‘Tim Burton’ ผู้กำกับในตำนานผู้ถ่ายทอดความแฟนตาซีสุดมืดมนลงบนม้วนฟิล์ม

0
1845

ช่วงปลายปีที่แล้วมีซีรีส์เรื่องหนึ่งที่ถูกสตรีมผ่านแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Netflix แล้วได้รับการตอบรับจากคอซีรีส์จนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ซึ่งซีรีส์เรื่องนั้นคือ ‘Wednesday’ ซีรีส์ Spin-Off ของภาพยนตร์เรื่อง The Addams Family ภาพยนตร์ตลกร้ายสุดไอคอนิคที่ครองใจคนทั่วโลกด้วยคาแรกเตอร์ตัวละครสุดแปลกและมู้ดแอนด์โทนสุดหลอน แต่เหนือสิ่งอื่นใดตัวละคร Wednesday Addams (เวนส์เดย์ แอดดัมส์) จากภาพยนตร์เรื่อง The Addams Family นี้แหละคืออีกหนึ่งสีสันที่คว้าใจคนดูจนทำให้เกิดเป็นซีรีส์ Spin-Off เรื่องนี้ขึ้นมา

Courtesy of Shutterstock

หากภาพยนตร์ The Addams Family ในปี 1991 ทำให้คนทั่วโลกรู้จักเรื่องราวแฟนตาซีสุดดาร์กของครอบครัวแอดดัมส์แต่จุดเริ่มต้นของพวกเขานั้นเกิดขึ้นในปี 1938 บนนิตยสาร The New Yorker ในฐานะการ์ตูนช่องเดียว แต่เสน่ห์อันเหลือล้นและเรื่องราวสุดแปลกของครอบครัวนี้ทำให้มันถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ และการ์ตูนนับครั้งไม่ถ้วน แต่ในครั้งนี้ที่ชูเรื่องราวของตัวละคร Wednesday มาทำเป็นซีรีส์ภาพแยกนั้นเราก็คงต้องยกเครดิตให้กับ ‘Time Burton’ (ทิม เบอร์ตัน) ผู้กำกับผู้หลงใหลในความ Dark-Fantasy จนกระโดดมากำกับ 4 อีพีแรกและควบตำแหน่ง Executive Producer ของซีรีส์สุดมืดมนเรื่องนี้ 

ถือเป็นครั้งแรกของ Tim Burton ที่กระโดดมากำกับทีวีซีรีส์อย่างจริงจังหลังจากเคยชิมลางมาเล็กๆ น้อยในช่วงปลายทศวรรษ 1980s – 1990s และนอกจากซีรีส์ Wednesday ที่กำลังเป็นกระแสในโลกออนไลน์ตอนนี้เราเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงเคยรับชมผลงานของเขากันมาไม่มากก็น้อย อาทิ Dark Shadow, Alice in Wonderland หรือ Charlie and the Chocolate Factory ภาพยนตร์อันแสนโด่งดังที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่า Tim Burton ถือเป็นผู้กำกับอีกหนึ่งคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ และได้ถ่ายทอดภาพยนตร์ดาร์กแฟนตาซีให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์

นอกจากบทบาทผู้กำกับแล้วเขายังดำรงตำแหน่ง ‘โปรดิวเซอร์’ ในภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง ซึ่งเกือบทุกเรื่องนั้นได้ซึมซับเอากลิ่นอายความแฟนตาซีสุดมืดหม่นของเขาเข้าไปด้วย วันนี้ ELLE MEN เลยจะพาทุกท่านไปรู้จักกับผู้กำกับสุดตลกร้ายที่ตีแผ่เรื่องราวต่างๆ ผ่านฟิลเตอร์สุดมืดหม่นจนกลายเป็นอีกหนึ่งสีสันของโลกภาพยนตร์คนนี้กัน


จุดเริ่มต้นของผู้กำกับแห่งยุค
“ALICE IN WONDERLAND” (L-R) Tim Burton, Mia Wasikowska Ph: Leah Gallo © Disney Enterprises, Inc. All Rights Reserved.

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ Tim Burton ก่อนที่ชื่อของเขาจะรู้จักกันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เขาได้เริ่มต้นเส้นทางอาชีพของเขาด้วยการเป็น ‘แอนิเมเตอร์’ ให้กับ Walt Disney Studios มาก่อน สถานที่ซึ่งเขาได้พัฒนาลายเซ็นของเขาหรือที่รู้จักในหมู่คอหนังว่า ‘Burton-esque’ สไตล์แฟนตาซีสุดดาร์กที่สร้างความโดดเด่นให้กับผลงานของเขาจนโด่งดังและแตกต่างจากผู้กำกับภาพยนตร์คนอื่นๆ 

Time Burton เกิดปี 1958 ณ เมืองเบอร์แบงก์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ตรงกันข้ามความชอบของเขาโดยสิ้นเชิง เพราะเมืองเบอร์แบงก์นั้นเป็นเมืองที่อบอุ่นและมีแดดสาดส่องตลอดทั้งปี นอกจากนั้นชีวิตในวัยเด็กของผู้กำกับชื่อดังคนนี้แตกต่างจากเด็กทั่วๆ ไป เพราะเขาชอบไปเที่ยวเล่นตามสุสานและพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ ที่ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งกัน แถมเขายังชื่นชอบในภาพยนตร์สยองขวัญและภาพยนตร์ไซไฟที่จนกลายมาเป็นอิทธิพลหลักให้กับงานของเขา

อีกทั้งเขายังมีความชอบในศิลปะแนวป๊อปอาร์ตที่โดดเด่นในสไตล์สุดเหนือจริง (Surrealism) จนความชื่นชอบนั้นค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวให้กลายเป็นความชอบด้านงานแอนิเมชั่น ในวัย 15 ปีเขาเคยชนะการประกวดศิลปะโฆษณาในท่องถิ่นจากผลงานภาพยนตร์สั้นที่ถ่ายทำกล้องฟิล์ม 8 มม. และเขายังได้สร้างหนังสือภาพประกอบสำหรับเด็กของตัวจนได้รับคมชมจากดิสนีย์ด้วย  หลังจากจบไฮสคูล Tim Burton ได้เข้าเรียนที่ California Institute of the Arts (CalArts) สถาบันสอนศิลปะที่ก่อตั้งโดย Walt Disney

ในปี 1976 เขาได้เข้าร่วมโปรแกรม New Animator Program ของสถาบันศิลปะแห่งนี้ จนกลายเป็นหนึ่งในทำเนียบนักเรียนในตำนานของ CalArts กลุ่มแอนิเมเตอร์ผู้กำหนดแนวทางให้กับงานแอนิเมชั่นให้กับผู้สร้างในยุคหลัง ซึ่งในทำเนียบนี้ก็รวมแอนิเมเตอร์ชื่อดังของดิสนีย์ไว้มากมายหลายคน เช่น Rob Minkoff (ร็อบ มินคอฟฟ์) ผู้กำกับแอนิเมชั่นเรื่อง The Lion King หรือ Brenda Chapman (เบรนดา แชปแมน) ผู้กำกับแอนิเมชั่นเรื่อง Brave


ฟ้าหลังฝนย่อมงดงามเสมอ

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสร้างสรรค์ที่ CalArts ทำให้ความแตกต่างและแปลกของ Tim Burton ต่างได้รับการสนับสนุนจากคนสร้างสรรค์หลากแขนงในสถาบันศิลปะแห่งนี้ แต่น่าขันเพราะที่ Walt Disney Studios เขาถูกผลักให้กลายเป็น ‘คนนอกกรอบ’ หรือ ‘Outcast’ เช่นเดียวกับที่เขาได้บรรยายกลุ่มนักเรียนใน Nevermore Academy จากซีรีส์เรื่อง Wednesday ที่เป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ 

เขาถูกมอบหมายจากดิสนีย์ให้คิดคอนเซปต์สำหรับภาพยนตร์อย่างเรื่อง The Fox and the Hound (1981) และ The Black Cauldron (1983) ซึ่งทั้งผลงานทั้งสองชิ้นนี้ล้วนเป็นผลงานที่ไม่ได้ถูกฉาย แต่ความมุมานะ ความพยายาม และความทะเยอทะยานของเขาทำให้เขายังคงพัฒนาคอนเซปต์ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่เคยถูกดิสนีย์ปัดตกไป ซึ่งนั่นรวมถึงแอนิเมชั่นเรื่อง The Nightmare Before Christmas (1993) อันแสนโด่งดังด้วย 

ขนานไปกับเส้นทางอาชีพที่ค่อยๆ เติบโตภายใต้ชายคา Walt Disney Studios เขายังได้ค่อยๆ พัฒนาสไตล์ทางศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาไปพร้อมๆ กัน ดีไซน์ตัวการ์ตูนที่มีความยาวอย่างน่าประหลาดและสไตล์อันมืดหม่นแบบกอธิค (Gothic) ค่อยๆ กลายมาเป็นลายเส้น และดีเอ็นเอ ในงานแอนิเมชั่นของเขาที่ส่งต่อมาสู่ผลงานภาพยนตร์ของเขาด้วย แต่น่าเสียดายหลังจากได้เปิดตัวอีกหนึ่งผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขาอย่าง Frankenweenie (1984) แอนิเมชั่นขนาดสั้นที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กชายที่พยายามนำสุนัขของตัวเองกลับมาจากความตายเขาก็โดยดิสนีย์ไล่ออกทันที

แต่การออกจาก Walt Disney Studios นี้ทำให้เขาได้พบกับเพื่อนร่วมชั้นของเขาที่ CalArts อย่าง Paul Reubens (พอล รูเบนส์) ที่ชักชวน Tim Burton ให้มากำกับภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากคาแรกเตอร์ของเขาอย่าง Pee-Wee Herman จนกลายมาเป็นภาพยนตร์อย่าง Pee-Wee’s Big Adventure ที่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามและทำรายได้ไปถึง 40 ล้านดอลลาร์จากทุนสร้างเพียง 7 ล้านดอลลาร์ 

ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Pee-Wee’s Big Adventure นั้นทำให้เขาได้ผันตัวจากแอนิเมเตอร์กลายมาเป็นผู้กำกับในตำนาน ผู้กำกับผลงานไอคอนิกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Batman (1989), Edward Scissorhands (1990), Batman Returns (1992), Corpse Bride (2005), Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street (2007), Dumbo (2019) รวมถึงซีรีส์อย่าง Wednesday และเรื่องอื่นๆ ที่เรากล่าวไปข้างต้นด้วย 


Burton-esque’ สไตล์ส่วนตัวที่ไม่เหมือนใคร
Courtesy of IMDB

ด้วยการเริ่มต้นทำงานในฐานะแอนิเมเตอร์ทำให้ Tim Burton เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่เข้าใจในศาสตร์ ‘Mise-En-Scène’ (มิส-ซ็อง-แซน) หรือเทคนิดในการจัดวางองค์ประกอบภาพจนทำให้เทคนิคนี้กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการถ่ายทอดภาพยนตร์และแอนิเมชั่นของเขา และนอกจากการใช้เทคนิคนี้ในภาพยนตร์ Tim Burton นั้นมักจะมองมุมกลับปรับมุมมองเพื่อบอกเล่าหนังของเขาให้ต่างจากผู้กำกับคนอื่น เช่น การนำเสนอตัวละครที่แตกต่าง หรือสไตล์การกำกับภาพสุดมืดหม่น จนสไตล์การกำกับภาพยนตร์ของเขาถูกขนานนามเฉพาะขึ้นมาใหม่ว่า ‘Burton-esque’

นอกจากนั้นเขายังได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะและวัฒนธรรมจากทั่วทุกมุมโลกตั้งแต่ ‘German Expressionism’ หรือ ‘ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แบบเยอรมัน’ ขบวนการศิลปะสมัยใหม่ที่แพร่กระจายไปทั่วทวีปยุโรปในทศวรรษ 1920s ซึ่งศิลปะและภาพยนตร์แขนงนี้ส่งอิทธิพลให้กับมุมมองในการสร้างภาพยนตร์และแอนิเมชั่นของ Tim Burton เป็นอย่างมาก ซึ่งจุดเด่นของศิลปะประเภทนี้ก็คือฉากหลังและทิวทัศน์ที่มีความโดดเด่นเกินจริงและมีค่าความต่างของสีสูง ซึ่งอาศัยการใช้เงาและซิลูเอ็ตต์ของสิ่งต่างๆ ในฉากเพื่อสร้างความตึงเครียดและความน่าสะพรึงกลัวให้กับแต่ละซีนในภาพยนตร์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเห็นได้ชัดในภาพยนตร์ของเขาและมันทำให้สไตล์การกำกับภาพยนตร์ Burton-esque นั้นยิ่งแตกต่างจากคนอื่น

ผลงานของ Tim Burton ยังได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบกอธิคอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเขามีความชื่นชอบในศิลปะแบบกอธิคมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กแม้เขาจะเกิดมาในย่านที่สงบสุขในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ขึ้นชื่อเรื่องความชิล แต่เขากลับถวิลหาเรื่องราวสุดดาร์กและลางร้ายมาโดยเสมอ ดังนั้นเขาจึงได้ผสมผสานความ ‘Goth’ เข้ากับเรื่องราวสุดเรียบในชีวิตประจำวันและผสมผสานออกมาให้กลายเป็นภาพยนตร์สุดดาร์กแฟนตาซีตั้งแต่ Frankenweenie เรื่องราวของเด็กผู้ชายธรรมดาที่มีความรักสุดแปลกประหลาดในครอบครัวธรรมดา ไปจนถึง Beetlejuice เรื่องราวสุดแปลกประหลาดที่แฝงอยู่ในชานเมืองอันสงบสุข 

และสุดท้ายอีกหนึ่งศิลปะที่เราสามารถเห็นได้บ่อยครั้งในงานของ Tim Burton สิ่งนั้นก็คือ ‘Calacas’ (คาลาคา) และ ‘Calaveras’ (คาลาเวรา) หัวกะโหลกสัญลักษณ์ของเทศกาลเฉลิมฉลองความตายหรือ Day of the Dead ในประเทศแถบลาตินอเมริกา ซึ่งสัญลักษณ์สุดงดงาม (แต่แอบหลอน) นี้เป็นที่ชื่นชอบของเขาเป็นอย่างมาก ทำให้งานของ Tim Burton เราจะเห็น Calacas และ Calaveras นั้นวิ่งเล่นอยู่บนแอนิเมชั่นของเขาอยู่เสมอ ตั้งแต่ The Nightmare Before Christmas ไปจนถึง Corpse Bride แอนิเมชั่นน้ำดีที่หลายๆ คนชื่นชอบ