เจาะลึก ‘Talk to Me’ หนังผีที่เล่าผ่านปัญหาชีวิต Gen Z

คำเตือน: บทความนี้อาจจะมีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์บางส่วน!

เรากำลังจะเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีกันแล้ว ‘ช่วงเวลาแห่งการปล่อยผี’ (ตามความเชื่อทางศาสนา) ที่ตรงกับเทศกาล Halloween เป็นที่รู้ดีกันว่าจะมีเหล่าหนังผีต่างยกขบวนมาปล่อยของกันแบบจุกๆ หนึ่งเรื่องที่ได้รับความสนใจและเฝ้ารอจากคอหนังมากๆ อย่างเรื่อง ‘Talk to Me’ หรือ ‘จับมือผี’ (2023) ของ ‘A24’ ค่ายหนังชื่อดังสัญชาติอเมริกัน ที่มาช๊อตฟีลแฟนๆ ของค่ายกันสุด เพราะภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้านี้เป็นแนวโรแมนติก-ดราม่า อย่าง Past Lives (2023) ที่ทำเอาผู้เขียนน้ำตาแตกในโรงหนังมาแล้ว แต่ครั้งนี้ A24 จะพาเราดำดิ่งไปสู่ห้วงอารมณ์กับ Talk to Me จนบางทีอาจจะหนักหรือลึกเกินไปด้วยซ้ำ เพราะหลายๆ ประเด็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ (โคตร) ทัชกับ Gen Z อย่างพวกเรามาก

ผูกประเด็น ‘การมีตัวตน’ กับหนังผีได้อย่างแยบยล

ประเด็นแรก ‘การอยากมีตัวตนในสัมคม’ ของ 2 ตัวละครในเรื่องอย่าง ‘Mia’ (มีอา) และ ‘Riley’ (ไรลีย์) ที่มีจุดเชื่อมโยงกัน คือ ขาดความอบอุ่นจากครอบครัว ทำให้ทั้งสองต่างต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากหมู่เพื่อนๆ และสังคมรอบข้างเป็นการทดแทน ซึ่งมีซีนหนึ่งในงานปาร์ตี้ที่ตัวเอกอย่างมีอาอาสาเป็นคนแรกในการเล่น ‘มือผี’ (เกมที่กำลังเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ต) เพื่อให้เพื่อนๆ ยอมรับ แต่แล้วจุดนี้เองนำตัวมีอาไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ส่วนไรลีย์เองก็ต้องการมีตัวตนในสายตาของเจดพี่สาวและเพื่อนสนิทของเขา จึงนำตัวเองเข้าสู่เกมนี้ด้วยเช่นกัน

‘มือผี’ จึงกลายเป็นเครื่องมือแก้ไขปมในชีวิตของตัวละครทั้งสอง จากความต้องการพื้นที่ในสังคมแวดล้อม มาสร้างความสุขที่อาจจะเป็นเพียงแค่ความสุขชั่วครั้งคราวให้กับพวกเขา สะท้อนถึงความบกพร่องของสถาบันครอบครัว ภายใต้การดูแลพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อาจมีปัจจัยอย่างอื่น มาส่งผลให้ลูกที่อยู่ในความดูแลของตัวเองได้รับความรัก ความอบอุ่นให้ลูกไม่เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกนำมาสร้างภูมิหลังให้ตัวละครอย่างมีอาและไรลีย์เข้มข้นมากขึ้น

พฤติกรรมของ Gen Z ถูกใช้เป็นตัวช่วยในการเล่าเรื่อง

โซเชียลมีเดียคืออีกหนึ่งองค์ประกอบของคนในเจเนอเรชั่นนี้ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องนี้ ถึงแม้จะไม่ใช่ธีมหลักเหมือนเรื่อง Host (2020) หรือ Unfriended (2014) แต่ก็ถูกใช้เนียนๆ เพื่อสะท้อนถึงประเด็นการมีตัวตนของตัวละครหลักอย่างมีอา เพราะปัจจุบันนี้การมีตัวตนไม่ได้มีแค่ในชีวิตจริงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในโลกโซเชียลมีเดียด้วย

ดังนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ เราจะเห็นว่าในพิธีกรรมการติดต่อสื่อสารกับผีของเหล่าผู้เข้าร่วมพิธีวัยหัวเลี้ยวหัวต่อทั้งหลาย มักจะถ่ายคลิปวิดีโอเก็บเอาไว้ เพื่อนำไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดียของตนจนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก ซึ่งกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สองตัวละครหลัก อย่าง มีอา และ เจด เกิดความอยากรู้อยากเห็น จนเป็นบ่อเกิดเรื่องราวอันแสนลี้ลับในภาพยนตร์เรื่องนี้

นำอาการของ ‘สารเสพติด’ มาใช้ในการแสดง

ทีมงานเบื้องหลังของ Talk to Me ยังหยิบเรื่องของการใช้สารเสพติดมาเพื่อช่วยทำให้หนังมีมิติมากขึ้น โดยนำอาการมึนเมาของการใช้สารเสพติด อย่างเช่น ‘กัญชา’ มาเทียบเคียงกับอาการเคลิบเคลิ้มระหว่างพิธีคุยกับผี เพื่อเชื่อมเข้ากับการที่ตัวละครอย่างมีอาใช้สิ่งนี้มาเยียวยาเพื่อหลุดพ้นจากปมของตัวเอง จากจุดเริ่มต้นเพียงเพราะความต้องการมีตัวตนและยอมรับจากหมู่เพื่อนฝูง นำพาสู่ความสุขชั่วคราวจากการเสพติดและหลงงมงายในมือผี จนท้ายที่สุดมันก็เผยความชั่วร้ายออกมาราวกับเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง!

‘ซึมเศร้า’ หรือ ‘เห็นผี’ สองประเด็นที่ผสานอย่างไร้รอยต่อ

มาสู่ประเด็นสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ที่ในความคิดของผู้เขียน Talk to Me เป็นหนังที่ขยี้ประเด็น ‘โรคซึมเศร้า’ (Depression) ได้อย่างถึงพริกถึงขิง มีอาผู้ที่เคยเป็นโรคซึมเศร้าหลังจากแม่จากโลกนี้ไปอย่างกะทันหัน ทำให้เธอปิดกั้นตัวเองออกจากพ่อสมาชิกครอบครัวที่เหลืออยู่คนเดียว และเผยให้เห็นว่าสังคมในโรงเรียนที่ผลักให้เธอเป็นคนชายขอบ พร้อมนิยามและเรียกเธอว่า ‘ปลิง’ สัตว์ชั้นต่ำที่สร้างระยะความห่างเหินกับตัวละครตัวอื่นๆ ในโรงเรียน ยกเว้น ‘Jade’ (เจด) เพื่อนสนิทของมีอา และพี่สาวของไรลีย์ที่มีพื้นภูมิหลังคล้ายกัน

จากโรคซึมเศร้าที่กัดกินจิตใจของมีอามานานหลายปี ส่งผลให้เธอมี Self-Esteem (การเห็นคุณค่าในตนเอง) ที่ต่ำจนต้องหาการยอมรับจากคนรอบข้างมาเพิ่มให้ตัวเอง ‘การใช้มือผี’ จึงเป็นสิ่งที่เธอคิดว่ามันคือสิ่งที่ช่วยได้ แต่ภาวะการเห็นและได้ยินเสียงวิญญาณสัมภเวสี ทำให้ผู้ชมอย่างเราเริ่มไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เธอเห็นและได้ยินคืออะไรกันแน่ (ที่ไม่อยู่ในระหว่างพิธีกรรมคุยกับผี) สิ่งเหล่านั้นเป็นผีจริงๆ ไหม หรือเป็นเสียงในหัวคือสิ่งที่เธอสร้างขึ้น หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงจากอาการภาวะซึมเศร้า จนทำให้ตรรกะในหัวของเธอนั้นพังทลายลง

สิ่งเหล่านี้เองแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการกำกับของ Danny Philippou และ Michael Philippou สองฝาแฝดที่ผันตัวจากยูทูปเบอร์มาเป็นผู้กำกับหนังผีไฟแรง ที่นำเอาปัญหาสังคม โดยเฉพาะเรื่องของเด็ก Gen Z มาผูกปมกับพล็อตความสยองขวัญสุดแปลกนี้ สำหรับเรา Talk to Me นั้นเป็นอีกภาพยนตร์ที่ควรค่าในการรับชมมากๆ เพราะทั้งสนุก ลุ้น รวมไปถึงบทและเนื้อเรื่องที่เขียนมาอย่างกลมกล่อม สร้างหนังให้มีมิติได้น่าสนใจ

เหนือสิ่งอื่นใด ELLE MEN Thailand ขอขึ้นคำเตือนตัวโตๆ ไว้เลยว่า ‘ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะไม่เหมาะกับผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต’ เพราะขนาดผู้เขียนดูยังมีอาการตุ้มๆ ต่อมๆ และรู้สึกว่าบางฉากนั้นส่งผลกระทบต่อความรู้สึกมากเกินไป สำหรับชาวแอลเมนคนไหนไปดูมาแล้วลองมาแชร์ความคิดเห็นกับเรากันด้วยนะ!

Sources: 1 , 2 , 3

Similar Articles

More