“นอกจากรักคุณแล้ว ผมก็ไม่เก่งอะไรอีกเลย” – ผมเชื่อว่าคอหนังโดยเฉพาะกับผู้ที่นิยมภาพยนตร์รักแดนโสมคงประทับใจประโยคโรแมนติกสุด ‘คลาสสิค’ นี้เป็นอย่างดี แต่คุณอาจจะตกใจว่าเวลาผ่านไปไวจนเผลอแป๊บเดียว ประโยคที่ดูหวานจนเลี่ยนในชีวิตจริง ผู้หญิงที่ฟังอาจต้องเล่นมุกแก้เขิน ทำท่าอ้วกพร้อมเสียง “แหวะ!” แต่ดันกลมกลืนกับคาแรคเตอร์ของตัวละครและบทจนทำให้ผู้ชมตัวบิดและจิกหมอนนั้นถูกเอ่ยมายาวนานจนครบ 20 ปีในวันนี้ (ของประเทศเกาหลีใต้ ส่วนของไทยเข้าฉายช่วงปลายปี 2003)
ซึ่งถ้าเป็นบางกรณีผมอาจจะอยากเล่นมุกติดแฮชแท็ก #ถ้าคุณทันนั่นคือคุณไม่เด็กแล้ว เนื่องจากคนเจเนอเรชั่นหนึ่งอาจไม่ทัน แต่คงไม่ใช่สำหรับ ‘The Classic‘ หรือชื่อไทย ‘คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายของชีวิต’ ภาพยนตร์ขึ้นหิ้ง ที่มาของประโยคหวานหยดย้อยที่กล่าวถึงตอนต้น เพราะเป็นหนังน้ำดีที่ถูกแนะนำจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งไทยเราก็เพิ่งฉายฉบับรีเมคไปเมื่อต้นปี 2020 และเวอร์ชั่นต้นฉบับก็เพิ่งลง Netflix ให้ได้ชมกันเมื่อปลายปี 2021 ที่ผ่านมา เอาเป็นว่าคอหนังทุกวัยคงเคยชมและรู้สึกอินเนื้อเรื่องแนวดราม่าโรแมนติกที่แสนคลาสสิคสมชื่อ
“ไม่ใช่แค่คนไทยหรอก แต่คนเกาหลีเองก็ชอบมากเช่นกัน” – ป็อป วรรธกุล นักเขียนด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์เล่าให้ฟังเกี่ยวกับความรู้สึกของคนเกาหลีที่มีต่อภาพยนตร์น้ำดีเรื่องนี้ “ตอนไปงาน Seoul Fashion Week เมื่อสิบกว่าปีก่อน ระหว่างพักก็ได้คุยกับออแกไนซ์เรื่องแฟชั่นและบันเทิงในเกาหลี เราบอกว่าชอบเรื่องนี้มาก แต่พอเอ่ยชื่อ The Classic เขาก็ทำหน้างงๆ กลับมา เราเองก็ลืมไปว่าตอนนั้นคนเกาหลีส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยทราบหรอกว่าหนังเกาหลีจะมีชื่อภาษาอังกฤษว่าอะไร เหมือนที่คนไทยรู้จักชื่อหนัง สตรีเหล็ก ลองของ แต่ถ้าเป็นชื่ออังกฤษสำหรับนำไปฉายต่างประเทศคืออะไรล่ะ ก็มีงงเหมือนกัน? (ฮ่าๆ)”
“อีกอย่างตอนนั้นคนเกาหลีส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าอุตสาหกรรมบันเทิงของเขาไปไกลระดับโลกแล้ว ยังคิดว่าคนไทยน่าจะยังชอบเสพเรื่องบันเทิงของญี่ปุ่น และฮ่องกง แต่เมื่อเราบอกว่าทั้ง Rain วง Wonder Girls ซีรีย์ Autumn in My Heart หนัง My Sassy Girl ได้รับความนิยมในไทย ก็กลายเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ให้ตั้งแต่ล่ามวัยรุ่น ยันผู้ใหญ่ที่เป็นคนเชิญไปร่วมงาน เราจึงเสิร์ชรูป เปิดซีนวิ่งฝ่าสายฝนกับเพลงเพราะๆ I to You, You To Me ของ Scenery of Riding Bicycle ให้เขาดูจึงถึงบางอ้อ แล้วก็พูดชื่อเกาหลีกลับมา (ฮ่าๆ) โดยยืนยันว่าคนเกาหลีก็ชอบมากเช่นกัน แม้ตอนนั้นหนังฉายให้ชมมา 5 – 6 ปีแล้ว แต่ยังมีภาพโปสเตอร์ติดโปรโมทในย่านดังๆ เพราะเป็นอีกหนังในดวงใจของทั้งคนเกาหลีและชาวต่างชาติ”
และเมื่อกล่าวถึงซีนสายฝน หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อซีน ‘ร่มวิเศษ’ ซึ่งผมเองก็ประทับใจมากเช่นกัน เราจึงถกกันต่อเรื่องเสน่ห์ของซีนดังจากภาพยนตร์ซึ่งเปรียบเป็นอีกต้นน้ำสายหลักที่ผลักให้กระแส K-Wave ไหลไปทั่วโลกตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา … ผู้กำกับ Kwak Jae-Yong เลือกใช้สัญญะอย่างง่ายและ ‘คลาสสิค’ สำหรับซีนสำคัญความยาว 3 นาที โดยเป็นสัญญะแบบสากลที่คนดูทั่วไปรับรู้ อย่างการวิ่งก้าวเท้าไปพร้อมกัน สื่อถึงการสอดประสานและความลงตัวของคู่รัก การใช้มือยกแจ็กเกตขึ้นบังสายฝนจนดูคล้ายการทำท่าซารางเฮโย (ท่ายกมือประกับกันให้ดูคล้ายรูปหัวใจ) ซึ่งท่าทางที่ว่านี้เคยปรากฏให้เห็นเป็นภาพจำมาแล้วในภาพยนตร์ดังของเกาหลีปี 1998 เรื่อง Christmas in August (แต่ตอนนั้นคนทั่วโลกยังไม่หันมาสนใจเรื่องบันเทิงแดนโสม) และการใช้สีเสื้อเชิงสัญลักษณ์ ‘ชมพูสำหรับตัวละครฝั่งหญิง และฟ้าสำหรับตัวละครฝั่งชาย’
โดยในกรณีของสีเสื้อที่ว่านี้สำหรับผมถือเป็นการใช้คอสตูมสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างแยบยลและลงตัวสำหรับการนำเสนอเรื่องพรหมลิขิตของคู่รักต่างยุค รุ่นคุณแม่และรุ่นคุณลูกที่คล้ายกันจนน่าประหลาดใจ สามารถนิยามได้ว่าเป็นช่วงเวลาของคู่รักรุ่นเด็กและผู้ใหญ่ เราจึงเห็นการใช้สีสันของเครื่องแต่งกายซึ่งเป็นค่านิยมตามวัฒนธรรมกระแสนิยมมาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 สำหรับซีนปฐมบทก่อร่างสร้างความรักของพระนางรุ่นลูก
และจากซีนนี้ผมขอแทรกเกร็ดความรู้เรื่องค่านิยมของสีเสื้อสำหรับเด็กที่ว่าสักเล็กน้อย … คุณผู้อ่านทราบไหมครับว่าเดิมทีนั้นสีชมพูต่างหากที่คุณพ่อคุณแม่นิยมเลือกให้เด็กชาย เพราะสีชมพูซึ่งคนยุคก่อนมองว่าคืออีกเฉดของสีแดง (ที่ดูละมุนกว่า) สื่อถึงเรื่องความกล้าหาญและความเข้มแข็ง ส่วนสีฟ้าที่ดูนุ่มนวลและอ่อนโยนนั้นเป็นที่นิยมสำหรับเด็กสาว เรื่องนี้ถูกบันทึกไว้ในบทความที่มีตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ชื่อ Pink + Blue สำหรับวารสาร The Infants Department แต่การสลับขั้วค่านิยมของสีสำหรับเด็กนั้นเพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง เมื่อ Mamie Eisenhower อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ (ปี 1953 – 1961) สวมชุดกระโปรงบานสีชมพูเข้าคู่ถุงมือยาวแบบโอเปร่าในวันรับตำแหน่งของสามี และใส่สีชมพูในโอกาสสำคัญๆ ลำดับถัดมา
เธอกลายเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์และจุดประกายแนวคิดให้นักธุรกิจและผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินค้าแฟชั่นทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ป้อนผลิตภัณฑ์สีชมพูสำหรับเด็กสาวออกสู่ท้องตลาด ค่านิยม สีชมพู = เด็กสาว สีฟ้า = เด็กชาย ยังสอดคล้องกับผลสำรวจทางจิตวิทยาของ The British Psychological Society ที่ลองนำสองสีที่ว่ามาให้เด็กๆ เลือก ปรากฏว่าเด็กสาวมีแนวโน้มชอบสีชมพูมากกว่าเด็กชายที่เมินเฉยต่อสีนี้ จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ว่าสีชมพูนั้นเหมาะกับเด็กสาวมากกว่าเด็กชาย แล้วเกาหลีใต้ที่สนิทชิดเชื้อกับอเมริกาและอีกหลายประเทศตะวันตกก็ได้รับค่านิยมนี้เช่นกัน และกลายมาเป็นการใช้สีเสื้อเชิงสัญลักษณ์สำหรับซีนร่มวิเศษสุดโด่งดัง
The Classic ภายใต้การกำกับและเขียนบทโดย Kwak Jae-Yong ผู้กำกับเจ้าของผลงานภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีเรื่องดังมากมาย อาทิ My Sassy Girl และ Windstruck ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างไปทั่วเอเชีย ทำรายรับในช่วงเวลานั้นไปได้มากถึง 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ! ทั้งยังถูกการันตีด้วยรางวัลจากงานสำคัญต่างๆ ทั้งในเกาหลีใต้และระดับนานาชาติ ถือเป็นอีกบทพิสูจน์ที่สะท้อนให้เห็นว่า ทำไมผลงานศิลปะบนแผ่นฟิล์มเรื่องนี้จึงคู่ควรกับสถานะ “ภาพยนตร์น้ำดี” และสามารถครองใจผู้ชมได้ทุกยุคสมัยไม่ว่าจะเป็นคนรุ่น Baby Boomer ที่ยังต้องเขียนจดหมายรักส่งหากัน Gen-X และ Y ที่เคยสนุกกับการรับส่งอีเมลและแชทผ่าน MSN หรือในวันนี้ที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมีเดียและกลุ่ม Gen-Z ที่มีทั้ง Facebook, Instagram และ Line ให้เลือกส่งสารแห่งความรู้สึกหากัน
ด้วยบทภาพยนตร์ชั้นยอดที่สามารถนำมาปรับให้ร่วมสมัยได้กับทุกยุคคือกุญแจแห่งความสำเร็จ และทำให้เข้าขั้น ‘คลาสสิค’ ตลอดกาล … The Classic อาจเป็น “ภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรกของใครหลายคน” แต่ผมเชื่อว่าคง “ไม่ใช่ภาพยนตร์เกาหลีเรื่องสุดท้ายของชีวิต” เพราะตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ได้ทำการ ‘ป้ายยา’ ให้คนทั่วโลกติดใจ และหลงรักภาพยนตร์แดนโสมที่มี The Classic เป็นหนึ่งในผู้กรุยทางจนถอนตัวไม่ขึ้นเป็นที่เรียบร้อย