‘Pink Floyd: The Wall’ แอนิเมชันมิวสิคัลที่เข้าใจยาก แต่ยังคงเป็นตำนานแก่นักฟังดนตรีทุกยุค

WORDS: Poom Petsophonsakul 

ช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 ในยุคที่ดนตรีร็อกผุดขึ้นมากมาย และมีกลุ่มผู้ฟังมากพอ ๆ กับเพลงป็อป Pink Floyd ถือเป็นวงดนตรีที่โดดเด่นออกมาวงหนึ่ง ด้วยแนวเพลงไซเคเดลิกผสมกับความเป็นโปรเกรสซีฟ ทำให้วงอังกฤษนี้เป็นที่พูดถึงในวงนักวิจารณ์ดนตรีและผู้ฟังทั่วโลก

Pink Floyd ดังเปรี้ยงปร้างมากที่สุด

Pink Floyd ดังเปรี้ยงปร้างมากที่สุดในวันที่พวกเขาปล่อยอัลบั้ม The Dark Side of the Moon ในปี 1973 ต่อเนื่องด้วยอัลบั้มชุด The Wall ในปี 1979 แจ้งเกิดเพิ่มกลุ่มผู้ฟังอีกรอบด้วยเพลง ‘Another Brick in the Wall’ อัลบั้ม The Wall นั้นเป็นที่พูดถึงมากพอ ๆ กับ The Dark Side of the Moon ซึ่งสิ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือการจัดแสดงคอนเสิร์ตอัลบั้ม The Wall ในกรุงเบอร์ลินที่มีลูกเล่นอลังการ มีการจัดแสงสีและไฟแบบจัดเต็ม พร้อมกับตัวละครจากมิวสิกวิดีโอขนาดยักษ์โอนเอนอยู่บริเวณรอบ ๆ พื้นที่คอนเสิร์ต เล่นใหญ่ถึงขั้นใช้เฮลิคอปเตอร์มาประกอบการแสดงจริง ๆ !

แฟนๆ ชาวไทยรู้จักอัลบั้ม The Wall เป็นอย่างดี

สำหรับประเทศไทยเองก็มีแฟนเพลงวง Pink Floyd จำนวนมาก และรู้จักอัลบั้ม The Wall เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่บางคนอาจไม่รู้คือ Pink Floyd เคยทำภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง The Wall ออกมาอีกด้วยในปี 1982 โดยใช้ชื่อเรื่องเดิมคือ ‘Pink Floyd: The Wall’ เป็นการเล่าเรื่องจากเนื้อเพลงของอัลบั้ม The Wall ด้วยภาพเคลื่อนไหวเหนือจินตนาการ วาดและสร้างสรรค์โดย เจอรัลด์ สคาร์ฟ (Gerald Scarfe) นักวาดการ์ตูนชาวอังกฤษ เจ้าของลายเส้นในการ์ตูนเรื่อง Hercules (1997) ของดิสนีย์

Photo: Gerald Scarfe

Pink Floyd: The Wall เป็นผลงานการกำกับของ Alan Parker

Pink Floyd: The Wall เป็นผลงานการกำกับของ อลัน พาร์กเกอร์ (Alan Parker) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ออกไปทำโฆษณาในยามว่าง หลายคนรู้จักเขาในฐานะคนกำกับเรื่อง ‘Melody’ (1971) ภาพยนตร์ป็อปปี้เลิฟที่คลอด้วยดนตรีของวง Bee Gees ทั้งเรื่อง ซึ่งจริง ๆ แล้ว พาร์กเกอร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่ค่อยชอบกระบวนการทำงานในโปรเจกต์ The Wall สักเท่าไรนัก

Photo: Pink Floyd Archive 

โปรเจกต์นี้มีจุดเริ่มต้นจากคนสองคนคือ โรเจอร์ วอเทอร์ส (Roger Waters) นักร้องนำ Pink Floyd และเจอรัลด์ สคาร์ฟ โดยสคาร์ฟนั้นเป็นเจ้าของไอเดียในการออกแบบเวทีคอนเสิร์ต The Wall มาก่อนแล้ว หลังจากทั้งสองพูดคุยกันว่าอยากทำให้อัลบั้มเพลงเป็นหนังขึ้นมา จึงจ้างพาร์กเกอร์เป็นผู้กำกับ ปัญหาที่เขาไม่ชอบกระบวนการทำงานเป็นเพราะเรื่องคอนเซปต์และการสื่อสารผ่านภาพยนตร์ พาร์กเกอร์เผยว่า โรเจอร์สเป็นคนค่อนข้างจริงจัง และน่าชวนทะเลาะตลอด หลัก ๆ เป็นเรื่องการส่งสารที่มีเนื้อหาเชิงอุปมาค่อนข้างเยอะ

The Wall เป็นการเล่าเรื่องถึง ‘ความซึมเศร้า’

The Wall เป็นการเล่าเรื่องถึง ‘ความซึมเศร้า’ ผ่านบทเพลงทั้งหมด 26 เพลง และตัวละครที่ชื่อ พิงก์ ฟลอยด์ (Pink Floyd) แสดงโดย บ็อบ เกลดอฟ (Bob Geldof) พิงก์เป็นตัวละครที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับจิตใจ อยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความคิดของตัวเองจึงต้องอาศัยการสร้าง ‘กำแพง’ ขึ้นมาเพื่อตัดขาดจากผู้คน ประเด็นอยู่ที่ภายในกำแพงของพิงก์นั้นไม่ได้เต็มไปด้วยพลังบวก แต่กลับเป็นพลังลบ ฉะนั้นแล้วสิ่งที่เขาต้องการจึงเป็นค้อนเพื่อพังทลายมันลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นบ่อยที่สุดในหนัง จะเห็นได้ว่า The Wall ไม่ได้เป็นการบอกเล่าแค่ความซึมเศร้าตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ยังมีนัยยะสื่อให้เห็นซึ่งทางออก มันอาจจะเกิดจากตัวเขาเอง หรือจากผู้คนรอบข้างที่หยิบยื่นความช่วยเหลือให้

Photo: Amazon

พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ภาพ แสงสี และคอนเซปต์ตัวละครของเรื่องจึงอยู่ในโทนที่มืดมิด บิดเบี้ยว บางครั้งก็มีความฉูดฉาด ภาพเคลื่อนไหวที่ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ลวดหนาม หรือค้อน เป็นการอุปมาถึงสภาพจิตใจที่ซับซ้อน ฉากคนแสดงที่อยู่ท่ามกลางความโดดเดี่ยวราวกับหลุดมาจากภาพงานศิลปะเหนือจริงก็เป็นการสะท้อนภาพในใจของพิงก์เช่นกัน และแน่นอนว่าการที่จะนำเสนอเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้นั้นต้องอาศัยงานวิชวล และภาพประกอบที่กินใจ

สิ่งที่สคาร์ฟต้องศึกษาคือเบื้องลึกเบื้องหลังชีวิตของพิงก์เพื่อวาดออกมาเป็นองค์ประกอบภาพ เช่น ปมตอนเด็กที่ถูกควบคุมโดยแม่ การโดนกลั่นแกล้งที่โรงเรียน พ่อที่ออกไปรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และการโดนควบคุมอีกครั้งโดยรัฐบาลเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้ชมจึงมักเห็นตัวละครและองค์ประกอบที่เป็นเครื่องบิน ‘ปีศาจหัวหงอก’ ที่แสดงถึงผู้มีอำนาจในโรงเรียน และเสียงเสียงพร่ำเรียกถึงแม่ เป็นต้น

Photo: Alan Parker

The Wall ถูกยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์มิวสิคัลที่ยังเป็นงานศิลปะ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงบวก ทว่าไม่ได้เป็นที่นิยม และดูกันเป็นหนังเฉพาะกลุ่มในประเทศไทย เพราะเนื้อหาที่เข้าใจยาก ต้องการการตีความหลายมุม แม้ว่าตัวหนังจะนานมากแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าวง Pink Floyd เป็นวงไซเคเดลิกร็อกที่ขึ้นชื่อเรื่องเนื้อหาเพลงลึกซึ้งราวกับบทกวีพร้อมกับเสียงกีตาร์ที่บาดใจ และยังคงเป็นตำนานขวัญใจแก่นักฟังดนตรีทุกยุค

Similar Articles

More