เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีของ Theatre แบรนด์แฟชั่นไทยที่เป็นดั่งตำนาน วันนี้ ELLE MEN Thailand พาคุณมาพูดคุยกับ ‘จ๋อม-ศิริชัย ทหรานนท์’ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งและผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ ที่ได้ฝากผลงานอันประณีตและเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ไว้ในวงการแฟชั่นไทยตลอดสี่ทศวรรษ
จากวันแรกที่ Theatre กำเนิดขึ้นในฐานะแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับผู้หญิง จนถึงวันนี้ที่ชื่อของ Theatre กลายเป็นตัวแทนของความคลาสสิกและความคิดสร้างสรรค์ คุณจ๋อมจะพาเราย้อนรอยจุดเริ่มต้นของแบรนด์ พร้อมพูดคุยถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังงานออกแบบ และก้าวต่อไปของ Theatre ในอนาคต

อยากให้เล่าให้ฟังว่า หลังจากเรียนจบเพาะช่างแล้ว เข้ามาทำงานในแวดวงแฟชั่นได้อย่างไรครับ?



ในช่วงระหว่างที่เรียนหนังสือใกล้จะจบ พี่ไปคลุกคลีกับพี่ไข่ (สมชาย แก้วทอง) ก็ได้รู้จักกับพี่กบ (เมนาท นันทขว้าง) และพี่หนูแดง (เลื่อมประภัสสร นันทขว้าง) เพราะทั้งสองพี่น้องเขามาเป็นนางแบบให้พี่ไข่ ประมาณหนึ่งปีที่พี่คลุกคลีอยู่กับวงการนางแบบ ตอนนั้นจะสนิทกับพี่กบและพี่หนูแดงมากกว่านางแบบทุกคน พอเรียนจบพี่กบก็เลยชวนพี่มาทำงานที่ร้าน Soda Pop คือพี่เป็นคนชอบขายของ แล้วก็ชอบเจอคนโน้นคนนี้ จบมาเราก็ยังไม่รู้จะไปทำอะไร
ตอนนั้น Soda Pop ก็คือเป็นร้านขายเสื้อยืด ซึ่งไม่ได้มีองค์ประกอบของเสื้อ เช่น กางเกง แจ็กเกต สมัยนั้นจะมีทีมดีไซเนอร์ที่ทำเสื้อลงนิตยสารลลนา ของคุณสุวรรณี สุคนธา ซึ่งเป็นคุณแม่ของพี่กบ เช่น พี่ป้อม ธีระพันธ์, พี่ป๋อง องอาจ, พี่เจี๊ยบ พิจิตรา และ โหน่ง ปริญญา 4-5 คน พี่กบก็เลยให้ชวนพี่ๆ เขาทำเสื้อผ้าท่อนล่างมาประกอบกับเสื้อยืด มันจะได้มีอะไรนอกจากเสื้อยืด ทุกคนก็จะทำกระโปรงบ้าง กางเกงบ้าง ใครสะดวกทำมาเอามาประกอบกัน ส่วนพี่ เป็นคนชอบทำเครื่องประดับ พี่ก็เอาเครื่องประดับไปขาย ก็จะมีตู้เครื่องประดับให้พี่ตู้หนึ่ง ก็ทำต่างหู กำไล สร้อย ทำไปเรื่อยๆ มันก็ขายได้ คู่ละร้อยกว่าบาท สองร้อย จนวันหนึ่งคิดว่าเราก็อยากเปิดร้าน
ทำงานอยู่กับพี่กบประมาณ 4 ปี ทำทุกอย่างแกก็ไว้ใจเราให้ดูแลร้าน ดูแลลูกค้า ดูแลดิสเพลย์ เพราะว่าสัก 3 เดือน แกก็จะเปลี่ยนดิสเพลย์ เป็นโน่นนี่นั่น มันไม่ใช่หุ่นนิ่งๆ จะมีสตอรี่ วันนี้จะเล่าเรื่องซัมเมอร์ จะเป็นการจัดวางจัดคอมโพสหน้าร้าน จัดองค์ประกอบ เราก็เห็นแกทำ ดีไม่ดีพี่กบก็จะบอก เอาอันนี้ออกสิ อันนี้ใส่สิ ก็สอนเรา นั่นคือจุดเริ่มต้น
ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานที่ Soda Pop


น่าจะเป็นเรื่องของดิสเพลย์ เรื่องของสไตล์ เรื่องคอนเน็กชั่น คือได้รู้จักคนเยอะ ความที่เราอยู่ที่ร้านเราก็จะรู้จักคนมาก มากจนใครๆ ก็มาหาพี่ พวกเด็กๆ ไม่ว่าจะสาธิต เด็กจุฬาฯ น้องๆ ทั้งหลายก็เติบโตจนมาถึงทุกวันนี้ คือพี่กบไม่ค่อยได้อยู่ร้านเท่าไหร่ เพราะว่าต้องไปทำนิตยสารลลนา พี่ก็จะดูแลตรงนี้ให้ ไม่ต้องวอรี่ เดี๋ยวจัดการทำให้ เป็นการไว้ใจ นั่นคือจุดเริ่มต้น เสื้อผ้าเป็นอย่างไร ขายของอย่างไร ลูกค้าบางคนพี่กบก็ไม่ได้รู้จักแต่พี่รู้จัก คือจุดเริ่มต้น เรารู้จักคนจากตรงนั้น รู้จักคนในวงการ
ตอนระหว่างที่พี่ทำงานที่ร้าน Soda Pop ก็ทำเสื้อไปขายด้วย อยากทำอะไร ก็ทำไปขาย เสื้อยืดเราก็ทำ เข็มขัดบ้าง แอ็กเซสเซอรี่ส์บ้าง ทำเสื้อก็คือไม่ได้ประกอบร่าง เป็นชิ้นๆ ทำกางเกง ปรากฏว่าขายดี กางเกงสีเขียว สีเหลือง สีแดง เป็นผ้าฝ้าย ไปซื้อแล้วก็ให้ช่างตัดเย็บ ก็เริ่มต้นจากตรงนั้น มันก็เหมือนกับค่อยๆ มีสตางค์จากการขายของ พอขายได้มันก็สนุก มีความรู้สึกว่ามันก็ขายได้นะ เวลาเราจะเรียกเก็บเคลียร์ บิลทีหนึ่งก็สองสามเดือน ปรากฏว่าพี่กบบอก ทำไมหนูขายดีอย่างนี้ ก็ไม่รู้หมดปุ๊บ พี่ก็กลับบ้านไปทำ ตรงนั้นก็คือจุดเริ่มต้นของพี่เหมือนกันนะ คือของมันขายได้ก็กลับบ้านไปทำสิ กลับบ้านไปทำเครื่องประดับ วันนี้มาวางห้าคู่ขายได้ไปสาม วันนี้ทำอีก มีความรู้สึกว่าเอนจอยการทำแบบนี้ แต่ทีนี้พอเราทำเสื้อผ้าเราก็เริ่มรู้สึกไม่ค่อยดีว่าเราเอาเวลางานไปทำงานส่วนตัว งานเข้า 10 โมงนี่ก็ไปเที่ยง คือสมัยนั้น 5 โมงเย็น สำเพ็งก็ปิดแล้วเราจะไปซื้อผ้าทำเสื้อตอนไหน ก็ต้องไปตอนเช้า เพื่อไปซื้อผ้ามาประกอบร่างโดยทำงานตอนกลางคืน
มันก็เริ่มกินเวลางานประจำที่ทำอยู่ที่ร้าน Soda Pop รู้สึกไม่ค่อยดีที่เอาเวลาเขามาทำงานของเรา แล้วพี่เป็นคนทำงานแล้วจะไม่หยุด เก็บวันหยุดเพื่อที่จะไปฮอลิเดย์ ปีหนึ่งมีวันหยุดไม่หยุด เดี๋ยวหนูมาเปิดร้านให้วันหยุด นี่คือสิ่งที่ตัวเองเป็นมาตั้งแต่เด็ก คือพี่เริ่มจากศูนย์ พ่อแม่พี่ไม่ได้มีตังค์อะไรให้ พอทำงานมีตังค์ก้อนหนึ่งที่จะไปเที่ยว ครั้งแรกก็ไปปารีสเลย จากนั้นก็ไม่เคยหยุด มันเป็นแรงขับเคลื่อน เดี๋ยวปีนี้จะต้องเก็บตังค์เพื่อที่จะไปเที่ยวปีหน้า มาทำปีนี้ ปีหน้าจะได้ไปเที่ยว แล้วเหมือน Soda Pop ก็เริ่มจะมีระบบ พอเป็นระบบเราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนที่อยู่ในระบบไม่ได้ ก็เลยบอกพี่กบว่าขอลานะคะ
แล้วจากจุดเริ่มต้นตรงนั้นมาเป็น Theatre ได้อย่างไรครับ

ทางผู้บริหารตึกชาญอิสสระ เขาเป็นลูกค้าที่ร้าน Soda Pop ก็มาชวนให้พี่ไปเปิดร้าน เราก็น่าสนใจดีนะ แต่ก็ตอบไปว่าหนูไม่มีตังค์ จะเอาเงินจากไหนไปซื้อห้อง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาเห็นอะไรในตัวเรา มีศักยภาพอะไร เขาไม่ได้สนิทอะไรกับพี่ แต่ก็บอกอยากให้เราไปเปิด เขาบอกเออไม่มีตังค์ไม่เป็นไร อยากให้มาเปิดมาดูก่อนว่าชอบห้องไหน เราก็นึกในใจจะเอาเงินจากที่ไหนมาซื้อ เขาทำตารางมาให้เราวางเงินดาวน์เท่านี้ แล้วก็ผ่อนดาวน์เท่านี้ เสร็จปุ๊บเอาเข้าแบงค์ก็ผ่อนเท่านี้ โดยที่ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องจะเอาเงินที่ไหนไป ซื้อผ้ามาทำขาย พี่บอกเขาไปว่า แน่ใจนะไม่มีเงินก็คือไม่จ่ายนะ เขาบอกได้พี่ให้สัญญา เขาก็มั่นใจในตัวเรามาก
และเราก็เด็กอายุเพิ่ง 25 ก็ไปเซ็นสัญญาเริ่มผ่อนตึกตั้งแต่มันยังไม่ขึ้น เดือนละหมื่นกว่าบาท ทีนี้จากสัญญาตึกมันจะต้องเปิดประมาณเดือนธันวาคมของปี ’84 พี่ก็วางแผนเดี๋ยวเราจะเปิดร้านด้วยการทำแฟชั่นโชว์ที่ชื่อว่า The Changing Face เดินโชว์เสร็จเสื้อจะไปวางขายที่ร้านเลยเป็นการ เปิดตัวแบรนด์คุณสามารถซื้อเสื้อจากแฟชั่นโชว์นี้ได้ที่ร้านเธียเตอร์ ไทม์มิ่งต้องเป็นแบบนั้น ปรากฏว่าตึกมันไม่เสร็จเลทไปประมาณสองสามเดือน เราก็บอกไม่ได้นะเราไม่มีที่ลงเสื้อ คือเคว้งคว้าง ออฟฟิศก็ไม่มี ทำที่บ้านที่เช่าอยู่ก็ไม่ได้ เลยมาเช่าห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งแถวสีลมเป็นสตูดิโอ เป็นการทำงานที่ไม่ถึงกับล่องลอย แต่ไม่มีช่างอะไรอยู่ในมือที่สามารถจะสั่งอะไรได้เพราะว่าเขาเป็นช่างที่ทำงานของเขาเองด้วย เราเอางานไปให้แล้วก็รวบรวมมาเป็นแนวนั้น ทางตึกก็บอกว่าเดี๋ยวขอเวลาอีก 10 วันนะ เขาจะจัดการติดแอร์ จะทำอะไรให้ก่อนใครเลย ให้พี่ห้องแรก
เสื้อขายดีมากตั้งแต่ตึกยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ
ตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้านคนก็มาขอซื้อเสื้อในแฟชั่นโชว์ คือต้องเข้าใจว่าสมัยก่อน มีสื่อเพียงแค่นิตยสาร ตอนทำแฟชั่นโชว์ก็มีนิตยสารมาทำข่าวมากมาย ในขณะเดียวกันก็มีการถ่ายแฟชั่นไปก่อนหน้า ซึ่งหนังสือออกในเวลาใกล้เคียงกัน พอเสื้อได้ลงในหนังสือคนเห็นเข้าก็โทรศัพท์มาขอมาดูเสื้อ ร้านเปิดหรือยังคะ ต้องเข้ามาทางด้านหลังนะคะ ขอโทษนะคะร้านยังไม่เสร็จนะคะ ฯลฯ ก็ปรากฏว่าขายได้แบบคาดไม่ถึง
พอมันขายได้เราก็ดีใจ มันก็ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป หลังจากนั้นตึกชาญอิสสระเปิดเดือนมีนาคม ’85 เธียเตอร์ก็เริ่มเข้าสู่ความเป็นระบบธุรกิจ ก็ขยับขยายที่อยู่อาศัยใช้พื้นที่ที่ร้านทำสต๊อก ช่างมาก็สั่งงาน ข้างหน้าร้านก็ขาย ข้างหลังก็สั่งงาน มีคนมาช่วยขาย เราก็ออกไปวิ่งซื้อผ้า ซื้ออุปกรณ์ ทำคนเดียว รถราอะไรไม่มี ยังไม่มีทรัพย์สินอะไรนอกจากร้าน บ้านก็เช่าอยู่จากห้องหนึ่งก็ไปแบ่งเป็นสองห้อง ก็เอาที่นั่นเป็นออฟฟิศ ก็สนุกและไม่เหนื่อยเพราะว่ามันขายได้ การที่ขายได้มันทำให้เรารู้สึกเอนจอยกับสิ่งที่เราทำ เก็บเล็กผสมน้อยจนกลายมาเป็นแบบนี้
หลังจากนั้นก็ได้ขยับขยายมาเปิดร้าน ‘เสื้อผู้ชาย’



คือตอนที่เปิดร้านมันเป็นจุดเปลี่ยนที่เป็นความบังเอิญ เป็นความโชคดีที่มีคนซัพพอร์ต ซัพพอร์ตในที่นี้ไม่ได้เป็นการซัพพอร์ตเรื่องเงิน แต่เป็นการซัพพอร์ตเรื่องการทำงาน คือการจะเปิดร้านมันก็ต้องมีทีม มีคนซัพพอร์ตเรา ไม่ว่าจะแมกกาซีนหรือว่าเพื่อนฝูงในวงการแฟชั่นทั้งหลาย ทุกคนก็ช่วยเราเรื่องถ่ายแมกกาซีน วางแผนจะโปรโมตร้าน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีช่องว่างของดีไซเนอร์รุ่นโต เราก็เอาสไตล์ตัวเองเป็นหลักที่จะทำเสื้อผ้าขาย
เพราะฉะนั้นการทำงานในแนวทางที่เราเคยทำที่โซดา เป็นลักษณะเสื้อที่ลูกค้าเข้ามา ลูกค้าก็อยากซื้อชิ้นไหน ลูกค้าก็ไปประกอบ ทำสไตล์ของตัวเองเอา หรือไม่เราก็จับมิกซ์แอนด์แมตช์นั่นคือสิ่งที่เธียเตอร์เป็น หลังจากเปิดร้านได้สักพักก็เริ่มรู้สึกว่าพื้นที่มันเล็กไป เสื้อก็แน่นอยู่บนราว รู้สึกอยากทำเสื้อผู้ชาย ก็เลยไปเช่าร้านตรงข้ามเปิดร้านชื่อ Theatre Masculine ก็ประสบความสำเร็จอีก เพราะสไตล์ของเสื้อที่ค่อนข้างชัดเจน มีความแกลม มีความเรโทร โรแมนติก เป็นผู้ชายแต่งตัวเก๋จัด สไตล์หนุ่มปารีเซียงแนวอาวองต์การ์ด
แฟชั่นที่ทำในตอนนั้น ได้แรงบันดาลใจมาจากที่ใดบ้างครับ



พี่ได้จากเทรนด์ที่เราเดินทางไปเมืองนอกกลับมา ทำแล้วก็ดูจากหนังสือแฟชั่นเป็นหลัก ตอนเริ่มต้นนั้น สี่สิบปีก่อนเทคโนโลยีมันก็ไม่มีเหมือนสมัยนี้ การเป็น กลุ่มเป็นหมู่เป็นคณะดีไซเนอร์มันก็ไม่มี เพราะฉะนั้นใครอยากทำอะไรก็ค่อนข้างที่จะอิสระ เราชอบสไตล์แบบนี้เราก็ทำของเราแบบนี้ เธอก็ทำของเธอ ฉันก็ทำของฉัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำออกไปขาย ลูกค้าคนไทยเราก็บริโภค กลายเป็นลูกค้าที่ติดตามเป็นแฟนเราทำอะไรก็ขายได้ แล้วด้วยเศรษฐกิจตอนนั้นมันดีมาก ตึกชาญบูมมาก เสาร์-อาทิตย์ คนเดินกันขวักไขว่ ในขณะที่ศูนย์การค้าอื่นยังไม่เปิด ยังไม่มีเซ็นทรัลเวิลด์ ยังไม่มี เอ็มโพเรียม ที่นี่เป็นศูนย์แฟชั่นที่นำเอาดีไซเนอร์ไทยเข้ามามากที่สุด คนก็มาช็อปปิ้งที่นี่กันเยอะมากๆ ด้วยความที่มันไม่เหมือนกับที่อื่น
‘ตึกชาญอิสสระ’ กับ ‘สยามเซ็นเตอร์’ แตกต่างกันอย่างไรครับ
ตึกชาญฯ ค่อนข้างเป็นตึกที่มีความไม่เหมือนใคร คนที่เดินสยามเซ็นเตอร์จะเป็นวัยรุ่น แต่ที่ตึกชาญฯ จะเป็นดีไซเนอร์รุ่นใหญ่ที่มาเปิด คนที่มาเดินก็จะโตขึ้น มาหน่อยและแต่งตัวค่อนข้างไฮแฟชั่น หลังจากนั้นผ่านไป 3-4 ปี ก็เริ่มมีศูนย์การค้าใหม่ๆ เกิดขึ้น คนที่มาเดินตึกชาญฯ ก็ลดลง พี่ก็มีความรู้สึกว่า เราอยากได้ร้านใหม่ เพราะที่นี่เป็นตลาดที่มาช็อปแล้วก็กลับ มันไม่มีที่เดินไปกินไปโชว์ตัวเหมือนที่สยามเซ็นเตอร์ คือแต่งตัวเดินแล้วก็เดินโชว์ได้ เลยขยับขยายไปเปิดที่สยามเซ็นเตอร์
ในชื่อร้านว่า Theatre Dressing Room จากนั้นก็ขยายไปลงทุนที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ปัจจุบันคือเซ็นทรัลเวิลด์) เป็นการซื้อสิทธิ์ 16 ปี ก็เปิดจนครบ 16 ปี ครบสัญญาเช่า จนเวิลด์เทรดเปลี่ยนมือมาเป็นเซ็นทรัลเวิลด์ ถือว่าประสบความสำเร็จ เราไปอยู่ตรงจุดที่ทำให้คนรู้จักเธียเตอร์มากในยุคนั้น มีลูกค้าต่างชาติที่มาแล้วก็ไป จากนั้นพี่ก็ค่อยๆ ขยายกิจการเพิ่มขึ้นโดยการเปิดทีละร้านจนมีถึง 5 สาขา มีเซ็นทรัลลาดพร้าว และเซ็นทรัลบางนา พอถึงพีคของมันก็รู้สึกว่าไม่ไหวละ ก็ค่อยๆ ปิดทีละร้าน จนเหลือที่สยามเซ็นเตอร์ร้านเดียวในตอนนั้น
ประเทศไทยผ่านวิกฤตการณ์มามากมาย แต่ Theatre ก็ยังยืนหยัดอยู่มาได้ถึง 40 ปี มีหลักการบริหารจัดการอย่างไรครับ



ตั้งแต่เริ่มสร้างแบรนด์ เราทำเสื้อผ้ามากมายสะสมมา จนทำให้แบรนด์มีดีไซน์ที่ชัดเจนและครองใจคนไทย จนพอมาเริ่มทำโชว์ที่ Elle Fashion Week เธียเตอร์ก็ปรับโฉม มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานที่เป็นระบบขึ้น มีทีมดีไซน์ที่มาช่วยปรับให้แข็งแรงขึ้นโดยที่ DNA เดิมยังอยู่ คือเป็นเสื้อผ้าค่อนข้างที่จะตะโกน แฟชั่นมันมีช่วงหนึ่งที่มันเป็นมินิมัลลิสต์
เธียเตอร์ก็พยายามจะทำมินิมัลลิสต์แต่ก็ยังมีความตะโกนอยู่ ซึ่งก็โชคดีที่มินิมัลลิสต์มันก็มาในช่วงสั้นๆ เพราะพี่ชอบความแกลม ชอบความสง่างาม ความโรแมนติก ทีนี้พอแฟชั่นมันเปลี่ยนไป มันกลับมาเริ่มเยอะขึ้น ก็รู้สึกดีใจ เพราะสิ่งเหล่านี้มันก็สะสมมาจนถึงทุกวันนี้ ตอนก่อนโควิด เราทำแฟชั่นโชว์ปีหนึ่งก็ 3-4 โชว์ เป็นคอลเล็กชั่นที่สร้างขึ้นมาเองไม่ได้ทำตามซีซั่นแฟชั่นวีค คือพี่คิดว่าเสื้อผ้าของเธียเตอร์เป็นอะไรที่ไร้กาลเวลา ใส่เมื่อไหร่ก็ได้ เสื้อผ้าที่พี่ทำไว้เมื่อยี่สิบหรือสามสิบปีที่แล้วก็ยังหยิบมาใส่ได้ไม่เชย สิ่งต่างๆ เหล่านี้เวลาที่ลูกค้าพูดถึงเราก็มักจะพูดว่ายังใส่ได้อยู่ ในที่นี้หมายถึงเขาเอากลับมาใส่ เขายังภาคภูมิใจ เอาจริงๆ ชิ้นงานมันมากมายจนตัวเองยังจำไม่ค่อยได้นะ (หัวเราะ) ทั้งหมดนั่นคือ DNA ของแบรนด์เลยคือการมิกซ์แอนด์แมตช์
นอกจากเสื้อผ้า Ready-to-Wear ทำไลน์อย่างอื่นด้วยไหมครับ?

เวลาเราทำแฟชั่นโชว์ เราก็จะเอามาละลายดีไซน์ว่าส่วนนี้เราเอามาย่อยให้กลายเป็นเสื้อสำเร็จรูป แต่ตัวมาสเตอร์พีซก็คือตัวที่เราโชว์บนรันเวย์ ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะฉะนั้นเสื้อที่เราทำโชว์ส่วนใหญ่จะทำพอดีไซส์นางแบบ ไม่ได้ทำเพื่อที่จะให้ลูกค้าคนนั้นคนนี้ แต่บางทีถ้าลูกค้าเกิดอยากได้เราก็ต้องทำให้เขาใหม่ ต้นแบบก็จะยังอยู่บ้าง ถ้าเกิดใส่ได้เราก็จะขายไป ไม่ได้เก็บไว้คือมันเยอะมาก เธียเตอร์ทำโชว์ที่ทุกคนมักจะพูดถึง ไม่ว่าจะโชว์ที่ติดตาตรึงใจหลายโชว์อยู่ และด้วยแฟชั่นที่มันเปลี่ยนไปและมันหลากหลายก็มีเด็กรุ่นใหม่ที่ยังไม่รู้จักเธียเตอร์แวะเวียนเข้ามา คือเขาต้องการ สิ่งที่แตกต่างในราคาที่ไม่แรงจนเกินไป ที่สำคัญเขาได้ชุดที่ไม่เหมือนใคร เสื้อต้นแบบที่ทำโชว์ก็จะเป็นแบบ คัสตอมเมด ที่ทำควบคู่กันไป
ทุกวันนี้ไม่ทำร้านที่สยามเซ็นเตอร์แล้ว ถ้าอยากได้เสื้อ Theatre ต้องไปที่ไหนครับ
ทุกวันนี้เธียเตอร์ก็ปรับรูปแบบในการขายมาอยู่ที่ออฟฟิศ Theatre Bangkok ในซอยรัชดา 36 นี้ เพราะทุกอย่างก็เกิดขึ้นที่นี่มายี่สิบกว่าปีแล้ว คิดว่าตรงนี้ เรามีพื้นที่อยู่ หลังจากโควิดพี่ก็ค่อยๆ ปิดร้านไป เหลือสยามเซ็นเตอร์ที่เดียว แต่การทำงานในปัจจุบันมันยากขึ้น เพราะหลังโควิดประเทศก็ยังไม่ได้เปิดมาก ตอนที่เราทำสยามเซ็นเตอร์ ลูกค้า 60-70% เป็นชาวต่างชาติ พอต่างชาติน้อยลงเรารู้ตัวเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น อาจจะไม่ได้ถูกตลาดเหมือนกับที่ต่างชาติเห็นเสื้อเรา เราคิดว่าเราก็เป็นที่นิยมสำหรับคนเอเชียด้วยกัน อย่างพวกตะวันออกกลาง ด้วยกำลังการซื้อคือสินค้าเราราคาไม่ได้สูงมากลูกค้าก็พอใจ
เสื้อเรามันไปทางตลาดแบบนั้นแต่เราไม่ได้ทำ ส่งออก ทีนี้พอมันซบเซาเราก็คิดว่า เหนื่อยกับการที่ต้องมาบริหารจัดการ ก็คิดว่ามาเปิดที่บ้านเราตรงนี้ก็ลองดูไม่มีอะไรต้องเสีย เราอาจจะสบายตัวขึ้นก็ได้ เพราะว่าก่อนหน้านี้มันต้องวิ่งอยู่ตลอดเวลา รายรับกับรายจ่ายไม่บาลานซ์กัน ซึ่งทุกคนก็อาจจะเจอกับปัญหานี้ พอเราเจอเราก็พยายามมาปีกว่าสองปี ก็รู้สึกไม่ไหว พอหมดสัญญาสยามเซ็นเตอร์ก็ปิดตัวและมาเปิดที่นี่ จากนั้นก็เริ่มขายของออนไลน์ ตั้งทีมขึ้นมา ค่อยๆ เดินมาเรื่อยๆ จากที่ไม่รู้เรื่องก็ปรึกษาน้องบ้าง ปรึกษาเพื่อนบ้างถึงแนวทางในการทำออนไลน์ แล้วทีมงานเราก็อยากขายของ อยากช่วยเรา ให้รู้สึกว่ามันมีอีกทางหนึ่งที่จะทำให้มันมียอดขายควบคู่กันไป การขายในเว็บไซต์ให้ดีมันก็ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ซึ่งตอนนี้ถือว่าดีขึ้นมากๆ
ช่วงหลังพี่จ๋อมได้เข้ามาช่วยงานรัฐบาลในส่วนของผ้าไทย
ได้รับเกียรติมาร่วมงานเป็นที่ปรึกษาในโครงการ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ เป็นโครงการนำร่องเริ่มต้นของลายผ้าพระราชทานในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งพี่รับเป็นวิทยากรที่นำองค์ความรู้ที่เรามีอยู่ไปร่วมพัฒนา ผ้าไทย ก่อนหน้านั้นเราไม่ได้มีบทบาทมากในการใช้ผ้าไทยมาดีไซน์ในงานของเรา เพราะมีความรู้สึกว่าข้อจำกัดเยอะแล้วก็ราคาสูง จริงๆก่อนหน้าที่เราจะมาทำผ้าไทยจริงจัง พี่ได้รับเชิญดีไซน์ผ้าไทยอยู่ตลอด ก็จะมีโจทย์ให้มาทำเสื้อไปโชว์ 10 ชุด แล้วก็จบ แต่ยังไม่เคยเอาผ้าไทยมาทำขายเป็นเสื้อสำเร็จรูป
ทีนี้พอมีโครงการลายผ้าพระราชทาน เราก็เอาองค์ความรู้ของเราในเชิงแฟชั่นไปแนะแนวให้กับชาวบ้านที่จะนำผ้ามาประกวด ให้ความรู้เรื่องแฟชั่น เช่น การวางลาย การจัดสี โครงสร้าง การใช้เนื้อผ้า แนะนำในเรื่องของเทคนิคสร้างสรรค์ ว่าสามารถเอาไปทำอะไรได้ เช่น งานปักต้องทำสเกลใหญ่ขึ้น หรือการเอางานคราฟต์ใส่เข้าไป จุดที่มันจะดูน่าสนใจควรเป็นอย่างไรสำหรับผ้าประกวด มันก็ถึงเวลาที่เราสามารถ เอาองค์ความรู้ของเราที่เราสะสมมาไปต่อยอดให้เขา ได้ในเรื่องของการแปรรูป เพราะนอกจากโครงการการประกวดแล้ว ยังมีโครงการอื่นๆ ของกรมการพัฒนาชุมชนโดยกระทรวงมหาดไทย ที่เชิญไปเป็นวิทยากร ในเรื่องการแปรรูป เช่น ผู้ประกอบการที่ทำผ้าอยู่แล้ว อยากจะแปรรูปกับสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความเป็นแฟชั่น เราก็จะเอาสิ่งที่เรารู้ไปถ่ายทอด ให้เขา เอาแพตเทิร์นเข้าไปให้เขา
เวลาผ่านไปสิ่งที่เราถ่ายทอดไปเขาก็ทำได้ และเขาก็เห็นผล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสิ่งที่เขาอาจจะไม่กล้าฉีกออกไปนอกกรอบ ของตัวเอง เราก็ไปชี้แนะแค่ปรับบางอย่างมันนิดเดียว แต่เขามองไม่เห็น ทำแล้วดีมากนะ เรารู้สึกดี คือพอเราปิดร้านไปแล้ว มาทำในเรื่องของผ้าไทย ก็มีเวลามาทำตรงนี้ ได้เดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิต เมื่อก่อนไม่เคยได้เดินทางไปแบบนี้เลย ไม่ได้มีโอกาสเดินทางรอบประเทศไทย เป็นคนชอบเจออะไรใหม่ๆ ยังชอบศึกษาชอบเรียนรู้ พอไปบ่อยขึ้นก็รู้สึกว่า มีอะไรแบบนี้ในจังหวัดที่เราไม่เคยไป คนที่เรา ไม่เคยเจอ รู้สึกเอนจอยซึ่งทุกคนก็มักจะถามไม่เหนื่อยเหรอ เดินทางตลอดเวลาเลย แต่พี่เป็นคนจัดสรรเวลาได้
Theatre ในยุคปัจจุบัน

เราทำเป็นคอลเล็กชั่นย่อยๆ เพื่อที่จะขายในเว็บไซต์ ก็มีของใหม่เข้าไปเสริมเป็นช่วงๆ แล้วก็สต๊อกที่เรายังมีอยู่ก็ยังขายได้เรื่อยๆ นอกจากนี้ก็มีการทำ Re-Production เสื้อที่เคยเป็นเสื้อยอดนิยมก็เอากลับมาทำ นี่คือเธียเตอร์ในปัจจุบัน และจากการที่พี่ได้รับเชิญไปเป็นที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยก็จะมีลูกค้าอีกส่วนหนึ่งที่เห็นงานของเราในดีไซน์ของเธียเตอร์โดยใช้ผ้าไทย อันนั้นก็จะเป็นอีกไลน์หนึ่งที่ลูกค้ามาหาเราแล้ว ก็ตัดผ้าไทยกับเรา
ซึ่งทำมาแล้วประมาณ 4-5 ปี จะเป็นฐานลูกค้าที่มาสั่งตัดที่ออฟฟิศ Theatre Bangkok รัชดา 36 ที่นี่ก็กลายเป็นที่นัดหมายที่จะให้เราออกแบบตัดเย็บ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยทำ คือพี่จะปฏิเสธทุกข้อแม้ เพราะว่าเราถนัดในการทำเรดดี้ทูแวร์มากกว่า ตอนนี้ก็เลยเป็นการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเธียเตอร์ ลูกค้าก็ไว้ใจเรา แฮปปี้ที่จะมาเจอเรา ทุกวันนี้พี่ก็เลยยังลุยงานเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าจัดสรรเวลา ไปทำงานช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยที่ต้องการเรา ควบคู่กับการสร้างสรรค์เสื้อผ้าที่เธียเตอร์ซึ่งครบรอบ 40 ปีในปีนี้ ก็ขอให้รอชมและติดตามผลงานกันตลอดไป
Words: Koko Nichakul