ซีซัน 2 ของซีรีส์สุดฮิต The Glory กำลังเป็นกระแสจนครองอันดับ 1 บน Netflix ทั่วโลก! การนำเสนอภาพข้าวของเครื่องใช้ทันสมัยและสินค้าแบรนด์เนมราคาแพงหูฉี่ ทำให้คนบางกลุ่มกังวลว่าจะทำให้ผู้ชมที่ยับยั้งชั่งใจไม่ได้เกิดความอยากได้อยากมีและท้ายที่สุดนำไปสู่ความฟุ้งเฟ้อหรือไม่? ชาวเน็ตบางส่วนยังเรียกพฤติกรรมของตัวละครด้วยศัพท์ที่เทียบกับภาษาไทยได้ว่าพวก ‘บ้าวัตถุ’ และ ‘ติดแบรนด์’ คำที่อาจทำให้คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกเจ็บจี๊ดขึ้นมาทันทีที่ได้ยิน แต่สำหรับบางคนนั้นกลับรู้สึกเฉยๆ
เพราะหากนำคำและพฤติกรรมเหล่านี้มาขยาย ก็คือการคลั่งไคล้หรือหลงใหลสินค้าแบรนด์ดัง ซึ่งที่มาของความศรัทธาและภักดีในตราสินค้า (Brand Royalty) อาจเกิดจากความประทับใจคุณภาพ ดีไซน์ต้องตาโดนใจ หรือชอบเพราะภาพลักษณ์ที่ดูหรูหราบ่งบอกรสนิยมของผู้ใช้ อย่างในซีรีส์เรื่องนี้ ตัวละครนางเอก ‘มุนดงอึน’ (รับบทโดย ซงฮเยคโย) ใช้เสื้อผ้าแบรนด์ดัง และกระเป๋าจากซูเปอร์แบรนด์ เพียงแต่คาแรคเตอร์มาดสุขุมและหน้าที่การงานของเธอสามารถเบนความรู้สึกจากการถูกมองว่าซื้อเพราะต้องการอวดร่ำอวดรวยไปเป็น ‘ฉลาดเลือก’ และลงทุนกับความคุ้มค่า ในขณะที่ทัศนคติและบุคคลิกของตัวละครร้ายรายหลัก ‘พัคยอนจิน’ (รับบทโดย ลิมจียอน) ทำให้การใช้สินค้าแบรนด์ดังสร้างความรู้สึกตรงกันข้าม นิยามของคำเหล่านี้จะส่งผลต่อความรู้สึกในด้านลบหรือบวกจึงขึ้นอยู่กับทัศนคติและมุมมองของผู้ใช้ รวมทั้งการใส่ใจและให้ค่ามากน้อยแค่ไหน
จากประเด็นค่านิยมการใช้สินค้าซูเปอร์แบรนด์ของหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ยุคใหม่ที่สะท้อนผ่านซีรีส์ดังหลายเรื่อง ทำให้ผมนึกถึงกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘Yuppie’ ขึ้นมาทันที …ทศวรรษที่ 1980 โลกมีคำฮิตใช้เรียกคนสมัยใหม่ที่เป็นพวกกึ่งวัตถุนิยมและติดการใช้สินค้าแบรนด์ดังๆว่า ‘Yuppie’ (Young Urban Professional) คำคำนี้เกิดขึ้นช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 1984 และถูกนำมาใช้แพร่หลายในเวลาต่อมา โดยคำว่า ‘ยัปปี้’ เปรียบได้กับผลผลิตหรืออีกเจเนอเรชันของกลุ่มคนยุคเบบี้บูมเมอร์ (ปัจจุบันคือผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ) ที่ถูกเรียกว่า ‘BoBo’ เป็นการนำคำภาษาฝรั่งเศสสองคำมารวมกัน ‘Bourgeoisie’ ที่แปลว่า ‘ชนชั้นกระฎุมพี’ หรือชนชั้นกลางที่ทำงานจนประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง รวมไปถึงชนชั้นนายทุนยุคใหม่ที่เป็นเจ้าของกิจการ เป็นนายจ้าง เป็นผู้ผลิตปัจจัยต่างๆ ที่ขับเคลื่อนสังคม
และ ‘Bohémien’ – โบฮีเมียน กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตแหวกแนว ‘ไม่ต้องการเหมือนใคร’ รักความท้าทาย แสวงหาความสุขให้ชีวิต นิยมเสพดนตรีและงานศิลปะ โบโบจึงกลายเป็นคำเก๋ไก๋ที่เคยใช้เรียกสังคมยุคใหม่ (ในที่นี้คือยุค ’60s) อย่างสนุกปาก คนนิยมใช้คำนี้ก่อนที่หนังสือขายดีในอเมริกา Bobos in Paradise, The new upper class and how they got there โดย David Brooks จะวางแผงเสียอีก ‘โบโบ’ กลายเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ดีใหม่ซึ่งพวกเขาก็ภูมิใจกับสถานะนี้เอามากๆ เพราะแม้ไม่ได้เกิดมาร่ำรวยหรือเกิดมาในตระกูลเก่าแก่แต่ก็ได้รับการยอมรับด้วยความสามารถของตัวเอง
David Brooks นักเขียนและนักวิจารณ์คนดังเขียนไว้ในหนังสือขายดี Bobos in Paradise ว่า ‘โบโบ’ มักไม่ปลื้มพวกผู้ดีเก่า เพราะพวกเขาไม่ได้เกิดมามีชาติตระกูลหรือมีเงินทองมากมายเช่นคนเหล่านั้น มีแต่ความรู้ความสามารถที่จะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ซึ่งก็ไม่ต่างจาก ‘ยัปปี้’ ที่เปรียบได้กับกลุ่มโบโบแห่งโลกยุคใหม่ที่เชื่อว่า ‘การศึกษา’ จะทำให้ก้าวถึงฝั่งฝันได้เร็วยิ่งขึ้น (ไม่ต่างจากตัวละครมุนดงอึน ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการศึกษา) การได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงในโลกยุคโลกาภิวัตน์คือสิ่งที่พึงปรารถนา เพราะไม่ว่าประชาคมโลกจะอยู่ในพื้นที่แห่งใดก็สามารถเชื่อมต่อ รับรู้และแลกเปลี่ยนแนวคิดที่มีร่วมกันผ่านระบบคมนาคมขนส่งและเทคโนโลยีสารสนเทศ สะท้อนภาพของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับยัปปี้ การมีไหวพริบดี ความรู้ความสามารถ และใบปริญญา เปรียบได้กับบัตรผ่านทางสู่อนาคตอันสดใส ยศและตำแหน่งหน้าที่การงานคือรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่ควรได้รับ พวกยัปปี้จะไม่รู้สึกอายที่ต้องทำมาหากิน มิหนำซ้ำยังกลัวการไม่มีงานทำ เพราะการไม่มีงานก็เท่ากับ ‘ไม่มีเงิน’ แล้วเมื่อไม่มีเงินชีวิตก็เหมือนจะขาดความสุขอันสร้างได้ด้วยปัจจัยต่างๆ จึงมีการเปรียบกลุ่มยัปปี้ (ที่ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่) ว่าเป็น ‘ชนชั้นวัตถุนิยม’ รักความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ห้อมล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนกับคำนิยามที่ถูกยัดเยียดให้แต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังมองว่าตนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
ภาพชายสวมสูทลายพินสไตรป์ บนมือมีเทรนช์โค้ทลายตารางสุดคลาสสิกของ Burberry พาดอยู่ สวมนาฬิกาแบรนด์หรูยี่ห้อ Rolex ใช้กระเป๋าบรีฟเคสของ Gucci ฟินิชชิ่งลุคด้วยรองเท้าหนังเงาวับ ยืนคู่กับสาววัยทำงานในชุดสูทแบรนด์ Ralph Lauren ใส่หูฟังรุ่นล่าของ Sony Walkman บนข้อมือมีนาฬิการุ่น Tank ของแบรนด์หรู Cartier สะพายกระเป๋าหนังใบใหม่ของ Coach และเพิ่มความเทรนด์ดี้ด้วยรองเท้าสนีกเกอร์รันนิ่งที่ปรากฏบนแฮนด์บุ๊คเล่มดัง The Yuppie Handbook ปี 1984 หรือละครชุดทางโทรทัศน์ช่วงปลายยุค ’90s ถึงต้น 2000s เรื่อง Sex and The City ที่ว่าด้วยเรื่องของกลุ่มเพื่อนสาวที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยสะท้อนภาพ ‘ความสำเร็จ’ ผ่านเครื่องแต่งกาย แฟชั่นไอเท็ม ของใช้ทันสมัยและเครื่องประดับหรูหราขีดสุด คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่านอกจากความรู้ความสามารถของบรรดายัปปี้แล้ว ‘ภาพลักษณ์’ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะไม่เพียงบ่งบอกตัวตน แต่ยังทำให้ผู้คนรอบข้างรู้สึกประทับใจ ซึ่งเรื่องนี้ก็สะท้อนผ่านประโยคเด็ด “แต่งน้อยชิ้นที่สุด แต่เป็น Dior ทั้งหมด” ในซีรีส์ The Glory ซีซั่นแรกที่กลายเป็นไวรัล เสื้อผ้าและของใช้ต่างๆคือสิ่งบ่งบอกถึงการประสบความสำเร็จ ยัปปี้มักขวนขวายหาสิ่งที่ดีที่สุด ทันสมัยที่สุด โอ้อวดได้ที่สุดเท่าที่เงินในกระเป๋าจะเอื้อให้กับชีวิต โดยสิ่งที่ยัปปี้เจเนอเรชั่นก่อนหน้าทำนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากเหล่ามิลเลนเนียลในปัจจุบัน จึงมีการนิยามคนยุคใหม่ที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้ว่าเป็น ‘The New Yuppies’
มีการใช้คำที่ดูดี ‘แพชชั่น’ เป็นตัวแทนของทัศนคติ และเป้าหมายในการใช้ชีวิต ยัปปี้ยุคใหม่ยังใส่ใจกับเรื่องของการศึกษา หน้าที่การงาน และรายรับ (ซึ่งเรื่องหลังนี้สำคัญมาก!) ไม่เพียงเท่านั้นคนกลุ่มนี้ยังรักความเป็นอิสระ การมีงานทำและมีเงินเดือนดี ถือเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา แต่จะดียิ่งไปกว่าถ้างานที่ทำและนำมาซึ่งรายได้นั้นตรงกับความหลงใหลที่มี ดังนั้นในยุคที่สังคมถูกขับเคลื่อนด้วยโลกคู่ขนานอย่างโซเชียลมีเดีย มีหลายช่องทางในการหารายได้บนโลกออนไลน์ ทั้ง Facebook, Instagram, Youtube และ TikTok จึงยิ่งเป็นการเอื้อให้ความฝันของยัปปี้รุ่นใหม่เป็นจริงได้ไม่ยาก
โลกแฟชั่นและเทคโนโลยีก็ดูเหมือนจะอ้าแขนรับและสนับสนุนคนกลุ่มนี้ เพราะเราต้องไม่ลืมว่ามีนักออกแบบและแบรนด์ดังมากมายทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ผู้คุมบังเหียนเป็นกลุ่มโบโบและยัปปี้ ภาพการประสบความสำเร็จในชีวิตโดยสะท้อนผ่านมูลค่าของสินค้าที่ได้ครอบครองซึ่งปรากฏอยู่บนแฮนด์บุ๊คในยุค ’80s จึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในพ.ศ. นี้ และเป็นเหมือนวงล้อวัฏจักร เพราะยัปปี้ยุคใหม่ก็ยังคงให้ความสนใจและนิยมชมชอบของใช้ทันสมัยทำให้ชีวิตสะดวกสบายและสินค้าแบรนด์เนมราคาสูง ไม่ต่างจากกลุ่มยัปปี้รุ่นบุกเบิกเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว
“ผมก็เป็นคนกลุ่มยัปปี้ที่ต้องไล่ตามความฝัน และสร้างแบรนด์จนกลายเป็นที่รู้จักได้ด้วยตัวเอง” – คำกล่าวของ Mun Soo Kwon นักออกแบบชาวเกาหลีใต้ ที่จบการศึกษาด้านแฟชั่นดีไซน์จากสถาบันชั้นนำของอเมริกา เคยเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของนักออกแบบดัง Thom Browne และเคยนำภาพ The Yuppie Handbook: The State-of-the- Art Manual for Young Urban Professionals มาพิมพ์เป็นลวดลายบนเสื้อยืดเพื่อฉลอง 35 ปีแฮนด์บุ๊คเล่มดังและสดุดีแก่ยัปปี้ผู้สามารถพิสูจน์ตัวตนจนกลายเป็นที่ยอมรับได้ด้วยความสามารถของตน คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนและดูจะโดนใจแฟชั่นนิสต้าแดนโสมอยู่ไม่น้อย
เพราะอย่างที่ทราบว่าถ้าไม่ได้เกิดมาในตระกูลของ ‘แชบอล’ (มหาเศรษฐีของเกาหลีใต้) หนุ่มสาวชาวเกาหลียุคใหม่ย่อมต้องใช้ความรู้ความสามารถที่มีเป็นเครื่องพิสูจน์และถีบคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนสถานการณ์จะบีบบังคับ แต่นี่ล่ะคือวิถีแห่งยิปปี้ พวกเขาภูมิใจในความสามารถและได้มีข้าวของเครื่องใช้ทันสมัยและหรูหราได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง … “ติดแบรนด์แล้วไง!?!” จึงน่าจะเป็นคำถามที่พวกเขาถามกลับผู้ที่สงสัยว่า ทำไมต้องใช้แต่ของใช้ทันสมัยและราคาแพงหูฉี่ ก็ในเมื่อพวกเขาอัจฉริยะมากพอที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นมาถึงจุดที่เอื้อมถึงข้าวของพวกนี้ คงไม่สนใจคำพูดเย้ยหยันแฝงความรู้สึกอิจฉาจนเกินงามของกลุ่มคนที่ไม่ได้สนใจถึงที่มาว่ากว่าที่พวกเขาจะมีวันนี้ กลายมาเป็นยัปปี้ยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ต้องฝ่าฟัน อดทน และต่อสู้มามากเพียงไร