‘Paris May 1968’ 55 ปี ของการเปลี่ยนโลก สู่แรงบันดาลใจในโลกแฟชั่นและภาพยนตร์

“ผมไม่เห็นเหตุผลที่มนุษย์จะไม่เสมอภาคกัน โดยเฉพาะในสายอาชีพของผม”

คาร์ล ลาเกอร์เฟล

Karl Lagerfeld (คาร์ล ลาเกอร์เฟล) กูตูริเยร์ผู้ล่วงลับคืออีกรายที่ลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนในเรื่องการเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมได้อย่างชัดเจน ลาเกอร์เฟล นักออกแบบแฟชั่นชาวเยอรมันผู้ได้รับสิทธิ์ให้คุมบังเหียนกูตูร์เฮาส์เก่าแก่ของฝรั่งเศสอย่าง Chanel มาตั้งแต่ปี 1983 นั้นย่อมรู้ดีว่าความเท่าเทียมเสมอภาค การไม่แบ่งแยกสถานะทางสังคม เพศ และเชื้อชาติคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ

Chanel Spring/Summer 2015
Photo: Imaxtree

เขาเนรมิตรันเวย์โชว์ Spring/Summer 2015 ของ Chanel ให้กลายเป็นเหตุการณ์ประท้วงในฝรั่งเศสที่เห็นได้บ่อยบนหน้าข่าว เพราะเป็นอย่างที่ทุกท่านทราบว่าประเทศฝรั่งเศสและการประท้วงนั้นดูจะแยกจากกันไม่ได้ รากฐานที่แข็งแกร่งและมั่นคงของประเทศนี้เกิดจากการลุกฮือ และการ (ต้องยอม) รับฟังเสียงของประชาชน นอกจากเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 แล้วการปฏิวัตินักศึกษาในเดือนพฤษภาคม 1968 ที่ครบ 55 ปีในเดือนนี้ และเป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์น้ำดี The Dreamers (2003) ที่อายุครบ 30 ปีพอดี ก็เป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่วางรากฐานทางสังคมของฝรั่งเศสให้มั่นคงยิ่งกว่าเก่า การหยิบยกเอาเรื่องราวการเรียกร้องสิทธิ์มานำเสนอจึงกลายเป็นอีกบทบาทของคนแฟชั่นและอีกมิติที่สะท้อนให้เห็นว่าแฟชั่นสามารถขับเคลื่อนสังคมได้เช่นไร

ทำไมการปฏิวัตินักศึกษาเดือนพฤษภาคม 1968 หรือ ‘Paris Mai 1968‘ จึงมีความสำคัญ และมอบแรงบันดาลใจให้นักออกแบบรายน้อยใหญ่มากมาย? … เพราะเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้นคือการร่วมแสดงพลังของคนรุ่นใหม่และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน … ทศวรรษ 1960 ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจฝรั่งเศสกลับมาเติบโตอีกครั้ง จากนโยบายของประธานาธิบดีคนสำคัญ Charles de Gaulle (ชาร์ลส เดอ โกล) รัฐบุรุษผู้นำของกลุ่มเสรีฝรั่งเศสต่อสู้กับนาซีเยอรมนีช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวเลขของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยุคนั้นเพิ่มขึ้น และจำนวนนักเรียนนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มเป็น 540,000 คนในปี 1968 (จากเดิมที่มีเพียงราว 129,000 คนในช่วงทศวรรษที่ 1940)

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจดูไปในทิศทางที่ดี ทว่าเมื่อศักยภาพการรองรับของมหาวิทยาลัย ปัญหาระบบการศึกษา ระบบสาธารณูปโภคด้านต่างๆ ผนวกเข้ากับความไม่พอใจที่มีต่อหลายมิติทางสังคม กลับจุดชนวนการจลาจลขึ้น โดยการชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ลากยาวนานนับเดือน จนท้ายที่สุดมีกลุ่มนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานที่เห็นด้วยร่วม 8 แสนราย ออกมาลงถนนในวันที่ 13 พฤษภาคม ก่อนวันที่ 21 พฤษภาคม ฝรั่งเศสจะกลายเป็นอัมพาตจากการมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากถึง 10 ล้านราย! ถนนทุกสายและสถานที่สำคัญๆ ถูกยึดไม่ต่างจากการประท้วงในปัจจุบัน ราวกับการฉายภาพซ้ำทุกครั้งที่ประชาชนในประเทศนี้ลุกฮือต่อต้านนโยบายด้านต่างๆ

ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2007 แบรนด์ McQ (แม็คคิว) ไลน์วัยรุ่นของ Alexander McQueen สร้างความฮือฮาให้โลกแฟชั่นด้วยภาพโฆษณาที่เป็นการนำภาพถ่ายจากเหตุการณ์ Paris Mai 1968 มาใช้ ภาพโฆษณาชุดนี้ยังติดกระจายทั่วกรุงปารีส เมืองหลวงของโลกแฟชั่นและเป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ช่วยเกลาสังคมของฝรั่งเศสให้เปิดกว้างและก้าวหน้าขึ้นกว่าเก่า

ภาพโฆษณาชิ้นที่ว่าไม่ได้ต้องการขายเสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือสินค้าใดๆ ในคอลเล็กชั่น แต่เป็นแคมเปญที่ออกมาตอกย้ำจุดยืนว่าผลงานภายใต้อาณาจักร Alexander McQueen นั้นมีรากฐานมาจากความขบถ และต้องการใช้งานออกแบบเชิงพาณิชยศิลป์ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม ผลักดันให้ผู้คนลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนโดยมีรูปแบบการแต่งกายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารเชิงสัญลักษณ์โดยเริ่มจากเฉพาะกลุ่ม ก่อนจะกลายเป็นกระแสหลักเมื่อคนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าคือ ‘สิ่งที่ใช่’ และเหมาะสมกับช่วงเวลาดังกล่าว หรือหากนิยามง่ายๆ คือ สำหรับ ลี แม็คควีน แล้ว ‘แฟชั่น ไม่ใช่การแต่งตัวเก๋ไก๋ไปวันๆ’ แต่สะท้อนตัวตน แนวคิด และวิสัยทัศน์ที่มีต่อโลกใบนี้

“การประท้วง ไม่ใช่การจราจล และเป็นวิธีการแสดงออกของผู้คนในประเทศนี้” – แป้ง รสิตา นักแปลและล่ามผู้ใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศส เน้นย้ำว่าเราต้องแยกสองสถานการณ์ออกจากกัน แม้ว่าในบางครั้งการประท้วงอาจจะบานปลายเพราะมีผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสเข้าร่วมสร้างสถานการณ์ “ประท้วงในฝรั่งเศสจะมีการนัดหมายกำหนดการชัดเจนว่าจะทำอะไร เมื่อไร เราที่ติดตามข่าวก็จะปักหมุดไว้ว่า วันนั้นวันนี้มีการนัดหยุดเดินรถไฟนะ หยุดเที่ยวบินนะ จะไม่มีการให้บริการนะ ก็ต้องวางแผนให้ดี แต่ทุกคนที่นี่เคารพสิทธิ์ของผู้ที่ออกไปร่วมประท้วงด้วยความบริสุทธิใจ เพราะการชุมนุม การเรียกร้อง การประท้วงโดยสงบเป็นหนึ่งในวิธีแสดงออกตามวิถีประชาธิปไตย”

และแม้เหตุการณ์ Paris Mai 1968 ผ่านมาแล้ว 55 ปี แต่ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ผลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์โลกเช่นนี้จะยังคงอยู่ในความสนใจของผู้คนทุกยุคสมัย และในอนาคตก็คงมีนักออกแบบสายเลือดใหม่นำเรื่องเหล่านี้มาใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อให้โลกแฟชั่นทำหน้าที่สะท้อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความขมขื่นและงดงามของระบบประชาธิปไตยเคียงคู่กันไปกับโลกใบนี้ ที่เราหวังว่าจะมีความสงบสุขอย่างแท้จริงในสักวัน

Similar Articles

More