ข่าวใหญ่ในโลกแฟชั่นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาคือการบอกลาระหว่าง Matthew M. Williams (แมทธิว วิลเลียมส์) และ Givenchy หลังนักออกแบบสายสตรีตผู้ก่อตั้งแบรนด์ 1017 ALYX 9SM ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของเมซงหลังนี้มาร่วม 3 ปี โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนตัวผมไม่ได้เซอร์ไพรส์ เพราะเคยเกริ่นบนเฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งแต่เขานำเสนอผลงานแรกสำหรับกูตูร์เฮาส์หลังนี้ในฤดูกาล Spring/Summer 2021 ว่าน่าจะอยู่กับ Givenchy ได้ไม่นาน และเริ่มมั่นใจยิ่งขึ้นหลังได้เห็นผลงานตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ถึงขั้นเคยกล่าวไว้ว่าเขาน่าจะอยู่ได้เพียงสัญญาฉบับเดียว … และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ผมไม่ใช่ผู้วิเศษที่สามารถหยั่งรู้โลกอนาคต และไม่ใช่ว่า Matthew คือนักออกแบบที่ไม่เก่ง เพียงแต่ที่คิดเช่นนั้นเป็นเพราะมองว่าเคมีและดีเอ็นเอของทั้งคู่ไม่เข้ากัน อีกทั้ง 3 ปีนี้นับตั้งแต่เปิดตัวในตำแหน่งอันทรงเกียรติก็เริ่มประเดิมด้วยเรื่องดราม่ากับภาพถ่ายขาวดำที่เขายืนหันหลัง มือล้วงกระเป๋าเพื่อโชว์รอยสักรูปไม้กางเขนบริเวณต้นคอ มีทีมช่างยืนเป็นฉากหลังราวกับกำลังต้อนรับราชาคนใหม่นั้นถูกวิจารณ์ว่าดูเหมือนไม่ค่อยให้เกียรติผู้ร่วมงานมากประสบการณ์ สวนทางกับภาพความอ่อนน้อมที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนก่อนๆ หน้า John Galliano (จอห์น กัลลิอาโน), Lee Alexander McQueen (ลี อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน), Julien MacDonald (จูเลียน แม็ดโดนัลด์), Riccardo Tisci (ริคคาโด ทิชชี่) และ Clare Waight Keller (แคลร์ เวท เคลเลอร์) ถูกประกาศให้เข้ารับตำแหน่ง
Matthew M. Williams
“เขาจะทำโอตกูตูร์ได้ไหม?” – อีกคำถามชวนสงสัยของบรรดาแฟนๆ Givenchy ที่เกิดขึ้นเมื่อประกาศให้นักออกแบบสายสตรีทแห่งยุคเข้าคุมบังเหียนเฮาส์หลังนี้ แต่ในท้ายที่สุดเวลา 3 ปีที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้คำตอบ! เพราะ Givenchy ในยุค Matthew M. Williams ที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะมีโชว์กูตูร์ตั้งแต่ปี 2021 ก็เลื่อน (แบบเนียนๆ และเงียบไปเลย) ไปเรื่อยๆ การโชว์ศักยภาพด้านการตัดเย็บร่วมกับทีมช่างอาภรณ์ชั้นสูง ปรากฏมาเพียงรูปแบบชุดราตรีบนพรมแดงงานใหญ่ และเทเลอร์คัตติ้งคมกริบ 4 ลุคแรกในคอลเล็กชั่นชายฤดูกาล Men’s Fall/Winter 2023
นอกจากนั้นก็เป็นการสร้างสรรค์ผลงานโดยได้แรงบันดาลใจมาจากโอตกูตูร์ชิ้นเลื่องชื่อในอดีต (อย่างหมวกตกแต่งเขาสัตว์คอลเล็กชั่นแรกซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากโอตกูตูร์ในยุคของ Lee Alexander McQueen) และคอยปัดฝุ่นชิ้นไอคอนิกขายดีที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ตกแต่งให้เป็นสไตล์ของเขา (อย่างรองเท้าบูตคู่ยาว ตกแต่งเขี้ยวฉลามที่ริคคาร์โด ทิสซี่สร้างสรรค์ไว้) ส่วนผลงานของ Matthew เองที่แฟนๆ จำได้มีเพียงเบลเซอร์ตกแต่งตัวล็อกที่ทำไว้ตั้งแต่คอลเล็กชั้นแรก
Givenchy Spring/Summer 2021 ผลงานแรกโดย Matthew M. Williams
และอีกประเด็นที่ส่อให้เห็นว่า Givenchy ในยุค Matthew M. Williams ดูไปได้แบบไม่ราบรื่นนักคือการเปลี่ยนตัวสไตล์ลิสต์หรือที่ปรึกษามากถึง 3 ราย โดยแต่ละรายล้วนเป็นสุดยอดทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่ Lotta Volkova (ล็อตตา โวลโกวา) ที่มาร่วมดูแลในช่วงแรก เธอคือเบื้องหลังความสำเร็จของ Balenciaga ยุค Demna และ Miu Miu ในวันนี้), Panos Yiapanis (ปาโนส เยปานิส) เบื้องหลังความสำเร็จของ Givenchy ในยุค Riccardo Tisci และแบรนด์ตัวพ่อสายดาร์ก Rick Owens) และล่าสุด Carine Roitfeld (การีน รอตเฟลด์) ตัวแม่แห่งวงการที่เคยร่วมกันทำให้ Gucci ยุค Tom Ford (ทอม ฟอร์ด) ได้รับความนิยมถึงขีดสุด แต่ก็ดูท่าว่ากระแสยังคงไม่เป็นไปตามคาด
และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวสไตล์ลิสต์หรือที่ปรึกษา ภาพรวมของคอลเล็กชั่นที่เขาออกแบบก็ดูเปลี่ยนไปราวกับเขวไปมาไม่มีจุดยืนชัดเจน แม้ผมไม่ทราบถึงสาเหตุว่าทำไมแบรนด์จึงต้องคอยหาคนมาช่วยกันพยุง Matthew มากมายขนาดนี้ แต่ก็เป็นการชวนให้คิดหรือถ้าเป็นตัวเขาเองเพียงลำพังอาจจะเอากูตูร์เฮาส์หลังนี้ไม่อยู่หรือไม่? ซึ่งประเด็นนี้ก็ชวนให้แฟนๆ พากันสงสัยกันถ้วนหน้า
แต่สุดท้ายนี้ผมก็อยากจะเน้นย้ำคำเดิมที่กล่าวไว้ตอนต้น “ไม่ใช่ว่า Matthew คือนักออกแบบที่ไม่เก่ง” เพราะแบรนด์ ALYX พิสูจน์แล้วว่าทำไมเขาจึงประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับจนทาง Givenchy ชักชวนให้มาร่วมสานต่อตำนานของเฮาส์หลังนี้ต่อจาก Clare Waight Keller แต่! อาจเป็นเพราะเคมีหรือดีเอ็นเอของทั้งคู่ไม่สอดประสานกัน นั่นจึงทำให้เขาอยู่กับเมซงเก่าแก่ได้เพียง 3 ปี … แต่ตอนนี้ได้มีเวลาโฟกัสกับแบรนด์ที่เจ้าตัวรักและปลุกปั้นมากับมือ และพร้อมทำโปรเจกต์ใหม่ๆ ซึ่งผมยังขอส่งกำลังใจและติดตามผลงานของเขาต่อไป ขณะเดียวกันก็ใจจดใจจ่อรอลุ้นว่าใครจะได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติ เป็นผู้นำทัพของอาณาจักร Givenchy รายต่อไป