ในวงการแฟชั่นเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นธุรกิจที่หมุนเปลี่ยนด้วยความเร็วและเต็มไปด้วยการแข่งขันขั้น การยืนหยัดในเกมนี้ต้องอาศัยหลากกลยุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกลักษณ์อันโดดเด่น สิ่งที่จะสร้างจุดสนใจและสร้างความแตกต่าง Masayuki Ino (มาซายูกิ อิโนะ) คือดีไซเนอร์จากแดนอาทิตย์อุทัยที่สั่นสะเทือนวงการด้วยผลงายภายใต้แบรนด์ Doublet เพราะสำหรับเขาเสื้อผ้าไม่ใช่เพียงเครื่องนุ่งห่ม แต่คือบทสนทนาอันแยบคายและเปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน

เขาได้สร้างนิยาม ‘ความแปลกประหลาดที่สวมใส่ได้’ ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่ท้าทายขนบเดิมๆ ของวงการแฟชั่นที่มักจะเคร่งขรึมและจริงจัง ด้วยควากล้าที่จะทลายกรอบของสังคมและผสานความลุ่มลึกทางปรัชญาการออกแบบ ทำให้เครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันให้กลายเป็น statement ที่สร้างบทสนทนา
#ELLEMEN5Facts พาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Massayuki Ino กับ 5 เรื่องราวเบื้องลึกของชายผู้นี้ที่จะทำให้คุณมองเห็นมิติใหม่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นผ่านเลนส์ของ Doublet
1. จากความฝันนักวาดมังงะสู่ดีไซเนอร์ดาวรุ่ง

ก่อนที่ Masayuki Ino จะก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ดาวรุ่งดวงใหม่ที่น่าจับตา ความใฝ่ฝันแรกเริ่มของเขาคือการเป็นนักวาดการ์ตูนมังงะ ความหลงใหลในการเล่าเรื่องผ่านลายเส้นและสร้างสรรค์ตัวละคร ความฝันนี้เองที่อาจเป็นรากฐานสำคัญให้กับสไตล์การออกแบบของเขา ไม่น่าแปลกใจนักถ้าเราจะเห็นผลงานของเขาจึงมักจะเต็มไปด้วยจินตนาการ
หลังจากจบการศึกษาจาก Tokyo MODE Gamuken College of Fashion & Design วิทยาลัยอาชีวศึกษาด้านแฟชั่นในประเทศญี่ปุ่น เขาได้สั่งสมประสบการณ์จากการเป็นดีไซเนอร์ให้กับแบรนด์คาแรคเตอร์ การผลิตเครื่องหนังในโรงงานทำเข็มขัด แต่จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตคือการทำงานในตำแหน่งผู้ออกแบบรองเท้าให้กับ MIHARAYASUHIRO เป็นเวลานานถึงเจ็ดปี ช่วงเวลานี้เองที่หล่อหลอมและต่อยอดให้เขากลายเป็นดีไซเนอร์ผู้แข็งแกร่ง
การได้ร่วมงานกับ Yasuhiro Mihara (ยาซูฮิโระ มิฮาระ) ทำให้เขาได้ฝึกปรือฝีมือเสมือนการได้อบรมในหลักสูตร intensive course เขาเล่าว่าในช่วงแรกของการทำงานมักจะถูก Yasuhiro ตำหนิไม่เว้นวัน หรือแม้แต่การได้รับมอบหมายภารกิจที่ดูแปลกประหลาด เช่น การทำให้ช่างฝีมือในย่านอาซากุสะหัวเราะให้ได้ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ Yasuhiro มองว่าในอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง (หรือในวงการแฟชั่น) ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับช่างฝีมือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากช่างไม่ชอบหน้าคนสั่งงาน อาจส่งผลต่อการผลิตที่ล่าช้า ภารกิจนี้จึงสอนให้เขาเข้าใจความเป็นมนุษย์ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งเป็นทักษะที่ประเมินค่าไม่ได้
ช่วงเวลาแห่งการบ่มเพาะนี้ไม่เพียงแต่ลับคมทักษะการออกแบบและมุมมองการดำเนินชีวิตในวงการแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อแก่นแท้ของการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และความซับซ้อนของอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ Doublet สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ซับซ้อนและเปี่ยมด้วยนวัตกรรมได้ในเวลาต่อมา
2. ถอดรหัสที่มาของชื่อ Doublet กับความแฟนตาซีล้ำจินตนาการ

ชื่อแบรนด์ ‘Doublet’ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ แต่แฝงไว้ด้วยนัยยะที่น่าสนใจและความขี้เล่นอันเป็นเอกลักษณ์ของ Masayuki ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกมปริศนาคำของ Lewis Carroll (เลวิส แคร์รอล) ผู้ประพันธ์ ‘Alice in Wonderland’ ซึ่งเกมนี้มีชื่อว่า ‘Doublet’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Word Ladder กติกาของเกมคือการเปลี่ยนคำหนึ่งไปเป็นอีกคำหนึ่งโดยการเปลี่ยนตัวอักษรทีละตัว และในแต่ละขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องได้คำใหม่ที่มีความหมายและถูกต้องตามหลักภาษา
ความเชื่อมโยงระหว่างเกมวรรณกรรมนี้กับปรัชญาการออกแบบของ Doublet นั้นมีความหมายที่ซ่อนไว้อย่างลึกซึ้ง กล่าวคือการนำเอาเสื้อผ้าที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวันมาผ่านกระบวนการ ‘ปรับเปลี่ยน’ หรือ ‘เพิ่มเติม’ ผ่านมุมมองใหม่ทีละน้อย จนเกิดเป็นผลลัพธ์ใหม่ที่แฝงไว้ด้วย ‘ความไม่ปกติ’ ดังคำนิยามที่ว่าของเกมที่ว่า “คำที่มีความหมายคล้ายกันแต่มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อย” สอดคล้องกับเจตนารมณ์ทางการออกแบบแฟชั่นของ Masayuki ที่ต้องการแก้ปริศนาทางปัญญาและการแปรเปลี่ยนรูปทรง มากกว่าจะเป็นเพียงการสร้างสรรค์ความงามทางสุนทรียะเพียงอย่างเดียว การเชื่อมโยงกับ ‘Alice in Wonderland’ ยังเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้สวมใส่และผู้พบเห็นก้าวเข้าสู่โลกที่เหนือจริงและเปี่ยมด้วยจินตนาการมากขึ้น ซึ่งเป็นการท้าทายท่าทีที่มักจะเคร่งขรึมและจริงจังของวงการแฟชั่น
3. ดีไซเนอร์ผู้มอบความงามให้กับความไม่สมบูรณ์แบบที่หลายคนมองข้าม

Masayuki ให้นิยามตนเองว่า dreaming realist หรือ ‘นักฝันแห่งโลกความความเป็นจริง’ ซึ่งสะท้อนถึงสองขั้วบุคลิกในตัวตนของเขาได้อย่างน่าสนใจ เพราะในด้านหนึ่งกระบวนการสร้างสรรค์ของเขาได้รับแรงขับเคลื่อนจากจินตนาการและความฝัน ซึ่งไม่เว้นแม้กระทั่งฝันร้าย ทว่าอีกด้านหนึ่งของ ‘โลกแห่งความเป็นจริง’ เขาต้องมั่นใจได้ว่าแนวคิดที่เหมือนฝันเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นแฟชั่นที่จับต้องได้และสวมใส่ได้จริง ทำให้ในบางครั้งเขาต้องยกเลิกดีไซน์หากพบว่ามันมี ‘ความขัดแย้ง’ ในตัวเอง ความสมดุลระหว่างจินตนาการสุดขั้วและความเป็นจริงในการผลิตนี้เองที่ทำให้ Doublet สามารถนำเสนอผลงานที่ทั้งน่าตื่นตาตื่นใจทางศิลปะและน่าสนใจในเชิงพาณิชย์
ปรัชญาสำคัญในการทำงานของเขาอีกประการหนึ่ง คือการมองเห็นความงามจากสิ่งรอบตัว และความไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งปรากฏชัดในผลงานคอลเล็กชั่น Sping-Summer 2025 เขานำเสนอเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใย Brewed Protein ซึ่งสามารถบีบอัดให้มีลักษณะคล้ายสเต๊กบรรจุในถุงสุญญากาศ และจะขยายตัวกลายเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้เมื่อจุ่มลงในน้ำ ไอเดียนี้เกิดจากสิ่งของธรรมดาสามัญอย่างผ้าขนหนูสำหรับเดินทางแบบใช้แล้วทิ้ง
หรือในกรณีของผลงานคอลเล็กชั่น Fall-Winter 2025 ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘แผ่นพลาสติกที่บิดงอ’ เพื่อสื่อคนัยยะถึงการโอบรับ ‘รอยร้าว’ ของชีวิต ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า “เมื่อบางสิ่งบิดงอ รอยแตกเล็กๆ จะก่อตัวขึ้น สร้างพื้นที่ให้สิ่งใหม่ได้เติบโต” ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญ ปรัชญานี้เชื่อมโยงกับการใช้วัสดุที่แปลกใหม่และน่าประหลาดใจ
4. แรงบันดาลใจสุดเซอร์ไพรส์และจิตวิญญาณแห่งการคอลลาบอเรชั่น

จุดกำเนิดเกิดแรงบันดาลใจของ Masayuki นั้นมาจากหลากหลายหนแห่ง แต่แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นมักจะอยู่นอกเหนือขอบเขตของโลกแฟชั่นทั่วไปๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำในวัยเด็ก รายการตลกของญี่ปุ่น สิ่งของรอบตัวในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่อิทธิพลจากผู้กำกับภาพยนตร์หลากหลายแนว เช่น David Lynch (เดวิด ลินช์), M. Night Shyamalan (เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน) และ Darren Aronofsky (ดาร์เรน อโรนอฟสกี) มาผสมผสาน ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยรู้ว่าหาก Massayuki ไม่ได้เลือกประกอบอาชีพในเส้นทางแฟชั่นดีไซเนอร์ อีกหนึ่งอาชีพในฝันของเขาคือการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ทำให้บางส่วนของผลงานของเขามีสไตล์การออกแบบที่เน้นภาพและการเล่าเรื่อง
นอกจากนี้ Masayuki ยังมีแนวทางที่โดดเด่นในการทำงานคอลลาบอเรชั่นร่วมกับแบรนด์อื่น ตามแนวทางการสำรวจแนวคิดที่ลึกซึ้ง ตัวอย่างเช่น การร่วมงานกับ Colantotte หรือ Valentino ในปี 2018 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญในอาชีพของเขา และการร่วมมือกับแบรนด์อย่าง Suicoke ในการสร้างสรรค์รองเท้าธีมสัตว์ประหลาด รวมถึง Asics หรือแม้แต่ CLUB21 ในสิงคโปร์ และล่าสุดการร่วมงานกับ Converse ผลงานการร่วมงานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า Masayuki ใช้การเป็นพันธมิตรเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแสดงออกถึงแนวทางการออกแบบของแบรนด์ในการสื่อการเกี่ยวกับความขี้เล่น การเปลี่ยนแปลง และการวิพากษ์สังคม
5. ดีไซเนอร์ชายเอเชียคนแรกผู้คว้ารางวัล LVMH Prize เวทีประกวดแฟชั่นระดับโลก

หมุดหมายสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในเส้นทางอาชีพของ Masayuki คือการคว้ารางวัลอันทรงเกียรติ LVMH Prize for Young Fashion Designers ในปี 2018 ซึ่งถือเป็นดีไซเนอร์ชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลจากเวทีแฟชั่นที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก ชัยชนะครั้งนั้นไม่เพียงแต่เป็นการตอกย้ำความสามารถอันโดดเด่นของ Masayuki ท่ามกลางสายตาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ Karl Lagerfeld (คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์) และมี Emma Stone (เอมมา สโตน) เป็นผู้ประกาศรางวัล แต่ยังเป็นการท้าทายมุมมองเดิมๆ ที่มักมีต่อศูนย์กลางแฟชั่นโลก สิ่งที่เขาได้จากรางวัลคุณูประการมากมายมหาศาล ทั้งเงินรางวัลจำนวน 300,000 ยูโร (ประมาณ 11,700,000 บาท) และโปรแกรมการให้คำปรึกษาเป็นเวลาหนึ่งปีเต็มจากผู้เชี่ยวชาญในกลุ่ม LVMH ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในระดับสากลของ Doublet ทั้งในด้านชื่อเสียง ช่องทางการจัดจำหน่าย และความทะเยอทะยานในการสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้น
ในยุคที่สตรีทแวร์ยังคงมีอิทธิพลต่อวงการ Doublet ไม่เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสนี้ แต่ยังยกระดับและพลิกแพลงสตรีทแวร์ด้วยแนวทางที่เปี่ยมด้วยแนวคิด อารมณ์ขัน และความล้ำสมัย ชัยชนะของ Masayuki จึงเป็นการส่งสัญญาณว่าวงการแฟชั่นกำลังมองหาสตรีทแวร์ที่มีความลุ่มลึกและความงามเชิงศิลปะมากขึ้น ซึ่ง Doublet ก็ตอบโจทย์นั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ การเป็นชาวเอเชียคนแรกที่คว้ารางวัลใหญ่ได้นั้นมีความหมายมากกว่าความสำเร็จส่วนตัว มันเป็นการเปิดประตูและสร้างแรงบันดาลใจให้กับดีไซเนอร์รุ่นหลังในเอเชีย ให้กล้าที่จะฝันและแสดงศักยภาพบนเวทีโลก