รำลึกและสดุดี ‘ราชินีของชาวพังก์’ จอมขบถแห่งโลกแฟชั่น ที่ปลุกระดมให้ผู้คนทำการ ‘ปฏิวัติทวงโลก’

ช่วงเช้าตรู่ของ 30 ธันวาคม ที่ผ่านมา (ตามเวลาประเทศไทย) มีข่าวใหญ่สะเทือนวงการแฟชั่น ‘Dame Vivienne Westwood’ หญิงเก่งและแกร่งผู้พ่วงหลากสถานะทั้ง นักออกแบบแฟชั่น นักเคลื่อนไหวด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สไตล์ไอคอน ผู้สร้างแรงบันดาลใจ และราชินีของชาวพังก์ เสียชีวิตในวัย 81 ปี ข่าวนี้ทำเอาผมที่เพิ่งดูซีรีส์เรื่องดังจบและเริ่มรู้สึกง่วงต้องตื่นขึ้นทันที เพราะการจากไปของเธอถือเป็นข่าว ‘ช็อกโลก!’ ไม่เพียงแต่โลกแฟชั่น แต่ยังรวมถึงโลกในอีกหลายมิติ เพราะเราได้สูญเสียปูชนียบุคคลไปอีกหนึ่งราย เธอคือตำนานที่ยังมีลมหายใจ และมีปณิธานที่จะขับเคลื่อนโลกไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิมเพื่อคนเจเนอเรชั่นต่อๆ ไป

โดยก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวัน โซเชียลมีเดียของแบรนด์ Vivienne Westwood เพิ่งโพสต์คลิปกล่าวปาฐกถาของเธอเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (ตุลาคม ปี 2021) ไว้ให้เราได้ตระหนักถึงความมั่งคงและยั่งยืน ซึ่งดูสวนทางกับโลกพาณิชย์ศิลป์หลังเข้าสู่ยุคโพสต์โควิด มีผู้ประกอบการหลายรายกำลังวางแผนธุรกิจจะกอบโกยผลกำไรให้ได้มากที่สุดเพื่อทดแทนเม็ดเงินที่ขาดหายในช่วงเวลา 3 ปีที่เผชิญวิกฤตโรคระบาด แต่เจ้าแม่แฟชั่นสุดซ่ารายนี้กลับยิ่งปลุกระดมและเรียกร้องให้ผู้คนลุกขึ้นผงาดทำการ ‘ปฏิวัติทวงโลก’ และตระหนักแนวคิดที่เธอกล่าวอยู่บ่อยครั้ง “ซื้อให้น้อย คิดให้เยอะ และใช้ให้คุ้ม”

ที่เราควรเรียกเธอแบบเต็มยศ โดยมีคำว่า ‘เดม’ หรือบรรดาศักดิ์ ‘คุณหญิง’ นำหน้าชื่อเพราะวิเวียนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 2006 เป็นการประดับยศอีกครั้งหลังพิธีพระราชทานยศครั้งแรกที่พระราชวังบักกิ้งแฮมเมื่อราว 14  ปีก่อนหน้า โดยครั้งนั้นเธอได้สร้างความฮือฮาด้วยการเข้าเฝ้าแบบไม่สวมชั้นใน แถมยังสะบัดกระโปรงถ่ายภาพโชว์ให้เห็น ‘น้องสาว’ จนเป็นข่าวดัง

ในวาระสดุดีราชินีแฟชั่นครั้งนี้ ผมจะขอกล่าวเกี่ยวกับประวัติและเรื่องราวชีวิตของเธอพอสังเขป เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบว่า ‘Vivienne Isabel Swire’ (วิเวียน อิซาเบล สไวร์) เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยอาชีพครู เป็นแม่พิมพ์ของชาติที่มักจะแต่งตัวไปสอนด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ประดิษฐ์เอง และเธอยังชอบใช้ช่วงเวลาว่างไปเปิดแผงขายของบนถนนพอร์โทเบลโล เธอกลายมาเป็น ‘Vivienne Westwood’ จากการใช้นามสกุลของสามีคนแรก ชีวิตสมรสของทั้งคู่จบลงในช่วงกลางยุค ’60s ก่อนเธอจะรู้จักกับ Malcolm McLaren ทั้งคู่ใช้อาคารเลขที่ 430 บนถนนคิงส์ เปิดร้านจำหน่ายสินค้าจำพวกแผ่นเสียง ของวินเทจ ไปจนถึงเสื้อผ้าที่ออกแบบเอง ส่วนชื่อร้านจะถูกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามแนวสินค้าที่วางขาย เช่น Let It Rock ปี 1971 ขายสินค้าแนวร็อกแอนด์โรล เป็นแฟชั่นสไตล์ ‘จิ๊กโก๋’ ปีถัดมาเมื่อมีสินค้าเอาใจสิงห์นักบิด ชื่อร้านก็ถูกเปลี่ยนเป็น Too Fast to Live, Too Young to Die จำหน่ายเสื้อยืดพิมพ์ลายเป็นรูปและข้อความแสบ ๆ กวน ๆ ทั้งหยาบคายและติดเรต ถึงขั้นถูกดำเนินคดีข้อหาอนาจาร แต่ทั้งคู่ก็ไม่หวั่น ในปี 1974 จึงจัดหนักกว่าเดิมด้วยการเปลี่ยนชื่อร้านเป็น SEX จำหน่ายไอเท็มเด็ดคละคลุ้งกลิ่นคาวกามไม่ว่าจะเป็นภาพโป๊และเครื่องแต่งกายแนว SM (Sadomasochism)

วิเวียนและมัลคอล์ม อดีตคนรักของเธอถือเป็นหนึ่งในผู้นำของกระแส ‘พังก์’ หลังทั้งคู่ดูแลวง New York Dolls มัลคอล์มก็ได้กลายมาเป็นผู้จัดการวง ‘Sex Pistols’ และเป็นส่วนหนึ่งทำให้วงโด่งดังถึงขีดสุด โดยมีวิเวียนเป็นผู้ออกแบบและดูแลในส่วนเครื่องแต่งกาย สไตล์แฟชั่นของสมาชิกในวงค่อยๆ เปลี่ยนจากแนวเฟทิชกลายเป็น ‘Do It Yourself’ ตกแต่งเสื้อผ้าโดยมี ‘เข็มกลัดซ่อนปลาย’ เป็นโมทีฟหลัก และยังสร้างลวดลายด้วยมือ จนบรรดาสื่อให้ชื่อสไตล์การแต่งตัวแนวนี้ว่า ‘พังก์ร็อค’ และนั่นทำให้วง Sex Pistols ขึ้นแท่นผู้นำของกระแสแฟชั่นแนวใหม่ และอยู่ในสถานะสไตล์ไอคอนแห่งยุคไปในที่สุด

ปี 1981 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อช่วงเวลานั้น Sex Pistols ได้ยุติบทบาทการเป็นกลุ่มศิลปินไปเป็นที่เรียบร้อย ส่วนกระแสพังก์ที่พร้อมจะแหกกฎและกรอบสังคมก็กลายเป็นแค่ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งในวัฒนธรรมกระแสนิยม การแอนตี้สังคมที่ตีกรอบวิถีชีวิตผู้คนก็กลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป และถึงแม้มีการปล่อยประเด็นร้อนให้เหล่าชาวพังก์ ‘สุดโต่ง’ ได้ฮือฮาอยู่บ้างแต่ก็ไม่ร้อนแรงเช่นเดิม วิเวียนในวัย 40 ปีจึงถือโอกาสนี้ปลีกตัวออกมา และเผยโฉมคอลเล็กชั่นแรกของเธอในชื่อ ‘Pirate’ คู่กับการจัดแฟชั่นโชว์เป็นครั้งแรกอย่างยิ่งใหญ่ที่โอลิมเปีย ณ กรุงลอนดอน วันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์โลกแฟชั่นคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวครั้งสำคัญ เพราะนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 วิเวียนและมัลคอล์มก็ถูกยกย่องให้เป็นผู้จุดประกายความหวัง ทำให้ลอนดอนกลับมามีสีสัน กลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านแฟชั่นของโลกอีกครั้ง และคอลเล็กชั่นที่ว่าก็กลายเป็นต้นแบบทางด้านสไตล์ของ Vivienne Westwood มาจนถึงปัจจุบัน

แบรนด์ Vivienne Westwood มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ยุค ’80s เพราะมีฐานแฟนคลับมาตั้งแต่แต่ตอนที่สองคู่รักเปิดร้านร่วมกัน โดยช่วงเวลานั้นกระแสพังก์ยังคงมี (แม้เริ่มเจือจางไม่เข้มข้นนัก) แต่สไตล์ที่ถูกยกย่องคู่ขนานคือ ‘นิวโรแมนติก’ Vivienne Westwood กลายมาเป็นเพื่อนร่วมรุ่นแบรนด์ดังฝั่งปารีสที่มีแนวคิดเดียวกัน อย่าง Jean Paul Gaultier แถมทั้งคู่ยังกลายเป็นดีไซเนอร์แบรนด์ที่ได้รับความนิยมในโลกตะวันออกโดยเฉพาะกับ ญี่ปุ่นและฮ่องกง เป็นกระแสความนิยมที่มาคู่กับสื่อดังผู้ขับเคลื่อนแฟชั่นแห่งยุค ’80s – ’90s อย่างช่องเพลง MTV และ Channel V แม้แต่ในมิวสิกวิดีโอเพลง ‘ฝากไว้’ ของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ในปี 1991 เรายังได้เห็นตัวศิลปินสวมแหวนวงเด่นรุ่น Armour ก่อนที่แหวนดีไซน์คล้ายกับเกราะนักรับยุคล่าอาณานิคม จะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นเพราะมังงะเรื่องดังที่หลายคนหลงรัก ‘Nana’ ใช้เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของ Vivienne Westwood เป็นเครื่องสะท้อนรสนิยมด้านดนตรีและแฟชั่นของสาวพังก์ร็อกสุดเท่ และได้รับความนิยมควบคู่กับเครื่องประดับอีกหลายชิ้นอาทิ สร้อย และต่างหูมุกมาตลอด 3 ทศวรรษ

นั่นคือเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจของเธอโดยสังเขป แต่ที่ผมอยากสดุดีและกล่าวยกย่องในวาระนี้ คือปณิธานที่จะกอบกูโลก “ฉันให้เลยนะ … โลกเหลือเวลาอีกเพียง 5 ปี” – เดม วีเวียน เวสต์วูดให้สัมภาษณ์ในสิ่งที่อาจทำให้ผู้คนตื่นตระหนกแก่นิตยสาร ELLE ฝรั่งเศสเมื่อปี 2020 ช่วงที่โลกใบนี้กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิด แต่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เข้าขั้นวิกฤตไม่แพ้กัน และไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลยเมื่อเราเห็นความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และรูปแบบสภาพอากาศในทิศทางที่น่าเป็นห่วงขึ้นทุกวัน เธอออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สักพักใหญ่ โดยการรณรงค์เรื่องเหล่านี้กลายเป็นหัวข้อหลักของเธอไปแล้ว อีกทั้งยังมักได้รับเชิญไปร่วมในวงเสวนาเรื่องอุตสาหกรรมแฟชั่น และวิธีลดการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติในกระบวนการผลิต เพราะสิ่งหนึ่งที่คอแฟชั่นควรจะตระหนักไว้คือ อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองก็เพียงอุตสาหกรรมการเกษตร อีกทั้งยังถูกจัดให้อยู่ในลำดับ 5 ของอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และที่น่าตกใจไปกว่าคือสัดส่วนของเสื้อผ้ารีไซเคิลที่หลายแบรนด์ดังกำลังนำมาชูเป็นจุดขาย ตอนนี้มีเพียงราว 1% เท่านั้น!

เธอจำสถิติที่โลกควรตระหนักเหล่านั้นได้จนขึ้นใจ และถือคติว่าก่อนจะริอ่านไปสั่งสอนใคร ควรเริ่มจากตัวเองเสียก่อน โดยทำการบ้านกับแบรนด์ Vivienne Westwood มาเป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น ทีมช่างจะขึ้นแบบโดยให้เหลือเศษขยะน้อยที่สุด ออกแบบผลงานและผลิตด้วยวิธีอัพไซเคิล บริเวณพื้นที่ทำงานจะใช้แสงสว่างจากพลังงานหมุนเวียน ทีมงานจะเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติและปลอดสารเคมี ยกเลิกการใช้ขนสัตว์แท้และหนังสัตว์ชนิดพิเศษ (exotic) เลือกใช้ผ้าวิสโคสที่มีฉลาก FSC (Forest Stewardship Council หรือองค์การพิทักษ์ป่าไม้) ลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ และสิ่งที่ทางแบรนด์จะเลี่ยงเลยก็คือโพลีเอสเตอร์ เส้นใยสังเคราะห์ที่เป็นผลผลิตจากปิโตรเลียม ดังนั้นในทุกขั้นตอนของการผลิตจึงแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ แม้กระทั่งกระบวนการชักใยไหมที่ต้องคอยระมัดระวังเพื่อไม่ทำร้ายตัวไหม และจะเลือกทำงานกับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศและเคารพความแตกต่างทางเชื้อชาติ ซึ่งเธอทำและนำเสนอเรื่องเหล่านี้มานานร่วมสิบปี เรียกว่าตื่นตัวก่อนที่หลาย ๆ แบรนด์จะกระโจนลงมาร่วมกระแสแฟชั่นยั่งยืนและรักษ์โลกในช่วงไม่กี่ปีนี้ ทั้งที่กระโจนลงมาอย่างเต็มใจและอาจจะไม่ แต่ก็ต้องทำอันเป็นผลจากการบีบบังคับเรื่องจริยธรรมของแบรนด์ ซึ่งลูกค้ากลุ่ม Gen-Z ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

เดม วิเวียน เวสต์วูด ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้ปฎิวัติวงการแฟชั่น กลายเป็นนักออกแบบรายแรกๆ ที่ออกมาประกาศว่าจะลดปริมาณการผลิต เธอจัดการกับไลน์เสื้อผ้าที่มีทั้งหมดเสียใหม่ (เดิมทีมียิบย่อย อาทิ  Red Label, Gold Label, Anglomania) นำบางไลน์ที่มีกลุ่มลูกค้าใกล้เคียงมาควบรวมกัน ส่วนบางไลน์จำเป็นต้องยุติไปเพื่อจัดระบบสายการผลิตสินค้าทั้งหมด ปัจจุบันนี้จึงเหลือเพียงไลน์สุดหรูชื่อยาวเหยียดนามว่า Andreas Kronthaler for Vivienne Westwood (แอนเดรียส โครนธาเลอร์ ฟอร์ วิเวียน เวสต์วูด) จัดโชว์ในกรุงปารีส โดยบุรุษนามแอนเดรียสที่รับผิดชอบไลน์นี้คือคู่ชีวิตคนปัจจุบัน มีอดีตเป็นลูกศิษย์ซึ่งทั้งคู่เจอกันที่โรงเรียนสอนศิลปะในกรุงเวียนนา ก่อนจะกลายมาเป็นผู้กุมหัวใจและรับไม้ต่อจากเธอ, Vivienne Westwood ไลน์แฟชั่นปกติที่ปัจจุบันนำเสนอผลงานผ่านคลิปวีดีโอและลุคบุค เพื่อลดต้นทุนพลังงานและทรัพยากรที่ใช้ในการจัดโชว์, Bridal Couture แผนกตัดเย็บชุดแต่งงาน เป็นผลสืบเนื่องจากการได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นหลังภาพยนตร์ดัง Sex and The City ที่เข้าฉายในปี 2008 ทำให้ยอดจำหน่ายชุดแต่งงานของแบรนด์เพิ่มขึ้นราว 35% เพราะตัวละครดัง ‘Carrie Bradshaw’ (แครี่ แบรดชอว์) ตัวเอกของเรื่องสวมชุดแต่งงานจาก Vivienne Westwood ในฉากสำคัญ และ ‘Made in Kenya’ โครงการพิเศษที่ก่อตั้งมาร่วม 12 ปี มีวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับชุมชนแออัดในเคนย่า นำวัสดุเหลือใช้และท้องถิ่นมาเป็นวัสดุหลักในการผลิต

วินโดว์ดิสเพลย์ห้างสรรพสินค้า Galeries Lafayatte เพื่อบรรณาการแด่แนวคิดของ Vivienne Westwood, กันยายน 2019
Photo: Galeries Lafayatte

สิ่งที่เธอพยายามผลักดันดูท่าว่าจะสัมฤิทธ์ผล เดือนกันยายนปี 2019 จึงได้รับเชิญไปร่วมบรรยายที่ Galeries Lafayette (แกลเลอรี่ส์ ลาฟาแยตต์) ห้างสรรพสินค้าหรูใจกลางกรุงปารีสที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดหมายปลายทางของนักช้อปทั่วโลก มีสินค้าคอลเล็กชั่นล่าของแบรนด์ดังให้ได้คว้าจากราวไปสวมให้ดูเฉิดฉายก่อนใคร จัดเสวนาในหัวข้อน่าสนใจเกี่ยวกับแฟชั่นยั่งยืน วิเวียนบรรยายในงานนั้นด้วยหัวข้อเกี่ยวกับทฤษฎี ‘Rot Dollar’ ว่าด้วยเรื่องของการแอนตี้ระบบทุนนิยม ตามมาด้วยหัวข้อ ‘One World Rent’ หรือการปันทรัพยากรธรรมชาติเท่าที่จำเป็น ก่อนโยงไปหัวข้อการเมืองและระบอบประชาธิปไตย ก่อนจะวกกลับมาเรื่องแฟชั่น เพราะทุกอย่างสัมพันธ์กัน เธอยังเล่าด้วยความภูมิใจว่า ในเดือนนั้นไม่ได้ซื้อเสื้อผ้าใหม่เลยสักชิ้น เพราะตระหนักว่าแต่ละครั้งเราต้องใช้น้ำในการผลิตกางเกงยีนส์และเสื้อยืดมากพอๆ กับปริมาณน้ำที่คนคนหนึ่งจะใช้ดื่มได้เป็นเวลา 13 ปี ดังนั้นหากเราร่วมกันปฏิบัติตามแนวคิด “ซื้อให้น้อย คิดให้เยอะ และใช้ให้คุ้ม” อย่างที่เธอรณรงค์จะสามารถเยียวยาวิกฤตการขาดแคลนน้ำไปด้วยในตัว และยังช่วยลดการเกิดขยะ เพราะ ‘แฟชั่น’ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างขยะให้หลายสิบล้านตันต่อปี จนมีประโยคที่ผู้คนใช้เสียดสีกันว่า ‘แฟชั่นยิ่งล้ำ ขยะก็จะยิ่งล้นโลก’

แม้ ‘พังก์’ ยังคงหมุนเวียนในสายเลือด แต่แกนของมันได้ขยายกว้างขึ้น วิธีแหกคอก และฉีกกฏเกณฑ์แบบชาวพังก์ถูกนำมาใช้กับการปรับระบบอุตสาหกรรมแฟชั่นเสียใหม่ – “ก็ความพังก์มันคือตัวตนของฉัน” – เธอให้สัมภาษณ์แก่ ELLE อย่างหนักแน่นเมื่อถูกถามว่าเบื่อไหมที่ใครๆ ก็มองว่าคุณคือตำนานของพังก์ และเอะอะก็จะคอยชวนคุยแต่เรื่องนี้ ทั้งที่จริงๆ มีหลายประเด็นสำคัญให้พูดถึง – “ที่ฉันยังยืนหยัดอยู่ในวงการแฟชั่น เพราะอยากจะเป็นต้นแบบให้แบรนด์อื่นทำตาม … เอาจริงๆ นะ บางทีก็รู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน เมื่อคืนก่อนก็ยังถามตัวเองเลยว่าทำไมไม่พัก จะมาทนเหนื่อยเพื่ออะไร แต่จะทำยังไงได้ ก็ในเมื่อฉันเกิดมาเป็นนักสู้ และนักเคลื่อนไหว นั่นหมายความว่าฉันเป็นคนที่ทนเห็นความลำบากของคนอื่นไม่ได้ คนแบบฉันเกิดมาเพื่อต่อสู้ สู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง และถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นนักสู้แล้ว เราก็จะเป็นไปจนตาย” … ดังที่เธอบอกไว้ ‘เป็นนักสู้ไปจนตาย’ วันนี้ เดม วิเวียน เวสต์วูด ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่าเธอสู้ในสิ่งที่ยืนหยัดจนลมหายใจสุดท้าย และตอนนี้ถึงเวลาพักผ่อนอย่างสงบ โดยมอบจิตวิญญาณแห่งนักสู้ หญิงแกร่งจอมขบถผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้น่าอยู่แก่คนรุ่นต่อไป – ด้วยรักและอาลัย “God Save The Queen”

Similar Articles

More