ใครๆ ก็ใช้ลาย Baroque แต่ทำไมคนส่วนใหญ่จึงนึกถึง Versace !?!

งานรวมพลคนรักสนีกเกอร์และ ‘สายสตรีท’ ประจำปี Sneaker Party Thailand เมื่อต้นเดือนนี้ มีการนำรองเท้าคู่เด่นที่เรียกได้ว่าเข้าขั้น ‘Hype’ มาให้ผู้ร่วมงานได้ชมกัน หนึ่งในคู่ที่ผมสะดุดตาเพราะเคยอยากได้แต่ไม่มีโอกาสคว้ามาครอบครองคือสนีกเกอร์ที่ละเลงลวดลาย บาโรก (Baroque) สีทองอร่ามบนตัวรองเท้า ผลงานการคอลลาบอเรชั่นของสองแบรนด์ดัง Supreme x Nike Foamposite One ซึ่งเคยก่อให้เกิดเหตุการณ์จราจลขึ้นในวันวางจำหน่ายเมื่อปี 2014 แฟนคลับนับพันรายที่มารอบริเวณร้าน Supreme ในมหานครนิวยอร์กมีการกระทบกระทั่งจนตำรวจนิวยอร์ก หรือ N.Y.P.D ต้องสั่งให้ยุติการขายหน้าร้านทันทีแล้วไปใช้วิธีขายออนไลน์แทน นั่นคือวีกรรมสุดแสบของเจ้าสนีกเกอร์รุ่นที่คนนิยมเรียกกันเล่นๆว่า ‘Versace‘ ทั้งๆ ที่แบรนด์หรูของอิตาลีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด … ลายบาโรกทำให้ใครต่อใครพาลกันนึกถึง ทั้งๆ ที่เฮาส์หลังนี้ไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดศิลปะบาโรก และไม่ใช่เจ้าของที่ไม่มีใครสามารถนำไปใช้ได้ แต่! ทำไมเมื่อมีใครใช้ลวดลายลักษณะนี้ คนเสพแฟชั่นส่วนใหญ่จึงพากันนึกถึง Versace!?!

มีคนจำนวนไม่น้อยที่นิยมเรียกลวดลายสไตล์นี้ติดปากว่า ‘หลุยส์’ ซึ่งผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงเคยได้ยินคนเรียกอะไรก็ตามที่เป็นสีทองอร่ามดูเวอร์วังถึงขีดสุด มีลวดลายอ่อนช้อย แลดูวิจิตร และน่าจะแพงระยับ ว่า ‘หลุยส์’ อาทิ โคมไฟหลุยส์ เก้าอี้หลุยส์ เตียงนอนหลุยส์ … คำว่าหลุยส์ในที่นี้สื่อถึง Louis XIV หรือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส เพราะในรัชสมัยของพระองค์ได้ทุ่มงบประมาณและใช้แรงงานคนมหาศาล เนรมิตให้ที่พำนักยามล่าสัตว์ในเมืองแวร์ซายกลายเป็น พระราชวังแวร์ซายส์ (Château de Versailles) แสนหรูหราโอ่อ่า จุดเช็คอินยอดฮิตของผู้ไปเยือนฝรั่งเศสที่ว่านี้งดงามด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปะแบบที่รู้จักกันในนาม ‘บาโรก-รอกโคโค’ ดังนั้นคนส่วนหนึ่งจึงนิยมเรียกเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้ที่ดูหรูหรารูปแบบนั้นว่าสไตล์หลุยส์ แต่หากจะเรียกให้ถูกต้องแล้วคือ ‘บาโรก’ หรืออาจเป็น ‘รอกโคโค’ ศิลปะที่สามารถเชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้คนสองประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักออกแบบรุ่นต่อรุ่นจากอดีตสู่ปัจจุบัน แฟชั่นเฮาส์ Versace หยิบมาใช้เป็นโมทีฟเลื่องชื่อ และเพิ่งครบรอบ 3 ทศวรรษคอลเล็กชั่นบาโรกสุดโด่งดังไปเมื่อปีที่ผ่านมา

‘บาโรก’ เป็นภาษาฝรั่งเศสที่ถูกสันนิษฐานมาจากคำว่า Barroco ในภาษาโปรตุเกสโบราณ หมายถึงหอยมุกที่มีรูปร่างอ่อนไหวและบิดม้วนไปมา ดังนั้นสถาปัตยกรรมและศิลปะแบบบาโรกที่รุ่งเรืองระหว่างศตวรรษที่ 17 ไปจนถึงศตวรรษที่ 18 จึงเน้นเส้นสายที่โค้งเว้า ดุจเถาไม้ที่คดเคี้ยวไปมา และมีโมทีฟรูปร่างคล้ายเปลือกหอย เน้นความโอ่อ่า จนบางครั้งคำนี้ถูกนำไปใช้นิยามถึงศิลปะที่มีการตกแต่งจนค่อนข้างจะไปทาง ‘หรูเริ่ดอลังการ’ นอกจากมีการเรียกกันว่า ‘ศิลปะแบบหลุยส์ที่ 14’ แล้ว นักวิจารณ์ศิลปะบางส่วนยังให้นิยามศิลปะแนวนี้ว่าเป็น ‘ศิลปะแห่งความฟุ้งเฟ้อ’ เกินพอดี … แต่ก็นั่นล่ะครับ เพราะบาโรกได้แยกตัวออกจากศิลปะจริตนิยมในศตวรรษที่ 16 ซึ่งมุ่งเน้นการประเทืองปัญญา มาเป็นศิลปะที่เน้นอารมณ์ ความรู้สึก และเพื่อให้คนมีความเข้าใจในศาสนา เรื่องความหรูหราที่ส่งผลต่อความศรัทธาและความรู้สึกของผู้คนจึงเป็นโจทย์หลักที่ทำให้ผู้รังสรรค์ต้อง ‘เล่นใหญ่’ ในรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งผมเชื่อว่าใครเคยไปเยือนพระราชวังแวร์ซาย หนึ่งในสถาปัตยกรรมตัวแทนของศิลปะแบบบาโรก ก็คงเหมือนตกอยู่ในภวังค์เมื่อได้เห็นความงดงามของสถาปัตยกรรมและงานศิลป์รูปแบบนี้

แล้วในเมื่อศิลปะบาโรกมีมานานไม่ต่ำกว่า 4 ศตวรรษ แต่ Versace เพิ่งก่อตั้งในปี 1978 แถมคอลเล็กชั่นสุดโด่งดังที่ทำให้ลายบาโรกของแบรนด์นี้เป็นที่โจษจันก็เพิ่งเกิดขึ้นในฤดูกาล Spring/Summer 1992 ทำไมแฟชั่นเฮาส์หลังนี้จึงทำให้ลายบาโรกเป็นซิกเนเจอร์ที่สร้างภาพจำ ใครก็ตามเมื่อไปเห็นการใช้ลายบาโรกก็พาลกัน ‘นึกถึง’ Versace !?! … ย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1980 ถึงช่วงต้น 1990 เวลานั้นไม่ได้มีเพียง Gianni Versace ที่ใช้ลวดลายบาโรกบนชิ้นงาน มีนักออกแบบร่วมยุคอีกหลายท่านนิยมใช้เช่นเดียวกัน อาทิ Christian Lacroix, Gianfranco Ferré และ Marc Bohan แห่งเมซง Christian Dior แต่จุดที่ทำให้คอลเล็กชั่นฤดูร้อน 1992 ของ Gianni Versace มีชื่อเสียง และกลายเป็นภาพจำได้มากที่สุดเป็นเพราะ – อย่างแรกนั้น ลายบาโรกที่จิอานนี่ใช้เป็นการออกแบบบขึ้นใหม่ให้มีกลิ่นอายของศิลปะบาโรก นั่นหมายความว่าทั้งขนาดและสีของลายเส้น รวมทั้งการจัดวาง อิงงานศิลปะรูปแบบนี้ แต่นำไปจับคู่กับพื้นหลังที่มีสีและลายสิงสาราสัตว์ให้ดูจัดจ้านต่างจากบาโรกต้นฉบับ ดังนั้นบาโรกแบบฉบับเวอร์ซาเช่จึงมีเอกลักษณ์และ ‘ลายเซ็น’ ชัดเจน ต่างจากแบรนด์อื่นๆ ที่นำศิลปะบาโรกมาใช้ (อย่างคอลเล็กชั่นฤดูหนาว 2012 กับบาโรกทองอร่ามของ Dolce&Gabbana ก็ไม่ได้ทำให้นึกถึง Versace) ผมจึงไม่แปลกใจที่ทำไมในกรณีของสนีกเกอร์สุด Hype ที่กล่าวถึงตอนต้น คนจะเรียกมันด้วยชื่อเล่นว่ารุ่นเวอร์ซาเช่ เพราะได้แรงบันดาลใจจากบาโรก ‘ฉบับเวอร์ซาเช่’ นั่นเอง

ประการที่สองที่ทำให้ลายบาโรกกลายมาเป็นภาพจำของ Versace คือนำเสนอในช่วงที่แบรนด์กำลังพีกถึงขีดสุด! ทศวรรษที่ 1980 ถึง 1990 นั้นเป็นยุคทองของ ‘ดีไซเนอร์แบรนด์’ หรือแบรนด์ของนักออกแบบคลื่นลูกใหม่ ขณะที่แบรนด์เก่าแก่ อาทิ Christian Dior, Louis Vuitton, Chanel ไม่ได้รับความนิยมเช่นในอดีต ดีไซเนอร์แบรนด์ที่สามารถสร้างลวดลายให้กลายเป็น Status Symbol หรือสัญลักษณ์แห่งความหรูหราและบ่งบอกสถานะทางการเงินได้จึงกลายเป็นที่ถูกใจของเหล่าเศรษฐีทั่วโลก โดยเฉพาะกับเศรษฐินีในรัสเซียหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ล้วนมี Versace เป็นหนึ่งในแบรนด์โปรด ดังที่เนื้อหาของบทความเรื่อง ‘เศรษฐีมอสโก’ ในนิตยสาร ELLE Thailand ปี 1996 ได้นำเสนอไว้  ‘กาลิน่า กริชเชอะนา สาววัย 22 (ในปี 1996) คือตัวอย่างของเศรษฐินีรุ่นใหม่ เธอมักจะช้อปปิ้งสนุกๆ ครั้งละหมื่นเหรียญสหรัฐฯ ในตู้เสื้อผ้ามีสารพัดแบรนด์ แต่ชอบที่สุดคือ Versace เธอมักแวะไปร้านแบรนด์ดังโลโก้เมดูซ่าเป็นประจำ แล้วคอยดูว่ายังมีชิ้นไหนที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในตู้จากนั้นก็ซื้อ ซื้อ ซื้อ … จนกว่าจะเต็ม’ แม้แต่ตอนที่ Gianni Versace เสียชีวิตในปี 1997 หนังสือพิมพ์เจ้าดังของไทยยังมีบทสัมภาษณ์ผู้นำเข้าในช่วงเวลานั้น พร้อมเปิดเผยรายชื่อลูกค้าคนดังตั้งแต่นักการเมืองที่คุ้นหน้าคุ้นตา ไปจนถึงดารา ผู้จัด และศิลปินตลกคาเฟ่ และประการสุดท้ายคือ การประชาสัมพันธ์ผ่านจอโทรทัศน์และหน้านิตยสารชั้นนำ อีกทั้งยั้งใช้ ‘ซูเปอร์โมเดล’ แห่งยุคเป็นแบบบนภาพแคมเปญ เพียงเท่านี้ทุกคนบนโลกแฟชั่นก็พากันพูดถึง และต้องการครอบครองลายบาโลกสักชิ้นของ Versace

การประสบความสำเร็จของคอลเล็กชั่นฤดูร้อนปี 1992 ทำให้นักออกแบบรุ่นหลังต้องทำงานหนักกว่าเดิมอีกหลายเท่า โดยมีโจทย์สำคัญที่สุดคือ “ทำอย่างไรไม่ให้เกิดภาพจำซ้อนทับกับ Versace?” … จริงอยู่ที่ไม่มีอะไรใหม่ในโลกแฟชั่น เพราะคนรุ่นก่อนหน้านั้นได้ทำมาหมดแล้ว แต่! ทุกคนยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีลวดลายบาโรกให้เป็นแบบเฉพาะตัวได้ไม่ต่างจากที่ Versace ทำจนประสบความสำเร็จ ทั้งๆที่แบรนด์เพิ่งมีในปลายทศวรรษที่ 1970 หรือมีอายุห่างจากช่วงเวลาที่ศิลปะบาโรกกำเนิดและได้รับความนิยมนานถึงเกือบ 4 ร้อยปี หรืออย่างการใช้ลายบาโรกของ Moschino และ Dolce&Gabbana ก็ไม่ได้ทำให้นึกถึง Versace แต่อย่างใด ในทางกลับกันแบรนด์ที่ได้แรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานมาจาก Versace ไม่ว่าจะเป็นสนีกเกอร์คู่ที่กล่าวถึงตอนต้น หรือนักออกแบบเจ้าของฉายา ‘ราชาสตรีทกูตูร์’ นาม Riccardo Tisci (อดีตผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Givenchy และ Burberry) และนักออกแบบคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตาอย่าง Richard Quinn ต่างยอมรับว่าพวกเขาได้แรงบันดาลใจจากผลงานของ Versace … การให้เกียรติ และมอบเครดิตในอุตสาหกรรมนี้ สามารถสะท้อนทัศนคติของคนสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี ในเมื่อไม่มีอะไรใหม่ในโลกแฟชั่น หากนักออกแบบรุ่นหลังไม่สามารถทำให้ผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งเดียวกันนั้นฉีกจนต่างออกไป จึงไม่แปลกที่ ‘ภาพจำ’ ของผู้ซึ่งทำจนประสบความสำเร็จมาก่อน จะทำให้ผู้เสพส่วนใหญ่ดูแล้ว ‘นึกถึง’ ไปโดยปริยาย

รถตุ๊กตุ๊กลายบาโรควิ่งให้บริการบริเวณจตุรัส Place Vendôme
Courtesy of Khanakon Phettrakul

Similar Articles

More