ย้อนกลับไปราว 25 ปีที่แล้ว มีโมเมนต์สุดเซอร์ไพรส์ที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก นักฟุตบอลคนดัง David Beckham ตัวแทนของ ‘ยอดชาย’ ที่ทั้งเตะบอลเก่ง หล่อ รวย แถมมีแฟนสวย จนสื่อบันเทิงบางสำนักยกตำแหน่ง ‘ผู้ชายที่น่าอิจฉาที่สุดในโลก’ สวมครื่องแต่งกายท่อนล่างดูคล้ายกระโปรงจากคอลเล็กชั่นฤดูร้อนปี 1998 ของแบรนด์ดัง Jean Paul Gaultier “นี่ๆ … เห็นเบคแคมใส่กระโปรงแล้วยัง?” บทสนทนาที่กลายมาเป็นท็อปปิกหลักไม่เพียงในกลุ่มของคนเสพแฟชั่น แต่แวดวงกีฬาและสื่อบันเทิงแนวกอสซิปต่างพากันเล่นประเด็นนี้อย่างสนุกสนาน
David Beckham และ Victoria Adam
ถ้าภาพของพ่อหนุ่มนักเตะฝีมือฉกาจที่ไปร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำก่อนการแข่งขัน FIFA World Cup 1998 ไม่ได้ควงแฟนสาว Victoria Adams แห่งวง Spice Girls ไปด้วย ก็คงทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเขาต้องเป็นเกย์แน่ๆ ต้องขอบคุณเจ้าเครื่องแต่งกายชิ้นนั้นที่ไม่เพียงทำให้ภาพคู่รักข้าวใหม่ปลามันกลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ แต่ยังถูกหยิบไปเป็นประเด็นชวนถกเรื่อง ‘ฉีกกรอบการแต่งกายของบุรุษ’ ในยุคที่เรายังไม่เห็นคนดังชายแท้รายใดกล้าลุกขึ้นมาสวมเครื่องแต่งกายรูปแบบนี้ในชีวิตประจำวัน ที่แน่ๆ การนุ่งท่อนล่างเช่นนั้นไม่ได้ทำให้ใครคิดว่าเขาเป็นชาว LGBTQ+ แต่อย่างใด เมื่อสาว Posh Spice ออกมาให้สัมภาษณ์ถึง ‘ความเร่าร้อน’ ของนักเตะหมายเลข 7 รายนี้ว่า ‘แซ่บ’ แค่ไหน
ตัดภาพกลับมาปัจจุบัน หลายแบรนด์ดังระดับโลกนำเสนอ ‘กระโปรง‘ ให้กลายเป็นชิ้นเด่นสำหรับคอลเล็กชั่นรับลมร้อน ต่อเนื่องไปยังฤดูหนาวสำหรับบุรุษ ประจำปี 2023 … นักแสดงดัง Lucien Laviscount จากซีรีส์ฮิต Emily in Paris สวมกระโปรงยาวไปร่วมชมโชว์ล่าสุดของ Louis Vuitton ขณะที่ Robert Pattinson เลือกสวมกระโปรงสั้นไปร่วมชมโชว์ Dior Men ไม่ได้ทำให้เราเซอร์ไพรส์ หรือถูกหยิบไปเล่นเป็นประเด็นอย่างในกรณีของเบคแคม … ก็แน่ละครับ เวลาต่างกันนานถึง 25 ปี แล้วระหว่างทางสองทศวรรษนี้โลกได้หมุนมาสู่จุดที่เราได้เห็นแฟชั่นกระโปรงสำหรับผู้ชายจนชินตา แถมเส้นแบ่งรสนิยมทางเพศที่ยึดโยงกับเครื่องแต่งกายภายนอกก็ดูบางลงอย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้นจึงอาจดู ‘ล้าหลัง‘ ไปสักหน่อย หากจะทึกทักเอาเองว่าผู้ชายที่ลุกขึ้นมาสนุกกับแฟชั่นกระโปรง ทั้งที่คล้ายคิลต์ (Kilt) ของชายชาวสก็อต และที่ดูคล้ายกระโปรงสตรีนั้นจะต้องเป็นเกย์ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วการที่จะแมนหรือไม่ ไม่ได้วัดได้จากผ้าชิ้นเล็กๆ เพียงผืนเดียว ดังประโยคอมตะ “อย่าให้สังคมนำเครื่องแต่งกายมาเป็นตัวกำหนดว่าคุณแมนหรือไม่ แต่ปล่อยให้พฤติกรรมเป็นเครื่องพิสูจน์แทน” ที่ ฌอง-ปอล โกลติเยร์ นักออกแบบดัง ผู้นำเสนอกระโปรงชายให้โลกฮือฮามาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980 เจ้าของผลงานชิ้นเด่นที่เบคแคมนุ่งให้เราเซอร์ไพรส์ และกลายมาเป็นอีกภาพไอคอนิกของโลกแฟชั่นบุรุษ ได้กล่าวไว้ดูจะยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นในทศวรรษที่ 2020
Dior Men Fall/Winter 2023, Courtesy of Rasita Crouzatier
แต่แน่นอนครับว่าในเมื่อกระโปรงชายถือเป็นเรื่องใหม่ในโลกแฟชั่นบุรุษ เพราะช่วงชีวิตนี้คงไม่มีใครทันได้เห็นเครื่องแต่งกายที่ดูคล้ายเดรสและกระโปรงของผู้ชายยุคบรรพกาลก่อนจะมาสวมสิ่งที่เรียกว่ากางเกง ดังนั้นจึงยังมีคนอีกจำนวนมากที่อาจจะทำใจไม่ได้เมื่อเห็นชายแท้ อยากลองสัมผัสประสบการณ์นุ่งกระโปรง เครื่องแต่งกายที่สร้างภาพจำจนกลายมาเป็นตัวแทนของสตรี แถมคนไทยเองก็มีการประชดประเทียด ‘ไล่ให้ผู้ชายไปนุ่งกระโปรง‘ เมื่อมีพฤติกรรมที่สังคมขีดเส้นว่ากำลังประพฤติตัวไม่เข้าข่ายสุภาพบุรุษ เจ้ากระโปรงผู้น่าสงสารจึงตกเป็นจำเลยทันที ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงประเด็นนี้อาจทำให้ผู้ชายในหลายประเทศเกิดความสงสัยได้ว่า ‘กระโปรงไม่ดีอย่างไร?‘
ภาคภูมิ ร่มไทรทอง และ ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ ในโททัลลุคจาก Dior
เพราะปัจจุบันก็ยังมีชายชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นุ่ง ‘โสร่ง’ ผ้านุ่งที่คนในซีกโลกตะวันตกมองว่าคล้ายกระโปรง หรืออย่างชายชาวสกอตที่ยังสวมคิลต์ในโอกาสสำคัญ นี่ยังไม่รวมวัฒนธรรมกระแสหลักและรองอีกมากมายที่มีพลังในการขับเคลื่อนสังคม อาทิ ‘พังก์’ หรือกลุ่มหัวขบถที่หยิบเอาคิลต์มาสวม หรือบางโรงเรียนในไต้หวันและเปอร์โตริโกยอมอนุญาตให้นักเรียนชายสามารถสวมกระโปรงได้เท่าเทียมกับนักเรียนหญิงที่สามารถสวมกางเกง แม้แต่คนขับรถไฟชายในสวีเดนก็สามารถสวมกระโปรงไปทำงานในวันที่มีอากาศร้อนจัดได้เช่นกัน
คอลเล็กชั่นกระโปรงสำหรับผู้ชายที่โด่งดังจาก (ซ้าย) Givenchy Spring/Summer 2012 (ขวา) Versus Versace Fall/Winter 2015
อีกมิติที่ทำให้คนบางกลุ่มไม่ยอมทนกับการต้องเห็นผู้ชายมานุ่งกระโปรง เป็นเพราะอาจยังยึดติดอยู่กับเพศสภาพหรือเพศสภาวะ (Gender) ที่เปรียบได้กับการบัญญัติ ปรุงแต่ง ปลูกฝัง และกล่อมเกลาจากในบางสังคมและบางวัฒนธรรม นักวิชาการชั้นนำหลายท่านยังได้วิเคราะห์ด้วยว่า การนิยาม ‘ชายและหญิง‘ นั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม โดยมี ‘ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจ’ แฝงอยู่ ความไม่ชัดเจนในเพศสภาพ การสวมเครื่องแต่งกายที่ไม่ตรงกับเพศสรีระ (Androgynous) การแสดงออกเรื่องเพศสลับไปมา (Gender Fluid) จึงสั่นคลอนระบบระเบียบโครงสร้างอำนาจที่กำหนดขึ้น โดยเฉพาะกับสังคมที่กำหนดกรอบของเพศอย่างชัดเจน สังคมลักษณะนี้มักชูให้เพศสภาพหนึ่งอยู่เหนือเพศสภาพหนึ่ง ดังที่ทั่วโลกรับรู้ทั่วกันว่าในบางสังคม ‘เพศชายมักอยู่เหนือเพศหญิง’
ดังนั้นเพศสภาพที่ถูกยกให้อยู่เหนือกว่าจึงไม่ควรลดตัวลงมายุ่งเกี่ยวกับ ‘กระโปรง’ สัญลักษณ์ที่ใช้เป็นตัวแทนของเพศหญิง หรืออีกนัยคือเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับเพศที่ด้อยกว่านั่นเอง ซึ่งบรรทัดฐานเหลื่อมล้ำที่ว่านี้ล้วนเป็นมายาคติที่บางสังคมสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์บางประการ กระโปรงจึงกลายเป็นเพียงอีกสัญลักษณ์ที่ถูกนำไปใช้เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับเพศวิถี (Sexuality) ส่วนสังคมยุคใหม่ที่มีคนเปิดใจ ก็ได้ร่างกรอบวัฒนธรรมที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนโครงสร้างเดิมเอาไว้ โดยกรอบวัฒนธรรมที่ว่าคือ ‘เคารพในรสนิยมและความต่าง‘ ตราบใดที่เขาไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ทำอะไรที่ถูกกาลเทศะ เหมาะกับเวลา และเคารพสถานที่ แม้ว่าการแสดงตัวตนและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านเครื่องแต่งกายบางสไตล์อาจทำให้รู้สึกขัดตา แต่ก็ถือเป็นสีสันในสังคมที่คงไม่มีใครทำอะไรถูกใจเราได้ทั้งหมด
โดยเฉพาะกับโลกปัจจุบันที่หลายภาคส่วนกำลังพยายามลดช่องว่างระหว่างวัย เชื่อมรอยต่อระหว่างคนต่างเจเนอเรชั่น ปรับจูนทัศนคติของคนทุกกลุ่มตั้งแต่รุ่น Baby Boomer ไปจนถึง Gen-Z และ Alpha ที่เปรียบเป็นอนาคตของโลกใบนี้ ให้เดินไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน – “รู้สึกเฉยๆนะ มันเป็นแฟชั่น” พนักงานสาวประจำป๊อปอัพของ Versus Versace บนห้างหรูกลางกรุงโซลในปี 2016 ตอบสั้นๆ แต่สะท้อนความคิดของคนยุคใหม่ในประเทศที่ค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟได้น่าสนใจเลยทีเดียว เธอตอบคำถามเมื่อผมถามว่า ‘ไม่รู้สึกแปลกหรือที่เห็นผู้ชายมาซื้อกระโปรงใส่?‘ ด้วยท่าทีปกติ ไม่ได้รู้สึกสงสัย หรือมีสายตาดูแคลนที่เห็นผมใส่กระโปรงแต่อย่างใด ทั้งๆที่หากย้อนกลับไปราว 20-30 ปีที่แล้วอาจจะโดน ‘มองแรง’ เพราะคงไม่มีชายใดกล้าลุกมาใส่กระโปรงเดินในที่สาธารณะ อย่างที่ผมและแฟชั่นนิสต้าชายแดนโสมอีกหลายรายใส่ไปงาน Seoul Fashion Week ในฤดูกาลนั้น
คำตอบของพนักงานสาวยังสอดคล้องกับสิ่งที่ Dong Jun Kang ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของแบรนด์เกาหลี D.Gnak ที่นำเสนอกระโปรงชายหลายครั้งได้กล่าวไว้ ”มันคือแฟชั่น แฟชั่นต้องสร้างความสุขและทำให้เราสนุก” ซึ่งเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะไม่ว่าภาพของผมที่ใส่กระโปรง แล้วโดนถ่ายมาลงในกระทู้สตรีทแฟชั่นจากงานโซลแฟชั่นวีค บนเว็บบอร์ดดังตัว ‘P’ จะทำให้คนเห็นรู้สึกขัดใจหรือคันมืออยากวิจารณ์หรือไม่อย่างไร แต่สำหรับผมแล้วแค่รู้สึกสนุกแค่นั้นก็พอใจ เจ้ากระโปรงตัวที่ใส่จึงไม่เพียงทำหน้าที่เป็นเครื่องนุ่งห่มช่วยคลายหนาว แต่ยังเป็น ‘ชิ้นสเตทเมนท์’ ที่แสดงทัศนคติว่า วันนี้การกำหนดว่าเพศใดใส่อะไรได้หรือไม่ได้นั้น ‘เป็นเรื่องล้าสมัย’ และคอมเมนต์เชิงบูลลี่ที่มีต่อผู้ชายสวมกระโปรงก็ ‘เชยมาก’ เหมาะแก่การถูกแช่แข็งรวมกับคอมเมนต์เย้ยหยัน เดวิด เบคแฮม นุ่งกระโปรงเมื่อ 25 ปีที่แล้ว