เพิ่งพรีเมียร์ไปสดๆ ร้อนๆ สำหรับภาพยนตร์คอมเมดี้สัญชาติไทยค่าย GDH ที่หลายคนรอคอยอย่าง ซองแดงแต่งผี (The Red Envelope) ภาพยนตร์ที่หยิบภาพยนตร์ไวรัลสัญชาติไต้หวัน Marry My Dead Body (2022) มาทำใหม่ให้มีกลิ่นอายความเป็นไทยและมีเซ้นส์ของความวาไรตี้มากขึ้น แถมเป็นการเจอกันครั้งแรกบนจอเงินระหว่าง บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร คู่นักแสดงแห่งยุค
โดยหนุ่มบิวกิ้นออกมาเผยที่มาของ ซองแดงแต่งผี ไว้ในรายกาย The Driver EP.271 ว่า โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ไปชมภาพยนตร์เวอร์ชั่นต้นฉบับในเทศกาลหนัง และปิ๊งไอเดียเห็นภาพบิวกิ้นและพีพีในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะทั้งสองมีเคมีที่เข้ากันและสกิลการแสดงที่มีความเป็นธรรมชาติ ผลลัพธ์เลยกลายมาเป็น ซองแดงแต่งผี (The Red Envelope) หนังคอมเมดี้ที่มอบความสนุกให้กับผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย แต่ก็ยังมีแฝงประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสังคม และความเท่าเทียมที่ถูกเล่าผ่านภาษาหนังออกมาอย่างแยบยล
วันนี้ ELLE MEN Thailand เลยจะขอพาไปพบกับ 5 Facts ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ว่าทำไมคุณถึงไม่ควรพลาด ซองแดงแต่งผี (The Red Envelope) ภาพยนตร์คอมเมดี้สุดหลอนจากค่าย GDH
#1 เคมีคู่ ‘บิวกิ้น-พีพี’ ไฮไลต์หลัก ซองแดงแต่งผี

ไฮไลต์ประเด็นแรกที่เราคงไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือเคมีที่ลงตัวสุดๆ ของคู่พระ-นาย อย่าง เม่น โจรกลับใจเป็นสายตำรวจผู้ทำพลาดเกือบทุกคดี (รับบทโดย บิวกิ้น-พุฒิพงศ์) และ ตี่ตี๋ ผีเกย์สุดคิวต์ผู้เสียชีวิตแบบปริศนา (รับบทโดย พีพี-กฤษฏ์) ที่เรียกว่าเพอร์เฟกต์ไม่แพ้เวอร์ชั่นไต้หวันเลย
ด้วยมิตรภาพที่แน่นแฟ้นของนักแสดงทั้งสองในชีวิตจริง และการร่วมงานกันมาหลายๆ โปรเจกต์ ทำให้การรับส่งบทในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นธรรมชาติ และเต็มไปด้วยเคมีที่ไหลลื่น ทำเอาแฟนๆ จิกหมอนกันทั้งเรื่อง นอกจากนั้น หมู-ชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสามารถขุดพลังการแสดงของทั้งสองออกมาได้ในทุกฉาก ตั้งแต่ ฉากหวายซึ้ง ไปจนถึง ฉากดราม่าน้ำตาแตก
#2 Marry My Dead Body เวอร์ชั่นต้นฉบับสุดเจ๋ง

หากหลายคนยังไม่รู้! ภาพยนตร์เรื่อง ซองแดงแต่งผี (The Red Envelope) ได้แรงบันดาลใจและรีเมกมาจากภาพยนตร์ไต้หวันเรื่อง Marry My Dead Body ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้อย่างงดงาม ทั้งในไต้หวันและตลาดต่างประเทศ อีกทั้งยังได้รับคะแนนรีวิวจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชมอย่างล้นหลาม
โดย GDH สามารถดัดแปลง Marry My Dead Body ออกมาในเวอร์ชั่นไทยได้อย่างลงตัว โดยตัวหนังสามารถรักษาแก่นของต้นฉบับไว้ได้อย่างดี ในขณะเดียวกันก็นำเสนอผ่านมุมมองแบบไทยๆ ที่เข้าถึงผู้ชมในประเทศได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับโลเคชั่นให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย การเลือกนักแสดงที่เหมาะสม และการดัดแปลงมุกตลกให้เข้ากับบริบทของคนไทยได้อย่างแนบเนียน โดยเฉพาะเสน่ห์ของบิวกิ้นและพีพีที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับหนังเวอร์ชันนี้ ทำให้ ซองแดงแต่งผี เป็นการรีเมกที่น่าจดจำและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเลยก็ว่าได้
#3 เซ้นส์คอเมดี้จัดเต็มไม่แพ้ต้นฉบับ

แม้ว่าพล็อตเรื่องจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องลี้ลับและสืบสวน แต่ ‘ซองแดงแต่งผี’ กลับเป็นภาพยนตร์ที่เน้นคอเมดี้เป็นหลัก โดยมีการใส่มุกตลกที่แทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ผ่านบทสนทนาและสถานการณ์ที่ชวนหัวเราะ นอกจากนี้ หนังยังนำเสนออารมณ์ขันในแบบที่เข้าถึงง่ายและทันสมัย ซึ่งถือเป็นลายเซ็นของ GDH ที่สามารถทำให้เรื่องผีๆ กลายเป็นเรื่องฮาได้อย่างชาญฉลาด อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกประทับใจในตอนจบไว้ได้ ‘Feel Good’ ตามลายเซ็นต์การกำกับของ หมู-ชยนพ
#4 ‘ปิตาธิปไตย’ ประเด็นเล็กๆ ที่ถูกแทรกไว้

แม้จะดูเหมือนว่า ซองแดงแต่งผี จะเน้นมอบความบันเทิงให้คนดูเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ก็แอบแทรกประเด็นเกี่ยวกับ ปิตาธิปไตย (Patriarchy) หรืออำนาจชายเป็นใหญ่ไว้อย่างแนบเนียน ผ่านโครงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบอบปิตาธิปไตยในองค์กรตำรวจ และบทบาทของครอบครัวในการกำหนดเส้นทางชีวิตของลูกหลาน
ในบางจุด หนังสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันทางสังคมต่อความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นไปตามขนบเดิม อย่างเช่น ความสัมพันธ์ของ ตี่ตี๋ และแฟนหนุ่มของเขา ดิน (รับบทโดย กระทิง-ขุนณรงค์) แต่ที่ชัดสุดๆ คือตัวละคร เจ๊ก๊อย (รับบทโดย ก้อย-อรัชพร) ตำรวจหญิงที่เผชิญความไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน เธอต้องเผชิญกับคำดูถูกมากมาย ยังไม่รวมถึงชุดความคิดของตำรวจในวงสังคมที่มีความปิตาธิปไตยสูง และด้วยเหตุนี้เองทำให้ตัวละครเจ๊ก๊อยได้ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างลงไปจนกลายเป็นจุดหักมุมของเรื่องเลย
#5 ภาพยนตร์เฉลิมฉลองกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’

และอีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง ซองแดงแต่งผี (The Red Envelope) มีความพิเศษ คือการนำเสนอประเด็นของกฎหมาย สมรสเท่าเทียม (Marriage Equality) อย่างอบอุ่นและจริงใจ โดยไม่ทำให้รู้สึกเป็นประเด็นที่ถูกยัดเยียดจนมากเกินไป ภาพยนตร์สื่อสารแนวคิดนี้ผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครหลักที่ขับเคลื่อนด้วยความรัก ความเข้าใจ และการยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังพยายามบอกกับผู้ชมว่า ‘ความรักไม่มีพรมแดน’ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม
อีกทั้ง Marry My Dead Body และ ซองแดงแต่งผี ยังเป็นภาพยนตร์จากประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว โดยไต้หวันถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่รับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่ประเทศไทยก็ได้ผลักดันกฎหมายนี้ จนประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ทั้งสองเรื่องนี้มีความสำคัญในเชิงของกฎหมาย และการสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ภาพยนตร์ทั้งสองจึงไม่เพียงแค่เล่าเรื่องราวความรัก แต่ยังสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายได้มากขึ้น
ซองแดงแต่งผี (The Red Envelope) เป็นภาพยนตร์ที่ผสมผสานความตลก ความโรแมนติก และเรื่องราวลี้ลับได้อย่างลงตัว พร้อมกับนำเสนอประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจอย่างแนบเนียน เคมีของ บิวกิ้น และ พีพี ทำให้เรื่องราวมีเสน่ห์และน่าติดตามมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์ที่ฉลองความรักในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะแนวคิดสมรสเท่าเทียม ซึ่งทำให้ ‘ซองแดงแต่งผี’ เป็นมากกว่าหนังผีคอเมดี้ทั่วไป แต่ยังเป็นหนังที่มีหัวใจและความหมายในตัวเอง