ไขข้อสงสัยผมร่วงในผู้ชาย รู้ทันปัญหาก่อนสายเกินแก้

Story: พญ.อาริสา แก้วเกษ
Edit: ฆนากร เพชรตระกูล

หนึ่งในปัญหาที่ผู้ชายส่วนใหญ่มักเจออย่างหลีกเลี่ยงไมได้ และทำให้หลายคนเกิดความกังวลใจอยู่ไม่น้อยคืออาการผมร่วง-ศีรษะล้าน ปัญหาหนักใจที่ทำให้ต้องพยายามสรรหาวิธีการต่างๆ มารับมือทั้งการป้องกันและวิธีการรักษา ไม่ว่าจะเป็น การทานยา ทานอาหารเสริม วิตามินและเกลือแร่ ซึ่งในท้องตลาดมีผู้ผลิตหลายรายต่างคิดค้นนวัตกรรมสำหรับอาการผมร่วงผมบางออกมามากมาย 

แต่ทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันนี้ยังไม่มีงานวิจัยมากพอที่จะออกมาสนับสนุนว่า การทานวิตามินสามารถช่วยแก้ปัญหาผมร่วงได้ (ยกเว้นกรณีการขาดวิตามิน) และนี่เป็นตัวอย่างเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับประเภทของผมร่วงกันค่ะ โดยอาการผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุดมี 3 ชนิดด้วยกันคือ ผมร่วงจากพันธุกรรมและฮอร์โมน (androgenetic alopecia), โรคผมร่วงเฉียบพลัน (telogen effluvium) และ โรคผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata)

สาเหตุของอาการผมร่วง

1. Androgenetic alopecia ผมร่วงจากพันธุกรรมและฮอร์โมน อาการดังกล่าวในผู้ชายนั้นเกิดจากพันธุกรรมและฮอร์โมนเพศ (androgen) ทำให้รากผมสร้างเส้นผมที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ อีกทั้งผมในระยะอนาเจน (anagen) ซึ่งเป็นระยะเจริญเติบโตของเส้นผมนั้นสั้นลง ลักษณะที่พบคือแนวผมจะร่นขึ้นไป เริ่มจากบริเวณหน้าผาก มีการโค้งเว้าขึ้นไปบริเวณขมับทั้งสองข้าง ทำให้หน้าผากมีลักษณะมีเป็นรูปตัว M ซึ่งในต่อมาผมบริเวณกลางศีรษะจะเริ่มบาง และค่อยๆ หายไปในที่สุด

2. Telogen effluvium โรคผมร่วงเฉียบพลัน เป็นอาการที่พบว่าผมจะร่วงทั่วศีรษะอย่างผิดปกติและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมักเกิดจากสาเหตุบางอย่าง เช่น การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว มีความเจ็บป่วยเช่น หลังการผ่าตัด มีไข้สูง หลังคลอดบุตร โรคบางอย่างเช่น โรคไทรอยด์ โลหิตจาง เป็นต้น

3. Alopecia areata ผมร่วงเป็นหย่อมๆ เกิดจากภูมิคุ้มกันของตันเองไปทำลายรากผม ทำให้ เส้นผมหลุดร่วงอย่างเฉียบพลัน มีลักษณะผมร่วงเป็นวงกลม วงเดียวหรือหลายวง พบได้ที่หนังศีรษะหรืออาจจะเป็นตามร่างกายก็ได้

วิตามินที่มีหลักฐานว่าควรเสริมในกรณีที่ขาด และพบว่าอาจช่วยให้อาการผมร่วงดีขึ้น

1. วิตามินดี พบว่าคนที่มีผมร่วงจากพันธุกรรมและฮอร์โมนในผู้หญิง และผมร่วงเฉียบพลันชนิด Telogen effluvum มักจะมีระดับวิตามินดีที่ต่ำกว่าคนทั่วไป ซึ่งการทานวิตามินดีเสริมนั้นสามารถช่วยให้อาการผมร่วงดีขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่มีภาวะผมร่วงเป็นหย่อมๆ มักจะมีระดับวิตามินดีที่ต่ำกว่าคนปกติ และระดับวิตามินดีต่ำยังสัมพันธ์กับความรุนแรงที่มากขึ้นของโรคอีกด้วย

2. ธาตุเหล็ก สำหรับคนไข้ที่มีภาวะผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน และ ผมร่วงเฉียบพลันชนิด telogen effluvum ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กร่วมด้วย แนะนำให้เสริมธาตุเหล็ก ซึ่งภาวะขาดธาตุเหล็กพบได้บ่อยในผู้หญิงที่มีภาวะผมร่วงมากกว่าในผู้ชาย

วิตามินที่พบว่าอาจมีส่วนช่วยให้ภาวะผมร่วงดีขึ้นในคนที่ขาด แต่ปัจจุบันยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ

1. ไบโอติน พบว่า 38% ของผู้หญิงที่มีผมร่วงมีระดับของ biotin ที่ต่ำ สาเหตุอาจเกิดจากการดูดซึมที่ไม่ดี การได้รับยาบางชนิด และในหญิงตั้งครรภ์ มีการศึกษาเป็นบางเคสพบว่าการให้ biotin (ในเด็กที่ขาด) ช่วยให้คุณภาพผมดีขึ้น

2. Zinc พบว่าโรคผมร่วงแบบเฉียบพลันชนิด telogen effluvium และโรคผมร่วงเป็นหย่อมๆ สัมพันธ์กับระดับของ zinc ที่ต่ำ ทั้งนี้มีทั้งการศึกษาที่พบว่าการได้รับ zinc เสริม ช่วยและไม่ช่วยให้อาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ ดีขึ้น

3. วิตามินบี 2 (Riboflavin) ภาวะการขาดวิตามินบี 2 ทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาว่าการได้รับวิตามินบี 2 จะช่วยทำให้อาการดังกล่าวดีขึ้น

4. วิตามินอี พบว่าในคนที่มีผมร่วงเป็นหย่อมๆ มีระดับของวิตามินอีในเลือดและในเนื้อเยื่อที่ต่ำกว่าคนทั่วไป ทว่าจากการศึกษาวิจัยยังไม่พบความสัมพันธ์ของการขาดวิตามินอีกับภาวะผมร่วงเป็นหย่อมๆ

5. ซีลีเนียม (Selenium) พบว่าในคนที่ผมร่วงเมื่อได้รับซีลีเนียมเสริม (ในคนที่ขาด) ช่วยให้อาการผมร่วงดีขึ้น อย่างไรก็ตามพบว่าหากได้รับซีลีเนียมมากเกินก็อาจจะไปทำให้ผมร่วงได้

6. วิตามินบี 12 และโฟเลต มีบางการศึกษาพบว่าช่วยเปลี่ยนแปลงการดำเนินโรคของภาวะผมร่วงเป็นหย่อมๆ แต่ยังไม่มีผลวิจัยรองรับที่มากพอ

วิตามินที่ไม่มีหลักฐานว่าช่วยเรื่องผมร่วง

1. วิตามินเอ ไม่พบหลักฐานว่าวิตามินเอสามารถรักษาอาการผมร่วงได้ แต่พบว่าการได้รับวิตามินเอมากเกินไปจะยิ่งทำให้ผมร่วงมากขึ้น

2. วิตามินซี แม้ว่าการขาดวิตามินซีจะสัมพันธ์กับความผิดปกติของเส้นขนบริเวณลำตัวได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่พบว่าระดับของวิตามินซีสัมพันธ์กับปัญหาผมร่วงแต่อย่างใด 

ดังนั้นหากใครที่มีอาการผมร่วงจึงขอแนะนำเข้าไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยสาเหตุของผมร่วง และรับการรักษาอย่างถูกวิธี การตรวจวิตามินที่สัมพันธ์กับภาวะผมร่วง ได้แก่ การตรวจหาภาวะขาดธาตุเหล็ก และระดับวิตามินดีในเลือด ซึ่งพบว่าหากได้วิตามินเสริมในคนที่มีภาวะการขาดวิตามิน จะมีส่วนช่วยให้อาการผมร่วงดีขึ้นได้ค่ะ


ขอบคุณบทความจาก
พญ.อาริสา แก้วเกษ
แพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย
Holistique Wellness by iSKY (ชั้น 4 Central Embassy)

Similar Articles

More