หลายคนก็ชอบสงสัย ไหงใส่เกงในอยู่เหนือเกงยีนส์!
– Kristin Marie Newell –
หากคุณทันหรือจำเนื้อเพลงท่อนนี้จาก Help ซิงเกิลดังในปี 1997 ที่มีท่อนฮุคติดหูนำชื่อศิลปินมาสะกดเป็นภาษาไทย “ค-ร-อิ-ส-ต-อิ-น” ของ Kristin Marie Newell (คริสติน มารี นีเวล) ศิลปินหญิงที่แจ้งเกิดมาพร้อมกับโจอี้บอยได้นั้นแสดงว่าคุณไม่เด็กแล้วนะครับ (ฮ่าๆ) … เนื้อเพลงข้างต้นนั้นน่าสนใจเพราะได้ทำหน้าที่กระจกสะท้อนยุคสมัย ทศวรรษที่ 1990 กับการที่ผู้หญิงสวมยีนส์อยู่ใต้กางเกงใน หรือก็คือการใส่ยีนส์เอวต่ำเพื่อโชว์ขอบชั้นในที่ถือว่าค่อนข้าง ‘เกินงาม’ ตามทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ยิ่งเธอใส่คู่กับท่อนบนเป็นเสื้อครอปโชว์สะดือด้วยแล้วจึงมีข่าวการที่คนบางกลุ่มตำหนิว่าแต่งตัวล่อแหลมไปจนถึงขั้นเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี แต่กลับกัน เมื่อลุคนี้ถูกแต่งโดยผู้ชายกลับถูกมองว่า “เซ็กซี่ชะมัด!”
รูปแบบการแต่งกายที่ว่าได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากวัฒนธรรมกระแสนิยมในอเมริกาและแบรนด์ที่ต้องการเจาะตลาดชาวอเมริกัน โดยมีสองแบรนด์เจ้าถิ่น Calvin Klein และ Tommy Hilfiger เป็นผู้กระพือให้กระแสอเมริกันสปอร์ตี้ที่โชว์เนื้อหนังฟุ้งไปทั่วโลก ก่อนที่แบรนด์จากฝั่งยุโรปอาทิ Armani Exchange, D&G และ Versus Versace (ทั้งสามคือไลน์วัยรุ่นจากแบรนด์หรูของอิตาลีที่ต้องการเจาะตลาดอเมริกา) จะดำเนินรอยตาม โดยเฉพาะในรายของ Calvin Klein นั้นเรียกได้ว่าคือผู้ที่มาเขย่าวงการแฟชั่นบุรุษและสตรีอย่างแท้จริง การมาของชั้นในโชว์ขอบอวดโลโก้ตัวอักษรย่อ ‘CK’ ได้รับความนิยมคู่กับสินค้าไลน์เดนิมมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์กางเกงบ็อกเซอร์และชุดชั้นในชายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถทำรายได้รวมราวๆ 70 ล้านดอลลาร์ในหนึ่งปี เพราะช่วงเวลานั้นตลาดชุดชั้นในชายในอเมริกาเริ่มเปลี่ยนไป จากที่ชั้นในชายส่วนใหญ่มักเป็นสีขาว โดยมีภรรยา แม่ หรือแฟนสาวเป็นผู้ซื้อชั้นในให้แก่หนุ่มๆ และนิยมซื้อเป็นแพ็คสามชิ้นก็กลายเป็นการซื้อแบบเดี่ยว ที่สำคัญชายชาวอเมริกันเริ่มใส่ใจเกี่ยวกับวิธีการโอ้อวดที่แยบยลไม่กระโตกกระตากรับกับกระแสมินิมัลที่กำลังมา
ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี ผู้ชายไทยคนแรกบนแคมเปญชุดชั้นใน Calvin Klein ฤดูกาล Fall 2023
ความสำเร็จในการจำหน่ายชั้นในชายของ Calvin Klein สามารถทำให้วิกฤตด้านการเงินที่บริษัทประสบในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 สามารถพลิกฟื้นและสร้างผลกำไรให้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยเฉพาะกับช่วงระหว่างปี 1990-1995 ที่หัวหน้านักออกแบบเสื้อผ้าชายนาม John Varvatos (จอห์น วาร์วาทอส) นักออกแบบคนดังที่ภายหลังออกมาก่อตั้งแบรนด์ตัวเองในชื่อเดียวกัน ได้บุกเบิกชุดชั้นในชายประเภทหนึ่งซึ่งถูกเรียกว่า ‘Boxer Briefs’ เป็นการผสมระหว่างกางเกงบ็อกเซอร์และกางเกงชั้นใน และโด่งดังถึงขีดสุดด้วยชุดภาพโฆษณาสุดไอคอนิกในปี 1992 ที่ได้ Mark Wahlberg (มาร์ค วอห์ลเบิร์ก) มาเป็นแบบ สื่อแฟชั่นชั้นนำต่างยกให้โฆษณาชุดที่ว่าคือ ‘หนึ่งในการปฏิวัติเครื่องแต่งกายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษ’ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา กางเกงชั้นในได้ทำหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์บ่งบอกสถานะและรสนิยมไม่ต่างจากเสื้อผ้าชิ้นนอก กระเป๋า รองเท้า และเข็มขัด
Dolce&Gabbana Fall/Winter 2023
เมื่อกระแส Y2K คาบเกี่ยวระหว่างทศวรรษที่ 1990 และต้น 2000 กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง บวกด้วยสูตรความสำเร็จของแบรนด์ Calvin Klein ที่ปัจจุบันกลับมาเอาดีด้วยภาพลักษณ์การเป็นผู้นำชั้นในชายระดับโลก (หลังแยกทางกับ Raf Simons ที่พยายามจะรีแบรนด์ให้กลายเป็นแบรนด์แฟชั่นสุดหรูเทียบเท่าฝั่งยุโรป) ทำให้ช่วง 2 ปีนี้เราได้เห็นแบรนด์แฟชั่นรายน้อยใหญ่ต่างดำเนินรอยตาม ตั้งแต่แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอย่าง Zara และ H&M ไปจนถึงกูตูร์เฮาส์เก่าแก่อย่าง Balenciaga และ Givenchy ซึ่งก่อนหน้านี้ก็คงไม่มีใครคิดว่าจะได้เห็นแบรนด์หรูระดับนี้หันมาเอาดีด้านการชูกางเกงชั้นในชายให้เป็น must-have แถมขายดีจนบางช่วงขาดไปจากชั้นวาง นี่ยังไม่นับรายใหญ่จากอิตาลีอย่าง Dolce&Gabbana และ Versace (ทั้งคู่ปิดไลน์วัยรุ่น D&G และ Versus Versace ที่เคยแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากชั้นในชายในช่วงยุค ’90s ไปแล้ว) ที่กลับมาขอชิงเค้กก้อนโตอีกครั้ง รายแรกเอาจริงกับการ Re-Edition นำชิ้นที่ประสบความสำเร็จในอดีตรวมทั้งชั้นในชายกลับมาปัดฝุ่นใหม่ ขณะที่ชั้นในชายลายกรีกคีย์ของรายหลังก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เห็นได้ตั้งแต่ติ๊กต๊อกเกอร์คนดัง ไปจนกระทั่งดาว Onlyfans ที่ต่างก็ใส่ชั้นในของแบรนด์โลโก้ศีรษะเมดูซ่ากันถ้วนหน้า
“สำหรับผมกางเกงชั้นในและบ็อกเซอร์คือไอเทมที่สะท้อนแฟชั่นแบบยูนิเซ็กซ์”
– Calvin Klein –
หนึ่งในผู้นำเทรนด์สินค้าแฟชั่นและน้ำหอมยูนิเซ็กซ์เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมรดกทางความคิดอันล้ำค่าของเขาอย่างภาคภูมิ จริงอยู่ที่กางเกงชั้นในถูกออกแบบมาให้รองรับกายภาพที่ต่างกันของผู้ชายและหญิง แต่บ่อยครั้งเราก็ได้เห็นภาพของผู้หญิงหยิบเอาบ็อกเซอร์ หรือบางรายหยิบกางเกงในชายมาใส่แบบไม่เคอะเขิน จากภาพยนตร์ฟากฮอลลีวูดอยู่บ่อยครั้ง แนวคิดที่ว่าคือสิ่งที่เราได้เห็นในโชว์ฤดูหนาวที่ผ่านมา และฤดูร้อนปี 2023 นี้ของ Miu Miu อีกแบรนด์ร้อนแรงแห่งปีที่สไตล์ลิสต์คนดังผู้ทำหน้าที่ที่ปรึกษา Lotta Volkova (ลอตตา โวลโกวา) ทำให้ขอบชั้นในโชว์ลายโลโก้เป็นที่ต้องการของคอแฟชั่นทั่วโลก แถมยังแสดงให้เห็นบนรันเวย์ว่ากางเกงชั้นในและบอกเซอร์ของ Miu Miu นั้นสามารถใส่ได้ทั้งหญิงและชาย เช่นเดียวกับอีกรายผู้ปลุกกระแสเซ็กซี่ฉบับ Y2K อย่าง Diesel ภายใต้การนำของ Glenn Martens (เกลนน์ มาร์เตนส์) ที่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด ชั้นในของ Diesel ก็ทำให้คุณดูเซ็กซี่ชนิดปรอทแตกได้เช่นกัน
Dolce&Gabbana, 2023
วันนี้โลกแฟชั่นได้พยายามทลายกรอบที่ใช้เครื่องแต่งกายภายนอกเป็นตัวกำหนดเรื่องเพศอย่างเห็นได้ชัด กางเกงชั้นในและบ็อกเซอร์ที่ในอดีตคืออีกชิ้นที่เป็นตัวแทนการแบ่งแยกหญิงและชาย จึงกลายมาเป็นอีกไอเทมที่นักออกแบบคนดังดึงมาร่วมขบวนขับเคลื่อนแฟชั่นไร้เพศที่ว่า แม้การทำหน้าที่โอบอุ้ม ‘น้องชายและน้องสาว’ คือภารกิจหลักของมัน แต่ดีไซน์นั้นดูเชื่อมโยงอย่างเห็นได้ชัด (กระแสชั้นในลูกไม้ของหนุ่มๆ จาก Wacoal ในญี่ปุ่นคืออีกตัวอย่างที่มาเขย่าโลกแฟชั่นบุรุษเวลานี้) การกลับมาของกระแสโชว์ขอบชั้นในสุดเซ็กซี่ฉบับ Y2K จึงไม่ได้มีดีเป็นเพียงแค่ของอวดลวดลายโลโก้ แต่ยังเป็นการโชว์สเตตัสและทำหน้าที่เป็นชิ้นสเตทเมนต์ของโลกแฟชั่นในยุค 2020s ได้ไม่แพ้ไอเทมชิ้นใด