ทุกท่วงท่าในทุกกระบวนการต่อสู้ของ ‘ก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล’ ผู้รับบท ‘ทศ’ กับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ‘ปิดเมืองล่า Pattaya Heat’ ผลงานร่วมทุนระหว่างวันเดอเรอร์ พิคเจอร์ส และฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) ที่ได้ ‘หยาง ซู่เผิง’ ผู้กำกับมือรางวัลจาก Macau International Film Festival ปี 2009 มากำกับความยิ่งใหญ่ ได้รับการตีความและร่วมออกแบบคิวบู๊เป็นครั้งแรกกับ Yang Kil Young (ยัง คิล ยอง) ผู้กำกับคิวบู๊ชาวเกาหลีที่เคยสร้างชื่อจาก Old Boy ได้อย่างโดดเด่นอีกเรื่องหนึ่ง และครั้งนี้ก็เป็นโอกาสพิเศษที่เราได้มาจับเข่าคุยกับก๊อตถึงการควบบทบาท ‘นักแสดงนำ’ และ ‘ผู้กำกับคิวบู๊ร่วม’ อย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรกใน ‘ปิดเมืองล่า PATTAYA HEAT’ ก่อนที่เราจะตีตั๋วไปมันกับความบ้าระห่ำกันในโรงภาพยนตร์วันนี้

เล่าถึงความหลงใหลการเป็น ‘นักแสดงคิวบู๊’ ที่ทำให้หลายคนจดจำ ‘ก๊อต-จิรายุ’ ในบทบาทพระเอกสายบู๊
Got: เริ่มจากช่วงอายุ 14 ถึง 18 ปี ผมซ้อมกระบี่กระบอกและมวยไทยเยอะมาก เพราะว่าหลงรักพี่จา พนมตอนเด็กๆ แต่พี่จาเป็นสายตีลังกา กระโดดแตะ สายใช้ร่างกายอย่างหนัก ผมเคยทำตามแล้วข้อเท้าแพลงก็เลยหยุดไป ช่วงนั้นทำให้ผมกลับมานั่งหาเวย์ของตัวเองว่าจะทำอย่างไรดีที่ไม่ต้องตีลังกา หรือทำอะไรที่ต้องโลดโผน เพราะทุกครั้งที่บาดเจ็บกินเวลาไป 6-7 เดือน แล้วยิ่งอายุมากก็ยิ่งต้องพักนานขึ้น ก็เลยทำให้ผมต้องหาสไตล์ของตัวเอง ผมจึงนำความเรียลและการใช้ร่างกายมาปรับใช้กับคิวบู๊ ด้วยการใส่คาแรกเตอร์ของสัตว์ป่าเข้าไป แล้วสร้างสรรค์ออกมาผ่านการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของตัวละครนั้นๆ แล้วเมื่อทำมาเรื่อยๆ ผมก็รู้สึกชอบ ทำให้ผมเอาสไตล์เหล่านี้มาใส่ในหนัง ผลออกมาก็ค่อยข้างต่างจากคนอื่น ซึ่งผมมองว่าทุกตัวละครที่ผมแสดงล้วนโดดเด่นในมุมที่แตกแต่งกัน
จุดเริ่มต้นของบทบาท ‘นักแสดง’ และ ‘ผู้กำกับคิวบู๊ร่วม’ อย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรกใน ‘ปิดเมืองล่า PATTAYA HEAT’
Got: ครั้งนี้ผมได้ทำงานร่วมกับ Yang Kil Young (ยัง คิล ยอง) ผู้กำกับคิวบู๊ชาวเกาหลีที่เคยสร้างชื่อจาก Old Boy ทั้งการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นหลายอย่างเข้าไปในตัวละครของผม และการออกแบบคิวบู๊ร่วมในช่วงหลัง ทั้งมูฟเมนต์ ท่วงท่าที่เป็นเอกลักษณ์ตามสไตล์ของผมลงไปในตัวละคร ‘ทศ’

บทบาทของ ‘นักแสดง’ มีวิธีจัดการเตรียมตัวทำการบ้านกับตัวละคร ‘ทศ’ อย่างไร
Got: ปกติแล้วทุกเรื่องผมจะสร้างกระบวนการทำงานใหม่ๆ ขึ้นมาโดยยังคงพื้นฐานของความรู้เก่าๆ อยู่ ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับสถาปนิกสร้างบ้านที่ใช้ความรู้ชุดเดิมอยู่ แต่กระบวนการหรือโจทย์ก็ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะความต้องการของแต่ละตัวละครก็เป็นไปตามเรื่องราวของบท ซึ่งเรื่องนี้ผมสร้างตัวละคร ‘ทศ’ ขึ้นมาใหม่ ด้วยการนำบทมาตีความให้เห็นเป็นภาพกว้าง แล้วค่อยๆ ลงละเอียดเป็นสัปดาห์ไปของการเข้าซีนแต่ละครั้งให้เป็นไปตามความต้องการของตัวละคร การทำแบบนี้ผมมองว่าไม่ต่างกับนักมวยที่ซ้อมมาสามเดือนเพื่อขึ้นชกหนึ่งครั้ง 15 นาทีครับ สิ่งเหล่านี้คือคุณสมบัติที่ดีของนักแสดง

บทบาทของ ‘ผู้กำกับคิวบู๊ร่วม’ มีวิธีจัดการให้ผลงานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุดอย่างไร
Got: จากการกำกับคิวบู๊ของคุณยัง คิล ยอง มีพื้นฐานมาจากการต่อสู้แบบเทควันโดเป็นแม่พิมพ์ของเขา และผมเป็นคนไทยซึ่งมีมวยไทยและก็กระบี่กระบอกเป็นพื้นฐาน ผมจึงนำสิ่งที่คุณยังถ่ายทอดมาปรับพัฒนาเข้ากับมุมของผม คำนวณความเป็นไปได้ หรือถ้าท่วงท่าไหนที่ดูไม่เข้ากับตัวละครของผมอาจเสนอว่าเป็นแบบนี้ไหมอาจดูเป็นวิถีคนไทยมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ผมใส่ความใหม่เข้าไปก็คือความป่าเถื่อนของการเอาตัวรอดตามสัญชาตญาณ ผมไม่ได้ต้องการให้ตัวละครนี้ดูเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ ยืนโพสท่าหล่อๆ ซึ่งเรากำหนดคาแรกเตอร์เป็นแบบวัวกระทิงที่หลุดออกมา หรือแม้แต่พวกเสือที่ออกล่ากวาง แต่สุดท้ายพออยู่หน้าซีนก็ปล่อยไปตามสถานการณ์ความต้องการของตัวละครเลยครับ

ความรู้สึกแรกต่อการร่วมงานเป็นครั้งแรกกับ ‘หยาง ซู่เผิง’ ผู้กำกับมือรางวัลจาก Macau International Film Festival ปี 2009
Got: วันแรกที่ถ่ายทำผมรู้สึกได้เลยว่า หยาง ซู่เผิง เป็นผู้กำกับที่มีของ เพราะว่าวิธีการเล่าเรื่องด้วยภาพของเขาโดดเด่นมาก ซึ่งเขาเป็นผู้กำกับที่มีภาวะการเป็นผู้นำและการมูฟออนไวไม่เสียเวลาดราม่า หาทางออกแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ซีนไปต่อ ซึ่งนั่นเป็นวิธีการคิดของผู้กำกับที่ดีเยี่ยม และอีกอย่างหนึ่งคือระหว่างการถ่ายทำถ้าไม่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นเขาสามารถเบรกกองหนึ่งชั่วโมง เพื่อที่จะให้นักแสดงไปหาไอเดียใหม่ๆ และนัดทุกคนมานั่งคุยกันว่าเราจะทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้บ้าง เขาเป็นคนที่ฟังความคิดเห็นของทุกคนซึ่งเป็นเรื่องดีมากในการทำงานครั้งนี้ครับ
ความท้าทายที่ได้รับจากการทำงานครั้งนี้
Got: ผมมองความท้าทายของการทำงานครั้งนี้ไปตกอยู่ที่การสื่อสารกับผู้กำกับมากกว่า เพราะคุณหยาง ซู่เผิงเป็นคนจีน เมื่อพูดคุยกันในภาษาอังกฤษ ผมก็มีความกังวลว่าเราจะสื่อสารเข้าใจตรงกันหรือเปล่า ถึงความต้องการที่เขาอยากให้เราทำ

อุปสรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างถ่ายทำครั้งนี้
Got: อุปสรรคมีทุกวันครับ (ตอบขึ้นทันที พร้อมเสียงขำเบาๆ) อย่างเช่น ตัวละครทศที่ต้องมีรอยสัก ซีนต่อสู้ต้องหยุดพักเพราะรอยสักเริ่มจาง จึงต้องพักซ่อมลายกันใหม่ มันก็กระทบกับร่างกายที่จากเอเนอจี้ยังพุ้ง ก็ต้องเฉาและต้องมาวอร์มร่างกายใหม่อีกรอบก่อนเข้าฉาก แล้วก็เรื่องราวที่โลเคชั่น Walking Street พัทยาในวันถ่ายก็จะมีทั้งนักท่องเที่ยวจริงและเอ็กซ์ตร้า 150 คน เดินเข้าไปมาเข้ากล้อง ซึ่งก็มีซีนบางซีนที่นักท่องเที่ยวเดินเข้ามาถ่ายรูปบ้าง เข้ามาพูดคุยกับผมบ้าง ‘What are you doing?’ (พร้อมเสียงขำ) ในขณะที่ทศกำลังต่อสู้อยู่ ก็ทำให้ต้องหยุดเพื่อเคลียร์เซตอีกที
หลังจากทำงานครั้งนี้มีแพลนอยากขึ้นแท่นเป็น ‘ผู้กำกับคิวบู๊’ แบบเต็มตัวไหม
Got: คิดทุกวันครับ (เผยรอยยิ้มอย่างจริงใจ) แต่ ณ ตอนนี้ผมยังขออยู่ในฐานะนักแสดงอยู่ ผมอยากสะสมประสบการณ์ของการเป็นนักแสดงมืออาชีพได้อย่างเต็มที่ก่อน จริงๆ ผมก็ไม่รีบที่จะผันตัวไป เพราะการเป็นผู้กำกับมาพร้อมความรับผิดชอบอย่างมหาศาล และด้วยตัวผมเป็นคนคิดเยอะ แล้วถ้าทำผมก็อยากทำเต็มที่เก็บทุกรายละเอียดจริงๆ

ขอ 3 คำที่บ่งบอกว่าหนัง ‘ปิดเมืองล่า PATTAYA HEAT’ ไม่ควรพลาด
Got: ‘แม่ง-โคตร-มัน’ ขอแถมอีกได้ไหม ‘มัน-โคตร-โคตร’