แรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจขนาดหลายริกเตอร์เกิดขึ้นทั่วโลกทันที เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนล่าสุด Donald Trump (โดนัลด์ ทรัมป์) ประกาศใช้นโยบายทางภาษีเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ และเพื่อ ‘ตอบโต้’ สินค้าที่นำเข้าจากประเทศคู่ค้าหลายรายไม่เว้นแม้แต่ประเทศพันธมิตรที่มีความใกล้ชิดทางการทูตและการค้าการลงทุน สถานการณ์นี้จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต การกำหนดราคา รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมแฟชั่นซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการจ้างงานและเศรษฐกิจโลก เพราะเป็นภาคธุรกิจที่มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าในสัดส่วนที่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ตลาดที่มีการพึ่งพาการนำเข้าเสื้อผ้าและรองเท้าจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล มีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึง 97%! ของสินค้าที่จำหน่ายในประเทศ เนื่องด้วยห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแฟชั่นมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลากหลายประเทศ ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การตัดเย็บ ไปจนถึงการจัดจำหน่าย จึงทำให้อุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายภาษีที่เกิดขึ้น การทำความเข้าใจถึงผลกระทบเหล่านี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการ นักลงทุน รวมไปถึงผู้บริโภค

ผลกระทบโดยรวมต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นอันดับแรกต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นคงหนีไม่พ้น ‘การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการนำเข้า’ เพราะอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นจะทำให้ผู้ผลิตและร้านค้าปลีกต้องพบกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ภาระดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคในรูปแบบของราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการประเมินของ Yale Budget Lab ศูนย์วิจัยนโยบายของรัฐบาลกลางสำหรับเศรษฐกิจของอเมริกา มหาวิทยาลัยเยล ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายภาษีลักษณะนี้ว่า ราคาของสินค้าโดยรวมในสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 2.3% และคาดการณ์ว่าสินค้าประเภทเสื้อผ้าจะมีการปรับราคาสูงขึ้นถึง 17% สอดคล้องกับ National Retail Federation (NRF) สมาพันธ์การค้าปลีกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เคยคาดการณ์ไว้ว่านโยบายภาษีลักษณะนี้อาจทำให้ราคาเสื้อผ้าเพิ่มสูงขึ้น 12.5% ถึง 20.6% และในส่วนราคารองเท้าอาจสูงขึ้นถึง 18.1%
ประการต่อมา นโยบายภาษีนำเข้าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดหาแหล่งวัตถุดิบและห่วงโซ่อุปทานในระยะยาวเพื่อลดผลกระทบจากภาษีที่สูงขึ้น แบรนด์แฟชั่นหลายรายอาจพิจารณาการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้มากนัก หรืออาจหันกลับมาให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าในสหรัฐอเมริกามากขึ้น ทว่าการเปลี่ยนแปลงฐานการผลิตไม่ใช่กระบวนการที่ทำได้โดยง่าย เนื่องจากต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ บางแบรนด์อาจเลือกที่จะกระจายแหล่งที่มาของวัตถุดิบไปยังหลายประเทศเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายภาษีที่มุ่งเป้าไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุน คุณภาพ และระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความพึงพอใจของผู้บริโภค
ประการสุดท้าย ความไม่แน่นอนที่เกิดจากนโยบายภาษีนำเข้าลักษณะนี้ ได้สร้างความลังเลให้กับธุรกิจแฟชั่นในการวางแผนระยะยาวและการตัดสินใจลงทุน ภาคธุรกิจอาจชะลอการขยายกิจการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ เนื่องจากยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางและระยะเวลาของนโยบายภาษี ความไม่แน่นอนนี้อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมแฟชั่นในระยะยาว

ตารางอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มเติมจากนโยบายก่อนหน้า
ประเทศ | อัตราภาษีนำเข้า |
จีน | 34% |
เวียดนาม | 46% |
บังกลาเทศ | 20% |
สหภาพยุโรป | 25% |
เม็กซิโก | 25% |
เกาหลีใต้ | 25% |
ไทย | 36% |
*อัตราดังกล่าวอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายตอบโต้ทางภาษีของแต่ละประเทศ

ผลกระทบต่อแบรนด์หรู
ในภาคส่วนสินค้าแบรนด์หรู ซึ่งเป็นกลุ่มแบรนด์ที่พึ่งพาการผลิตสินค้าในต่างประเทศและนำเข้าสินค้าในสัดส่วนสูง ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายดังกล่าวแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านต้นทุนการผลิตและการนำเข้าสินค้า แบรนด์หรูจำนวนมากยังคงให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าในประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี หรือสเปน แม้ว่าฐานลูกค้าของแบรนด์หรูอาจมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าแฟชั่นทั่วไป แต่การเพิ่มขึ้นของภาษีนำเข้าก็อาจส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรของแบรนด์เหล่านี้ได้
จากการรายงานของ Business of Fashion กล่าวว่ากลุ่มแบรนด์หรูขนาดใหญ่อย่าง LVMH และ Kering และ อาจเผชิญกับสถานการณ์ที่รายได้สุทธิลดลงสูงถึง 8% ถึง 14% หากไม่มีการปรับกลยุทธ์เพื่อลดผลกระทบจากภาษีที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวเพื่อรับมือกับความท้าทาย แบรนด์หรูอาจต้องพิจารณากลยุทธ์การปรับตัวต่างๆ เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตในสหรัฐอเมริกาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าจากต่างประเทศ ทว่าการย้ายฐานการผลิตอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแบรนด์หรูมักให้ความสำคัญกับงานฝีมือดั้งเดิมและประเพณีการผลิตที่มีมายาวนานในยุโรป และอีกทางเลือกที่แบรนด์หรูอาจพิจารณาคือการปรับราคาสินค้าในตลาดสหรัฐอเมริกาให้สูงขึ้นเพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้า
กลยุทธ์การปรับตัวของแบรนด์หรูจึงต้องพิจารณาถึงความสมดุลระหว่างการรักษาภาพลักษณ์ ความพิเศษของแบรนด์ คุณภาพของสินค้า และผลกระทบต่อราคาที่ผู้บริโภคจะต้องจ่าย เนื่องจากคุณค่าของแบรนด์หรูมักเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตและทักษะฝีมือเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การผลิตจึงต้องทำอย่างระมัดระวังและอาจไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเหมือนแบรนด์แฟชั่นทั่วไป การปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นก็อาจส่งผลให้ผู้บริโภคบางกลุ่มชะลอการตัดสินใจซื้อ หรืออาจหันไปให้ความสนใจกับสินค้าหรูมือสองแทน หรืออาจนำไปสู่การเติบโตของตลาดสินค้าลอกเลียนแบบ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์สำหรับแบรนด์หรู อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน ภาษีนำเข้าอาจทำให้สินค้าหรูดูมีความพิเศษและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นในสายตาของผู้บริโภคบางกลุ่ม ซึ่งอาจส่งผลดีต่อความต้องการสินค้าในระยะยาวได้เช่นกัน

ผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกแฟชั่น
สำหรับผู้ค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาที่นำเข้าสินค้าแฟชั่นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจาก จีน เวียดนาม บังกลาเทศ และประเทศอื่นๆ ที่ถูกกำหนดอัตราภาษีที่สูงขึ้น ต่างต้องเผชิญกับต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาอัตรากำไรผู้ค้าปลีกเหล่านี้อาจต้องตัดสินใจปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น และการตัดสินใจที่จะยกเลิกข้อยกเว้น De Minimis Exemption หรือมาตรการทางศุลกากรของสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถเข้าสู่ประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า (กฎนี้ถูกออกแบบมาเพื่อลดภาระงานของหน่วยงานภาครัฐและส่งเสริมการค้าขนาดเล็ก) จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสินค้าอีคอมเมิร์ซที่นำเข้าจากจีนและฮ่องกงซึ่งเคยได้รับประโยชน์จากข้อยกเว้นดังกล่าว ผลกระทบเหล่านี้ทำให้ธุรกิจค้าปลีกแฟชั่นในสหรัฐอเมริกาเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการรักษาอัตรากำไรและรักษาระดับยอดขายให้คงที่
การขึ้นราคาสินค้าแฟชั่นที่เกิดจากภาษีนำเข้ายังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค อาจชะลอการตัดสินใจซื้อสินค้าแฟชั่น หรืออาจหันไปเลือกซื้อสินค้าราคาถูกลง และการเติบโตของตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองอาจได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าใหม่ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคอาจให้ความสำคัญกับคุณภาพและความทนทานของสินค้ามากขึ้น แทนที่จะเลือกซื้อสินค้าแฟชั่นราคาถูกที่อาจมีอายุการใช้งานที่สั้น การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการปรับอัตราการเก็บภาษีนำเข้าอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการซื้อสินค้าแฟชั่น โดยผู้บริโภคอาจมองหาสินค้าราคาประหยัด หรือสินค้าทางเลือกอื่นๆ ที่ตอบสนองความต้องการของตนได้ในราคาที่เหมาะสม

สรุป
นโยบายภาษีนำเข้าของ Donald Trump ได้ส่งผลกระทบรอบด้านต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น (และในทุกๆ อุตสาหกรรม) ตั้งแต่ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน ความผันผวนในตลาดหุ้น ไปจนถึงผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกทั้งในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ นักวิเคราะห์มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผลกระทบ โดยส่วนใหญ่มองว่าเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ก็มีบางส่วนที่เห็นโอกาสในการปรับเปลี่ยน เช่น การย้ายฐานการผลิต และการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น