“แต่งน้อยชิ้นที่สุด แต่เป็น Dior ทั้งหมด” วลีฮิตจากซีรีส์ดังที่สะท้อนบริบทโลกแฟชั่นในชีวิตจริง

ซีรีส์ที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรงบน Netflix อย่าง The Glory มีหลายคำพูดอ้างอิงที่สารพัดแฟนเพจดังหยิบไปนำเสนอและถูกแชร์ว่อนบนโซเชียลมีเดีย ทั้งคำพูดที่โดนใจคนรุ่นใหม่เพราะ ‘กระทุ้ง’ ให้ตระหนักเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในสังคม และคำพูดที่ถูกใจคอแฟชั่น โดยหนึ่งในประโยคที่ถูกแชร์กันถี่ยิบจนเห็นบ่อยบนหน้าฟีดของเฟสบุคในช่วงเวลานี้คือบทสนทนาระหว่างหนึ่งในตัวละครคู่รัก เมื่อ Park Yeon-Jin (พัค ยอน จิน) ได้เอ่ยถาม Ha Do-Yeong (ฮา โด ยอง) สามีของเธอ “พี่คะ ทำไมถึงเลือกฉันล่ะ?” และเขาตอบด้วยสีหน้านิ่งเฉยแต่ถูกอกถูกใจคอแฟชั่น “เพราะเธอแต่งตัวน้อยชิ้นที่สุด แต่เป็นดิออร์ทั้งหมด” … ผมไม่แน่ใจว่าด้วยกระแสความนิยมใน The Glory จะทำให้แถวบริเวณหน้าบูติกของเมซงเก่าแก่ยาวกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ทำให้คอซีรีย์หลายคนได้ตั้งคำถามในใจว่าการแต่งตัวน้อยชิ้นด้วยเสื้อผ้าพะยี่ห้อ Dior พิเศษอย่างไร? และทำไมทำให้เธอเป็นผู้ถูกเลือก?

ประโยคเด็ดจากซีรีย์เรื่อง The Glory
Courtesy of Netflix

และด้วยเพราะบทสนทนาระหว่างสองตัวละครไม่มีภาพประกอบให้เห็นในเรื่อง เป็นเพียงการเอ่ยถึงความประทับใจแรกที่ฝ่ายชายมีต่อฝ่ายหญิง แต่การแต่งตัวน้อยชิ้นด้วยเสื้อผ้าของ Dior นั้นเคยได้รับความนิยมจริงๆในสามช่วงเวลาด้วยกัน นั่นคือเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว หรือยุคมิลเลนเนียม, ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2010 เมื่อเราลองบวกลบคูณหารช่วงวัยลูกสาวตัวน้อยของเธอ และในช่วงปัจจุบันนี้ ซึ่งทั้ง 3 ยุคสมัยตรงกับการระบาดของแฟชั่นยอดฮิตที่วัยรุ่นในปัจจุบันให้ความสนใจ ‘Y2K’ และการเอ่ยชื่อแบรนด์ดังในเรื่องอาทิ Dior และ Versace สะท้อนให้เห็นว่าคอสตูมดีไซเนอร์ได้ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เอาเป็นว่าแม้จะได้รับการสนับสนุน (สปอนเซอร์) หรืออาจจะไม่ก็ตาม แต่! … Dior แบรนด์ที่สร้างความประทับใจให้ชายหนุ่มเลือกเธอนั้น ได้รับความนิยมในช่วงเวลาดังกล่าวจริง ผมจึงขอนิยามการแต่งตัวของ Park Yeon-Jin ที่ทำให้ผู้ชายหลง ว่าเป็นการแต่งตัวฉบับสาวซ่าขาปาร์ตี้ยุค ‘สาวดอทคอม’ ทั้งเย้ายวนชวนให้หลงใหล แต่ก็หรูหราด้วย ‘มูลค่า’ และ ‘คุณค่า’ ทางใจจากการได้เห็นโลโก้ซูเปอร์แบรนด์ การแต่งตัวในวันนั้นของเธอน่าจะเซ็กซี่ แต่ก็มีระดับ บ่งบอกสถานะว่าไม่ใช่เป็นสาวปาร์ตี้แบบไก่กาอาราเล่แต่อย่างใด

*คำเตือน การดื่มสุราเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
Courtesy of Netflix

“อย่างที่ทราบว่าวัยรุ่นเกาหลีใต้เปิดรับแฟชั่นต่างประเทศอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อช่วง 3 ทศวรรษนี้เอง และช่วงที่คอแฟชั่นในประเทศเขาเสพสื่อหนักๆ ก็คือช่วงที่หลายแบรนด์ในเรื่อง The Glory ได้รับความนิยม” – ป็อป วรรธกุล นักเขียนแฟชั่นที่เคยไปเยือนเกาหลีใต้ในต้นยุค 2000s และได้ไปร่วมงาน Seoul Fashion Week ตั้งแต่ปี 2009 เล่าถึงความนิยมของซูเปอร์แบรนด์ในเกาหลีใต้ช่วงเวลานั้น – “ต้องยอมรับว่านิตยสาร ELLE คือส่วนหนึ่งที่เปิดมุมมองด้านแฟชั่นให้หนุ่มสาวชาวเกาหลี เพราะตอนที่มีนิตยสาร ELLE Korea ฉบับแรกในปี 1992 ถือเป็นเรื่องฮือฮาไม่แพ้ตอนมีนิตยสาร ELLE Thailand (ฉบับแรกปี 1994) … เอาเป็นว่าถ้าคุณเคยไปเกาหลีเมื่อประมาณ 20 ปี หรืออาจจะไม่ต้องไกลมาก สัก 10 ปีที่แล้ว จะเห็นร่องรอยแห่งป็อปคัลเจอร์หลงเหลืออยู่ เราจะเจอกับร้านอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่ร้านขายสินค้าแฟชั่น แต่ดันใช้ป้ายหน้าร้านว่า Dior และ Versace คือเอามาใช้ดื้อๆ (ของไทยก็มีนะ ฮ่าๆ) เพราะพอเห็นชื่อแบรนด์พวกนี้แล้วเราจะรู้สึกแพง หรูหรา มอบความรู้สึกในเชิงบวก อย่างตอนที่ไปร่วมงานฉลองครบรอบ 10 ปี ของ Seoul Fashion Week ในปี 2010 ปาร์ตี้รับรองช่วงค่ำทำให้เราได้ทราบเกี่ยวกับค่านิยมการเสพสินค้าแฟชั่นของชาวเกาหลี จึงบอกได้ว่าแบรนด์ดังๆ อาทิ Chanel, Dior และ Versace ที่เห็นใน The Glory ไม่เคยหายไปไหน อยู่คู่กับเศรษฐินีชาวเกาหลีมานานหลายทศวรรษแล้ว เพียงแต่ความนิยมขึ้นๆลงๆตามกระแสโลก ดังนั้นถ้าจะนิยามว่าตัวละครในเรื่องสวมเสื้อผ้าสไตล์ Y2K ตอนเจอกับแฟนก็คงไม่ผิด เพราะสาวเกาหลีชอบปาร์ตี้ไม่แพ้หนุ่มๆ คงเป็นเซ็กซี่แบบ Y2K อย่างที่เข้าใจ”

เมื่ออ่านถึงตรงนี้คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผมจึงเชื่อมโยงการแต่งตัวน้อยชิ้นด้วยเสื้อผ้าของ Dior สไตล์ Y2K เข้ากับโลกแห่งปาร์ตี้ นั่นเพราะแฟชั่นฉบับ Y2K เชื่อมโยงกับการเฉลิมฉลอง ฉลองแก่การมีชีวิตขณะโลกยังไม่แตก แฟชั่นนุ่งน้อยห่มน้อยด้วยซูเปอร์แบรนด์นั้นมาคู่กับการเฉลิมฉลองก้าวสู่สหัสวรรษใหม่ ขณะเดียวก็มีความเชื่อว่าโลกจะแตกคู่ขนานกันไป … Y2K หรือการเรียก Year 2000 แบบชวเลขเพื่อให้เขียน/พิมพ์คล่องและจดจำง่ายในยุคที่ผู้คนเริ่มนิยมใช้อีเมลและส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มืออย่างแพร่หลาย (มือถือในตำนาน Nokia 3310 กับสโลแกน ‘สนุกสุดฤทธิ์กับชีวิตชิทแชท’ เปิดตัวในปีนี้เช่นกัน ไม่ใช่มือถือยุค ’90s อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดแต่อย่างใด) แฟชั่นยังถูกขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมกระแสนิยมและซอฟต์พาวเวอร์รูปแบบภาพยนตร์ ดนตรี สื่อสิ่งพิมพ์ และรายการฮิตบนหน้าจอทีวี ยังไม่มี ‘โลกโซเชียล’ เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนสังคมเช่นในปัจจุบันนี้ ส่วนบริบททางแฟชั่นคือรอยต่อระหว่างช่วงค่อนปลายยุค ’90s – ต้น ’2000s แต่เหตุที่ปีนี้ถูกจับตาเป็นพิเศษนั้น เพราะพ่วงความเชื่อที่มาท้าทายความศรัทธาของมวลมนุษย์ว่า ‘โลกกำลังจะแตก!’ มีการรื้อเอาคำทำนายครั้งอดีตมาพาดหัวเป็นประเด็นข่าวใหญ่ และคาดการณ์ถึงระบบประมวลผลคอมพิวเตอร์ว่าจะกลับไปรีเซ็ทเอง ทำให้เกิดความปั่นป่วนในระบบธนาคารบ้าง ไปจนถึงขั้นสั่งเปิดระบบยิงขีปนาวุธกลายเป็นชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3

แต่การที่ผมรอดมาเขียนบทความฉบับนี้ และคุณกำลังอ่านอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์พิสูจน์แล้วว่า “โลกยังไม่แตก” และการไม่แตกของโลกเมื่อราว 20 ปีที่แล้วคือช่วงเวลาที่มวลมนุษยชาติแห่กันเฉลิมฉลองแก่ ‘คุณค่าของการมีชีวิต’ (ซึ่งสอดคล้องกับอีกแนวคิดใน The Glory สุดๆ) เมื่อประจวบกับอิทธิพลจากวัฒนธรรมกระแสนิยมแบบฉบับอเมริกัน (อเมริกันป็อปคัลเจอร์) ที่เราได้เห็นการนุ่งน้อยห่มน้อยของไอดอลคนดังผ่านมิวสิกวีดีโอบนหน้าจอรายการเพลงฮิตอาทิ MTV และ Channel V ด้วยแล้ว การแต่งตัวน้อยชิ้นด้วยเสื้อผ้าจากแบรนด์ดังจึงกลายเป็นหนึ่งในกระแสนิยมไปทั่วโลก แน่นอนว่ารวมถึงเกาหลีใต้ ประเทศที่สนิทชิดเชื้อและได้รับแนวคิดบางอย่างจากอเมริกามานานนม แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ใช่เพียงแค่สาวๆ หรอกครับ เพราะหากลองสลับตำแหน่งให้คนแต่งตัวน้อยชิ้นและดูเซ็กซี่ด้วยเสื้อผ้าแบรนด์ดังเป็น ‘ฝ่ายชาย’ ก็ยังดูสอดคล้องกับค่านิยมตามยุคสมัยไม่ว่าจะเป็นในช่วงเวลาราว 2 ทศวรรษที่แล้ว หรือเป็นช่วงปัจจุบันนี้ เพราะแฟชั่นใส่น้อยชิ้น เสื้อยืด กางเกงยีนส์ แต่เซ็กซี่ด้วยการเลือกเสื้อโชว์โลโก้ตัวเล็กเข้ารูป มีความยาวระดับเอว หรืออาจเต่อนิดๆ ชนิดที่ยกแขนแล้วเห็นหน้าท้องและขนรำไร คู่กับยีนส์เอวต่ำ (มาก!) อย่างที่หนุ่มๆ หลายคนนิยมหรืออยากลองใส่เสื้อครอปในช่วงเวลานี้ ก็เคยได้รับความนิยมมาแล้วเช่นกัน ดังนั้นถ้าเราพูดถึงกระแสแฟชั่นฉบับ Y2K จริงๆ แล้วล่ะก็ จะเป็นหญิงหรือชายก็ต้องมีเอี่ยวความเซ็กซี่ไปในตัว

ดังนั้นถ้าเรื่อง The Glory มาในเวอร์ชั่นโลกคู่ขนาน ให้ประโยคที่ถูกแชร์ว่อนสลับกันพูดระหว่างชายหญิง ผมเชื่อว่าเมื่อดูจากกล้ามหน้าท้องของตัวละคร Ha Do-Yeong ที่แน่นชวนให้สัมผัสแล้ว การที่เขาจะกลายมาเป็นฝ่าย ‘แต่งตัวน้อยชิ้นที่สุด แต่เป็นดิออร์ทั้งหมด’ ก็คงทำให้ฝ่ายหญิงประทับใจเช่นเดียวกัน เพราะการแต่งตัวน้อยชิ้นโชว์ส่วนสัดชวนมอง และดูดีตามค่านิยมของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม สามารถสร้างความประทับใจและดึงดูดฝ่ายตรงข้ามได้เสมอ ยิ่งเมื่อเป็นเสื้อผ้าน้อยชิ้นจากซูเปอร์แบรนด์ มีโลโก้ช่วยทำหน้าที่ status symbol บ่งบอกสถานะ ทั้งสถานะในเรื่องของการเงิน และ (ทำให้พอคาดเดาว่าน่าจะ) การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานด้วยแล้ว ใครๆ ที่อาศัยอยู่บนโลกทุนนิยมใบนี้ก็คงประทับใจไม่ต่างกัน … ดูซีรีย์จบแล้วเริ่มอิน คืนนี้ผมขอแต่งน้อยชิ้นด้วยข้าวของของ Dior กับเขาบ้างดีกว่า กะว่าจะใส่แค่นาฬิกาเรือนเดียวเท่านั้นพอ หวังว่าจะมีคนเห็นแล้วประทับใจอย่างใน The Glory เพราะคิดว่าน่าจะเป็นการใส่ Dior ที่น้อยชิ้นไม่แพ้ Park Yeon-Jin: )

Similar Articles

More