Words: Santichai Apornsri
ปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่แค่ทฤษฎีหรือเรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะตอนนี้เราทุกคนล้วนประสบได้ด้วยตัวเอง จากคลื่นความร้อนในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา ฤดูร้อนก็ร้อนกว่าปกติ ฤดูฝนก็ฝนตกมากกว่าปกติ และฤดูหนาวก็จะหนาวกว่าปกติ และในตอนนี้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่แค่คำว่าภาวะโลกร้อนแล้ว แต่มันรุนแรงจนกลายเป็นภาวะโลกเดือดไปแล้ว
ความพยายามที่จะหยุดยั้งภาวะโลกร้อน เริ่มต้นจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เกิดขึ้นจากการประชุม COP ครั้งที่ 21 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ที่พยายามจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นทั่วโลกก็เริ่มตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050 โดยหวังว่าจะช่วยรักษาโลกที่กำลังเดือดให้เย็นลงได้
เราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างไร?
จากข้อมูลปี 2019 ของ IPCC พบว่า ภาคพลังงานเป็นส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกถึง 34% รองลงมาก็คือภาคอุตสาหกรรม 24% ภาคการเกษตร 22% ภาคการขนส่ง 15% และภาคการก่อสร้างอีก 5.6% การที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ก็คือแต่ละภาคส่วนต้องหันมาใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่จะทำอย่างไรล่ะ ในเมื่อปัจจุบันโลกเรายังใช้พลังงานจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เรียกได้ว่ากว่า 50% เลยทีเดียว ซึ่งทั้งถ่านหินและก๊าซธรรมชาตินั้นเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำนั้นมีการใช้เพียง 11% เท่านั้น
Illustrator: Saranyu Luangsanam
รถยนต์ EV ตอบโจทย์อนาคตจริงหรอ?
เราอาจจะเห็นว่าตอนนี้รถอีวีกำลังมาแรง แต่ถ้ารถอีวียังชาร์จไฟฟ้าที่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินและก๊าซธรรมชาติอยู่ รถอีวีก็อาจจะช่วยได้แค่การไม่ปล่อยควันพิษเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นเราก็เห็นเทรนด์ของโลกที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่การใช้พลังงานที่มีความยั่งยืนมากขึ้นอย่างพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปอย่างไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในโลกถึง 86.87% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ตามมาด้วยนอร์เวย์ 71.56% สวีเดน 50.92% บราซิล 46.22% นิวซีแลนด์ 40.22% เดนมาร์ก 39.25% ออสเตรเลีย 37.48 สวิตเซอร์แลนด์ 36.72% ฟินแลนด์ 34.61% และโคลอมเบีย 33.02%
พลังงานหมุนเวียนจะนำพาโลกไปสู่ความยั่งยืน
โดยหลายประเทศก็เริ่มตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศพลังงานหมุนเวียน 100% ให้ได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อย่างโปรตุเกสซึ่งถือเป็นประเทศที่ปลอดถ่านหินตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2021 ก็ตั้งใจว่าจะเป็นประเทศปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี ค.ศ. 2030 หรือเดนมาร์กก็วางแผนที่จะยกเลิกการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ และจะเพิ่มการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และลมขึ้นเป็น 4 เท่า หรืออสเตรียเองก็มีการเสนอกฎหมายชื่อว่า ‘Renewable Energy Sources Expansion Act (EAG)’ ที่มีเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้า 100% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีการลงทุนราว 260 ล้านยูโร ในการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคา 1 ล้านหลัง และเพิ่มสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและน้ำ
แน่นอนว่าพลังงานหมุนเวียนที่มาแรงที่สุดที่จะนำพาโลกไปสู่ความยั่งยืนได้ก็คือ พลังงานงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยปัจจุบันสหภาพยุโรปถือเป็นผู้นำของสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 44% ของทั้งโลก เนื่องจากหลายประเทศมีการสนับสนุนพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น ในกรีซมีสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากเป็นอันดับ 2 ของโลก 19% ตามมาด้วยฮังการี 18% และเนเธอร์แลนด์ 17% ในขณะที่อันดับหนึ่งคือประเทศชิลี 20%
Illustrator: Saranyu Luangsanam
หนทางช่วยโลกให้กลับมาเป็นสีเขียวอีกครั้ง
ไม่เพียงแค่การสร้างความยั่งยืนจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนเท่านั้น เรายังได้เห็นความพยายามในการสร้างเมืองที่มีความยั่งยืนในแง่มุมอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งการพยายามฟื้นฟูธรรมชาติ อย่างในสหราชอาณาจักร ก็มีโครงการ Rewilding Britain ที่พยายามฟื้นฟูผืนป่าและระบบนิเวศทั้งเกษตรกรรม ป่าไม้ ในสหราชอาณาจักรให้กลับมาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือในสก็อตแลนด์ก็มีองค์กร Trees for Life ที่พยายามฟื้นฟูผืนป่าในสก็อตแลนด์ให้กลับมา
ไม่เพียงเท่านั้นเรายังได้เห็นการตื่นตัวในการลดใช้พลาสติกแบบ Single Use ทั่วโลก การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการนำทรัพยากรที่ถูกนำไปใช้แล้วให้กลับมาแปรรูปและนำกลับไปใช้ได้อีกในอนาคต แม้แต่วงการแฟชั่นเองที่ก็พยายามมุ่งไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัปไซเคิลที่นำเอาชิ้นส่วนต่างๆ กลับมาทำใหม่ เพื่อลดการผลิตและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้มากที่สุด
จะเห็นว่าทุกภาคส่วนของโลกกำลังหันไปในทิศทางเดียวกันที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน มีเพียงคำถามเดียวก็คือ จะทันเวลาหรือเปล่า เท่านั้นเอง