“ฉันจะช่วยโลกไปทำไมในเมื่อมนุษย์ทำสงครามกันเอง?” คำถามจากตัวละครเหนือมนุษย์ สะท้อนภาพวิกฤตสงครามที่ยืดเยื้อ

ทั้งวาระครบรอบ 1 ปี ‘สงคราม ยูเครน-รัสเซีย’ และนิทรรศการล่าสุด ‘1997 Fashion Big Bang‘ ในกรุงปารีสที่ผมนำเสนอไว้ในบทความก่อนหน้า ทำให้นึกถึงคำถามสำคัญ “ฉันจะช่วยโลกนี้ไปทำไมในเมื่อมนุษย์หันมาทำสงครามและฆ่าฟันกันเอง?” เอ่ยโดย LeeLoo ตัวละครเหนือมนุษย์จากภาพยนตร์ไซไฟระดับตำนาน The Fifth Element ที่เพิ่งฉลอง 25 ปีไปเมื่อปีที่ผ่านมา คำถามที่ว่าสะท้อนอารมณ์หดหู่จากวิกฤตสงครามยืดเยื้อยาวนานข้ามปี ถ้าหากผมเป็นเธอก็คงจะตั้งคำถามไม่ต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามนั้น ท้ายที่สุดเธอตัดสินใจช่วยโลกใบนี้ไว้ นั่นแสดงให้เห็นว่าเรายังพอมีหวัง การเชื่อมั่นในพลังแห่งสันติภาพและ ‘ความรัก’ คงจะทำให้วิกฤตของ 2 ประเทศที่มีผลกระทบไปทั่วโลกคลี่คลายไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นในเร็ววัน

คอสตูมจาก The Fifth Element หรือชื่อไทย ‘รหัส 5 คนอึดทะลุโลก’ ภาพยนตร์ที่คอแฟชั่นหลงใหล กลายเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการใหญ่ประจำปีของ The Palais Galliera เพราะถือเป็นหนังไอคอนิกของยุค ’90s ที่สร้างแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมกระแสนิยมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เอาเป็นว่าในทุกเทศกาลสำคัญที่ผู้คนนิยมแต่งชุดแฟนซีไปร่วมงานตลอด 25 ปีนี้ เราจะเห็นการแต่งตัวด้วยคอสตูมที่ถอดแบบมาจากตัวละครดีเจ Ruby Rhod สะท้อนเรื่องความลื่นไหลทางเพศ และ LeeLoo กับชุด bondage สีขาวสุดเซ็กซี่ ในเวลานั้นเป็นกระแสชนิดที่แม้แต่คอสตูมสำหรับมิวสิกวิดีโอ ‘อย่ามองตรงนั้น’ ของคริสติน่า อากีลาร์ เจ้าของฉายา Queen of Dance เมืองไทยยังมีดีไซน์ใกล้เคียงกับชุดของเธอ

แม้ The Fifth Element เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้เน้นเนื้อหาเรื่องแฟชั่นโดยตรง แต่ก็คงไม่มีสาวกแฟชั่นคนใดไม่สนใจเมื่อปรากฏชื่อ Jean Paul Gaultier นักออกแบบที่กระแสพีกถึงขีดสุดในยุค ’80s – ’90s รับหน้าที่คอสตูมดีไซเนอร์ ออกแบบเครื่องแต่งกายนับพันชิ้น แถมยังได้นางแบบแห่งยุค Milla Jovovich มาเป็นนักแสดงนำ ร่วมกับบรรดานักแสดงประกอบอีกหลายรายที่เป็นนางแบบเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Ève Salvail หนึ่งในนางแบบคู่บุญของฌอง-ปอล เธอผู้มาพร้อมผมสกินเฮดโชว์รอยสักมังกรบนศีรษะเด่นชัด แย่งซีนหลายคนได้อยู่หมัด และยุ้ย-รจนา เพชรกัณหานางแบบชาวไทยที่ไปโด่งดังบนเวทีแฟชั่นระดับโลก 

ภาพยนตร์ซึ่งเปรียบได้กับ ‘ความภาคภูมิใจของชาวฝรั่งเศส’ ถูกพูดถึงและเป็นกระแสไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย รายการภาพยนตร์และรายการวัยรุ่นชื่อดังของยุค ’90s อย่าง Teen Talk และ E for Teen ต่างนำเสนอเรื่องราวคอสตูมตื่นตาตื่นใจ ศูนย์การค้าสุดหรู Gaysorn Plaza (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเกษรวิลเลจ) เคยมีบูติก Galerie Gaultier จำหน่ายสินค้าเกือบทุกไลน์ของฌอง-ปอล โกลติเยร์ จับมือกับร้านอาหารระดับโลก Planet Hollywood จัดงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ ควบคู่กับแฟชั่นโชว์ของแบรนด์

เหตุที่ผมเปรียบภาพยนตร์ระดับตำนานเรื่องนี้คือ ‘ความภาคภูมิใจของฝรั่งเศส’ เพราะใช้ทีมงานจำนานมากที่เป็นชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นปณิธานอันแน่วแน่ของ Luc Besson ที่ตั้งใจจะแปลงภาพร่างแห่งจินตนาการซึ่งเริ่มต้นเขียนขึ้นตั้งแต่วัยไฮสคูลให้มาโลดแล่นบนจอเงิน ใช้ศักยภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมบันเทิงฝรั่งเศสให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ผลลัพธ์จากการโคจรมาพบกันของเหล่า ‘คนสร้างสรรค์’ แห่งเมืองน้ำหอม สามารถทำให้ The Fifth Element ซึ่งเป็นหนังนอกอเมริกาที่ใช้ทุนสร้างสูงสุดในขณะนั้นคือ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถทำเงินได้ทั่วโลกไปมากถึง 263 ล้านดอลลาร์สหรัฐ! ครองตำแหน่งหนังนอกอเมริกาที่ทำเงินสูงสุดต่อเนื่องยาวนานถึง 14 ปี แต่เหนืออื่นใด สิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าคือกลายเป็นหนังขึ้นหิ้ง มีเอกลักษณ์ สไตล์เฉพาะตัว และสร้างแรงบันดาลใจให้คนสร้างสรรค์รุ่นหลังอีกมากมาย

โดยแนวคิดสุดล้ำของลุคและฌอง-ปอลสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ในโลกแฟชั่นเวลา 25 ปีให้หลัง นั่นคือว่าด้วยเรื่องของวินเทจและแอนทีกสุดล้ำค่า จะกลายมาเป็นสิ่งที่เหล่าเซเลบริตี้คนดังต่างอยากครอบครอง ประเด็นที่สอดแทรกไว้ในการออกแบบคอสตูมจึงว่าด้วยเรื่องความนิยมในแบรนด์เก่าแก่ที่จะคงอยู่ตลอดไป ของวินเทจชิ้นปังจะน่าพิสมัยสำหรับเซเลบในโลกอนาคต ดังที่สื่อสารผ่านพรอปเป็นเครื่องแต่งตาสุดล้ำจาก Chanel ที่จะแต่งแต้มเปลือกตาให้ออกมางดงามได้ภายในเสี้ยววินาที หีบเดินทางยุคดึกดำบรรพ์จาก Louis Vuitton ที่ตัวละครดีว่าอันดับ 1 ไปควานหามาใช้ ซึ่งดูๆ ไปแล้วให้อารมณ์คล้ายกับการได้เห็น ‘ผู้โดยสารชั้น 1′ ถือหีบแบรนด์หรูขึ้นเรือโดยสาร Titanic แม้แต่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชั้นนำสำหรับช่วงเวลาเร่งด่วนอย่าง McDonald’s ก็จะยังคงเป็นที่ต้องการของมนุษย์ในอีกหลายสิบเจเนอเรชั่นต่อจากนี้ ทั้งหมดจะยังคงได้รับความนิยมจนกระทั่งปี ค.ศ. 2263 ตามท้องเรื่อง

ทั้งลุคและฌอง-ปอลตั้งใจจะสื่อสารว่า แบรนด์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับ 100 ปีจะคงอยู่ในอีก 2 ศตวรรษข้างหน้า คุณค่าและประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ที่แบรนด์เหล่านั้นสร้างไว้จะไม่มีทางเลือนราง การได้รับความนิยมอย่างยาวนานพิสูจน์ในเรื่องคุณภาพ ดังนั้นอย่าแปลกใจหากแบรนด์ที่ว่ามาจะยังอยู่และได้รับความนิยมในอนาคต … ไม่เพียงเท่านั้น ฌอง-ปอล โกลติเยร์ ที่เพิ่งเผยโฉมโอตกูตูร์แรกในเดือนมกราคมปี 1997 ยังออกแบบคอสตูมโดยอิงผลงานจากคอลเล็กชั่นของตัวเอง ราวกับมั่นใจว่าสารพัดอาภรณ์ชั้นสูงชิ้นแรกๆ ที่เขารังสรรค์จะต้องทรงคุณค่าและถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ (ซึ่งวันนี้คอสตูมที่ว่าก็กำลังโชว์อยู่ในนิทรรศการจริงๆ) ไม่ก็ราคาแพงหูฉี่ มีแต่เหล่าเซเลบริตี้เงินหนาเท่านั้นที่จะสามารถสรรหามาครอบครองได้ 

แนวคิดนี้ยังถูกนำมาปรับใช้กับคอสตูมที่สะท้อนประเด็น ‘ความลื่นไหลทางเพศ’ สำหรับอีกหนึ่งตัวละครหลัก Ruby Rhod กับสารพัดชุดดีไซน์แปลกตา โดยอิงจากกูตูร์สำหรับผู้ชายที่แทรกอยู่ในคอลเล็กชั่นแรกของไลน์ชั้นสูงนาม Gaultier Paris อย่างชุดตกแต่งแผงกุหลาบรอบลำคอคล้ายกับชุดกูตูร์ที่ Tanel Bedrossiantz นายแบบคู่บุญสวมขึ้นรันเวย์ฤดูร้อน 1997 หรือเครื่องประดับสำหรับตัวละคร Diva ผู้กลายเป็นตำนานด้วยเสียงทรงพลังในบทเพลง Diva Dance ได้อิงจากเครื่องประดับคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 1998 ของแบรนด์ Jean-Paul Gaultier แต่ที่เราไม่พูดถึงไม่ได้คือชุดสไตล์ bondage สุดเซ็กซี่ของลีลู ตัวละครหลักที่รับบทโดย Milla Jovovich

ในวาระครบรอบ 25 ปีของ The Fifth Element  มิลลา – นักแสดงและนางแบบชั้นนำวัย 46 ปี ที่เกิดในประเทศยูเครน เป็นลูกสาวของนักแสดงชาวรัสเซีย และใช้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ในกรุงมอสโก (ซึ่งเธอก็คงเลือกไม่ถูกว่าในสงครามครั้งนี้จะเข้าข้างประเทศใด จึงขออยู่ฝ่าย ‘สันติภาพ’) ได้ให้สัมภาษณ์กับ Vogue เกี่ยวกับที่มาที่ไปว่ากว่าจะเป็นคาแร็กเตอร์ไอคอนิกที่ถูกแต่งตัวเลียนแบบในเกือบทุกปาร์ตี้แฟนตาซีตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษนั้นเป็นเช่นไร เริ่มตั้งแต่การพบผู้กำกับคนดังชาวฝรั่งเศสที่โรงแรม Chateau Marmont ในนครลอสแอนเจลิส ขั้นตอนทดสอบหน้ากล้อง จนท้ายที่สุดได้รับบทสำคัญ และได้ร่วมแชร์ไอเดียฉากเปิดตัว LeeLoo ตัวละครที่เธอให้ความเห็นว่า “ฉันรู้ว่าตัวละครนี้ไม่เหมือนใคร และเธอก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน 

“เราร่วมกันคิดว่าเธอควรจะสวมอะไรในฉากให้กำเนิดลีลู ผู้เปลือยเปล่าในแคปซูลปลูกถ่ายดีเอ็นเอ จนท้ายที่สุดก็ได้ผุดไอเดียเรื่องชุดจากผ้าพันแผลอย่างที่เห็นในโรงพยาบาล (ฉากกำเนิดนี้) เธอต้องแต่งตัวให้น้อยที่สุด แต่เพื่อไม่ให้อนาจารจนเกินงาม จำเป็นต้องปกปิดทุกจุดสำคัญ เมื่อมีคนบาดเจ็บพวกเขาจะใช้ผ้าพันแผลปิดเฉพาะส่วนที่จำเป็น ลุคและฌอง-ปอลพูดคุยเรื่องผ้าพันแผล แล้วฌอง-ปอลก็…เจ๋งเลย ฉันซื้อไอเดีย เอาแบบนี้!” … และแล้วชุดสไตล์ bondage เป็นแถบรัดสีขาว ‘ดูโป๊แต่ไม่เปลือย’ เพราะปิดทุกจุดสำคัญได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งจะว่าไปแนวคิดเรื่องผ้าพันแผลยังสอดคล้องกับผลงานคอลเล็กชั่นฤดูร้อน 1998 ของ Jean-Paul Gaultier ที่โชว์ในเดือนตุลาคม ปี 1997 เพราะเขาได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดสีน้ำมันสุดโด่งดัง ชื่อ ‘The Broken Column‘ ของศิลปินเอก Frida Kahlo ที่เธอวาดขึ้นในปี 1944 ไม่นานหลังเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังอันเป็นผลจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยในภาพมีเธอสวมแถบรัดสีขาวคล้ายกับตัวละครลีลู แต่ต่างกันตรงที่ภาพวาดของคาห์โลติดเรตกว่าเป็นไหนๆ

“ลีลูเป็นตัวละครที่ทั้งสดใสและให้พลังบวก เธอจะดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวผู้คนออกมา และเธอเองก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในใจของพวกเราทุกคน … เธอคือความรัก เธอคือองค์ประกอบที่ 5 ที่จะสามารถช่วยโลกไว้ได้” – มิลลากล่าวทิ้งท้ายถึงบทที่ได้รับขณะวัย 22 ปี และยังเสริมด้วยว่าตัวละครสมมตินี้มีอิทธิพลต่อชีวิตนับตั้งแต่นั้นมา ลีลูคือตัวแทนของความศรัทธาและความปรารถนานิรันดร์ที่จะทำแต่ความดี ทุกวันนี้มิลลาจะให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆ และทุกโมเมนต์ที่เข้ามาในชีวิต ไม่ต่างจากฉากให้กำเนิดที่เมื่อเกิดมาแล้วเธอเฝ้าดู พยายามเรียนรู้ และซึบซับทุกๆ เรื่องราวของโลก ก่อนจะกรั่นกรองจนตกผลึกทางความคิดด้วยตัวเอง … 

ก่อนจะลงมือพิมพ์บทความเรื่องนี้ ผมเปิดภาพยนตร์เรื่องโปรดชมอีกครั้ง ซึ่งจะว่าไปเป็นรอบที่เท่าไรแล้วก็จำไม่ได้ และเมื่อดูจบก็ได้แต่เพียงหวังเหมือนเช่นทุกๆ ครั้ง ถ้าโลกใบนี้มีสิ่งมีชีวิตอย่างลีลูมากขึ้นอีกสักหน่อย เราคงไม่เห็นสงครามและความรุนแรงจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะสิ่งมีชีวิตที่ว่านั้นเชื่อมั่นในสันติภาพ และความรัก ซึ่งเปรียบได้กับธาตุลำดับที่ 5… ‘ความรัก’ ที่จะดำรงและรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์และโลกใบนี้ไว้ตราบนานเท่านาน

Similar Articles

More