Testosterone ฮอร์โมนตัวเอกกับหน้าที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อสำหรับผู้ชาย

Story: พญ.ชญานันท์ วงษ์แก้ว
Edit: ฆนากร เพชรตระกูล

ฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญต่อสมรรถภาพร่างกายและการมีสุขภาพดีอย่างสูงสุด (Optimal Health) เทสโทสเทอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนเพศชายตัวหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างกล้ามเนื้อ กระตุ้นการสร้างโปรตีน และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตโดยรวม นอกจากเทสโทสเทอโรนแล้ว ฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกายอีกตัวก็คือโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone หรือ GH) และอินซูลินไลค์โกรทแฟคเตอร์วัน (Insulin-Like Growth Factor 1 หรือ IGF-1) ก็มีส่วนสำคัญในการซ่อมแซมและกระตุ้นการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อเช่นกัน

นอกเหนือจากหน้าที่ในการสร้างกล้ามเนื้อแล้ว เทสโทสเทอโรนยังมีอิทธิพลต่อสุขภาพคุณผู้ชายในด้านต่างๆ เช่น ควบคุมความหนาแน่นของกระดูก ช่วยในเรื่องการทำงานของสมองด้านการรับรู้ (Cognitive Function) มีผลต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด เทสโทสเทอโรนยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาระดับพลังงาน ความต้องการทางเพศ และสุขภาพร่างกายที่ดีโดยรวม

เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างกล้ามเนื้อให้สูงสุด จึงจำเป็นต้องรักษาระดับฮอร์โมนให้เหมาะสม ดูแลเรื่องโภชนาการ Balanced Diet การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน ไขมันที่ดีต่อสุขภาพ วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหาร (Micronutrients) ส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้การนอนหลับอย่างเพียงพอและการออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะประเภท Weight Training  ยังสามารถกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติ คือ การลดความเครียดและหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เพราะสามารถช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) และช่วยป้องกันการสลายตัวของกล้ามเนื้อ

อะไรคือภาวะ Hypogonadism?

Hypogonadism คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนได้อย่างเพียงพอ ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับคนที่ต้องการสร้างมวลกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อร่างกายก่อให้เกิดอาการ กล้ามเนื้อลดลง เหนื่อยล้าง่ายกว่าปกติ ทนต่อความเครียดหรือควบคุมอารมณ์ได้ยากขึ้น แม้แต่ความต้องการทางเพศก็ลดลง การที่อายุมากขึ้นมีส่วนสำคัญทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงตามธรรมชาติ ทว่ายังมีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวกดคันเร่งมากมาย เช่น เครียดเรื้อรัง อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ และการมีไลฟ์สไตล์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เหล่านี้เป็นสาเหตุที่มาเร้าให้เกิดภาวะฮอร์โมนต่ำก่อนวัยอันควรได้ทั้งสิ้น

สำหรับผู้ที่มีอาการคล้ายคลึงกับภาวะฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยจากผลเลือดและอาการ สามารถรักษาได้ด้วยฮอร์โมนทดแทน (Testosterone Replacement Therapy หรือ TRT) ซึ่งจะช่วยให้ระดับฮอร์โมนของเราอยู่ในระดับปกติ บรรเทาอาการ และแก้ไขปัญหาได้ การรักษาจำเป็นต้องมีการวินิจฉัยและดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นและให้ผลลัพธ์สูงสุด

การใช้ TRT ในบางกรณีส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายเล็กน้อย เช่น สิว อารมณ์แปรปรวน โดยปัจจุบันพบว่ามีการใช้ TRT ในปริมาณเกินขนาดจะยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเพศชายตามธรรมชาติ และอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลอย่างรุนแรง ดังนั้นการรักษาจึงต้องมีการติดตามผลและปรับขนาดยาอย่างสม่ำเสมอภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

นอกเหนือจากการรักษาด้วยฮอร์โมนโดยตรงแล้ว การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมก็มีความสำคัญอย่างมาก เช่น การจัดการความเครียด และการมีไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพ จะช่วยคงระดับความสมดุลฮอร์โมนได้เป็นอย่างดี ส่วนในกรณีการตรวจสุขภาพประจำปี คุณหมอแนะนำว่าให้เพิ่มขั้นตอนการตรวจระดับฮอร์โมน เพราะหากมีการตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ได้รับคำแนะนำและการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้รูปลักษณ์ภายนอกที่เราพึงพอใจ และมีสมรรถภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ค่ะ


ขอบคุณบทความจาก
พญ.ชญานันท์ วงษ์แก้ว
แพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านศาสตร์ชะลอวัย
Holistique Wellness by iSKY (ชั้น 4 Central Embassy)

Similar Articles

More