James Cameron และ Oyster Perpetual Deepsea Challenge สองขั้วของนักบุกเบิก กับภารกิจท้าทายเดียวกัน

หาก James Cameron (เจมส์ คาเมรอน) คือตัวแทนของนักสำรวจแห่งโลกยุคใหม่ ก็ไม่เกินไปนักที่จะเทียบเคียงให้ Oyster Perpetual Deepsea Challenge เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของนาฬิกาบุกเบิกสู่การก้าวข้ามขีดข้อจำกัด และเมื่อสองขั้วแห่งการสำรวจและสร้างสรรค์นี้ได้เดินทางมาพบกัน จึงมอบผลลัพธ์เป็นนาฬิกาผู้พิชิตความลึกรุ่นใหม่จาก Rolex

Oyster Perpetual Deepsea Challenge นาฬิกาดำน้ำประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่ กันน้ำได้ที่ระดับความลึก 11,000 เมตร (36,090 ฟุต)
Courtesy of Rolex

ใต้ห้วงความลึก

นาฬิกาสำหรับดำน้ำลึกอย่าง Rolex Deepsea Challenge ออกแบบมาเพื่อทนทานต่อแรงดันสุดขั้วใต้น้ำลึกอย่างที่ไม่เคยมาก่อน ผ่านระยะเวลาหลายปีของการวิจัยเพื่อเอาชนะความท้าทายทั้งในแง่ของการผลิตและสมรรถนะทางเทคนิค ทำให้ในที่สุด ผลลัพธ์ของนาฬิกาเรือนทดลองของปี 2012 ก็ได้ถูกติดตั้งบนส่วนควบคุมที่ยื่นออกมาจากยานดำน้ำของ James Cameron ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังและนักสำรวจในระหว่างการทดลองใต้ร่องลึกมาเรียนนา (Mariana Trench) โดย James Cameron ได้ดำดิ่งลงไปเพียงลำพังในความลึกถึง 10,908 เมตร (35,787 ฟุต) และหลังจากนั้น นาฬิกาเรือนทดลองจึงถูกพัฒนาการออกแบบต่อเพื่อสวมใส่บนข้อมือ โดยนับจากการผลิตตัวเรือนจนถึงสาย แต่ละองค์ประกอบของนาฬิกาขนาด 50 มม. นี้รังสรรค์ขึ้นด้วยความตั้งใจเพื่อให้เป็นนาฬิกาสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น เช่น การเลือกใช้ไทเทเนียม RLX หรือไทเทเนียมอัลลอย เกรด 5 ของนาฬิการุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดสรรโดย Rolex ซึ่งมีทั้งคุณสมบัติของความทนทานต่อการเปลี่ยนรูปทรงและการขึ้นสนิม ทั้งยังมีน้ำหนักเบาอย่างมาก ทำให้นาฬิกาใหม่นี้มีน้ำหนักเบากว่ารุ่นทดลองที่มีตัวเรือนทำจากสเตนเลสสตีล 904L ของปี 2012 ถึง 30%

เม็ดมะยม Triplock พร้อมการเคลือบกันน้ำ 2 ชั้นสำหรับส่วนก้านเม็ดมะยม และเคลือบอีก 1 ชั้นบนตัวเม็ดมะยม นับเป็นระบบกันน้ำ 3 ชั้นที่มีตราปรากฏอยู่ 3 จุดใต้รอยประทับตราของ Rolex
Courtesy of Rolex

นอกเหนือจากความทนทานต่อแรงดันแล้ว เพื่อสร้างสรรค์นาฬิกาดำน้ำลึกที่สามารถสวมใส่บนข้อมือในชีวิตประจำวัน จึงต้องคำนึงถึงการปรับแต่งในองค์ประกอบและรายละเอียด โดยเฉพาะการปรับปรุงสัดส่วนที่รับกับสรีระข้อมือและความกลมกลืนเมื่อสวมบนข้อมือเช่นกัน ตัวอย่างของการปรับปรุงนี้ คือกระจกที่จำเป็นต้องบางลง รวมถึงระบบของการขยายความยาวสายที่ Rolex ได้พัฒนาทั้ง Rolex Glidelock และ Fliplock extension link เพื่อให้สามารถสวมนาฬิกาทับชุดประดาน้ำที่มีความหนาถึง 7 มม. ได้ จากหลากหลายองค์ประกอบเหล่านี้สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของแบรนด์ในการประดิษฐ์นาฬิกาดำน้ำด้วยนวัตกรรม เช่น ระบบ Ringlock system ที่เป็นโครงสร้างตัวเรือนผ่านการจดสิทธิบัตรและทนทานต่อแรงดันได้สูง เช่นกันกับการติดตั้ง Helium escape valve เพื่อคายก๊าซฮีเลียมออกจากนาฬิกาในระหว่างระยะการขึ้นสู่ผิวน้ำของนักดำน้ำ เป็นการช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้กับนาฬิกา ถึงขั้นกระจกหลุดออกจากตัวเรือนในกระบวนการคายแรงดัน

สายนาฬิกา Oyster ทำจากไทเทเนียม RLX พร้อมระบบ Rolex Glidelock และ Fliplock extension link เพื่อให้สามารถสวมทับชุดประดาน้ำที่หนาถึง 7 มม. ได้
Courtesy of Rolex

ภารกิจหวนคืน

จากความท้าทายครั้งก่อนหน้าเมื่อหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ของ Deepsea Challenge และเอกบุรุษอย่าง James Cameron Rolex ได้นำภารกิจครั้งใหม่มาสู่นาฬิการุ่นใหม่ของปี 2022 ใน Oyster Perpetual Deepsea Challenge ที่อุทิศให้กับการสำรวจใต้น้ำลึกครั้งประวัติศาสตร์ โดยบนด้านหลังของตัวเรือนนาฬิกา แกะสลักไว้ด้วยคำว่า “Marina Trench” เช่นเดียวกับวันที่ “23-01-1960” และ “26-03-2012” วันแห่งการจารึกประวัติศาสตร์การดำน้ำทั้ง 2 ครั้งสู่ใต้ร่องลึกมาเรียนนา โดยมีนาฬิกา Rolex เรือนทดลองร่วมเดินทางไปด้วย 

ด้านหลังของตัวเรือนนาฬิกา แกะสลักคำว่า “Marina Trench” พร้อมทั้งวันที่ “23-01-1960” และ “26-03-2012” แห่งประวัติศาสตร์การดำน้ำทั้ง 2 ครั้ง
Courtesy of Rolex

จุดเด่นของนาฬิการุ่นใหม่ยังคงสังเกตได้จากงานออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของนาฬิกาทดลองซึ่งร่วมภารกิจไปกับ James Cameron รวมถึงการพัฒนาต่อยอดด้านสมรรถนะอันกล้าแกร่ง โดยมีตัวเรือนทำจากไทเทเนียมอัลลอย RLX ขัดเงาและขัดซาตินที่สายนาฬิกาและตัวเรือน ขอบด้านบนยังผ่านการขัดลบมุมและขัดเงาเผยรูปทรงอันโดดเด่นของขาตัวเรือน ส่วนบนขอบหน้าปัด Cerachrom สีดำทำจากเซรามิกเป็นแบบปรับหมุนได้ พร้อมเครื่องหมายบอกเวลา 60 นาทีช่วยให้อ่านค่าได้รวดเร็ว และปลอดภัยในการช่วยให้นักดำน้ำสามารถควบคุมเวลาดำน้ำและหยุดปรับแรงดันได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังรับกับหน้าปัดสีดำเข้ม แต่ตัดด้วยมาร์กเกอร์แสดงชั่วโมงและเข็มแสดงวินาทีขนาดใหญ่ เรืองแสงโดดเด่นด้วย Chromalight ทำให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนแม้ใต้สภาวะแสงน้อย รวมถึงอ่านเวลาในความมืดได้นานขึ้นกว่าเดิม  

เมื่อสองขั้วแห่งการสำรวจและสร้างสรรค์ได้เดินทางมาพบกัน จึงมอบผลลัพธ์เป็นนาฬิกาผู้พิชิตความลึกรุ่นใหม่จาก Rolex
หน้าปัดสีดำเข้ม และมาร์กเกอร์แสดงชั่วโมง รวมถึงเข็มวินาทีขนาดใหญ่ เรืองแสงโดดเด่นด้วย Chromalight
Courtesy of Rolex

Oyster Perpetual Deepsea Challenge ลงตัวด้วยรูปทรงและการทำงานสำหรับภารกิจใต้น้ำไร้ขีดจำกัด โดยประกอบคู่มากับสายนาฬิกา Oyster ทำจากไทเทเนียม RLX ตลอดสาย รวมถึงประสิทธิภาพการกันน้ำและทนทานต่อแรงดันภายใต้ความลึก 11,000 เมตร (36,090 ฟุต) โดยความร่วมมือของ Rolex และ Comex (Compagnie Maritime d’Expertises) ที่ทำให้สามารถพัฒนาถังแรงดันสูงพิเศษเพื่อใช้ในการทดสอบการกันน้ำของ Deepsea Challenge แต่ละเรือนได้ ขณะที่ภายใต้ตัวเรือน Oyster นี้ ติดตั้งไว้ด้วยกลไกไขลานอัตโนมัติ caliber 3230 พัฒนาโดย Rolex พร้อมมอบพลังงานสำรองได้นานประมาณ 70 ชั่วโมง

Similar Articles

More