หลากหลายเหตุผลของ ‘Roland Topor’ นักวาดประกอบเสียดสีสังคมด้วยศิลปะแนวเหนือจริง

Words : Poom Petsophonsakul 

Illustrator: KITTO

“สำหรับผมแล้ว การวาดรูปจำต้องมีเหตุผลมากพอ รวมถึงต้องมีความปรารถนาในการเริ่มที่จะทำมัน อย่างน้อยควรมีหนึ่งเหตุผล แต่จะดีมาก ถ้ามีหลาย ๆ เหตุผลประกอบด้วย” นี่คือสิ่งที่ Roland Topor (โรล็อง โตปอร์) กล่าวไว้ในวิดีโอสัมภาษณ์ที่ถ่ายทำเก็บไว้เมื่อปี 1980 โตปอร์เป็นศิลปินมากฝีมือที่แทรกซึมอยู่ในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือแอนิเมชั่นใด ๆ ก็ตาม ซึ่งเขามักมีชื่อเสียงเรียงนามในฐานะนักวาดภาพประกอบ โดยผลงานส่วนใหญ่ของเขานั้นเป็นศิลปะแนวเหนือจริง (surrealism) และแฝงไปด้วยนัยยะที่เสียดสีสังคม บางผลงานไม่ได้มีสัญญะอะไร แต่ก็ยังให้ความรู้สึกที่ไม่สงบ มีความกวนใจแปลก ๆ ถึงกระนั้นยังคงชักชวนให้อยากกลับมาดูอีกรอบ

Porta Romana (1982)
Photo: www.auction.fr
Photo: Rolandtoporart

ผลงานของเขาประกอบด้วยภาพผู้หญิงที่แหวกหน้าท้องตัวเองและกินลำไส้ที่ทะลักออกมา, ทหารกำลังยืนปัสสาวะข้างกำแพง, ชายที่โดนกำปั้นแสกเข้าไปที่ใบหน้า, ชายที่กำลังวาดหอไอเฟลด้วยการดูแบบจากอวัยวะเพศตัวเอง (เป็นการเสียดสีว่าหอไอเฟลเป็นสิ่งที่อัปลักษณ์ที่สุดในปารีสยุคนั้น) งานส่วนใหญ่เขาถูกตีพิมพ์บนหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสหลายฉบับ แต่โปรเจ็กต์หนึ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นแนวทดลองเรื่อง ‘La Planète sauvage’ หรือ ‘Fantastic Planet’ ที่ได้รับรางวัลจากเมืองคานส์ไปเมื่อปี 1973

Photo: IMDb

Fantastic Planet เขียนเนื้อเรื่องโดย René Laloux (เรเน่ ลาลู) และโตปอร์อิงจากนิยายไซไฟเรื่อง Oms en série ของ Stefan Wul (สเตฟาน วูล) บอกเล่าเรื่องราวมนุษย์บนดาวยัม (Ygam) ที่กลายเป็นสัตว์เลี้ยงให้กับมนุษย์ต่างดาวชื่อ ดราก (Draag) เหล่ามนุษย์จึงพยายามต่อสู้เพื่อหลีกหนีการกดขี่จากชาวดรากเพื่อนำมาซึ่งสันติภาพ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นนี้ถูกตีความว่าเป็นการนำเสนอเรื่องสิทธิสัตว์ ด้วยการเสียดสีจับมนุษย์กลายเป็นสัตว์แทน นักวิจารณ์บางคนเห็นว่าเป็นการชูเรื่องการเหยียดสีผิวมากกว่า แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคืองานแอนิเมชั่นที่ใช้ภาพของโตปอร์มาเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นเหมือนกับการได้เข้าไปสำรวจจินตนาการของโตปอร์อย่างลึกซึ้ง ผ่านการออกแบบสิ่งมีชีวิตสุดประหลาด พืชพรรณที่ชวนขนลุก รวมถึงการออกแบบตัวละครอย่างชาวดรากที่ใคร ๆ ก็สามารถจำได้ขึ้นใจ

Photo: IMDb

ภาพของโตปอร์เคลื่อนไหวคลอไปกับเสียงเพลงน่าพิศวงของ Alain Goraguer (อาแลน กอราเก้) ที่มีโครงสร้างเพลงคล้ายกับเพลง ‘Atom Heart Mother’ ของ Pink Floyd มีกลิ่นอายของเพลงแนวไซเคเดลิก (Psychedelic) แจ๊ซ และฟังก์ ซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุค 70 ทำให้ภาพรวมของเรื่อง Fantastic Planet ถูกยกระดับเป็นผลงานแอนิเมชั่นแนวทดลองที่ถูกพูดถึงตลอดกาล 

เขาไม่ใช่ศิลปินที่โด่งดังอะไรมากนัก และแรงบันดาลใจของเขาก็ไม่เหมือนกับศิลปินคนอื่น ๆ ที่จะรู้สึกอิ่มเอิบอะไรบางอย่างจนอยากถ่ายทอดไปบนผืนผ้าใบ อย่างที่เขากล่าวในบทสัมภาษณ์ว่า “มันจะดีกว่านี้ หากเหตุผลในการวาดรูปจะมีมากกว่าหนึ่งข้อ ทั้งนี้ เพื่อมั่นใจว่าเราจะยอมสละละทิ้งทุกอย่างไปชั่วขณะเพื่อสร้างผลงานหนึ่งชิ้นขึ้นมา” 

โตปอร์มีวิธีอธิบายเหตุผลหลาย ๆ อย่างของเขาว่าเป็น ‘การเร่งเร้า’ (urge) ซึ่งเป็นภาวะอารมณ์ที่ผู้ผลิตงานควรมี เช่น หากคุณคิดว่าคุณเป็นนักวาด คุณต้องพัวพันชีวิตเข้ากับการวาดรูปไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม อย่างการนั่งสเก็ตช์ภาพยามว่าง การซื้ออุปกรณ์ การร่วมงานกับคนอื่น หรือการพูดคุยกับเพื่อนศิลปินหลาย ๆ คน ทั้งหมดนี้คือการปลุกปั่นหรือเร่งเร้าให้จิตวิญญาณเกิดขึ้นเพื่อสร้างผลงานที่ไม่เหมือนใครได้

แม้ว่า โรล็อง โตปอร์ จะไม่ใช่ศิลปินเหนือจริงทัดเทียม Salvador Dali (ซัลวาดอร์ ดาลี) แต่เขามีกระบวนการคิดและวิธีการทำงานในแบบของเขา เท่านี้คงเพียงพอแล้วสำหรับการเป็นศิลปินคนหนึ่ง

Similar Articles

More