หากพูดถึงงานพรมแดงแห่งปีที่คอแฟชั่นเฝ้ารอ Met Gala ที่จะจัดขึ้นในวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคม หลายคนคงนึกถึงภาพเหล่าเซเลบริตีระดับเอลิสต์ และผู้ที่มีความสำคัญในวงการศิลปะแขนงต่างๆ แต่งตัวด้วยชุดหรูหรา บ้างก็ดีไซน์แปลกตามาประชันกันว่าใครจะโดดเด่นที่สุดในงาน โดยอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของ Met Gala 2023 ที่ผมอยากจะหยิบมาพูดถึง นอกจากชุดของดีไซเนอร์ชั้นนำนั้นก็คือ ‘การตกแต่ง’ ที่เชื่อมโยงกับธีมงานในแต่ละปี ซึ่งในคราวนี้คือ ‘Karl Lagerfeld: A Line of Beauty‘ จัดขึ้นเพื่อสดุดีแด่ไคเซอร์ ‘คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์’
รั้วต้นไม้ทรงพุ่มตัดแต่งประดับดอกไม้เป็นฉากหลังสุดไอคอนิก ภาพที่คุ้นชินทุกปีทุกเปลี่ยนใหม่อย่างสิ้นเชิงโดย Tadao Ando (ทาดาโอะ อันโดะ) สถาปนิกผู้โดดเด่นในสไตล์บรูทัลลิสต์ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้ออกแบบนิทรรศการคราวนี้ เมื่อมองขึ้นไปบนกำแพงเราจะเห็นลวดลาย trompe l’oeil ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะการตกแต่งภายในของฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 18 จากอพารต์เมนต์ของคาร์ลในกรุงปารีส ออกแบบโดย Derek McLane (เดเรก แมคเลน) นักออกแบบฉากโรงละคร กำแพงต้นไม้แบบเดิมถูกแทนที่และล้างภาพความจำเจด้วย ‘ขวดน้ำรีไซเคิล‘ ที่ส่องสว่างด้วยหลอดไฟ LED ขวดน้ำเหล่านี้ยังถูกนำไปใช้เป็นวัสดุหลักในการทำโคมไฟระย้าที่แขวนเด่นอยู่หนือพรม นอกจากนี้หลังจากจบงาน ‘ขวดนับพันจะถูกส่งไปรีไซเคิล’ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในอนาคต
ผลงานของ ทาดาโอะ อันโดะ เป็นที่ชื่นชอบของ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ อย่างมากถึงขนาดที่เขาเคยออกหนังสือภาพถ่ายสถาปัตยกรรมของเขา ‘Karl Lagerfeld, Tadao Ando – Vitra House’ ในปี 1998 การออกแบบที่มุ่งเน้นการมองไปสู่อนาคตเหมือนแนวคิดของคาร์ล “ด้วยเรื่องสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน เราต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญ ทำให้สิ่งของในชีวิตประจำวันของเรามีมากกว่าหนึ่งวงจรชีวิต เราหาวิธีสร้างงานออกแบบที่ยั่งยืน นำขวดไปใช้ในการติดตั้งให้ออกมาดูน่าทึ่งซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่เราเคยทำมาก่อน” Raul Àvila อีเวนต์ดีไซเนอร์ กล่าวกับนิตยสาร Vogue เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่นเพียงอย่างเดียวก็สามารถปล่อยมลพิษทางน้ำทั่วโลกมากถึง 20 เปอร์เซนต์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2573 ตามรายงานของสหประชาชาติ
Photo: Metropolitan Museum of Art
ส่วนลายเส้นหมุนวนคดเคี้ยวบนพรมมีชื่อเรียกว่า ‘เส้นสายแห่งความงาม’ เป็นทฤษฎีของ William Hogarth (วิลเลียม โฮการ์ธ) จิตรกรสมัยศตวรรษที่ 18 ที่แนะนำว่าเส้นโค้งรูปตัว S แสดงถึงความมีชีวิตชีวาและความตื่นเต้น ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเชื่อมโยงกับนิทรรศการคราวนี้