Exclusive! เจาะลึกที่มา Swatch Art Journey โปรเจกต์ยิ่งใหญ่ฉลอง 40 ปี

ตลอดอายุ 40 ปีของ Swatch ที่ผูกพันกับโลกแห่งศิลปะมีชายผู้นี้อยู่เบื้องหลัง และเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดโปรเจกต์สุดพิเศษมากมาย … วันนี้แอลเมนจะพาไปพูดคุยกับ คาร์โล จอร์ดาเนตติ (Carlo Giordanetti) ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO of Swatch Art Peace Hotel ถึงต้นกำเนิดของจุดเชื่อมระหว่างงานศิลป์และเรือนเวลาเปี่ยมคุณภาพที่ผู้คนทั่วโลกหลงรัก

Carlo Giordanetti, CEO of Swatch Art Peace Hotel ให้สัมภาษณ์เอกซ์คลูซีพกับทางแอลเมน

คุณร่วมงานกับ Swatch มานานแค่ไหน?

นานมากแล้วครับ ผมร่วมงานกับ Swatch มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 1987 หลังแบรนด์ก่อตั้งมาได้ไม่กี่ปี (Swatch ก่อตั้งในปี 1983) เวลานั้นผมอยู่ในอิตาลี จึงเข้าทำงานกับ Swatch Italy และรับผิดชอบในส่วนการออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็ย้ายตำแหน่งไปดูแลด้านการตลาด และเริ่มต้นสานสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับแผนกผลิตภัณฑ์ เวลาต่อมาพวกเราก็ได้ก่อตั้ง Swatch Design Lab หรือทีมสตูดิโอออกแบบในมิลาน ช่วงปลายยุค ’80s ลากยาวไปช่วงต้นยุค ’90s

เวลานั้นมิลานเป็นเมืองแห่งการออกแบบ และมีดีกรีเป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลก การมี Swatch อยู่ที่นั่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ผลงานที่ออกแบบมามีความร่วมสมัย แล้วผมก็ลาออกมาทำงานให้กับบริษัทอื่นอย่าง แบรนด์สกู๊ตเตอร์ Vespa แบรนด์เครื่องหนังและเครื่องเขียน Montblanc จนกระทั่งปี 2012 ผมกลับมาทำงานให้ Swatch US ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในชีวิตที่ทำให้ได้มาทำงานในสวิตเซอร์แลนด์

คุณจำนาฬิกาเรือนแรกที่ออกแบบให้ Swatch ได้ไหม?

ใช่ๆ! ผมจำได้แม่นเลย (หัวเราะ) ยังจำบรรยากาศตอนพรีเซนต์ผลงานต่อหน้าทีมได้อยู่เลย เป็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตผมจึงจำได้ขึ้นใจ นาฬิกาเรือนแรกที่ทำได้แรงบันดาลใจจากฟลอเรนซ์ ดีไซน์มีความโกธิคมาก สีดำ โมเดิร์น หน้าปัดเมทัลลิกมันเงา เป็นดีไซน์ที่น่าสนใจมากในปี 1988

และยังจำ Swatch ที่ผมใส่ได้ คือรุ่น Jellyfish แบบโปร่งแสง ผมว่าเป็นโมเดลที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณของ Swatch ได้ดีเลยนะ ทั้งความโปร่งใส กลไกควอตซ์ การเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดีไซน์เหนือกาลเวลา ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกทันสมัยมาจนถึงปัจจุบัน

Swatch Art Journey การนำผลงานของ 4 ศิลปินระดับโลกมาออกแบบนาฬิกาสุดพิเศษ

ศิลปินคนแรกที่ร่วมงานกับ Swatch?

กีกี ปิกัสโซ (Kiki Picasso) ครับ เป็นโมเดลที่ทำขึ้นในปี 1984 และวางจำหน่ายในปี 1985 เราทดลองทำการตลาด ซึ่งภายหลังประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และเหมือนเป็นประตูที่เปิดโอกาสให้ได้ทำงานกับเหล่าศิลปินในเวลาต่อมา เราเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับศิลปิน พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และนั่นและคือจุดเริ่มต้น

ใครคือแฟชั่นดีไซเนอร์คนแรกที่ร่วมงานกับทาง Swatch?

ถ้าผมจำไม่ผิดคนแรกที่มาทำกับเราคือ ฌอง ชาร์ล เดอ กัสเทลบาฌาค (Jean-Charles de Castelbajac) และตามมาด้วยวิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood) เราร่วมงานกับวิเวียน 2 คอลเล็กชั่น ซึ่งผมจำได้เลยว่าเป็นอะไรที่สนุกมาก เพราะตอนออกแบบเรือนแรก เธอเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเยอะมาก แต่พอมาถึงครั้งที่สองเธอค่อนข้างยุ่ง จึงต้องใช้วิธีให้คำแนะนำกับทีมของเรา แล้วจะมาบอกว่าอันนี้ดีนะ ชอบอันนี้ ชอบอันนั้น เป็นอะไรที่สนุกมาก

บรรยากาศการเปิดตัว Swatch Art Journey ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Swatch มีความเชื่อมโยงกับโลกศิลปะ ในการทำงานแต่ละครั้งมีเกณฑ์การตัดสินใจที่จะร่วมงานกับศิลปินหรือพิพิธภัณฑ์อย่างไร?

การเลือกส่วนใหญ่จะมาจากการสำรวจหาสิ่งใหม่ๆ และสิ่งที่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้จัก ซึ่งฟังดูขัดแย้งเล็กน้อยกับสิ่งที่เรากำลังทำ คือนำเสนอผลงานระดับมาสเตอร์พีซจากศิลปินดัง แต่นั่นก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายอย่างมากว่าจะทำอย่างไรให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ต่อสิ่งที่มีมานานแล้ว แต่ที่ผมยืนยันได้คือทุกอย่างที่ออกมาต้องเป็นอะไรที่น่าสนใจและสนุก … นั่นคือสิ่งที่เราทำ และแน่นอนว่าเราพยายามทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงเพื่อตอบสนองส่วนนี้

เราเป็นแบรนด์เพื่อมวลชน ผลิตจำนวนมาก และมีจุดยืนเรื่องของราคาที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มันจำเป็นที่คุณต้องใกล้ชิดกับผู้คน เล่าเรื่องราวที่เข้าใจง่าย ไม่มีความซับซ้อน เปิดกว้างที่จะรับรู้และสัมผัสอารมณ์ของผู้คน … Swatch เป็นแบรนด์ที่อารมณ์ดีมากนะครับ

เคยมาเที่ยวที่กรุงเทพฯ ไหม?

ผมไปกรุงเทพฯ ทุกๆ 3 – 4 ปี เพราะเรามีความสัมพันธ์แนบแน่นกัน ที่นั่นเป็นตลาดที่ไดนามิกมาก โดยส่วนตัวแล้วผมชอบกรุงเทพฯ มากครับ เพราะเป็นเมืองที่น่าค้นหาและมีวัฒนธรรมท้องถิ่นน่าสนใจ เป็นอะไรที่แตกต่างกับสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล เมืองนี้ตื่นตลอด 24 ชั่วโมง มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผมเป็นแฟนตัวยงของสตรีทฟูดเลยนะ

ผมไปกรุงเทพฯ ครั้งสุดท้ายราว ปี 2016 หรือ 2017 จำได้ว่าเป็นช่วงก่อนโควิดนิดหน่อย หรืออาจจะเป็นปี 2018 … จริงๆ แล้วผมเป็นคนชอบเมืองที่มีความวุ่นวาย (หัวเราะ) เพราะสำหรับผมมันคือการไม่หยุดนิ่ง กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ผสมผสานระหว่างของดั้งเดิมกับความร่วมสมัย ไม่ว่าจะสถาปัตยกรรมโบราณ อนุสาวรีย์ วัด และวัง ผมรักการผสมผสานนี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะว่าเมืองใหญ่ส่วนมากมักสูญเสียอัตลักษณ์นี้ไป ทำให้คุณต้องพบกับสิ่งที่เหมือนๆ กันในทุกที่ที่ไป สตรีทฟูดเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับกรุงเทพฯ คุณจะหาที่เหมือนในกรุงเทพได้ยากจากเมืองอื่น ผมจำได้ว่าเคยเดินห้างฯ ในกรุงเทพฯ แล้วเห็นชุดที่เหมือนทำให้ผู้หญิง แต่ที่จริงแล้วเป็นของผู้ชาย เป็นเรื่องที่น่าทึ่ง กรุงเทพฯ มีสีสัน และนั่นละทำให้ผมหลงรักเมืองนี้

คุณเคยร่วมงานกับศิลปินไทยมาก่อนไหม?

ล่าสุดได้ร่วมงานกับ ‘นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล’ ก่อนที่เราจะได้ร่วมงานกัน ผมเห็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งของเขาที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งหนึ่งในโรม ผมมองไปที่กำแพงขนาดใหญ่ แล้วบอกกับตัวเองว่าเป็นอะไรที่ Swatch มาก! เต็มไปด้วยพลัง ในรูปมีผู้คนมากมาย หลากหลายข้อความ หลังจากนั้นเราก็พยายามหาทางติดต่อตัวศิลปินเนื่องจากเขาไม่ได้อยู่ในอิตาลี เขาเป็นคนที่น่าสนใจมากเพราะนาวิน (พื้นเพของเขา) ไม่ได้เป็นคนกรุงเทพฯ เขาถ่ายทอดความแตกต่างทางวัฒนธรรมและพลวัต ซึ่งผมชอบแนวคิดนี้ และคิดว่าเขาน่าจะเข้าถึงแนวคิดในการนำศิลปะไปสู่คนหมู่มากได้แน่นอน เพราะโดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเป็นเจ้าของผลงานของเขาได้ เนื่องจากเป็นงานศิลปะขนาดใหญ่มาก

เราเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดี แม้มันไม่ง่ายเพราะอยู่กันคนละซีกโลกและเขากำลังมีโปรเจกต์ยักษ์ แต่ท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่ได้มาก็ทำให้เราแฮปปี้กับการได้ติดตั้งงานศิลปะที่เขาทำเพื่อเราใน Venice Biennale เราใช้เวลาไปกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก และกำลังจะโชว์ในสวิตเซอร์แลนด์ที่สวนของ Swatch และจะอยู่ที่นั่นถาวร … ถือเป็นตัวแทนของมิตรภาพระหว่างประเทศไทยและสวิตเซอร์แลนด์

คุณมีแพลนร่วมงานกับศิลปินไทยคนอื่นอีกไหม?

พูดตามตรงตอนนี้เรายังไม่มีโปรเจกต์ที่ว่า แต่ประตูก็เปิดไว้เสมอนะ อย่างที่ผ่านมาเราก็ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับงานดูไบเอ็กซ์โป (World Expo 2020 Dubai) เชิญให้ศิลปินจากทั่วทุกมุมโลกส่งผลงานเข้ามา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ซึ่งมีศิลปินไทยรวมอยู่ด้วย เราเปิดโอกาสให้ศิลปินผ่านโปรเจกต์ต่างๆ อยู่เสมอ เรามี Swatch Art Peace Hotel โครงการที่พำนักสำหรับศิลปินในนครเซี่ยงไฮ้ เราไม่มองแยกย่อยเป็นประเทศ แต่มองว่าศิลปินคือพลเมืองของโลก … สำหรับผมศิลปะไม่มีเส้นแบ่ง อาจจะมีคนที่ถามว่า อ้าว! ทำไมไม่มีศิลปินผู้หญิงเลยละ? ผมก็จะบอกว่าศิลปินก็คือศิลปิน ไม่แบ่งแยกว่าชายหรือหญิง!

เมื่อคืน ผมเห็น อแลง วิลลาร์ด (Alain Villard) ซีอีโอของ Swatch และเห็นคุณสวมนาฬิกาบนข้อมือทั้งสองข้าง มีความหมายอะไรเป็นพิเศษไหม?

เยี่ยม! … คุณรู้ไหมว่าชื่อของ Swatch มาจาก Second-Watch (หัวเราะ)

Alain Villard, Kevin Dias และ Carlo Giordanetti  ในงานเปิดตัว Swatch Art Journey ณ กรุงลิบอน ประเทศโปรตุเกส

อะไรที่ทำให้คุณตัดสินเริ่มต้นโปรเจกต์ Swatch Art Journey?

เราเริ่มโครงการ Swatch Art Journey มาตั้งแต่ปี 2018 จากที่อัมสเตอร์ดัม มาดริด ปารีส นิวยอร์ก และวกกลับมาปารีสอีกครั้ง โดยจับมือกับพิพิธภัณฑ์ The Centre Pompidou ปีนี้เป็นการครบรอบ 40 ปี ของ Swatch จึงอยากลองทำอะไรที่ต่างออกไป เราจะไม่จับมือกับพิพิธภัณฑ์เพียงแค่ที่เดียว เราไปมาแล้ว 7 แห่ง 10 ครั้ง เป็นการทำงานที่ซับซ้อนกว่าเดิมมาก เพราะอยากให้คนหมู่มากมีความสุข เป็นเรื่องท้าทายที่ยิ่งใหญ่และก็เป็นอะไรที่ยอดเยี่ยม ผมทำงานร่วมกับผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์อย่างใกล้ชิด ในแต่ละโปรเจกต์ของเราจึงรายล้อมไปด้วยทีมงานคุณภาพ

แล้ว Swatch Art Journey ดรอปที่สองจะมาเมื่อไร?

ดรอปที่สองของ Swatch Art Journey จะมาในช่วงเดือนพฤษภาคม (เราถาม – ในนิวยอร์กใช่ไหม?) ผมไม่ได้พูดอะไรเลยนะ! (หัวเราะ) ถ้าคุณเห็นอะไรในงานเปิดตัวเมื่อคืน นั่นคือคำใบ้จากทีม (ยิ้ม)

คำใบถึง Swatch Art Journey ดรอป 2 ที่จะเปิดตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม

Similar Articles

More