ในเดือนนี้เมื่อ 29 ปีที่แล้ว หนุ่มสาวชาวไทยหัวสมัยใหม่ได้สัมผัสกับนิตยสารหัวนอกจากฝรั่งเศส ที่ใช้ชื่อตามภาษาประเทศต้นกำเนิดว่า ELLE (แอล) ซึ่งแปลว่า ‘เธอ’ จากช่วงแรกที่เป็นเพียงตัวเลือกบนแผง บางท่านยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าชื่อของนิตยสารเล่มนี้อ่านว่าอะไร “เอ๊ะ …เอลเล่ หรือ แอ๋ว กันแน่นะ?” แต่ด้วยเนื้อหาที่ตรงใจและตอบสนองความใคร่รู้ของคนยุคใหม่ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน นิตยสารชื่อนี้ก็ขึ้นแท่น ‘หมายเลขหนึ่ง’ ในใจของคนไทยที่รักแฟชั่นและเรื่องราวทันสมัยจากทุกมุมโลก
‘นานาสไตล์จาก Versace, Gaultier, Chanel, Kenzo, Westwood’ – โปรยหัวสะดุดสายตาบนปกฉบับปฐมฤกษ์น่าสนใจสำหรับผม เพราะแม้ผ่านมานานเกือบจะ 30 ปีแต่รายชื่อแบรนด์ดังทั้ง 5 ยังคงได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในปัจจุบัน Versace ยังครองสถานะเบอร์ต้นบนพรมแดงงานสำคัญ … แบรนด์ของเด็กแสบแห่งโลกแฟชั่น Jean Paul Gaultier ได้รับความนิยมในหมู่คน Gen-Z ที่หลงใหลยุค ’90s และ Y2K … กูตูร์เฮาส์เก่าแก่ Chanel ยังครองใจสาวหรูจากทั่วทุกสารทิศ … แฟชั่นเฮาส์ที่เชื่อมโยงความงามของสองซีกโลกตะวันออกและตะวันตก Kenzo ก็เนื้อหอมในกลุ่มคนชอบสตรีทแวร์รุ่นใหม่ … ส่วน Vivienne Westwood นั้นยังเป็นขวัญใจสายแฟจอมขบถ แถวรอซื้อเครื่องประดับมุกไอคอนิกยาวเป็นหางว่าว ดังที่ผมได้นำเสนอไปก่อนหน้า … ว่าแต่ แบรนด์เหล่านี้ทำได้อย่างไร? สองคำตอบสั้นๆ ที่ขอมอบให้คือ … การเป็นต้นฉบับ และการปรับตัว
นิตยสารแอลประเทศไทย ฉบับปฐมฤกษ์ Nov. 1994
“การเป็นต้นฉบับ และความเป็นเลิศของงานสร้างสรรค์ที่มาพร้อมคุณภาพนี่เอง คือสิ่งที่แฟชั่นเฮาส์หลายหลังนำมาใช้เป็นยาถอนพิษจากธุรกิจแฟชั่นในช่วงเวลานี้” – คำให้สัมภาษณ์ของ Donatella Versace (โนนาเทลลา เวอร์ชาเช่) ในนิตยสาร ELLE เมื่อ 3 ปีที่แล้วยังคงนำมาอธิบายได้ดีว่าแบรนด์ดังเหล่านี้ผ่านร้อนผ่านหนาวและฝ่าวิกฤตต่างๆ มาได้อย่างไร เพราะเธอต้องต่อสู้กับดีไซเนอร์คลื่นลูกใหม่ และบรรดาแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นราคาถูกกว่าเกือบ 90% แต่มีหน้าตาละม้ายคล้ายกันจนบางชิ้นหากเราไม่พลิกแผ่นป้ายชื่อก็อาจหลงคิดเอาได้ว่าคือแบรนด์เดียวกัน ดังนั้นนอกจากการเป็นต้นฉบับชนิดที่เมื่อคนเห็นสไตล์เหล่านี้แล้ว ‘นึกถึง’ เธอจึงเน้นเรื่องคุณภาพควบคู่กันดังบทความที่ผมนำเสนอก่อนหน้า ใครๆ ก็ใช้ลายบาโรกแต่ทำไมคนส่วนใหญ่จึงนึกถึง Versace
แต่สำหรับโลกยุคปัจจุบันที่การแข่งขันในธุรกิจแฟชั่นดุเดือดขนาดนี้ ความเป็นต้นฉบับและคุณภาพนั้นอาจไม่เพียงพอ จริงอยู่ ‘เครื่องนุ่งห่ม’ คือปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ แต่! ในกรณี ‘เสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น’ นั้นอยู่กันคนละขั้ว เพราะถูกโยกไปอยู่ในหมวดของสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่มีก็ไม่เป็นไร แบรนด์เหล่านี้จึงต้องทำในอีกคำตอบของการอยู่รอด นั่นคือ ‘ปรับตัว’ และหากลยุทธ์จูงใจผู้บริโภค ทั้งรุ่นเก่าและใหม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าแบรนด์แฟชั่นเหล่านี้พยุงตัวอยู่ได้ด้วยกระแส และเมื่อผู้บริโภคมีตัวเลือกอื่นๆ ซึ่งดูน่าสนใจกว่าเมื่อไร ก็พร้อมจะผลักตัวออกห่างไปทันที
Hyunjin วง Stray Kids โกลบอลแอมบาสซาเดอร์ Versace
“ถ้าย้อนกลับไปราวๆ 20 ปีที่แล้ว มีแต่คนบอกว่า Versace ไม่รอดแน่ เพราะตอนนั้นแบรนด์ดูร่อแร่เต็มที! ร่อแร่ในที่นี้คือกระแสเริ่มแผ่ว ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการเงินแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องยุบโชว์โอตกูตูร์ในปี 2004 และปีต่อมาก็หยุดสายการผลิตไลน์วัยรุ่น Versus เพื่อจะมาโฟกัสแค่ไลน์หลักอย่างเดียว เป็นภาพคนละขั้วกับความนิยมที่เห็นในปัจจุบัน” – Wattakul Navalak นักเขียนแฟชั่นและไลฟ์สไตล์เล่าถึงช่วงขาลงของ Versace ให้ฟัง “แต่ Versace เผชิญสภาวะแบบนี้ไม่กี่ปีนะ เพราะปรับตัวไว ตัดสินใจเปลี่ยนทีมดีไซน์ใหม่ และยอมรับนายทุนรายใหญ่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องธุรกิจและประชาสัมพันธ์ จากเดิมที่ครอบครัวเวอร์ซาเช่เป็นผู้ดูแล หลังจากนั้นก็เริ่มกลับมามีกระแส คืนชีพ Versus Versace ในปี 2009 และกลับมาจัดโชว์กูตูร์ในปี 2012″
“อีกตัวอย่างของการปรับตัวที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันคือเรื่องความงามที่หลากหลาย ไม่น่าเชื่อเช่นกันว่าในที่สุดแบรนด์ที่ขึ้นชื่อว่าเหมาะกับสาวเอวบางร่างน้อยอย่าง Versace จะอ้าแขนรับสาวพลัสไซซ์ และยอมให้ปรากฏบนรันเวย์ แม้จะเพิ่งทำก็ตาม (ฮ่าๆ) และการเลือกใช้ศิลปินคลื่นลูกใหม่ของเกาหลีใต้ Hyunjin (ฮยอนจิน) วง Stray Kids เป็นโกลบอลแอมบาสซาเดอร์ ซึ่งฉีกภาพจำจากในอดีต ทั้งการที่เห็นทูตของแบรนด์เป็นวัยรุ่น แถมยังเป็นชาวเอเชีย จะมองว่าเพราะต้านกระแส K-Wave ไม่ไหวก็ได้ แต่ท้ายที่สุด นั่นละ คือการปรับตัว”
Kenzo Fall/Winter 2023
“เช่นเดียวกับ Jean Paul Gaultier ที่ช่วงกลางยุค ‘2000s นี่กระแสก็เริ่มแผ่ว ส่วนหนึ่งเพราะตัวฌอง-ปอลเองยังทำผลงานแนวถนัด ขณะที่สไตล์ของเขาไม่ใช่กระแสหลักของโลกแฟชั่นอีกต่อไป จริงอยู่ที่ยังคงมีลูกค้าหน้าเก่าอุดหนุนอยู่ แต่ก็ไม่มากพอให้ทำกำไรจนอยู่รอดได้” – Wattakul N. เล่าต่อถึงอีกแบรนด์ดังที่มีชื่อปรากฎบนปกนิตยสาร ELLE Thailand ฉบับปฐมฤกษ์ และปัจจุบันชื่อนี้ก็ยังถูกพูดถึงบนหน้าสื่อไม่เลือนหายไปไหน
“กระแสของ Gaultier ลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดต้องหยุดไลน์เสื้อสำเร็จรูปในปี 2015 และฌอง-ปอลก็ตัดสินใจวางมือในปี 2020 แล้วหันมาใช้กลยุทธ์นักออกแบบและแบรนด์รับเชิญมาทำคอลลาบอเรชั่น ส่วนตัวชื่นชมวิสัยทัศน์และกลยุทธ์นี้ เพราะร่วมสมัย ทำให้แบรนด์ดูสดใหม่ แล้วการได้นักออกแบบรุ่นลูกรุ่นหลานมาร่วมตีความมาสเตอร์พีซ ‘ต้นฉบับ’ ในโลกแฟชั่นนั้นก็ดูสนุกโดนใจคน Gen-Z ฟันเฟืองกลุ่มใหญ่ในธุรกิจแฟชั่นเวลานี้ ดังนั้นไม่ใช่ว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ที่ ELLE Thailand เสิร์ฟแฟชั่นของแบรนด์ดังให้คนไทยรู้จักแล้วแบรนด์เหล่านี้จะรุ่งโรจน์บนเส้นทางสายแฟชั่นตลอดเวลา ทั้ง 5 รายชื่อที่เห็นเผชิญทั้งขาขึ้นและลงกันมาหมดแล้ว แต่ที่รอดมาได้จนถึงวันนี้เป็นเพราะความคิดสร้างสรรค์อันเป็นต้นฉบับและปรับตัว”
เครื่องประดับไอคอนิกชิ้นเลื่องชื่อจาก Vivienne Westwood
รุ่นใหญ่ของวงการแฟชั่นไทยที่ยืนหยัดผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน 4 ทศวรรษ อิ่มเอมกับช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์บนเวที London Fashion Week และหงายหลังทันทีที่ไทยเผชิญวิกฤตต้มย้ำกุ้ง โดยยอมรับว่าการปรับตัวในธุรกิจนี้คือสิ่งที่ต้องทำคือ ‘ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา’ ผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟไดเรกเตอร์แห่งแบรนด์ไทยสุดหรูที่นำเสนอผลงานเทียบชั้นกูตูร์อย่าง Flynow
“โลกของแฟชั่นมันเป็นจุดที่แหลมคมที่สุดของกระบวนการเซทเทรนด์ ถ้าเรายังโหยหาเรื่องราวเดิมๆ คิดแบบเดิมๆ บอกเลยอายเค้า … เราอาจคิดว่าเราแก่ง แต่ความเก่งของเราไม่พอ เราต้องหาทีม วันนี้เราต้องทำงานกับคนรุ่นหลานแล้ว เราต้องกลับมาคุยกับคนรุ่นใหม่ อิมเมจนี่ไม่ได้เกิดจากการที่เราเป็นคนส่งออกไปนะ มันอยู่กับสิ่งที่เราสร้าง และเสียงที่สะท้อนกลับมาเข้าหูเรานั้นตรงกันมั้ย ถ้าไม่ตรงก็ต้องปรับองศา แล้วข้อดีคือเราได้ทีมรุ่นใหม่ซึ่งอยู่ในวัยเดียวกันกับลูกค้าขอเรา … วันนี้ผู้ช่วย (ที่เป็นคนรุ่นใหม่) เขาสอนผมเยอะนะ ผมก็สอนเขามากเช่นกันเพราะเรามีประสบการณ์ ตอนนี้ลูกค้าจึงหลากหลายขึ้น อายุลดฮวบ เฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปี คือ 20 ก็เป็นลูกค้าเราแล้ว” – คุณลิ้มให้สัมภาษณ์แก่ The Cloud เดือนที่ผ่านมา ในวาระที่ Flynow ทำการ ‘รีบอร์น’ เกิดใหม่อีกครั้งเพื่อสู้ศึกสมรภูมิแฟชั่นวันนี้
ผมใช้ช่วงเวลาในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพลิกหน้านิตยสาร ELLE Thailand ฉบับเก่าๆ เรื่องราวและผลงานของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำทั้งไทยและเทศที่ปัจจุบันนี้ยังได้รับความนิยม เป็นเพราะเคล็ด (ไม่) ลับดังที่ได้นำเสนอไว้ ‘การเป็นต้นฉบับ และการปรับตัว’ ฟังดูแล้วเหมือนจะง่าย แต่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้ถูกนิยามว่าเป็นต้นฉบับในโลกพาณิชยศิลป์ที่คนรุ่นก่อนหน้าทำกันมาหมดแล้วนั้น ถือเป็นความท้าทายนักออกแบบยิ่งกว่าสิ่งใด เช่นกันกับการปรับตัว ที่ต้องยอมลดอัตตาและการถือดีกับสิงที่มีเพื่อก้าวออกมามองความเป็นไปของโลก ก็ถือเป็นอีกบททดสอบความอยู่รอด
แต่ท้ายที่สุด ธุรกิจแฟชั่นนั้นขึ้นชื่อว่า ‘ปราบเซียน’ ยิ่งกว่าสิ่งใด การที่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งล้มหายตายจากไปนั่นไม่ได้เป็นการันตีถึงคุณสมบัติที่จะชี้ชัดได้ว่าแบรนด์เหล่านั้นดีหรือไม่ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้โลกแฟชั่นดูอีรุงตุงนังเกินคาดเดา ดังนั้นในฐานะคนทำสื่อ ผมขอเอาใจช่วยทุกๆ แบรนด์ให้ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ได้ตลอดไป เป็นกำลังใจ และอยากเห็นชื่อของแบรนด์ที่เห็นในนิตยสาร ELLE และ ELLE MEN ของปี 2023 นี้ ยังคงปรากฏในปี 2033 … 2053 … 2523 … ตลอดไป