ย้อนประวัติ Thierry Mugler ดีไซเนอร์ผู้เป็นตำนานแห่งโลกแฟชั่น

หลังปล่อยภาพเรียกน้ำย่อยออกมาเมื่อวาน ดูเหมือนว่ากระแสความต้องการผลงานคอลลาบอเรชั่นพิเศษ H&M x Mugler ที่จะวางจำหน่ายวันที่ 11 พฤษภาคม 2023 จะยิ่งทวีความร้อนแรง ‘เซ็กซี่แต่ไม่โป๊เปลือย’ คือนิยามที่ผมขอมอบให้ภาพแคมเปญชิ้นแรกของคอลเล็กชั่นพิเศษที่เน้นเส้นสาย และโชว์ส่วนสัดโค้งเว้าตามสไตล์ Mugler … ตามสไตล์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผลงานภายใต้ชื่อมูแกลร์ยุคใหม่ในการดูแลของ Casey Cadwallder ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงมูแกลร์ ในยุค Manfred Thierry Mugler ผู้ก่อตั้งแบรนด์ขวัญใจคนชอบงานดรามาติกและโชว์อลังการ สมฉายา ‘ราชาแห่งโชว์’

วันนี้ผมจึงขอพาชาวแอลเมนไปทำความรู้จักกับ (Thierry) Mugler แบรนด์ที่มีชื่อเสียงพีกถึงขีดสุดในช่วงยุค ’80s จนถึง ’90s เจ้าของน้ำหอมกลิ่นดังในขวดรูปดวงดาว Angel ที่เพิ่งฉลองครบรอบ 3 ทศวรรษไปเมื่อปีที่ผ่านมา แถมตอนนี้ยังมีนิทรรศการใหญ่ Thierry Mugler: Couturissime ที่ Brooklyn Museum ในนครนิวยอร์ก แสดงผลงานชิ้นเลื่องชื้อที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักออกแบบรุ่นหลัง ความแฟนซีทำให้โลกของมูแกลร์มีพลัง เต็มไปด้วยสีสัน และเขย่าโลกแฟชั่นตั้งแต่อดีตตราบจนปัจจุบัน

H&M x Mugler ผลงานคอลเล็กชั่นคอลลาบอเรชั่นพิเศษ
Courtesy of the Brand

ทำความรู้จักกับ Thierry Mugler

เมื่อกล่าวถึงอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของมูแกลร์ ผมเชื่อว่าคน Gen X และ Y ที่เสพเรื่องราวของโลกแฟชั่นคงมีภาพซูเปอร์โมเดลแห่งยุค Eva Herzigova ในชุดครึ่งวิหคแห่งสรวงสวรรค์ครึ่งสัตว์เลื้อยคลาน ไซบอร์กสาวสุดล้ำอย่างในภาพยนตร์ไซไฟ ไม่ก็เป็นภาพ ‘ฝูงนางแบบ’ ครึ่งคนครึ่งแมลงในชุดลาเท็กซ์ เดินเรียงแถวกันต้อยๆ และ Emma Sjöberg ในลุคนางฟ้าฮาลีย์ เดวิดสัน ลอยเข้ามาในหัว … เราปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานของเขาได้ฝากความทรงจำไว้ให้ผู้ชมมากมายทั้งในด้านดีและด้านร้าย แม้หลายคนมองว่าศิลปะที่สวมใส่ได้เหล่านั้นเน้นไปทาง ‘ล้อเลียนและเสียดสี’ มากกว่าจะเทิดทูนในแง่สิ่งสวยงาม แต่กระนั้นรูปลักษณ์อลังการก็สามารถเรียกยอดไลก์บนโลกโซเซียลและทำให้ชื่อ Mugler กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ยุคทองของเขาคือก่อนโลกนี้จะถูกขับเคลื่อนด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ค

จากข้อมูลการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ELLE ฝรั่งเศสในปี 2020 เขานิยามตัวเองไว้น่าสนใจ เปรียบตัวเองเป็น “นักสร้างฝันผู้ผดุงความงาม” เรื่องราวการต่อสู้เพื่อความงามของเขาเริ่มขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อหนูน้อยเธียร์รี่รู้สึกอัดอั้นกับสังคมผู้ดีที่ผู้เป็นพ่อและแม่ตีกรอบขึ้น เขาเติบโตในเมืองสทราซบูร์ ประเทศฝรั่งเศส เป็นลูกชายของครอบครัวมีฐานะ มีคุณพ่อเป็นหมอในสถานเสริมความงาม ส่วนคุณแม่เป็นสาวสังคมที่ชอบแต่งตัว (จนล้น) เธียร์รี่หนีออกมาสร้างโลกใบใหม่ด้วยตัวเอง “มันคือสัญชาตญาณ ผมห้ามใจไม่ได้ เพราะมันคือตัวตนข้างใน เอาเข้าจริงๆ ผมก็ทำอย่างอื่นไม่เป็นหรอก โชคดีนะที่พอมีฝีมืออยู่บ้างไม่งั้นกลายไปคนไร้บ้านหรือไม่ก็ต้องเร่ร่อนไปอยู่ข้างถนนแน่ๆ” เขาเท้าความถึงชีวิตวัยรุ่นอย่างติดตลก

หลุดจากกรอบเดิมไปสู่จักรวาลใหม่

และตามประสาการเป็นเด็กหัวรั้น หนุ่มน้อยเธียร์รี่มักหนีเรียนไปร้องเพลงประสานเสียงกับแม่ชีในโบสถ์ ไม่ก็นั่งตัดเย็บชุด หรือไปเล่นละครเวทีกับฉากที่ทำจากลังกระดาษ “ผมรู้สึกเหมือนเป็น ‘คนนอก’ ของครอบครัว ไม่ค่อยเข้าใจโลกใบนี้สักเท่าไหร่ มันมีแต่แรงกดดัน เลยเลือกสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมาเอง โลกที่สร้างจากสิ่งที่ผมเห็นและเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์ ภาพยนตร์ ธรรมชาติ สัตว์ ” เธียร์รี่กำลังต่อสู้กับความธรรมดาดาษดื่นที่เห็นจนชินตาบนโลกใบนี้ โดยกลยุทธ์ของเขาคือการพัฒนาตัวเองและทำงานอย่างหนัก

ร่างอวตารแรกของเขาถือกำเนิดในคราบของนักเต้น “ชีวิตผมรอดมาได้ก็เพราะการเต้น เสาะหาความสมดุลในชีวิต การพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งซึ่งเป็นอะไรที่เหมาะกับตัวผม รู้ไหมว่ามันช่วยได้มากเลยนะตอนผันตัวมาเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ เมื่อคุณทำงานอย่างหนักและสั่งสมประสบการณ์มามากพอ จนเรียกว่าควบคุมทุกอย่างได้แล้ว คุณจะรู้สึกเหมือนตัวเบาจนจะลอยได้ ไม่ต่างจากพวกนักแสดงที่ซึมซับและหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับบทบาทที่ได้รับ พวกเขาทำได้มากกว่าการท่องบทลอยๆ เพราะสวมจิตวิญญาณตัวละครเหล่านั้นไปแล้ว”

จากนักเต้นสู่การเป็นดีไซเนอร์

เส้นทางอาชีพของเธียร์รี่เริ่มจากการเป็นนักบัลเล่ต์ในโรงละครแห่งชาติ Opéra du Rhin ก่อนจะโผบินเข้าสู่กรุงปารีสซึ่งถูกนิยามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งโลกแฟชั่นในปี 1968 ช่วงเวลาที่บรรยากาศทางการเมืองกำลังระอุ ผู้คนลงถนนเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง ส่วนการเรียกร้องหาความเปลี่ยนแปลงของเธียร์รี่นั้นอยู่หลังเวที เริ่มด้วยการไปออดิชั่นงานเต้นและได้ค้นพบอาชีพแฟชั่นดีไซเนอร์ ซึ่งยุคนั้นเมซงหลังดังไม่ได้นิยมหานักออกแบบหน้าใหม่หรือคนนอกมากุมบังเหียนอย่างทุกวันนี้ มักใช้วิธีซื้อภาพสเก็ตช์ที่ถูกใจจากนักออกแบบที่นำผลงานมาเสนอ เธียร์รี่จึงไม่รอช้า ลุกมาจับดินสอเพื่อคว้าโอกาสให้ตัวเอง

เวลาผ่านไปไม่นาน จากหนุ่มนักเต้นได้กลายเป็น ‘นักปั้น’ รังสรรค์อาภรณ์รูปทรงใหม่ๆ ด้วยวัสดุไม่เหมือนใคร ทั้งเกราะแนบเนื้อ ชุดรูปทรงประหลาดแต่ทำให้ตกตะลึงและสะกดสายตา แบรนด์ Thierry Mugler ถือกำเนิดในปี 1974 และเผยโฉมผลงานคอลเล็กชั่นแรกในปีถัดมา โชว์ของเขาถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งให้กำเนิด ‘ตัวละคร’ ใหม่ๆ ที่โดดเด่นอยู่เสมอ มีสีสันจัดจ้าน สร้างความสนุกสนาน และดูอลังการ ไม่ว่าจะเป็นเหล่ากองทัพแมลง สิงสาราสัตว์ นักรบ และสวยสังหารจากโลกอนาคต ทั้งหมดที่ว่ามาตรงกันข้ามกับลุคของชาวปารีเซียง แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะกูตูริเยร์จอมแหกกฏผู้นี้เป็นได้ทุกอย่าง … ยกเว้นปารีเซียง!

จุดเริ่มต้นเส้นทางสายแฟชั่น

เขาเปิดห้องเสื้อโดยใช้ตึก 11 ชั้นบนถนน Rue des Archives ในปารีสเป็นฐานทัพ ประกอบด้วยชั้นใต้ดิน เวิร์คช้อปสำหรับช่างเย็บผ้าจำนวน 4 ห้อง มีห้องแล็บ ห้องใช้สารเคมี ห้องสำหรับช่างเชื่อมโลหะ เรียกว่าเป็นโรงงานผลิตกองทัพหุ่นยนต์ฉบับโลกแฟชั่นชั้นสูงก็ย่อมได้ ช่างทุกคนช่วยเปลี่ยนจินตการล้ำเลิศให้กลายเป็นจริงขึ้นมา โลกของ Thierry Mugler ทั้งมีสีสันและเติมความสนุกซาบซ่านให้ยุค’ 80s และ’ 90s ใครๆ ก็อยากมีโอกาสได้ยลโฉมโชว์ของนักออกแบบผู้ซึ่งในปี 1989 กล้าปฎิเสธข้อเสนอของ Bernard Arnault นายใหญ่ของ LVMH ที่อยากให้เข้ามารับช่วงต่อจาก Marc Bohan แห่งเมซง Dior

เท่านั้นยังไม่พอ! เขายังกล้าปฏิเสธราชินีเพลงป๊อปอย่าง Madonna ขณะเธอกำลังดังเป็นพลุแตก แต่บางครั้งการไม่ยอมก้มหัวและปรับตัวไปตามกระแสวัฒนธรรมสมัยนิยมก็นำไปสู่จุดจบได้เร็วกว่าที่คิด ความหรูหราเย้ายวนฉบับ Thierry Mugler ที่ถ่ายทอดโดยช่างภาพคนดังอย่าง Guy Bourdin และ Helmut Newton เริ่มถูกมองว่าเป็นการเปิดเผยเนื้อหนังจนเกินงาม คนที่ไม่เข้าใจว่าเป้าหมายหลักในการต่อสู้ของเขานั้นเป็นการทำเพื่ออะไรต่างก็มองว่าอนาจาร บ้างก็ว่า ‘เชยแสนเชย’

ต้นฉบับแห่งแฟชั่นสุดดรามาติก

เป้าหมายหลักที่ว่าคือการสร้างโลกใบใหม่ที่ไม่มีการจำกัดนิยามของความงาม โลกที่ความสวยไม่ถูกตัดสินด้วยค่านิยมของสังคม ไม่ว่าจะด้วยฐานะทางสังคมหรือเงินทอง แต่เมื่อตัดภาพกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงที่บรรยากาศกำลังร้อนระอุ เกิดวิกฤตการณ์การเงินในหลายประเทศ มีห้องเสื้อใหม่ๆ ผุดขึ้นมากมายและพร้อมจะเขย่าโลกแฟชั่นเช่นเดียวกับที่เธียร์รี่เคยทำไว้ มีการต่อสู้ทางการค้ามากขึ้น และยังมีกระแสกรันจ์ มินิมัลลิสต์ และบรูทัลลิสต์คืบคลานเข้ามา ทำให้เขารู้สึกเหินห่างจากแฟชั่นกระแสหลักมากขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดในปี 2003 เจ้าตัวสินใจโบกมือลาวงการแฟชั่นหลังจำใจต้องให้ Groupe Clarins เข้ามาอุ้มแบรนด์ไว้เมื่อราวๆ 5 ปีก่อนหน้า “ในเมื่อโลกแฟชั่นไม่ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นที่อยากจะพัฒนาฝีมืออีกต่อไป แล้วจะทนอยู่ทำไมล่ะ” เขาเล่าเรื่องราวในอดีตอย่างไร้เยื่อใย

แม้วางกรรไกรและหันหลังให้อาชีพแฟชั่นดีไซเนอร์ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานชิ้นโบแดงหลายชิ้นยังคงตราตรึงใจ การทลายกรอบและกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดของการตัดเย็บอาภรณ์ชั้นสูงส่งผลให้เขากลายเป็นผู้กรุยทางให้นักออกแบบรุ่นหลังที่นำเสนอผลงานไปในทิศทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็น John Galliano และ Alexander McQueen (ทั้งคู่นิยมทำโชว์ยิ่งใหญ่ตระการตาไม่แพ้กัน) โดยเฉพาะรายหลังที่เคยประกาศว่าเป็นทายาท ‘Muglerien’ อีกทั้งในยุค 2020s เราได้เห็นมรดกตกทอดของเธียร์รี่อยู่เนืองๆ ทั้งเสื้อแจ็กเกตเสริมไหล่ ชุดลาเทกซ์ และเดรสยาวกรุยกรายที่เหล่าคนดังพากันสวมขึ้นพรมแดง นอกจากร่วมร่างนิยามความงามฉบับใหม่ที่ฉีกกรอบของสังคมแล้วเขายังเป็นผู้ริเริ่มแนวแฟชั่นโชว์พร้อมการแสดงสด แทนการเดินโชว์เสื้อผ้ากันแบบเรียบง่ายในห้องเล็ก ๆ อย่างที่เคยทำกัน

ย้อนรอย 10 ปี ของ Thierry Mugler

ตอนจัดโชว์ฉลองครบรอบ 10 ปีของ Thierry Mugler อย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 22 มีนาคม 1984 ผู้ชมจำนวน 6,000 ราย (เป็นบัตรแบบเสียค่าเข้าชม 4,000 ที่นั่ง) เบียดเสียดเข้าร่วมโชว์ที่จัดขึ้นใน Zénith สนามกีฬาอเนกประสงค์ของกรุงปารีส มีนางแบบแถวหน้าเดินกระทบไหล่กันตลอดโชว์ อาทิ Cyd Charisse, Celia Cruz ตัวแม่แดรก Joey Arias, Diana Ross และ Julia Newman ทุกวันนี้แฟชั่นโชว์กึ่งศิลปะการแสดงสไตล์ Thierry Mugler ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ต้องยอมรับว่าโชว์ที่ทำได้ดีชนิดอลังการและชวนฝันแบบของเขานั้นหาดูได้ยาก อิทธิพลของมูแกล์ไม่ได้หยุดเพียงเรื่องของเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปไกลถึงโลกของป๊อปคัลเจอร์ มีศิลปินดังหลายรายเลือกผลงานของ Thierry Mugler มาเสริมจุดเด่นและเพิ่มพลังให้ตัวเอง อาทิ Bryan Ferry, Pet Shop Boys, David Bowie

ภาพโฆษณาฉลองครบรอบน้ำหอม Angel
Courtesy of the Brand

ปี 1992 เธียร์รี่ยังได้เข้าไปนั่งแท่นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ Too Funky ของ George Michael (แต่เขาไม่ได้เครดิตในเวอร์ชันไฟนอล) ชื่อ Thierry Mugler ได้กลายเป็นตำนานของยุค MTV และ Channel V หรือก่อนโซเซียลมีเดียจะมีอิทธิพลต่อโลกใบนี้ และหากวันนี้คุณชินกับการได้เห็นการนำวัสดุอย่าง เรซิน ลาเท็กซ์ โลหะ หรือวัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นมาทำเป็นเสื้อผ้าและเครื่องประดับละก็ ทราบไว้เลยว่านั่นเป็นเพราะอานิสงส์ของ Thierry Mugler และ Jean-Jacques Urcun ช่างคู่บุญและเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดนี้ ทั้งคู่ก้าวข้ามเทคนิกงานตัดเย็บธรรมดา หันมาทดลองใช้กรรมวิธีเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ คิดค้นเกราะหุ่นยนต์ทำจากโครเมียม และร่วมให้กำเนิดขวดน้ำหอมรูปดวงดาว Angel ในตำนาน เป็นน้ำหอมขวดแรกๆ ที่นำกลิ่นลูกกวาดมาใช้

มากกว่างานแฟชั่น แต่เป็นศิลปะที่สวมใส่ได้

ในนิทรรศการที่กล่าวถึงตอนต้นยังเผยให้เห็นอีกสิ่งสำคัญที่เจ้าตัวทุ่มเทและมอบจิตวิญญาณให้ นั่นคือการเป็นผู้กำกับการแสดง เขาฝากผลงานสำหรับการแสดง The Wyld ไว้ในกรุงเบอร์ลิน การแสดง Zumanity ที่ร่วมงานกับ Cirque de Soleil เขายังทำหลายสิ่งหลายอย่างที่หลงรัก และแม้เราคุ้นกับคำพูดว่า “อะไรที่มากจนเกินไปมักไม่ใช่เรื่องดี” แต่คำพูดเหล่านี้ใช้ไม่ได้เลยกับเธียร์รี่ เพราะความนิยมในผลงานของเขายังมีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน มีทั้งแฟนคลับรุ่นลายคราม คนกลุ่มใหม่ และลูกค้าวัยรุ่นที่เสาะหาชิ้นงานเก่าของ Thierry Mugler มาสะสม อาทิ Beyonce, Lady Gaga, Cardi B และ Kim Kardashian

เธียร์รี่ดูเปลี่ยนไปนานหลายปีก่อนเสียชีวิตในวันที่ 23 มกราคม 2022 เริ่มจากการเปลี่ยนมาใช้ชื่อแรก Manfred Thierry Mugler ตั้งแต่ปี 2013 และรูปร่างก็ไม่เหลือเค้าเดิม (หลังต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาอาการจากอุบัติเหตุมาเป็นเวลานาน … ตอนนี้เขามีรูปร่างเหมือนซูเปอร์ฮีโร่ในหนังสือการ์ตูนอย่างที่ชอบ) แต่ลึก ๆ แล้วเขาไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ยังคงมี ‘จิตวิญญาณ’ ความเป็นเด็กอยู่ในตัว หนูน้อยเธียร์รี่ผู้ช่างฝันและกล้าคิดกล้าทำผู้นั้นยังไม่ได้หายไปไหน ดังคำพูดของปิกัสโซ “เด็กทุกคนมีความเป็นศิลปินซ่อนอยู่ แต่เราจะรักษาศิลปินคนนั้นให้อยู่กับเราตลอดจนเติบใหญ่ได้อย่างไร” ที่สะท้อนภาพชีวิตของชายที่ชื่อ เธียร์รี่ มูแกลร์ ได้เป็นอย่างดี

To Manfred Thierry Mugler with Love

แป้ง-รสิตา – นักแปล: 
ก้าวแรกที่เข้าไปประจันหน้ากับชุดอสูรกายแฟนตาซีครึ่งแมลงครึ่งสัตว์เลื้อยคลาน นางเอกของคอลเล็กชั่น La Chimère ที่ยืนสง่าท้าสายตาผู้ชมในนิทรรศการ บอกได้เลยว่าสวยจนแทบลืมหายใจ สมกับเป็นนางพญาที่แท้จริง บนทุกๆ อณูของชุดเราได้เห็นการทำงานอย่างหนักของทีมช่างที่ต้องใช้เวลานานนับพันชั่วโมงในการรังสรรค์ และยังมีผลงานอีกหลายชิ้นที่ทำให้ตะลึง พร้อมเกิดคำถามขึ้นมากมาย “คิดได้อย่างไร?” “ทำได้อย่างไร?” และ “ทำไมจึงสร้างสรรค์ขึ้น?” ซึ่งคำถามสุดท้ายนี้ได้เฉลยคำตอบหลังจากแปลบทความเรื่องราวของเขาและหลังชมนิทรรศการเสร็จสรรพ เป็นความรู้สึกที่แปลกและแตกต่างจากการชมนิทรรศการอื่น มีทั้งอาการมึนๆ เหมือนตกอยู่ในภวังค์ ราวกับเพิ่งโดนฝูงอสูรกายสุดสวยกระโจนเข้าใส่ ทึ่งและชื่นชมความสามารถ สำคัญที่สุดคือ อยากขอบคุณที่เขาลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าบิ่น เพราะในฐานะผู้ชม/ผู้เสพผลงานแล้ว ดิฉันรู้สึกว่าเขาทำให้โลกนี้มีสีสัน ลองคิดดูเล่นๆ ว่าหากโลกนี้ปราศจากคนอย่างมูแกลร์ ก็คงจะเหี่ยวเฉาไม่น้อย อยากจะบอกเขาว่าดิฉันเป็นคนหนึ่งที่เห็นค่าและสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสร้างโลกที่สวยงามอย่างไร้เงื่อนไขของเขา

ภราดา – ผู้ก่อตั้งบล็อกแฟชั่น FoxyLadyDiary.blogspot.com: 
เธียร์รี่ มูแกลร์ ไม่ใช่นักออกแบบเสื้อผ้าดีที่สุดหรือเก่งกว่านักออกแบบรายอื่น แต่เขาคือนักออกแบบแห่งยุคสมัย และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของยุค ’80s หากเราย้อนกลับไปราวๆ 5 ทศวรรษที่แล้ว กลุ่มนักออกแบบหน้าใหม่ของฝรั่งเศสมักนำเสนอผลงานออกมาแนวทางเดียวกันคือเสื้อผ้าแนวฟิวเจอริสติก แต่อีกทศวรรษต่อมาบรรดานักออกแบบที่ว่านั้นได้ค้นพบแนวทางถนัดของตนเองเหลือไว้เพียงเธียร์รี่ที่ยังคงความเป็น Futuristic … ด้วยภาพที่เห็นนางแบบบนรันเวย์ Thierry Mugler ล้วนแต่มีทรวดทรงองเอวอย่างนาฬิกาทราย ทำให้ก่อนหน้านี้คิดเสมอว่าเสื้อผ้าของแบรนด์นี้คงมีสิ่งที่เรียกว่า ‘กระดูก (Boning) ‘ ดามอยู่รอบเอวพร้อมด้วยซับในทั้งตัว จนมีโอกาสได้ลองแจ็คเก็ตที่วางจำหน่ายใน Galeries Lafayette ตอนไปปารีส ปี 1989 และพบว่าด้านในของแจ็คเก็ตทำขึ้นจากผ้ากาบาดีนหลายชิ้น ปราศจากซับในและกระดูกอย่างที่เคยเข้าใจ มีเพียง Herringbone Tape ย้อมสีตามผ้าเย็บดามตะเข็บทั้งหมดเท่านั้น แต่เมื่อใส่แล้วกลับสร้างทรวดทรงนาฬิกาทรายเหมือนอย่างนางแบบ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความเป็นเลิศในงานออกแบบและการตัดเย็บ ถ้า Walt Disney ถูกชื่นชมในฐานผู้ที่ทำให้ความฝันของคนทั่วไปกลายเป็นจริงได้เช่นไร เธียร์รี่ก็คือควรถูกยกย่องในฐานะผู้ที่เสกให้จินตนาการของโลกแฟชั่นกลายเป็นจริงได้เช่นกัน

Wattakul Navalak – นักเขียนแฟชั่นและไลฟ์สไตล์:
ผมโตในยุค ’90s ช่วงเวลาที่กระแสมินิมัลเริ่มลามไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย วัยรุ่นยุคนั้นนิยมแบรนด์อเมริกันเท่ๆ และเซคเคิลด์ไลน์ใส่ได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน สำหรับผมแล้วผลงานและโชว์ของ Thierry Mugler จึงเปรียบได้กับ ‘อาหารจานหรูระดับมิชลินสตาร์’ ที่คนทั่วๆ ไปไม่ได้ทานบ่อยนักในชีวิตประจำวัน แต่น่าลิ้มลองและน่าเทิดทูนผู้รังสรรค์อาหารอันโอชะจานนี้ ส่วนตัวผมไม่ขอจำกัดสถานะของเธียร์รี่เป็นเพียงแค่แฟชั่นดีไซเนอร์ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ทั้งคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าและเครื่องประดับของเขาแทบจะไม่อิงกระแสแฟชั่นเลย มิหนำซ้ำยังแหวกตลาดด้วยซ้ำไป ดังนั้นนิยามที่เหมาะกับกูตูริเยร์ผู้นี้จึงควรเป็น ‘คนสร้างสรรค์’ ที่ทำทุกอย่างได้ตามใจปรารถนา แม้วางมือจากโลกแฟชั่น ผันตัวมาเป็นผู้กำกับและออกแบบคอสตูมสำหรับการแสดง แต่คอสตูมที่เห็นก็ยังคงไว้ลายและมาตรฐาน Thierry Mugler เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนจากโชว์เสื้อผ้าบนรันเวย์ใหญ่ไม่แพ้ละครบรอดเวย์ มาเป็นเวทีการแสดงจริง สมกับเป็นคนสร้างสรรค์ที่คนทั้งวงการแฟชั่นยกให้เป็น ‘ราชาแห่งโชว์’

Similar Articles

More