ทำความรู้จักกับ ‘​​เติ้ล-ธีระยุทธ’ ศิลปินไทยผู้ออกแบบ G-SHOCK x Preduce

ใครที่เป็นแฟนคลับนาฬิกา G-SHOCK จะทราบดีว่าชิ้นงานที่ออกแบบโดยศิลปินไทยนั้นไม่ได้มีมาบ่อยนัก ดังนั้นเมื่อมีโมเดลคอลลาบอเรชั่นใหม่ใหม่ๆ นักสะสมจึงไม่ควรพลาดโดยประการทั้งปวง อย่างล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมากับโปรเจค G-SHOCK x Preduce Skateboards ฉลองวาระครบรอบ 20 ปีของ Preduce ผลลัพธ์จากการโคจรมาพบกันครั้งนี้ได้มาซึ่งนาฬิการุ่น DW-5600 ที่มีจุดเด่นเป็นการนำใบหน้าของยักษ์ผู้พิทักษ์มาใส่ในผลงาน เป็นการออกแบบโดย TRK หรือ เติ้ล-ธีระยุทธ พืชเพ็ญ อาร์ตไดเร็คเตอร์จาก Preduce … แอลเมนได้ชวนเขามาพูดคุยเพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น และล้วงลึกแรงบันดาลใจในการรังสรรค์เรือนเวลาสุดพิเศษล่าสุดจาก G-Shock

เติ้ล-ธีระยุทธ พืชเพ็ญ
Courtesy of the Brand

เริ่มสนใจในงานศิลปะตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมเกิดในครอบครัวที่ทำงานศิลปะ โดยฝั่งคุณแม่เป็นนักวาดภาพกันเกือบหมด คุณตาทวดเป็นครูใหญ่โรงเรียนเพาะช่าง ก็เลยได้ดีเอ็นเอบางอย่างมานิดๆ หน่อยๆ กับการเขียนภาพไทย ศิลปะไทย แต่ด้วยเพราะผมโตมาในช่วงยุค ’90s ได้เจอกับพวกเพลงแร็ป ฮิปฮอป ร็อค หรือกีฬาสเก็ตบอร์ดอะไรประมานนี้ ทำให้ความสนใจในวัยนั้นเปลี่ยนไป พาร์ตหนึ่งในชีวิตเราเริ่มต้นจากศิลปะไทย แต่ต่อมาก็ได้ลองผิดลองถูกทำงานศิลปะในรูปแบบอื่นๆ อย่างงานกราฟฟิก คอมพิวเตอร์อาร์ต กราฟฟิตี้ มันทำให้สองสิ่งนี้ผสมกัน จนกระทั้งวันหนึ่งเมื่อเวลาบอกว่าเราคือใคร ‘ราก’ มันจะกลับมาบอกเราเองว่า ‘เราเป็นใคร’ ผลงานเลยออกมาเป็นสไตล์ของผมอย่างที่ทุกคนได้เห็นกันครับ

ค้นหาตัวตนอย่างไร

ผมชอบเขียนรูปตามปกเทป ปกซีดี วาดรูปการ์ตูนที่ชอบ แรกเริ่มผมเชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนเป็นเหมือนกัน แต่ถึงเราจะวาดได้ก็จริง ถ้ามันไม่ใช่ตัวตนของเรามันก็ไม่ใช่ เพราะรากของเรามาจากศิลปะไทย ก็เลยดึงในสิ่งที่ผมเป็นออกมาในผลงาน แต่ก็เพิ่งมาตอบตัวเองได้ในช่วงสิบกว่าปีหลังนี้เองว่า ผมชอบงานแบบที่ทางบ้านทำกันอยู่แล้ว ในช่วงวัยรุ่นก็มีตามเพื่อน ตามกระแสบ้าง เพราะคนเราต้องมีช่วงที่ทดลองค้นหาตัวเอง แต่ตัวเราเองจะรู้ดีที่สุดว่าเราชอบอะไร ตัวตนของเราคืออะไร และจงดึงมันออกมาใช้

เล่าถึงวัยเรียนหน่อย

ผมเรียนแผนกวิจิตรศิลป์ที่โรงเรียนวิทยาลัยวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา สมัยเรียนไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไร แต่ก็เรียนจนจบ แล้วก็เรียนต่ออีกนิดๆ หน่อยๆ แต่ก็เรียนไม่จบ เพราะเป็นคนค่อนข้างเกเร แล้วอย่างที่บอกว่าผมไม่ค่อยชอบเรียน (หัวเราะ) 

เติ้ล-ธีระยุทธ พืชเพ็ญ
Courtesy of the Brand

รู้จักกับ Preduce ได้อย่างไร

ผมโตมากับซับคัลเจอร์ ชอบเขียนกำแพง เขียนงานในสไตล์ตัวเองที่มันดูพิลึกกึกกือ เขียนภาพไทยแบบแปลกๆ ให้กับพี่มังกร (มังกร ทิมกุล ทายาทของครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน) เขาเป็นดีเจ ผมทำใบปลิวให้เขามาโดยตลอด เมื่อก่อนตอนยังไม่มีโซเชียลมีเดีย เวลาจัดงานกันทีนึงก็ต้องมีใบปลิวไปแจกที่นั่นที่นี่ ไปแปะตามจตุจักร ที่สำคัญเลยคือไปวางที่ Preduce สุดท้ายผมก็ได้ไปเจอกับ Simon Pellaux และ Guillaume Wyss (สองผู้ก่อตั้ง Preduce) ที่ไนท์คลับ เพราะพวกเราชอบอะไรที่คล้ายๆ กัน  โลกจะพาคนแบบเดียวกันมาเจอกัน

ผมมีแสดงผลงานโซโลครั้งแรกที่สยามสแควร์ แล้ว Preduce เองก็อยู่แถวนั้นอยู่แล้ว ไซม่อนและกีโยมก็เข้ามาชาร์จผมเลย โดยตัวผมเองก็รู้จักพวกเขาอยู่แล้ว ทั้งคู่ก็เป็นแฟนของพี่มังกร เลยชวนผมมาทำซีรีย์ด้วยกัน ไปๆ มาๆ มันไม่ได้หยุดแค่นั้น ผมก็ได้ทำงานให้กับ Preduce ไปเรื่อยๆ จนกระทั้งไม่รู้อีท่าไหน “วันศุกร์มาที่ออฟฟิศหน่อยนะ” เหมือนกับว่าผมก็ทำงานที่นี่ไปเลยแบบไม่รู้ตัว “ไซม่อนมันตีเนียน!” (หัวเราะ)

เล่าเรื่องการร่วมงานครั้งแรกกับ G-SHOCK ให้ฟังหน่อย

บอกได้เลยว่าการร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกส่วนใหญ่แล้วไม่ยากเลย เพราะเขาเคารพในตัวตนของเรา เขาเลยเลือกเราให้ทำงานด้วย ผมแทบจะไม่ได้แก้อะไรเลยนอกจากเรื่องของเทคนิค คาแรกเตอร์ที่ผมเขียนออกมาครั้งแรกก็ผ่านเลย แต่สิ่งที่ปรับภายหลังเล็กน้อยก็เป็นเรื่องของข้อจำกัดในการผลิตมากกว่า 

เติ้ล-ธีระยุทธ พืชเพ็ญ
Courtesy of the Brand

ทำไมถึงเลือก ’ยักษ์’ มาใส่ในผลงานคราวนี้

ที่มาก็คือยักษ์ที่ปกป้องอยู่ที่ประตู ก็เลยอยากให้ยักษ์ตนนี้มาอยู่ที่ข้อมือเพื่อปกป้องนักเล่นสเก็ตช์ทุกคน และอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องของเวลา ตอนไหนจะเริ่ม ช่วงไหนจะเลิก เพราะนาฬิกามีไว้บอกเวลา แต่เวลาจะบอกตัวเราทุกอย่าง

การใช้สีมีความหมายอย่างไร

ผมเป็นคนบ้าพระนครอยู่แล้ว อย่างที่บอกว่าผมเรียนที่อาชีวะฯ เสาวภา ตอนนี้ผมก็มีแกลเลอรี (พยัคฆ์ แกลเลอรี) ของตัวเองอยู่แถวเสาชิงช้า ทุกวันที่เข้าออกก็จะสะดุดตากับหลังคาของวัดสุทัศน์ฯ สีที่ผมเห็นคือสีเขียว เหลือง และแดงซึ่งเป็นสีที่เห็นทุกวันจนมันฝังเข้าไปให้หัวเลย แล้วสีมันก็เด่นมากจริงๆ จึงดึงเอามาใช้ในงาน 

สิ่งที่อยากทำในอนาคต

สิ่งที่ผมอยากทำเลยคือการได้ตอบแทนสังคม อยากมอบความรู้แก่น้องๆ รุ่นหลัง ให้มีความเข้าใจในศิลปะมากขึ้น ผมเลยเปิดแกลเลอรีขึ้นมาเพื่อให้น้องๆ ได้มีพื้นที่ ได้มีโอกาส ได้เรียนรู้ อีกมุมหนึ่งของการเป็นศิลปินเลยก็คือการส่งต่อ ตัวผมรอดแล้ว เราก็อยากได้คนรุ่นหลังได้เดินทางตามความฝันได้อย่างที่ผมเคยทำมา นี่คือสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่

Courtesy of the Brand

Similar Articles

More