Words : Paranee P.Pipat
Photo : Pathomporn Phueakphud / Wasu Sukatocharoenkul
Fashion Editor : Ratchakrit Chalermsan
เฉลิมฉลอง 15 ปีแห่งความสำเร็จของเครือ Asava ด้วยบทสนทนาที่จะมาตีแผ่ความคิด ชีวิต และจิตวิญญาณของ หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซเนอร์ที่พา Asava เดินทางบนวงการแฟชั่นมาอย่างยาวนาน ด้วย ASAVA แบรนด์เสื้อผ้าเรียบหรู, ASV แบรนด์ที่มีกลิ่นอายของความสนุกสนาน, WHITE ASAVA แบรนด์ชุดเจ้าสาวที่เปี่ยมไปด้วยความสง่างาม, Uniform by Asava แบรนด์ยูนิฟอร์มร่วมสมัย และ MOO แบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายที่ใส่สบายและใช้ได้ทุกวัน ซึ่งแต่ละแบรนด์ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่ต่างจาก ‘หมู’ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทุกแบรนด์ที่กล่าวมา
EM : รู้สึกอย่างไรกับวาระครบรอบ 15 ปีของเครือ Asava?
Moo : ดีใจครับ ดีใจว่าเรายังอยู่รอดได้ (หัวเราะ) มันอาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่มันดีพอ เราเคยผ่านช่วงเวลาที่เรารีบเร่งกระเสือกกระสนมาก ๆ แล้วมันทำให้เรากระวนกระวาย แต่ตอนนี้พี่เดินมาถึงจุดที่เข้าใจคำว่าพอดีด้วยความน้อมใจรับ แล้วทุกอย่างมันก็ไปได้อย่างราบรื่น
คือพี่ไม่สามารถทำงานทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวอีกต่อไป ทั้งหมดมันคือทุกคน ฉะนั้นถ้าทุกคนไม่ได้เห็นพ้องต้องกัน มันจะไม่มีทางคลอดอะไรออกมาได้เลย แล้วถ้าเขาไม่ซื้อหรือเคารพในสิ่งที่พี่อยากทำ งานมันก็จะไม่มีจิตวิญญาณ ไม่ได้สวยงามอะไร ทุกวันนี้การขายฝันของพี่คือการขายฝันให้กับทุกคนในองค์กร มันเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องมีภาพเดียวกันในหัว แล้วเขาต้องมองเห็นคุณค่าของภาพนี้แบบที่พี่เห็นด้วย
พี่ว่าดีเอ็นเอข้อหนึ่งมันคือสิ่งที่กลั่นออกมาจากใจ แล้วไม่ใช่ใจพี่คนเดียว มันต้องใจทุกคนในองค์กรที่ตั้งใจนำเสนอสิ่งเหล่านี้ให้กับคนไทยหรือคนทั่วโลกได้เห็น นี่เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกับทุกคนว่าเขาพร้อมเดินทางไปกับสิ่งที่พี่ฝันหรือเปล่า
EM : ที่ผ่านมามีการเติบโตไหนที่ภูมิใจที่สุดไหม?
Moo : MOO เป็นแบรนด์ที่ผ่านการฝ่าฟันมาเมื่อปี 2019 นี่เอง ตั้งแต่เปิดมาก็เจอทุกอย่างที่ไม่ควรเจอ ตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเมือง เปิดป็อปอัปวันแรกปั๊บก็ตั้งประท้วงกันตรงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วทุกครั้งที่จัดอีเวนต์ก็จะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเสมอ
ดีเอ็นเอของแบรนด์ที่ตั้งไว้ตอนแรกคือเราอยากทำอีคอมเมิร์ซอย่างเดียว สองคือเป็น Essential Pieces ทุกครั้งที่พี่เริ่มแบรนด์พี่จะมีภาพในหัวเสมอ ASV เป็นแบบนี้ White Asava เป็นแบบนี้ MOO เป็นแบบนี้ แล้วทุกภาพที่วาดไว้ในหัวอะ ผิดทุกภาพ
EM : ภาพของ MOO ตอนแรกเป็นอย่างไร?
Moo : MOO ที่ต้องการคือของเบสิกที่ผู้ชายควรจะมี กางเกงวอร์มเทา กางเกงทักซิโด้ดำ เสื้อสเวตเชิ้ต เบสิกที คือพี่มีของเยอะ แต่ของที่วนกลับมาใส่อยู่เสมอมันมีอยู่ไม่กี่ชิ้น คิดง่าย ๆ ว่าถ้าไปทริปสามวันสองคืน 72 ชั่วโมงนี้ควรมีอะไรในกระเป๋าบ้าง แบรนด์ MOO เลยถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความเป็น Essential Pieces
แล้วพี่หลงใหลกับคอลเลจไลฟ์สไตล์มาก เหมือนแฟชั่นมันควบคู่ไปกับความเป็นหนุ่มสาว ทุกวันนี้เวลาไปต่างประเทศพี่จะชอบไปเดินแถวมหาวิทยาลัย ถ้าไปเกาหลีก็จะไปฮงแด ถ้าไปอเมริกาก็จะไปแถวบอสตันยู แถวฮาร์วาร์ด เราอยากเห็นว่าเด็กเขากำลังก้าวไปในทิศทางไหน เขามิกซ์ของยังไง เขากินอะไร พี่รู้สึกว่าสุดท้ายแล้วมันจะเทิร์นเป็นกระแสใหญ่ เพราะเด็กเหล่านี้เป็น mover and shaker ในอนาคต พวกเขามีพลังที่จะก้าวไปข้างหน้าโดยไม่กลัวว่ามีฝันร้ายรออยู่หรือเปล่า มันเป็นพลังบวกที่เราชอบ
เวลาไปสอนนักศึกษาพี่จะชอบฟังว่าเขาพูดอะไร แล้วก็เก็บมาตกตะกอนหรือคิดอะไรได้เสมอ MOO มันถูกสร้างขึ้นมาจากความหลงใหลหลาย ๆ อย่าง แต่มันก็กลายร่างมาเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่พี่ชอบและไม่เคยนึกว่าจะทำได้ คอลเลกชั่นนี้ก็เป็นอีกคอลเลกชั่นหนึ่งที่ใกล้เคียงกับความฝันที่สุด เป็นการนำเสนอเสื้อผ้าผู้ชายในแบบสบาย ๆ
EM : แสดงว่าตอนนี้เป็น MOO ที่ตกตะกอนแล้ว?
Moo : ดีเอ็นเอของ MOO มีความ Preppy / Workwear / Vintage / Streetwear การทำแฟชั่นมันไม่เคยตกตะกอนร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่มันเป็นการตกตะกอน ณ วินาทีนี้ ณ ชั่วโมงนี้ ณ บริบทนี้ นี่คือสิ่งหนึ่งที่คุณต้องเรียนรู้เกี่ยวกับแฟชั่น
มันอาจจะใช่ที่สุดเท่าที่คุณทำได้ในเวลาและบริบทนี้ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน ความชอบของตัวเราเองเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยน สิ่งที่เราทำค้างไว้มันก็อาจจะไม่ใช่ นั่นคือความงามของแฟชั่น มันอาจจะมีดีเอ็นเอที่เป็นเนื้อแท้แฝงอยู่ ขณะเดียวกันมันก็มีวิวัฒนาการที่เราอาจจะต้องยอมรับและก้าวเดินไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง
EM : ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ พี่หมูเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองและแบรนด์อย่างไรบ้าง?
Moo : เราเรียนรู้ว่า Essential Pieces ที่เป็นคอนเซปต์ตั้งต้นมันอาจจะเป็นสิ่งที่เราชอบ แต่เวลาทำงานเราเอาอัตตาและความชอบส่วนตัวเป็นที่ตั้งไม่ได้ สุดท้ายเราต้องฟังผู้บริโภค ฟังบริบท ฟังสังคม ฟังอุตสาหกรรมแฟชั่น ฟังหลาย ๆ อย่าง ศิลปะของการเป็นดีไซเนอร์คือการผสมผสานสิ่งเหล่านี้และปั้นคอลเลกชั่นขึ้นมา
ทุกวันนี้คอลเลกชั่นมันเริ่มได้ดั่งใจละ ไม่ได้รู้สึกเคอะเขินกับผลงาน เป็นสิ่งที่พี่ชอบและใส่ทุกชิ้นเลย พี่ตายตาหลับ แต่มันก็มีปัญหาอื่นที่ต้องลดตรงนั้น ทอนตรงนี้ ดีไซเนอร์ต้องหาจังหวะนั้นให้เจอ พอเจอแล้วก็ต้องพัฒนาต่อไป Asava นี่เจอก่อนเพื่อนเลย ตอนนี้ ASV ก็เริ่มเจอ ส่วน MOO ก็เริ่มถอดรหัสได้ประมาณหนึ่งว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้ชาย MOO ต้องการ แล้วก็เป็นสิ่งที่เราต้องการทำด้วย
EM : จุดแข็งของพี่หมูคืออะไร?
Moo : เราไม่เคยพูดผ่านกระแสนิยมหรือมีเดียอื่น ๆ นอกจากผลงานของเรา เราเป็นคนทำงานเสื้อผ้า เราให้เสื้อผ้าของเราพูด เราไม่ให้คนถามว่าโชว์นี้มีกิมมิกอะไร มีแม็กเน็ตอะไร เพราะแม็กเน็ตของเราคือจิตวิญญาณที่อยู่ภายใต้คอลเลกชั่นนั้น
เคล็ดลับน่าจะเป็นความไม่ย่อท้อมากกว่า สมมติรู้ว่ามาผิดทาง เราก็ไม่ได้รู้สึกพ่ายแพ้ที่จะหันหลังกลับแล้วเลี้ยวซ้ายใหม่ เลี้ยวขวาใหม่ เจอทางตันอีกก็เลี้ยวซ้ายใหม่ เลี้ยวขวาใหม่ แล้วเราก็ไม่ได้ดื้อดึงที่จะเดินต่อไปโดยที่รู้ว่าอาจจะไม่ใช่ พี่ว่าอันนี้มันเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ทุกแบรนด์เจอหนทางของมันในที่สุด
เราไม่ได้ใจร้อนที่จะประสบความสำเร็จ แสวงหากำไร หรือเป็นกระแส แต่เรามองหาหนทางที่ถูกต้องสำหรับจิตวิญญาณและตัวเราเอง สุดท้ายเมื่อประตูนั้นมันเปิด เมื่อเราหากลุ่มก้อนของเราได้ มันจะลื่นไหลไปเองตามธรรมชาติ ทุกอย่างมันมีจังหวะของมันเนอะ พี่ว่าดีไซเนอร์หลาย ๆ คนอาจจะคิดได้แต่ไม่มีเวลามากพอ บางคนอาจจะต้องทำกำไรเลย อาจจะต้องรีบร้อนที่จะมีชื่อเสียง
คือมันไม่เกี่ยวกับเงิน สถานะ หรือการศึกษา แต่มันเป็นเรื่องของสภาวะจิตที่รู้ว่าความสำเร็จมันจะมาอย่างไร อาจจะเป็นเม็ดเงิน ชื่อเสียง ยอดขาย อะไรก็แล้วแต่ แต่สำหรับพี่มันคือจุดที่รู้สึกว่าฉันได้ทำในสิ่งที่ฉันภูมิใจ แล้วมันก็ใกล้เคียงกับความฝันฉันที่สุด
พี่เชื่อใน Placebo Effect ตั้งแต่เด็ก แล้วพี่ก็ใช้มันมาตั้งแต่ตอนที่ยังไม่รู้จักคำนี้ ทุกอย่างตรงหน้าพี่ทุกวันนี้เนี่ย พี่เห็นมันตั้งแต่อายุสิบห้าสิบหก พี่เห็นตึกนี้ เห็นไม้แขวนเสื้อ เห็นห้อง White เห็นพนักงานใส่เสื้อกาวน์สีขาว พี่จินตนาการมาตลอดว่าพี่อยากมีชีวิตแบบนี้ แล้วเราก็ทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราอยากเป็น มันเป็นกฎแรงดึงดูดอะ I work for who I want to become, I don’t work for who I am today.
EM : ตอนนี้ภาพที่พี่หมูอยากจะเป็นคืออะไร?
Moo : พี่มองไปมากกว่าตัวเองแล้ว พี่อยากจะทำอะไรให้กับประเทศชาติ อยากทำอะไรให้กับวัฒนธรรมไทยในฐานะที่เป็นคนไทย คือเราพูดกันจนคลิเช่แหละ ธุรกิจสร้างสรรค์ ซอฟต์พาวเวอร์ คำอะไรอีกหลาย ๆ คำ แต่เรายังต่อจุดไม่ได้สักที พี่อยากให้ถึงเวลาที่มันจะเกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งมีต้นทุนทางวัฒนธรรมมหาศาล มีทุกอย่างตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
เวลาทำงานแน่นอนว่าคนเราก็หวังผลทางธุรกิจ แต่พอเราใกล้หมดแรง เราจะหวังว่าพอมองย้อนกลับมา เราจะเห็นว่าแรงของเราไม่ได้สูญเปล่า มันเกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวม ตัวเอง วงศ์ตระกูล เกิดขึ้นกับคนไทย บริษัท คนรอบตัว และทุกคนที่เราเคยร่วมงานด้วย
EM : ความยากและความท้าทายของวงการแฟชั่นในยุคนี้คืออะไร แล้วพี่หมูปรับตัวอย่างไร?
Moo : ความง่ายก็คือมันเข้าง่ายขึ้น แล้วอุตสาหกรรมมันเริ่มมีไบเบิล ต่างจากยี่สิบสามสิบปีก่อน ถ้าบอกว่าจะเป็นดีไซเนอร์นี่ไม่มีใครยอมรับ หรือสมัยก่อนบอกว่าเป็นดาราก็ไม่มีใครยอมรับ ทุกวันนี้พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นดารา แต่คนที่จะเกิดได้มันคือ 0.0000001% แล้วคนที่จะต่อยอดและอยู่ได้อย่างยั่งยืนมันน้อย เช่นเดียวกับแฟชั่น มันเกิดง่าย แต่ตั้งอยู่และทำให้ยั่งยืนยาก
แฟชั่นมันเป็นตัวสะท้อนสังคม พอโลกมันหมุนเร็ว ตัวแบรนด์ก็ต้องหมุนเร็ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่มีอะไรเกาะคุณก็จะหลุดออกจากวงโคจรไปเลย แต่ถ้าคุณเกาะแล้วค่อย ๆ ไป คนอื่นเขาก็นำหน้าคุณไปหมดแล้ว เราจะยึดอยู่กับแกนของแบรนด์อย่างไรให้มันหมุนไปพร้อมกับสังคมได้โดยที่ไม่อืดอาดเหมือนม้าหมุน แล้วการหมุนเร็วไม่ได้ใช้แค่สติหรือจิตวิญญาณ มันต้องมีทีมงาน มีการลงทุน
ตอนนี้นอกจากจะต่อสู้กับแบรนด์ไทยด้วยกัน เรายังแข่งกับฟาสต์แฟชั่น ซูเปอร์แบรนด์ แบรนด์ที่มีเงินทุนและทรัพยากรมนุษย์มหาศาล โห มันเป็นเรื่องยาก ถ้าคุณไม่ได้มีความมุ่งมั่น ความเพียร ความอุตสาหะ ความตั้งใจจริง ๆ คนจะชอบคิดว่าดีไซเนอร์เป็นอาชีพที่สบาย แต่จริง ๆ มันต้องมีวินัย ทั้งทางความคิด ทางจิต ทางการกระทำ ไหนจะต้องมีวินัยในการพัฒนาตัวเองอีก เป็นมนุษย์เงินเดือนอาจจะง่ายกว่าด้วยซ้ำ
EM : พี่หมูเฆี่ยนตัวเองบ้างไหม?
Moo : พี่อาจจะเฆี่ยนตัวเองมาตั้งแต่เด็กจนชิน ถูกทาพริกกับเกลือมาจนไม่รู้สึกว่าตอนนี้มันคือการเฆี่ยนอะไร ไม่ใช่ว่าเราไม่เหนื่อย ไม่เจ็บ ไม่ล้ม แต่เรามีกำลังที่จะเดินต่อไป อันนี้อาจจะเป็นข้อดีข้อเดียวของแพสชั่นเลย
พี่เป็นพุทธศาสนิกชนที่แย่มาก คือพี่ไม่เคยอยู่กับปัจจุบันเลย พี่อยู่กับข้างหน้าเสมอ พี่ติดกับชีวิตที่ต้องรีบแต่งตัวเอาเสื้อยัดกางเกง ก่อนนอนก็จะดูทีวีสามสี่ช่อง เปิดเน็ตฟลิกซ์หนึ่ง ดูสารคดีอีกหนึ่ง ดูข่าว โทรศัพท์ก็ดูไอจีอะไรไป วันหนึ่งพี่ดูหนังได้สามสี่เรื่อง คือมันเป็นอาหารชีวิตพี่เพราะพี่ไม่มีเวลาออกไปหาดูงานศิลปะเหมือนเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้ชีวิตพี่ช้าลงนิดหนึ่งเพราะมีลูก บางทีรีบอาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็มานั่งคิดได้ว่า เอ๊ะ ฉันไม่ได้มีอะไรนี่หว่า
EM : ทุกวันนี้กิจวัตรประจำวันของพี่หมูเป็นอย่างไร?
Moo : พี่ไม่เคยแบ่งเวลาเลยเชื่อไหม เวลาที่เราทำอะไรที่เป็นตัวตนของเรา มันจะออร์แกนิก พอมันออร์แกนิกทุกอย่างมันจะจัดสรรของมันเองเลยว่าเราต้องตื่นกี่โมง ไปยิมกี่โมง ทำงานกี่โมง ประชุมกี่โมง ให้เวลากับครอบครัวกี่โมง โดยที่เราจะยุ่งอะไรกับมันไม่ได้เลยเพราะมันต้องเป็นแบบนั้น เราแค่น้อมรับมันแล้วก็ทำมันให้ดีที่สุด
EM : พี่หมูยังเชื่อในความเพียรมากกว่าแพสชั่นอยู่ไหม?
Moo : ไม่ได้เชื่อในความเพียรมากกว่าแพสชั่นนะ แต่เราคิดว่าแพสชั่นที่ปราศจากความเพียรมันไม่มีอะไรเลย มันเป็นแค่วาทกรรม เวลาไปสอนนักศึกษาทุกที่พี่จะพูดเสมอว่า ห้ามพูดถึงความฝันอย่างเดียว ต้องพูดถึงความใฝ่ฝัน มันเป็นคำไทยที่มีความหมายที่สุด มันคือแพสชั่นและความเพียร สองอย่างนี้ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้
ฝันอย่างเดียวไม่มีประโยชน์ถ้าคุณไม่ใฝ่ แต่ถ้าใฝ่อย่างเดียวโดยที่ไม่มีฝันชีวิตมันก็แห้งเกินไป ในบางช่วงของชีวิตความฝันอาจจะทำงานมากกว่า ในบางช่วงเวลาความใฝ่ก็อาจจะต้องทำงานมากกว่า มันจะสลับกันไปเรื่อย ๆ พี่ก็ไม่ได้นึกหรอกว่าวันหนึ่งจะมาทำโชว์ 15 ปี มันใช้แรงมหาศาล แต่เราใช้เวลาฝันกับมันไปนานละ ช่วงเวลาสี่ห้าเดือนนี้เลยเป็นช่วงเวลาที่เราต้องใฝ่ทำมัน
พอจบโชว์แล้วเดือนธันวาคมนี้ก็จะมีนิทรรศการศิลปะซึ่งน่าสนใจมาก คือการทำแบรนด์ Asava มันเหมือนพี่สร้างสัตว์ประหลาดขึ้นมาตัวหนึ่ง ซึ่งพี่จะเล่าว่าสัตว์ประหลาดตัวนี้มันเกิดมาจากกายหยาบ ความรู้สึกไม่เข้าพวก กิเลส หลาย ๆ สิ่งผสมผสานกันจนกลายเป็น Ideology ชนิดใหม่ที่ทำให้พี่สร้างสัตว์ประหลาดอีกตัวขึ้นมา แต่กลายเป็นว่าพี่ไม่สามารถควบคุมสัตว์ประหลาดที่ชื่อ Asava ได้แล้ว มันมีชีวิตของมัน มีแขนขากว้างใหญ่ สามารถทำอะไรต่ออะไรที่ทำให้เราทึ่งได้