Sarah Burton จากนักศึกษาฝึกงานสู่ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ Alexander McQueen ยาวนานถึง 13 ปี

ข่าวใหญ่ในโลกแฟชั่นของค่ำคืนที่ผ่านมาคือการที่ Sarah Burton (ซาราห์ เบอร์ตัน) ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษวัย 49 ปี ประกาศโบกมือลาห้องเสื้อ Alexander McQueen หลังร่วมทางกันมานานเกือบ 26 ปี ผมค่อนข้างเซอร์ไพรส์กับข่าวนี้ เพราะเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าเพิ่งเห็นภาพของ Beyoncé ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตโดยสวมคอสตูมที่เธอออกแบบ เป็นชุดที่อิงดีไซน์จากลุคเด่นของคอลเล็กชั่นฤดูร้อนประจำปี 2013 อีกหนึ่งผลงานลบคำสบประมาทของซาร่าห์ “จะเอาแบรนด์นี้อยู่หรอ?” ที่ในช่วงแรกนั้นถาโถมเข้าหาเพียงเพราะเธอยังไม่เป็นที่รู้จัก แถมภาพลักษณ์ที่ดูเรียบง่าย (และบุคลิกเหนียมอาย) นิยมสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว ไม่ก็สเวตเตอร์สีดำ คู่กับยีนส์ฟอกสุดคลาสสิกนั้นช่างสวนทางกับแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ ‘ดาร์กโรแมนติก’ ตามแนวคิดของ Lee Alexander McQueen (ลี อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน) ผู้ก่อตั้ง

แต่หากคุณเป็นแฟนคลับตัวยงของแบรนด์ Alexander McQueen แล้วล่ะก็ คุณอาจจะทราบว่าเธอคือตัวเลือกที่คู่ควรที่จะก้าวเข้ามาคุมบังเหียนแบรนด์ต่อจาก ลี แม็คควีน เพราะเขาไว้ใจเธอ และเธอก็เคารพและรู้จักตัวตนของแบรนด์ไม่เป็นรองใคร … ซาร่าห์ เบอร์ตัน เข้าฝึกงานกับแฟชั่นเฮาส์หลังนี้ในปี 1996 และหลังจบการศึกษาจากรั้ว Central Saint Martins ก็ได้โอกาสรับหน้าที่ผู้ช่วยหลักของลีในปี 1998 หลังจากนั้นก็ถูกเลื่อนให้เป็นหัวหน้านักออกแบบคอลเล็กชั่นสตรีในปี 2000 โดยการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนและรับเสียงปรบมืออย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในปี 2003 ลีจูงมือเธอออกมาช่วงฟินาเล่ของโชว์คอลเล็กชั่นฤดูหนาวประจำปีนั้น ราวกับเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้หญิงคนนี้ คือหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของอาณาจักรแม็คควีน

Lindsey Wixson บนแคมเปญ Alexander McQueen Spring/Summer 2011 โดย Sarah Burton

หาก ลี แม็คควีน คือตัวแทนของความงดงามในมุมที่มืดและหม่น ซาร่าห์ เบอร์ตัน ก็คงเปรียบได้กับด้านสว่างและอ่อนโยนสำหรับเฮาส์หลังนี้ เธอเปิดตัวผลงานแรกหลังเข้ารับตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์โดยใช้ ‘ผีเสื้อ’ ที่แสนบอบบางเป็นโมทีฟหลักประจำคอลเล็กชั่น Spring/Summer 2011 แทนที่กะโหลกซึ่งกลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ในช่วงค่อนปลายยุค 2000s และลบคำสบประมาทได้ตั้งแต่ฤดูกาลนั้น “ฉันเข้าใจวิสัยทัศน์ของ ลี แม็คควีน และอยากจะบอกว่าทีมช่างที่ร่วมกันรังสรรค์ผลงานทั้งหมดคือตัวแทนของ Alexander McQueen ไม่ใช่เพียงแค่ฉันคนเดียว” – ซาร่าห์มักให้สัมภาษณ์โดยมอบเครดิตแก่คนเบื้องหลังและออกมารับเสียงปรบมือด้วยท่าทีเหนียมอายตั้งแต่ปีแรกจนปีสุดท้าย

Alexander McQueen Fall/Winter 2011 โดย Sarah Burton

อาจเพราะเธอเข้าใจดีว่า Alexander McQueen คือโรงละครหลังใหญ่ที่เปิดโอกาสให้คนสร้างสรรค์มาร่วมกัน ‘ปล่อยของ’ ไม่ว่าจะเป็น Philip Treacy (ฟิลิป เทรซี), นักออกแบบหมวกและเครื่องประดับศีรษะ Shaun Leane (ชอน ลีน) นักออกแบบเครื่องประดับเงินและงานโลหะ, Georgina Goodman (จอร์จินา กู๊ดแมน) นักออกแบบรองเท้ารูปทรงแปลกตา และ Chinsky Cheung (ชินสกี้ เฉิง) นักออกแบบลายพิมพ์ เป็นต้น เธอจึงให้ความสำคัญกับคนเบื้องหลังที่ร่วมกันสานต่อตำนาน และประคองสถานะให้ชื่อ Alexander McQueen ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์เบอร์ต้นๆ ที่สร้างสรรค์ผลงานในระดับ Semi-Couture

Alexander McQueen Spring/Summer 2015 รันเวย์เปิดตัวรองเท้ารุ่นฮิต Oversized Sneaker

นอกจากรักษามาตรฐานผลงานที่ออกแบบและตัดเย็บด้วยมืออย่างวิจิตรและประณีตแล้ว (เธออุทิศชั้นบนของแฟลกชิพสโตร์ในลอนดอนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการตัดเย็บสำหรับนักศึกษาและผู้ที่สนใจ) อีกหนึ่งวิสัยทัศน์ที่ทำให้แบรนด์ Alexander McQueen ในยุคการนำของเธอประสบความสำเร็จ คือการให้ความสำคัญกับคอลเล็กชั่นบุรุษ (ซึ่งในยุคของลีนั้นไม่ประสบความสำเร็จตามที่นายทุนคาดหวังเอาไว้) และอ้าแขนรับกระแสของวัฒนธรรมเยาวชนยุคใหม่ที่มีสตรีทแฟชั่นเป็นกระแสหลัก อย่าง สนีกเกอร์รุ่นโอเวอร์ไซส์สุดฮอตที่เปิดตัวในฤดูกาล Spring/Summer 2015 ประสบความสำเร็จและกลายเป็นชิ้นขายดีมาจนถึงปัจจุบัน

McQ Fall/Winter 2012 โดย Sarah Burton

ขณะเดียวกันก็ยกระดับความสำคัญของไลน์วัยรุ่นนาม McQ (แม็กคิว) ที่เปิดตัวในปี 2006 จากเดิมที่ได้ทาง SINV SpA เป็นผู้ร่วมดูแล ก็ก่อตั้งทีมขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ และดึงมาดูแลเองตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ภายใต้วิสัยทัศน์ของซาร่าห์ เธอทำให้เสื้อผ้าสตรีทสไตล์ของ McQ กลายเป็นผลงานระดับสตรีทกูตูร์เพื่อเชื่อมโยงกับไลน์หลัก อีกทั้งยังจัดโชว์สำหรับไลน์นี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในงาน London Fashion Week ฤดูกาล Fall/Winter 2012 ควบคู่กับการเปิดร้าน McQ ตามเมืองชั้นนำทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย

ป๊อปอัพสโตร์ครั้งแรกของ Alexander McQueen ใน Harrods Exhibition Windows จัดแสดงผลงานคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019

“ฉันภูมิใจในทุกๆ อย่างที่ทำ และชื่นชมทีมงานของห้องเสื้อ Alexander McQueen พวกเขาคือครอบครัว และที่แห่งนี้คือบ้านของฉันตลอดระยะเวลาเกือบ 26 ปีที่ผ่านมา ฉันอยากขอบคุณ François-Henri Pinault (ฟรองซัวส์-อองรี ปิโนต์) ที่เชื่อมั่นในตัวฉันและมอบโอกาสนี้ให้ และเหนือสิ่งอื่นใดคือต้องขอบคุณ Lee Alexander McQueen เขาสอนอะไรให้ฉันมากมาย จนรู้สึกขอบคุณลีไปชั่วนิรันดร์” เธอให้สัมภาษณ์ในแถลงการณ์สั่งลา แต่เป็นการปิดฉากการร่วมงานที่ประทับใจและตราตรึงของทั้งเธอและผู้คนรายล้อมที่เธอเรียกว่า ‘ครอบครัว’ ซึ่งผมเชื่อว่าหลังจากนี้ไป เธอคงใช้เวลาอันมีค่าไปกับครอบครัวสักระยะ เพราะเธอให้ความสำคัญกับครอบครัวไม่แพ้สิ่งอื่นใด

แคเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงสวมฉลองพระองค์ชุดกระโปรงยาวผ้าไหมเครปสีงาช้าง ปักดอกไม้สัญลักษณ์ของ 4 ประเทศ ที่ประกอบกันเป็นบริเตนใหญ่ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส ผลงานการออกแบบโดย Sarah Burton

ผลงานสุดท้ายของ Sarah Burton นักออกแบบหญิงคนเก่งเจ้าของผลงานชุดเจ้าสาวแห่งทศวรรษสำหรับ Kate Middleton (เคท มิดเดิลตัน) ในพิธีเสกสมรสกับ William, Prince of Wales (เจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์) สำหรับแบรนด์ Alexander McQueen จะมีขึ้นในช่วงงาน Paris Fashion Week วันที่ 30 กันยายน นี้ เวลาประมาณเกือบเที่ยงคืน ตามเวลาประเทศไทย ผมขอชวนชาวแอลเมนเรามาร่วมบันทึกประวัติอันยิ่งใหญ่เกือบ 3 ทศวรรษของ Sarah Burton และ Alexander McQueen ไปด้วยกัน

Similar Articles

More