Mark Ong หรือที่รู้จักกันในนาม Mr. Sabotage ตัวพ่อสายสตรีทชาวสิงคโปรชื่อดังระดับโลก เขาเคยร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำมาแล้วมากมายไม่ว่าจะเป็น IWC, Nike, Asics, New Balance หรือแม้แต่ Carnival และในโอกาสที่เขาเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเปิดตัว Vans x Sabotage Collection ผลงานร่วมสร้างสรรค์โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความหลงใหลในวัฒนธรรมพังก์ร็อค พร้อมจัดงานเวิร์คช็อป ณ Vans Flagship Store ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ … งานนี้แอลเมนไม่พลาดคว้าตัว Mr. Sabotage มาร่วมพูดคุยถึงมุมมองของสเก็ตเตอร์สุดเก๋าและเบื้องหลังความคิดในโปรเจกต์คอลลาบอเรชั่นล่าสุด!
![](https://ellementhailand.com/wp-content/uploads/2024/08/DSC01756-683x1024.jpg)
จุดเริ่มต้นในการเล่นสเก็ตบอร์ด?
ผมชื่นชอบในวัฒนธรรมของสเก็ตมานานแล้ว ถ้าให้เล่าคงต้องย้อนกลับไปตอนประมาณ 7 หรือ 8 ขวบ มีเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งให้สเก็ตบอร์ดพลาสติกมาซึ่งผมก็เล่นมันทุกวัน จนวันนึงค้นพบว่าตัวเองมีพรสวรรค์ในการเล่นสเก็ตบอร์ด ทำให้ผมยังเล่นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จะว่าไปมันก็หลายปีอยู่นะครับ
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากความเจ็บปวดของการเล่นสเก็ตบอร์ด?
หลังจากที่เล่นสเก็ตบอร์ดเป็นเวลานาน ผมก็ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกับคำว่า ‘ล้มเหลว’ ไปแล้วครับ ผมชินกับการทดลองเล่นท่าใหม่ๆ แล้วพบว่ามันล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมอาจจะล้มเหลวจนถึงครั้งที่ 9 แต่ผมก็ไม่ยอมแพ้เพราะเชื่อว่ามันจะประสบความสำเร็จในครั้งที่ 10 และผมต้องทำให้สำเร็จด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้คือบทเรียนสำคัญในชีวิตที่ผมได้จากการเล่นสเก็ตบอร์ด และผมนำปรัชญานี้นำไปใช้กับทุกๆ สิ่งในชีวิต
![](https://ellementhailand.com/wp-content/uploads/2024/08/VANS-X-SABOTAGE-คอลเลคชั่นคอลแลปพิเศษ-จาก-@mr_sabotage-ที่ได้แรงบันดาลใจจากความหลงใหลในวัฒนธรรม-PUNK-ROCK-2-819x1024.jpg)
สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้เกิดนักออกแบบที่ชื่อ Sabotage?
สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตคือการที่ผมไม่ได้เทิร์นโปรในฐานะนักกีฬาสเก็ตบอร์ดมืออาชีพ ทว่ามีอีกหนึ่งสิ่งที่ผมสนใจมากคือเรื่องกราฟฟิกและแฟชั่น เพราะผมเองก็ชื่นชอบในเรื่องราวของสเก็ตบอร์ดและวัฒนธรรมสตรีทแฟชั่นเป็นทุนเดิม ทำให้ผมเข้าใจถึงอิทธิพลที่เกิดขึ้นกับวงการแฟชั่นเป็นอย่างดี ซึ่งหลายคนอาจจะพูดได้ว่าผมถนัดเรื่องของการออกแบบมากกว่าการเล่นสเก็ตบอร์ดก็ได้ แต่ว่าผมก็ยังไม่ทิ้งการเล่นสเก็ตบอร์ดนะครับ
อิทธิพลของวงการสเก็ตต่อวงการแฟชั่น?
อาจจะเป็นคำพูดที่ดูเข้าข้างตัวเองไปสักหน่อย แต่ผมว่าสเก็ตบอร์ดมีอิทธิพลต่อหลายด้านของวงการแฟชั่น เพราะมีหลายคน (หรือแบรนด์) ที่อยากดูเหมือนกับสเก็ตเตอร์ไม่เว้นกับแฟชั่นลักชัวรี่หรือกูตูร์ เสื้อผ้าแนวสตรีทน่าส่วนหนึ่งก็ได้รับอิทธิพลมาจากการเล่นสเก็ตบอร์ดและดนตรี เช่น ฮิปฮอป
![](https://ellementhailand.com/wp-content/uploads/2024/08/VANS-X-SABOTAGE-คอลเลคชั่นคอลแลปพิเศษ-จาก-@mr_sabotage-ที่ได้แรงบันดาลใจจากความหลงใหลในวัฒนธรรม-PUNK-ROCK-ร-819x1024.jpg)
พูดถึงดนตรีคุณคิดอย่างไรกับคนที่ใส่เสื้อวงดนตรีแต่ไม่รู้จักเพลงเหล่านั้นเลย?
ผมว่าเป็นเรื่องปรกติที่คนฟังเพลงของวงดนตรีนั้นๆ ที่จะรู้สึกว่า “คุณเคยฟังเพลงของวงนี้ด้วยหรอ?” ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเป็นความคิดที่ค่อนข้างโบราณ มันเป็นแนวคิดแบบ Exclusive ซึ่งตอนนี้เราอยู่ในยุค Inclusive แล้วไม่ใช่หรอครับ? แล้วหากว่าคุณไม่เคยฟังเพลงของวงดนตรีนั้นๆ เพียงแค่ชอบลายบนเสื้อยืด แล้วคุณจะสวมมันไม่ได้หรอ?
ในบางครั้งสถานการณ์แบบนี้อาจจะเป็นการแนะนำให้คนรู้จักวงดนตรีเหล่านั้นมากขึ้นก็ได้ หรือคนอาจจะอยากฟังหลังจากที่ซื้อเสื้อตัวนั้นก็ได้ มันไม่จำเป็นเลยที่ต้องฟังเพลงก่อนแล้วถึงซื้อเสื้อยืดมาใส่ ผมว่ามันเป็นความคิดที่เชยและล้าสมัยไปแล้วครับ
แล้วถ้าเปลี่ยนเป็นวงการสเก็ตบอร์ดคุณว่าเป็นเรื่องเดียวกันไหม?
ผมว่ามันก็เรื่องเดียวกันนะ ผมพูดแบบนี้ได้เพราะผมเล่นสเก็ตมานานมากกว่าหลายคนเสียอีก เพราะบางคนอาจจะคิดว่าถ้าใส่ Vans หรือแบรนด์สเก็ตอื่นๆ แล้วจะต้องเล่นสเก็ตเป็น ซึ่งนั่นเป็นความคิดของคนอื่นไม่ใช่ของผมอย่างแน่นอน จงทำในสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าใช่ ตราบใดที่ทำมันแล้วมีความสุขก็ทำไปเถอะครับ
![](https://ellementhailand.com/wp-content/uploads/2024/08/DSC01723-1024x683.jpg)
คุณเป็นคนที่เปิดกว้างทางความคิดมาก ในวงการจะยังมีคนที่มีแนวคิดแบบนี้อีกไหม?
ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องคิดเหมือนกับผมนะครับ และมันก็ไม่จำเป็นต้องคิดแบบเดียวกันด้วย เพราะแท้จริงแล้วในสังคมเราก็มีคนที่มีแนวคิดแบบดั้งเดิมและคนที่เปิดกว้างทางความคิด นี่แหละคือความหมายที่แท้จริงของคำว่า Inclusivity ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ได้หรอกครับว่าคนเหล่านั้นจะมีมากหรือน้อยแค่ไหน แต่ว่ามันจะดีกว่าไหมที่เราจะมีมองโลกในแง่บวกมากกว่าการมองโลกในแง่ลบ ซึ่งผมก็หวังว่าทุกคนจะเปิดกว้างและโอบรับทุกความคิดเช่นเดียวกันกับผม
ผลงานของคุณได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีอยู่ไม่น้อย ช่วยแนะนำ 5 เพลงโปรดให้เราหน่อยได้ไหม?
เพลงที่ผมชอบฟังมากที่สุดคือ We Are 138 จาก Misfits สำหรับผมแล้วเพลงนี้เป็นตัวแทนแห่งความเป็นอิสระเสรี และเรียกได้ว่าเป็นเพลงชาติประจำตัวของผมเลยก็ว่าได้ ผมเปิดเพลงนี้ฟังอยู่เป็นประจำ และใช้เนื้อเพลงและตัวเลข 138 เพื่อสื่อถึงแบรนด์เสมอ เพราะมันสื่อถึงเสรีภาพได้เป็นอย่างดี
Roots Radical จากวง Rancid เพลงนี้มีจิตวิญญาณที่คล้ายกับ We Are 138 ผมในทุกท่วงทำนองและทุกอย่างในเพลงนี้มากครับ
แล้วก็อัลบั้ม Ride the Lightning จาก Metallica โดยเฉพาะเพลง Fade to Black
แล้วก็เพลง Black Star โดย Mos Def & Talib Kweli ที่จะมีความฮิปฮอปผสมอยู่นิดหน่อย
และสุดท้าย Pet Sematary โดย The Ramones ที่ผมชอบเพราะมันฟังดูแตกต่างจากพังก์ร็อกแบบดั้งเดิมครับ
โปรเจกต์ Vans x Sabotage เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร?
ผมได้ทำโปรเจกต์นี้ผ่านทางเพื่อนคนหนึ่ง เขานำเสนอโปรเจกต์นี้ (ให้กับทาง Vans) มานานแล้ว ซึ่งเวลาต่อมาทำให้มีคนพูดถึงผมในบริษัท (Vans) มากขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้นผมก็พร้อมรับโปรเจกค์นี้ทันที เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้เช่นนี้นั่นก็เป็นเพราะว่ามีคนที่เชื่อมั่นในตัวผมครับ
แรงบันดาลใจที่ส่งผลต่อคอลเล็กชั่น Vans x Sabotage?
ที่ผ่านมาผมเองฟังเพลงแนวพังก์ร็อกมาจำนวนไม่น้อย ผมใช้เวลาส่วนมากไปกับการทำแซมเปิ้ลเพลง ผมนำแรงบันดาลใจที่ได้จากการทดลองให้กลายเป็นวิชวล แปลงออกมาให้กลายเป็นผลงานที่เหมาะสมกับสุนทรียศาสตร์ของ Vans ผมทดลองทำออกมาเยอะมาก แต่ทั้งหมดผมใช้เวลาภายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์
![](https://ellementhailand.com/wp-content/uploads/2024/08/452922643_895877325898507_2550555642477475798_n-1024x683.jpg)
ทำไมถึงเลือกการเปิดตัว Vans x Sabotage ด้วยการจัดเวิร์คช็อป?
เวิร์คช็อปที่ผมจัดขึ้นในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ผมทำร่วมกับ Vans เพราะมันไม่ใช่แค่ “เราจะขายของให้คุณ!” แต่มันมีความหมายทางด้านประสบการณ์ซ่อนอยู่ การทำเวิร์คช็อปที่ต้องทำเองด้วยมือนั้นสื่อถึงจิตวิญญาณของคอลเล็กชั่นของผมได้ดีที่สุด เพราะมีหลายข้อความที่ซ่อนอยู่และเรื่องราวที่ลึกซึ้งที่ผมอยากจะเล่า มากกว่าแค่การออกแบบลายพิมพ์ มากกว่าเพียงแค่ใส่แล้วดูดี
ความพิเศษของรองเท้ารุ่น Old Skool จากคอลเล็กชั่น Vans x Sabotage คือ?
หากลองสังเกตุบนรองเท้า Old Skool ด้านซ้ายจะพบกว่า กระดูกของนิ้วก้อยเท้าหายไปหนึ่งชิ้น เพราะผมอยากจะบอกทุกคนว่าผมเคยทำงานที่ร้านขายสนีกเกอร์ดังในสิงคโปร์ที่ชื่อว่า Leftfoot ผมอยากแสดงออกถึงความเคารพสถานที่ที่ผมเคยทำงาน ผมเอาเรื่องเรานี้ไปบอกกับอดีตเจ้านายในวันเกิดของเขาว่า “รองเท้าคู่นี้ผมออกแบบให้กับคุณ” เขาเซอร์ไพรส์และมีความสุขมาก
![](https://ellementhailand.com/wp-content/uploads/2024/08/452616862_895376209281952_4409039438034373697_n-1024x683.jpg)
คุณมีความหมายอะไรที่ยังแอบแฝงอยู่อีกไหม?
หากลองสังเกตก็จะเห็นรหัส VS-66-65-0316 อยู่บนขอบของรองเท้า รหัส VS-66 ก็คือค.ศ. 1966 ปืก่อตั้ง Vans ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และรหัส 65 คือรหัสของประเทศสิงคโปร์ และ 0316 คือหมายเลขห้องของร้าน Leftfoot ร้านที่ผมทำงานด้วยเป็นครั้งแรก ผมแอบซ่อนความหมายดีๆ ไว้หลายที่ใช่ไหมละ? ที่มันเป็นแบบนั้นก็เพราะผมอยากใช้ผลิตภัณฑ์เป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราว ให้ผลิตภัณฑ์เป็นจุดเริ่มของบทสนทนา แน่นอนว่าถ้าหากคุณรู้…คุณก็รู้! อันดับแรกต้องดูดีและอันดับสองถ้าคุณสนใจในเรื่องเดียวกันเราก็จะคุยกันรู้เรื่อง…ใช่ไหมละครับ?