#ELLEMEN5FACTS จุดกำเนิด Paralympic Games มหกรรมกีฬาเพื่อคนพิการ

พาราลิมปิกเกมส์เป็นมหกรรมกีฬาที่จัดขึ้นเพื่อสงเสริมความมุ่งมั่นของนักกีฬาที่มีความพิการ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลกผ่านรูปแบบของเกมกีฬา อีกทั้งยังสร้างความเข้าใจในความแตกต่างเพื่อเป็นการยกระดับความหลากหลายและสร้างความเท่าเทียมในสังคม … แอลเมนขอพาทุกคนไปย้อนรอยเส้นทางกว่าจะมาเป็นพาราลิมปิกส์เกมส์อย่างที่หลายคนรู้จักในปัจจุบัน

1943: จุดเริ่มจากการบำบัดทหารผ่านศึก

ปี 1943 คือหมุดหมายสำคัญของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น เมื่อนายแพทย์ชาวยิว Ludwig Guttmann (ลุดวิก กุตต์แมนน์) หัวหน้าฝ่ายประสาทวิทยาในโรงพยาบาลเมืองฮัมบูร์ก ผู้ลี้ภัยสงครามกองทัพนาซีเยอรมันมาอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ โดยเวลาต่อมาทางรัฐบาลได้มอบหมายให้เขาก่อตั้งแผนกฟื้นฟูผู้ป่วยกระดูกสันหลัง ในโรงพยาบาลบาลทหารผ่านศึก (Ministry of Pension Hospital) ที่ Stoke Mandeville (สโตคแมนเดวิลล์) ในเมืองบักกิ้งแฮมเชียร์ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและจิตใจให้แก่เหล่าทหารผ่านศึกผู้บอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทางนายแพทย์ Ludwig ได้จัดกิจกรรมสงเสริมการฟื้นฟูร่างกายประเภทต่างๆ รวมถึงการจัดให้มีการเล่นกีฬา โดยกีฬาประเภทแรกที่นำมาทดลองใช้กับผู้เข้ารับการรักษาบนเก้าอี้วีลแชร์คือโปโลและฮ็อกกี้

การทดลองเล่นโปโลวีลแชร์ในทศวรรษ 1940

การทดลองเล่นโปโลวีลแชร์ในทศวรรษ 1940

จากจุดเริ่มต้นในวันหนึ่งที่นายแพทย์ Ludwig และ Q เดินไปยังห้องผู้ป่วยที่ว่างจากการใช้งาน และใช้ไม้เท้าสั้นแทนไม้ตีและจานไม้แทนลูกตีสำหรับการทดลองเล่นกีฬาโปโลวีลแชร์ แน่นอนว่ากีฬาที่อาศัยการเล่นเป็นทีมเช่นนี้ย่อมส่งผลดีต่อผู้เข้ารับการรักษาในการมีปฏิสัมธ์ต่อกัน หลังจากเกมการแข่งขันอันดุเดือด เขาพบว่ามันมีความรุนแรงและเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัดไม่มีทักษะที่มากพอ ในเวลาต่อมาจึงตัดสินใจแทนที่กีฬาโปโลวีลแชร์เป็นเน็ตบอล

Sir Ludwig Guttmann (1899 – 1980)
บิดาแห่งพาราลิมปิกเกมส์

1948: จัดการแข่งขัน Stoke Mandeville Games เป็นครั้งแรก

หลังจากการทดลองครั้งแรกเป็นเวลา 5 ปี นายแพทย์ Ludwig Guttmann ได้จัดการแข่งขันยิงธนูขึ้นที่โรงพยาบาล โดยปักหมุดวันที่ 29 กรกฏาคม 1948 เพื่อให้ตรงกับพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์ครั้งที่ 14 ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยการจัดการแข่งขันกึ่งการสาธิตในครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 16 ราย (ชาย 14 ราย และหญิง 2 ราย) จาก Stoke Mandeville และ The Star and Garter Home for Injured War Veterans (บ้านพักทหารผ่านศึกสตาร์และการ์เตอร์) จากเมืองในเซอร์รีย์ (ปัจจุบันเปลื่ยนเป็นริชมอนด์) เพื่อชิงโล่รางวัล Challenge Shield

นายแพทย์ Ludwig Guttmann พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลและนักกีฬาวีลแชร์ในการแข่งกีฬา Stoke Mandeville Games

หลังการจัดการแข่งขันเพื่อชิงโล่รางวัล Challenge Shield ประสบความสำเร็จ นายแพทย์ Ludwig จึงตัดสินใจจัดงานใหญ่ประจำปี Grand Festival of Paraplegic Sport (เทศกาลกีฬาสำหรับผู้พิการขา) ต่อมาได้เปลื่ยนชื่อเป็น Stoke Mandeville Games อีกทั้งยังเพิ่มทีมและกีฬาประเภทอื่นมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งในปี 1949 มีทีมผู้ร่วมเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 6 ทีม และได้เสริมกีฬาใหม่ ‘วีลแชร์เน็ตบอล’ ซึ่งเปลี่ยนเป็นบาสเก็ตบอลวีลแชร์ในเวลาต่อมา

1960: การแข่งขันท้องถิ่นสู่โอลิมปิกส์ที่กรุงโรม

ในปี 1958 นายแพทย์ Antonio Maglio (อันโตนิโอ มักลิโอ) นำเสนอแนวคิดการจัดการแข่งขันกีฬาร่วมกับการจัดงานโอลิมปิกส์ครั้งที่ 17 ที่จัดขึ้น ณ กรุงโรม ให้กับนายแพทย์ Ludwig Guttmann ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำกิจกรรมการแข่งขันกีฬาคนพิการ International Stoke Mandeville Games ที่จัดขึ้นในปี 1948 และ 1952 เข้าสู่มหกรรมกีฬาระดับโลก โดยในขณะนั้นการแข่งขันใช้ชื่อว่า 9th Annual International Stoke Mandeville Games

นักกีฬาอิตาลีในพิธีเปิด International Stoke Mandeville Games ครั้งที่ 9 ภายหลังได้รับการรับรองจาก IOC เปลี่ยนให้ถือเป็น Paralympic Games ครั้งที่ 1

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์ ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 25 กันยายน 1960 ต่อจากโอลิมปิกส์ครั้งที่ 17 มีนักกีฬาทั้งสิ้น 400 คนจาก 23 ประเทศ ซึ่งภายหลังคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) อนุมัติคำว่า Paralympic Games ในปี 1984 ซึ่งถือเป็นการกำเนิดพาราลิมปิกส์เกมครั้งแรก

1964: พาราลิมปิกส์ครั้งแรกในเอเชีย

การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกส์ที่โตเกียวในปี 1964 ถือเป็นการจัดงานครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียซึ่งจัดพร้อมกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกส์ นับว่าเป็นการเปิดประตูให้กับการจัดการแข่งขันในภูมิภาคอื่นๆ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก โดยการแข่งขันในครั้งนั้นมีนักกีฬาเข้าร่วมประมาณ 375 คนจาก 21 ประเทศ กับการแข่งขันประเภท 10 กีฬา และการจัดการแข่งขันในครั้งนั้นยังได้ช่วยส่งเสริมความเข้าใจและการยอมรับในเรื่องของความพิการ ซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการออกแบบ Universal Design ที่เราเห็นในประเทศญี่ปุ่น

ตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน โตเกียว พาราลิมปิกส์ 1964

นกพิราบตัวแทนแห่งสันติภาพถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก และสัญลักษณ์ของห่วงวงแหวนเป็นรูปล้อสื่อถึงล้อรถวิลแชร์พาหนะของนักกีฬา เดิมวงแหวนถูกจัดวางเป็นรูป W เช่นเดียวกับห่วงโอลิมปิก ทว่า IOC เปลี่ยนการออกแบบเป็นรูป V เพื่อแสดงถึงชัยชนะของนักกีฬาในการเอาชนะปัญหาต่างๆ ในชีวิต

2024: การจัดพาราลิมปิกส์ครั้งแรกในปารีส

มหกรรมกีฬาปารีสพาราลิมปิกส์ 2024 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 8 กันยายน 2024 จัดหลังจากการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ตามธรรมเนียมปฏิบัติ แม้ว่าเจ้าภาพอย่างกรุงปารีสเคยจัดงานโอลิมปิกมาแล้วถึง 3 ครั้ง (1900, 1924 และ 2024) ทว่าการจัดพาราลิมปิกส์ครั้งนี้ตะเป็นครั้งแรก จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งที่จะแสดงถึงการพัฒนาทางการกีฬาและความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเท่าเทียม โครงสร้างพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงการใช้พลังงานสะอาดและมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้สมกับเป็นเมืองแห่งการก่อตั้งข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การแข่งขันปารีสพาราลิมปิกส์ 2024 จะมีนักกีฬาเข้าร่วม 4,400 คน จากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกที่จะเข้าร่วมแข่งขันกีฬา 22 ประเภท เพื่อลุ้นชิง 529 เหรียญทอง โดยนักกีฬาพาราลิมปิกไทยได้คว้าสิทธิเข้าร่วมมากถึง 79 คน จาก 15 ชนิดกีฬา อาทิ ยิงธนู กรีฑาและวีลแชร์เรซซิ่ง แบดมินตัน บอคเซีย ยกน้ำหนัก ว่ายน้ำ เทเบิลเทนนิส เทควันโด และอีกมากมาย

Similar Articles

More