ่านว่า ‘ลังโคม’ ไม่ใช่แลนคัม แต่อย่างใด
สำหรับผมการที่พิธีกรรายการบันเทิงที่กล่าวถึงตอนต้นอ่านชื่อแบรนด์ Mugler เป็นภาษาอังกฤษ ไม่ได้ถือเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นคอขาดบาดตาย เพราะต้องยอมรับว่าแบรนด์แฟชั่นและเครื่องสำอางดัง ที่ครองตลาดมานานหลายทศวรรษ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จากประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี เมื่อเป็นชื่อเฉพาะตามภาษาบ้านเกิดไม่ใช่ภาษาสากล จึงมีคนจำนวนมากที่ไม่คุ้นชินและอ่านชื่อแบรนด์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วชื่อแบรนด์ที่ยกตัวอย่างไปตอนต้นก็ไม่สามารถถอดเสียงเป็นภาษาไทยได้สมบูรณ์ ทำได้เพียงสะกดให้อ่านได้ใกล้เคียงที่สุด อย่างที่คนเรียนภาษาฝรั่งเศสคงทราบดีว่า การถอดเสียงตัว ‘R’ หรือ ‘แอร์’ ที่ต้องทำเสียงแบบขากเสมหะ นำมาเขียนเป็นภาษาไทยนั้นยากขนาดไหน
“ผมชอบชุดคุณ ของเวอร์ซาเช่ ยีนส์ กูตูร์ (Versace Jeans Couture) ใช่ไหม?” – ผมถามพนักงานชาวฝรั่งเศสที่ประจำโซนใหม่ Second Printemps ชั้น 7 ของ Printemps ห้างหรูกลางกรุงปารีส ในทริปฝรั่งเศสที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าขอให้ออกเสียงใกล้เคียง คนฝรั่งเศสก็เข้าใจ “ใช่แล้ว ยีนส์ กูตูร์” พนักงานหนุ่มตอบด้วยการออกเสียง ‘กูตูร์’ เหมือนมีส่วนหนึ่งของคำว่า ‘ตูร์’ กักไว้ในลำคอจนฟังคล้าย “กูตูร์” “กัวตูร์” หรือ “กูตัวร์” แบบฝรั่งเศสแท้ๆ ยากจะถอดเป็นภาษาไทยให้เป๊ะ 100% แต่เอาเป็นว่าเขาเข้าใจคำว่า ‘กูตูร์’ ง่ายๆ สไตล์สำเนียงแบบไทยๆ ที่ผมเอ่ยถาม ขอให้ไม่เพี้ยนอ่านแบบอังกฤษเป็น ‘คูเจอร์’ ก็พอ
“หากเจาะลงไปที่ประเด็นนี้ ต้องลึกไปถึงเรื่องของสัทศาสตร์ หรือ Phonetic เป็นการศึกษาเสียงพูดของมนุษย์ คุณสมบัติทางกายภาพของการพูด การออกเสียงที่ถูกต้อง การเปล่งเสียง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเรียนภาษาศาสตร์ เมื่อทราบว่าคำๆ นั้นออกเสียงอย่างไร ก็จะถอดเป็นภาษาไทยได้ใกล้เคียงที่สุด” แป้ง-รสิตา นักแปล ที่หลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ ก็บินไปต่อด้านภาษาศาสตร์ในเมืองน้ำหอม ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานนับสิบปีและมีโอกาสได้ดูแลผู้หลักผู้ใหญ่ของไทยเมื่อไปเยือนฝรั่งเศส ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้
“ในส่วนของการพูด การออกเสียงชื่อแบรนด์ฝรั่งเศสหรืออิตาลีให้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา ก็สามารถฝึกฝนกันได้ ต้องหัดพูด ฟัง ซึมซับจากสภาพแวดล้อม แต่ต้องยอมรับว่าน้อยมากที่คนต่างชาติจะพูดภาษาฝรั่งเศสได้เหมือนคนฝรั่งเศสเป๊ะ ยิ่งถ้าเขาไม่ได้ใช้ภาษานั้นมาตั้งแต่เด็ก” ผมสรุปรวบรัดที่เธออธิบายให้เข้าใจง่ายคือ หากเติบโตและใช้ภาษาไทยมาตลอดชีวิต การจะออกเสียงเป็นภาษาฝรั่งเศสให้เหมือนคนฝรั่งเศสแท้ๆ นั้นเป็นเรื่องยากเลยทีเดียว อาจทำได้มากที่สุดคือใกล้เคียง ซึ่ง ‘ใกล้เคียง’ นั้นก็เพียงพอจะทำให้เจ้าของภาษาเข้าใจ เอาเป็นว่าถ้าไปเที่ยวฝรั่งเศส แล้วมีโอกาสได้สั่งขนมสอดไส้หวานๆ โดยออกเสียงแบบไทยๆ ‘เอแคลร์’ (Éclair) ขนมกลมๆ หลากสีสันว่า ‘มาการอง’ (Macaron) ถามถึงเครื่องสำอาง ‘คลาแรงส์’ (Clarins) หรือกระเป๋าจิ๋วของ ฌักมูส (Jacquemus) พนักงานขายก็สามารถจัดมาให้ได้แน่นอน
การทำให้อ่านและออกเสียงโดย ‘ใกล้เคียง’ ยังกลายมาเป็นหน้าที่ของสื่อแฟชั่นที่ควรนำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบว่าชื่อแบรนด์นั้นๆ จะอ่านถูกต้องได้อย่างไร หรืออ่านอย่างไรให้ใกล้เคียงที่สุด อย่างน้อยหากถามถึงสินค้าของ ‘ลองแวง’ พนักงานก็จะอธิบายได้ถูก ไม่ทำหน้าฉงนกับการได้ยิน ‘แลนวิน’ แต่หากคุณเป็นคนเสพและรักแฟชั่นเป็นชีวิตจิตใจ การเรียกและอ่านชื่อแบรนด์ได้ถูกต้องนั้นสื่อถึงความใส่ใจ และ ‘รู้จริง’ ถือเป็นเครดิตติดตัวที่สร้างได้ง่ายๆ ไม่ต่างจากการให้เกียรติเรียกและอ่านชื่อคนได้ถูกต้อง เป็นการทำให้เจ้าของชื่อ เจ้าของแบรนด์ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องประทับใจเมื่อแรกพบ เพียงแค่เราอ่านและเรียกชื่อแบรนด์เขาให้ได้ใกล้เคียงที่สุด
“การใช้ภาษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลต่อความรู้สึก เคยได้ยินไหมว่าอย่างในฝรั่งเศสบางร้านจะบริการดีเป็นพิเศษหากเห็นว่าคนต่างชาติพยายามสื่อสารโดยใช้ภาษาฝรั่งเศส หรือพยายามเรียกชื่ออาหาร อ่านชื่อร้านเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่ต่างจากไทยที่เมื่อนักท่องเที่ยวมาแล้วสั่งอาหารโดยพยายามเรียก ‘โต้ม-ยาม-กูง’ หรือ ‘ผาด-ทาย’ คนขายก็จะรู้สึกดี เพราะถือเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน คนชาติไหนก็ภูมิใจในภาษาชาติตัวเอง แบรนด์ดังส่วนใหญ่มักตั้งชื่อแบรนด์ด้วยนามสกุล เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล แถมมายุคนี้ยังเอื้อต่อการให้เสิร์ชหาได้ง่ายเพราะค่อนข้างยูนิค ดังนั้นในเมื่อเขาภูมิใจกับรากเหง้า ภูมิใจกับนามสกุลเป็นภาษาที่ติดตัวมา การให้เกียรติเรียกชื่อแบรนด์ด้วยภาษานั้นๆ ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ” – รสิตาอธิบายเพิ่มเติมประเด็นนี้ไว้น่าสนใจ
“ยุคหนึ่งคนอเมริกันนิยมเรียกแบรนด์ เวอร์ซาเช่ (Versace) ติดปากว่า เวอร์ซาจ เรียกไลน์น้องสาว เวอร์ซุส (Versus) ว่า เวอร์ซัส คืออ่านและเรียกด้วยความคุ้นชิ้น แม้แต่ซีรีส์ไทยบน Netflix เรื่องเคว้ง ยังเขียนซับไทย ซีนที่ใช้เสื้อ Versus Versace มาทำใบเรือว่า ‘เวอร์ซัส’ ถามว่าผิดมั้ยที่อ่านแบรนด์อิตาเลียนเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนตัวให้น้ำหนักไปทางผิดนะ (ฮ่าๆ) แต่ไม่ได้ผิดขั้นร้ายแรงไง เป็นความผิดพลาดที่พอเข้าใจ เพราะคนทำซับ หรือพิธีกรรายการบันเทิงที่บอกเรียกแบรนด์ Mugler ว่า มักเล่อ เขาไม่ได้ทำงานในสายงานนี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่อาจไม่ทราบและอ่านผิด … แต่เอาเข้าจริงๆ การเรียกชื่อแบรนด์ผิดก็ไม่ต่างจากการเรียกชื่อคนผิด มันทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน” – Wattakul N. นักเขียนแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ร่วมให้ความเห็น
“อย่างตอนที่นิตยสารแอลเปิดตัวในไทยใหม่ๆ ยุคนั้นคนไทยไม่ชินกับชื่อภาษาฝรั่งเศส เรียก เอลเล่ บ้าง แอ๊ว บ้าง หลากหลายไปหมด จำได้ว่าหน้าบทบก.และช่วงตอบจดหมาย ยังต้องมีตอบคำถามว่าชื่อ ELLE อ่านว่าอะไรอยู่พักใหญ่ แต่ท้ายที่สุดเมื่อคนอ่านตั้งใจเปิดรับสารว่าชื่อนิตยสารที่เขารักนั้นอ่านว่าอะไร บวกกับการประชาสัมพันธ์มากพอ คนจะเรียกได้ถูกต้องเอง ปัจจุบันนี้จึงไม่ได้ยินคนเรียกแอลว่า ‘แอ๊ว’ กันแล้ว การเรียกได้ถูกต้องนี่ละถือเป็นเรื่องการใส่ใจและให้เกียรติ
‘สื่อถึงความใส่ใจและให้เกียรติ’ คือสิ่งที่ทั้งคู่เน้นย้ำ และพอจะนำมาอธิบายได้ว่าทำไมการอ่านชื่อใดชื่อหนึ่งให้ถูกต้องจึงมีความสำคัญ แน่นอนครับว่าการอ่านชื่อแบรนด์ผิดนั้นไม่ได้ทำให้ชีวิตใครเปลี่ยน แต่ก็เช่นกัน การเรียกและอ่านชื่อแบรนด์ได้ถูกต้องอาจจะเปลี่ยนความรู้สึกและความเชื่อมั่นที่มีต่อเรา การเอาใจใส่ และให้ความสำคัญเรื่องพื้นฐานอย่างการเรียกชื่อจะนำมาซึ่งความมั่นใจ โดยความมั่นใจที่ว่าไม่ใช่เฉพาะตัวผู้พูด แต่ยังรวมถึงผู้ฟังที่มั่นใจว่าจะได้รับสารที่ถูกต้อง โดยเฉพาะกับในยุคนี้ที่โลกขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมีเดีย มีคนจำนวนมากลุกขึ้นมาเป็นสื่อผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้ง Facebook, Instagram, TikTok การป้อนข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากการเรียกชื่อแบรนด์ให้ใช่และใกล้เคียง จึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่ ‘คนทำหน้าที่ส่งสาร’ ควรตระหนัก
โดยเฉพาะกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นและความงามไม่ว่าจะเป็นสื่อ อินฟลูเอนเซอร์ ไปจนถึงพนักงานที่หากเริ่มต้นด้วยการอ่านชื่อแบรนด์คลาดเคลื่อนไปไกล อย่าง “สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาคุณผู้อ่านไปพบกับประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของ ‘ไมซัน กีฟเว่นชาย’ (Maison Givenchy)” กับอีกรายที่อ่านและเอ่ยชื่อได้ใกล้เคียง ‘เมซง จีวองชี่‘ คุณคิดว่าผู้ฟังและผู้อ่านจะหันหน้าไปฟังเรื่องเล่าลำดับต่อไปจากใครมากกว่ากัน