เปิดมุมมอง ‘ซีรีส์วาย’ ในวันที่กระแสแรงเกินต้านส่งคู่จิ้นไทยไปไกลถึงระดับโกลบอล

สังเกตว่าช่วง 5 – 6 ปีมานี้ ถ้าเปิดโทรทัศน์หรือท่องโลกโซเชียลมีเดียจะพบคอนเทนต์ที่ก้าวกระโดดจากกระแสรองมาสู่กระแสหลักจนกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยของไทย คอนเทนต์วาย ได้ยึดครองพื้นที่ไปมากกว่าครึ่ง ทั้งยังส่งออกความนิยมไปต่างประเทศ ตั้งแต่อาเซียน เอเชีย จนถึงตลาดยุโรปและอเมริกา ทำให้ต้องยกมาเป็นกรณีศึกษาว่าอะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์วายไทยที่สร้างกระแสความจิ้นไปทั่วโลกได้ขนาดนี้

เพียงไม่กี่ปี ซีรีส์ประเภท Boy’s Love หรือซีรีส์วาย ได้ปลุกกระแสความคึกคักให้กับวงการบันเทิงไทยชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สร้างชื่อเสียงให้ไทยขึ้นแท่นเป็นผู้นำคอนเทนต์วายระดับโลกซึ่งมีมูลค่าตลาดมหาศาล ขณะเดียวกันวรรณกรรมวายของไทยก็ฮอตฮิตถึงขั้นทำสถิติเป็นประเภทหนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด

ด้วยเหตุนี้ แอลเมนจึงชวน ปอนด์-กฤษดา วิทยาขจรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี ออน คลาวด์ จำกัด ผู้ผลิตซีรีส์เรื่องดังอย่าง KinnPorsche The Series La Forte, 4 Minutes และภาพยนตร์ แมนสรวง มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และเรื่องราวเกี่ยวกับแวดวงวายอย่างครบรส

‘ไทยแลนด์’ ดินแดนที่เป็นเหมือนเมืองหลวงของซีรีส์วาย

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือไทยเป็นผู้นำตลาดนิยายและซีรีส์วายมาตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวันนี้ แม้ว่าพอกระแสวายเริ่มรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์แล้ว หลายประเทศจะหันมาทําซีรีส์วายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด แต่อันดับหนึ่งในด้านนี้ก็ยังคงเป็นคอนเทนต์จากประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เหตุผลที่ทำให้เราครองตลาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานมาจากหลายปัจจัย 

ทางด้านของปอนด์ ผู้ปลุกปั้นซีรีส์วายในไทยมีความเห็นว่า การบุกเบิกเริ่มสร้างเส้นทางสายวายมาก่อนพร้อมกับความชัดเจนในการนำเสนอ ทำให้วายไทยครองตลาดมาได้จนทุกวันนี้ “ก่อนจะมาเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์วาย ผมได้รู้จักซีรีส์วายในยุคแรกๆ อย่าง Love Sick ตามมาด้วย คั่นกู เพราะเราคู่กัน และ แปลรักฉันด้วยใจเธอ ผมว่าสิ่งที่ทำให้คอนเทนต์วายไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ได้ เป็นเพราะเราเริ่มทํามาก่อน แล้วทําได้ถึง คือชัดเจนที่สุดในยุคนั้นว่าวายคืออะไร เพราะหากนับช่วงเวลา 5 ปีมานี้ที่ซีรีส์วายไทยครองตลาดอย่างแข็งแกร่ง KinnPorsche ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เราไม่ได้ใสหรือนำเสนอความน่ารักเหมือนเรื่องอื่น ดังนั้น ความนิยมของวายไทยจึงไม่ได้มาจากสไตล์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเริ่มบุกเบิกปูทางมาก่อน และนอกจากทำก่อน อีกส่วนหนึ่งผมมองว่าประเทศไทยเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความสนุกและเราเปิดรับทุกวัฒนธรรม เลยเชื่อมกับคนง่าย ทำให้ขยายตลาดไปในหลายประเทศได้ ประกอบกับฐานแฟนๆ วายที่พร้อมจะซัปพอร์ต จึงทำให้เติบโตอย่างแข็งแรง” 

นิยายประโลมโลกหรือซอฟต์พาวเวอร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพของซีรีส์วายหรือนิยายวายมักจะถูกคนบางกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องราวแนวประโลมโลก และมักจะขายคู่จิ้นมากกว่าเน้นเนื้อหาสาระสะท้อนสังคม แต่ในความเป็นจริงถ้ามองอย่างเปิดใจจะพบว่าคอนเทนต์วายสะท้อนสังคมในแง่มุมของความหลากหลายทางเพศได้อย่างลึกซึ้ง และเป็นสื่อหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้คนในสังคมเข้าใจประเด็นความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้คนต่างชาติรู้จักมากขึ้น เพราะคอนเทนต์วายจำนวนไม่น้อยสอดแทรกวัฒนธรรมด้านอื่นๆ ของไทยลงไปด้วย

“เราเคยทำแบบสุดทางมาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง แมนสรวง นับเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม ผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างชัดเจน” แล้วถ้าถามว่าซีรีส์วายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยได้อย่างไร ปอนด์ตอบว่า “สุดท้ายถ้าทําให้คนรู้จักประเทศไทยได้มากขึ้น ไม่ว่าจะในมุมไหนก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้หมด และผมเชื่อว่าคนในแวดวงวายก็กำลังทำสิ่งนี้อยู่ คือการเผยแพร่ความเป็นไทย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ถ้าซีรีส์ของเราไประดับโลกได้ ก็แปลว่าจะมีคนรู้จักประเทศไทยแน่นอน” 

ช่วงหลังเริ่มเฟ้อ หรือตลาดคอนเทนต์วายจะเริ่มวาย

ถ้ามองจากภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ไทยในวันนี้ คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่าวายครองเมือง เพราะทุกช่องทางล้วนแล้วแต่อัดแน่นด้วยคอนเทนต์วาย ขณะเดียวกันหลายคนก็ตั้งข้อสงสัยว่า หรือจะถึงเวลาฟองสบู่ใกล้แตก ความวายใกล้ถึงทางตันแล้วหรือยัง แต่ในมุมมองของปอนด์กลับไม่เห็นเช่นนั้น “ผมไม่เชื่อว่าใกล้จะถึงทางตัน เพราะในมุมของผม เราขายไอเดีย และตั้งแต่เริ่มเข้าสู่แวดวงซีรีส์วายก็เห็นมาตลอดว่าตลาดนี้มีการเติบโตที่สูงมาก ส่วนที่หลายคนมองว่าปริมาณคอนเทนต์เริ่มเฟ้อและน่าจะเริ่มตัน ต้องบอกว่าความต้องการขึ้นอยู่กับคุณภาพของงาน เพราะยิ่งมีผู้เล่นเยอะ คนดูก็มีทางเลือกเยอะ ดังนั้น ถ้างานไหนไม่มีคุณภาพ เขาก็ไม่ดู” ประธานบี ออน คลาวด์ เผยมุมมอง

แซฟฟิก อีกหนึ่งแนวที่กำลังมาแรง

จากสายวายแนว Boy’s Love ทุกวันนี้ในตลาดเดียวหรือใกล้เคียงกัน เริ่มเกิดคอนเทนต์แขนงใหม่ที่มาแรงคือ แซฟฟิก (Sapphic) หรือยูริ (Yuri) ซึ่งเติบโตมาจากฐานแฟนคลับสายวาย รวมถึงคนที่ชื่นชอบเรื่องราวแนว Girl’s Love จนกลายเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังของไทย ซึ่งปอนด์ให้ความเห็นว่าการเกิดขึ้นของคอนเทนต์แนวยูริเป็นอีกหนึ่งกระแสที่ต้องจับตา และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตไม่ต่างจากคอนเทนต์วายไทย

“วันนี้เห็นได้ว่าแซฟฟิกหรือยูริบูมมาก โดยมีจุดเริ่มต้นคล้ายซีรีส์วายที่เกิดจากนิยาย แล้วพัฒนาต่อยอดเป็นซีรีส์ ก่อนจะสร้างกระแสคู่จิ้น เพียงแต่ยูริอาจจะมีตลาดรองรับอยู่จํานวนหนึ่งแล้วจากฐานคนที่เสพคอนเทนต์วาย ซึ่งตอนนี้ยังระบุไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือคอนเทนต์ยูริจะเพิ่มกลุ่มแฟนคลับที่เป็น Girl’s Love เข้าไปด้วย ผมมองว่าหากอยากแข่งขันในตลาดยูริตอนนี้ก็ต้องหาคอนเทนต์ที่เฉียบคมมากขึ้น เพราะเริ่มทำออกมาค่อนข้างเยอะแล้วเหมือนกัน”

“คอนเทนต์วายและยูริเป็นซับเซตในตลาดเดียวกัน ฉะนั้น เมื่อมีแนวใหม่เกิดขึ้น ผู้ผลิตเยอะขึ้น คนดูก็ย่อมมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้นเช่นกัน ไม่แน่ว่าในอนาคตตลาดนี้อาจจะมีอีกหลายแนวคอนเทนต์เกิดขึ้นตามมา จนกลายเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่ถูกแบ่งเป็นหลายเลเยอร์ให้คนดูเลือกชิมก็เป็นได้”

“อันดับแรกต้องดูกลุ่มเป้าหมาย แล้วมองว่าแนวไหนที่จะตอบโจทย์คนดูแต่ต้องไม่ซ้ำกลุ่มเดิม จริงๆ ทุกเรื่องราวล้วนบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ ถ้าเรามองข้ามอัตลักษณ์ทั้งหมดแล้วมองไปที่แก่นของความรู้สึก ซีรีส์วายก็คือซีรีส์ปกติที่มีพล็อตดี ใครๆ ก็เขียนได้เช่นกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใด การจะเขียนนิยายหรือเขียนบทซีรีส์ให้ดี ต้องหาคาแร็กเตอร์ของตัวเองให้เจอ”

Similar Articles

More