WORDS: SAD BAR
คำเตือน: อาจมีคำหรือเนื้อหาบางส่วนที่ทำให้ไม่สบายใจ โปรดพักการอ่านได้ตามต้องการ
สวัสดีท่านสุภาพบุรุษ กุลสตรี LGBTQ+ ทั้งหลาย และคุณที่ถืออ่านอยู่ตรงนี้ ผมกำลังจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพจิตครับ ออกตัวก่อนเลยว่านี่ไม่ใช่บทความทางการแพทย์ เนื้อหาทั้งหมดไม่ส่งผลต่อการรักษาโรคใด ๆ คุณอาจสงสัยว่ากำลังอ่านเอกสารกำกับยาอยู่หรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะผมคือผู้ประสบภัยทางใจที่จะเล่าเรื่องราวสุขภาพจิตแบบไม่ปกปิดจากมุมมองผู้ผ่านในจุดที่หลายคนไม่อยากผ่าน เข้าใจความรู้สึกก้นเหวมืดดำที่ไม่มีใครอยากเข้าใจกับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับอาการทางจิตเวชแบบออนแอนด์ออฟอย่างอาการแพนิก (Panic Disorder) มากว่า 10 ปี แถมเคยมีโอกาสซึมเศร้าเรื้อรังพ่วงท้าย เหมือนโดนหมัดฮุกแต่ไม่ตาย แค่อัดยาให้หลับจนลืมตาไม่ได้
“นี่ไม่ใช่คอลัมน์ประเภทฮาว-ทูอ่านแล้วต้องหาย”
และเสียใจด้วย นี่ไม่ใช่คอลัมน์ประเภทฮาว-ทูอ่านแล้วต้องหาย แต่ผมจะพยายามทำยังไงก็ได้ให้คุณเข้าใจว่าอาการทางจิตเวชที่อาจเกิดขึ้นกับคุณหรือใครในตอนนี้ ส่วนหนึ่งคือผลกระทบจากเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของกายและใจ เมื่อเกิดขึ้นได้ก็มีโอกาสหายหรือบรรเทาจนเสมือนปกติได้ และที่สำคัญ ไม่ว่าโรคหรือเรื่องห่าที่ไม่ได้รับเชิญนี้จะหนักหนาแค่ไหน ในคืนที่คุณหลับตาอย่างโดดเดี่ยวและไม่อยากตื่นอีกต่อไป ขอให้จำไว้ว่า ผมชื่นชมคุณที่ยังหายใจมาจนถึงวันนี้ และคุณไม่ได้สู้อยู่คนเดียว (อย่างน้อยก็มีผมคนหนึ่ง) ระหว่างที่มือสั่นบนปลายปากกาเพราะเพิ่งจบวิสกี้แก้วที่ห้า แต่ไม่แน่ใจว่ากินลอราซีแพม (Lorazepam)1 ไปหรือยัง มีหลายหัวข้อเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่ผมอยากผลักดันออกมา ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพจิตกับความคิดลูกผู้ชาย หรือสื่อกับการใช้คำว่า ‘โรคซึมเศร้า’ เพื่อเอาแต่ยอดไลก์ เอาเป็นว่า สำหรับคอลัมน์แรกนี้ผมขอเปิดด้วยภาพใหญ่ด้วยคำถามง่าย ๆ ก่อนว่า สุขภาพจิตสำคัญกับคุณอย่างไร?
สุขภาพจิตสำคัญกับคุณอย่างไร?
ผมเคยถามญาติผู้ใหญ่นะครับ ได้คำตอบว่า “ลื้อก็แค่ไม่สบายใจ คิดมากไปทำไม เข้าวัดทำบุญได้บ้างก็ดี” ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ผิดนะครับ แต่หากถามผม คำตอบคือ สุขภาพจิตสำคัญกับผมมากไม่ต่างกับสุขภาพกาย (Mental Health Is Just As Important As Physical Health) ใจก็ป่วยได้ไม่เกี่ยงเพศ ศาสนา และรายได้ หากคุณเช็คอัพร่างกายให้หมอคลำไข่ได้ทุกปี แวะตรวจสุขภาพใจจะยากเย็นอะไรกัน โดยเฉพาะในวันนี้ที่การพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตเปิดกว้างกว่าแต่ก่อนมาก ผู้คนพร้อมเปิดใจให้แก่ความไม่สบายใจของคุณ
“พบหมอโรคจิต”
ถึงอย่างนั้นผมยังจำได้แม่นว่า ครั้งแรกที่ไปหาจิตแพทย์ประมาณ 15 ปีก่อน คุณลองจินตนาการดูนะครับ นอกจากไม่รู้ว่าควรทำตัวยังไง แล้วก็ยังไม่รู้ด้วยว่าควรพูดอะไร เมื่อไปถึงโรงพยาบาล คนในครอบครัวก็หวังดีบอกว่าผมไป “พบหมอโรคจิต” ไอ้เหี้ย… แม่งจุกฉิบหาย ทั้งเจ็บทั้งชา เกิดคำถามมากมายในหัวว่านี่กูบ้าเหรอวะ นี่กูแย่ขนาดนั้นเลยเหรอวะ ขนาดครอบครัวยังไม่เข้าใจแล้วใครจะเข้าใจกูบ้างวะ ณ โมเมนต์นั้นยังไม่ทันมีความหวังก็หมดหวังไปเสียแล้ว แต่นั่นแหละครับ ทั้งหมดไม่ใช่ความผิดของใคร มันคือเรื่องในอดีตที่ผมวางมันไว้แต่สำคัญกับปัจจุบัน เพราะมันคอยบอกกับผมว่าสุขภาพจิตไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเราเท่านั้น แต่ความรู้สึก ความเข้าใจ และการแสดงออกของเราต่อคนรอบข้างอาจเติมกำลังใจหรือรอยแผลเป็นทิ้งไว้ได้เช่นกัน
1 ใน 8 ของผู้คนทั่วโลกเผชิญปัญหาสุขภาพจิต
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ในปี 2019 จำนวน 1 ใน 8 ของผู้คนทั่วโลกเผชิญปัญหาสุขภาพจิตโดยอาการวิตกกังวล (Anxiety Disorder) และอาการซึมเศร้า (Depressive Disorder) คือสองอาการที่ส่งผลกระทบกับผู้คนมากที่สุดตามลำดับ โดยเฉพาะในปี 2020 จำนวนผู้ใช้ชีวิตร่วมกับอาการดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 30% จากปีก่อนหน้าจากผลกระทบโควิด-192 ส่วนข้อมูลฝั่งไทยน่ะหรือ… หึหึ… ทั้งจากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิตและภาครัฐที่ควรเชื่อถือได้มีเนื้อหาไม่ตรงกันสักแหล่ง ไว้จับต้นชนปลายถูกเมื่อไรจะมาเล่าให้ฟัง
คำถามสำคัญคือ ‘เมื่อไรที่ควรเข้าพบจิตแพทย์หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ?’
พูดตามตรง ท่านไปเสิร์ชเองก็มีคำตอบมากมาย แต่ในมุมมองผมควรไปพบเมื่อมีอารมณ์หรืออาการทางใจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ ช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเริ่มส่งผลเชิงลบต่ออาการทางกาย คนรอบข้าง และการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ เช่น คุณมีความกังวลเรื่องเรียนจนเกิดอาการคลื่นไส้บ่อยครั้งเมื่อใกล้สอบ คุณเกิดอาการ Panic Attack บ่อยขึ้นจนไม่กล้าออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านอย่างที่เคยทำ หรือคุณผิดหวังจากการทำงานแล้วคุณก็โทษทุกอย่าง ตั้งแต่ลมฟ้าจนถึงคนรอบข้างยกเว้นโทษตัวเอง
สังเกตจากอารมณ์ จิตใจ และอาการทางร่างกายที่เปลี่ยนไป
อันที่จริง คุณไม่จำเป็นต้องให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วจึงค่อยไปพบผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์นะครับ คุณสามารถสังเกตจากอารมณ์ จิตใจ และอาการทางร่างกายที่เปลี่ยนไป แม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าขอคำปรึกษาได้ในทันที มิหนำซ้ำยังดีเสียกว่าปล่อยไว้นานโดยไม่รู้ตัว ในทางกลับกันหากคุณตั้งใจไปพบจิตแพทย์แต่ไม่กล้า เพราะกลัวหรืออาย ผมจะบอกให้ว่า หนึ่ง มันจะดีต่อตัวคุณ สอง มันจะดีต่อคนรอบข้างคุณ สาม จิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทุ่มเทเวลาเกือบทั้งชีวิตเพื่อศึกษาและเข้าใจสิ่งที่คุณเผชิญ มันจะมีอะไรดีไปกว่าการได้พบคนที่เขาตั้งใจรักษาคุณโดยตรง และสุดท้าย ไม่ต้องอาย เพราะไม่มีใครสนใจเรื่องของคุณเท่าตัวคุณเอง
ถึงตรงนี้ท่านน่าจะพอมองเห็นภาพกว้างจากประสบการณ์ของผมในการเข้าถึงจิตแพทย์ มุมมองต่อสุขภาพจิต และการต่อสู้กับอาการทางจิตเวชแทบทุกวันในแบบที่เชื่อว่ามันจะหาย แต่ถ้าไม่… ก็พร้อมรับมือและอยู่กับมันให้ได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมขอปิดท้ายด้วยคำพูดจากหนึ่งในนักเขียนที่ชื่นชอบอย่าง แมตต์ เฮก (Matt Haig) ไว้ว่า “Nothing is stronger than a small hope that doesn’t give up.”
ข้อมูลเพิ่มเติม
1 ลอราซีแพม เป็นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรควิตกกังวลหรือผู้ที่มีความวิตกกังวลจากระดับสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลกัน และยังมีผลทางการรักษาอาการอื่น อย่างอาการนอนไม่หลับอันเกิดจากความวิตกกังวล ข้อมูลจากเว็บไซต์ pobpad.com/lorazepam
2 ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/mental-disorders