หวนรำลึกถึง Leslie Cheung ตำนานยุคทองแคนโตป๊อปจากเกาะฮ่องกง

วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ขณะคนทั่วโลกกำลังสนุกกับการเล่นมุขหยอกล้อในวัน April Fools Day หรือเมษาหน้าโง่ กันเต็มหน้าฟีดของเฟสบุค แต่ผู้คนจำนวนหนึ่งผละตัวออกจากอารมณ์ขัน แล้วเข้าสู่โหมดรำลึกและอาลัยให้ต่อเหตุการณ์สำคัญในอุตสาหกรรมบันเทิงของโลกตะวันออก … ครบรอบ 2 ทศวรรษการจากไปของ ‘เลสลี่ จาง’ (Leslie Cheung) หนึ่งในซูเปอร์สตาร์ที่คนเจเนอเรชั่น X และ Y รู้จักเป็นอย่างดี เขาคือผู้ที่ครองตำแหน่ง King of Cantopop หรือราชาเพลงป๊อปของเกาะฮ่องกง ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งใน 10 นักร้องชาย (เพลงจีน) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดใน 3 ทศวรรษ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 – 1990 และยังถือเป็นนักแสดงชั้นยอดของวงการภาพยนตร์ฝั่งเอเชีย

เลสลี จาง มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเป็นวงกว้างมาตั้งแต่ยุค ’80s จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยการทำอัตวินิบาตกรรม กลายเป็นเหตุการณ์ช็อกโลกเมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 2003 และทุกๆ วันนี้ของปี จะมีการจัดงานรำลึกการจากไปบริเวณหน้าโรงแรมแมนดาริน โอเรียนทัล ฮ่องกง (Mandarin Oriental, Hong Kong) สถานที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน

ทศวรรษที่ 1970 เริ่มต้นเส้นทางสายบันเทิง

เลสลี จาง หรือชื่อจีนกลางคือ จาง กั๋ว หยง ถือเป็นอีกหนึ่งดาวรุ่งที่กำลังพุ่งทะยานเป็นกราฟแนวตั้งไม่ต่างจากกระแสความคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมกระแสนิยมจากทั้งภาพยนตร์และซีรีส์ฝั่งฮ่องกงที่กำลังโด่งดังไปทั่วเอเชีย เลสลี่เริ่มต้นอาชีพบนเส้นทางสายบันเทิงในช่วงปลายยุค ’70s ด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับสามจากรายการประกวดร้องเพลงจัดโดยค่ายสถานีโทรทัศน์เอเชียเทเลวิชันฮ่องกง หรือ RTV (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ATV) และได้เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงในสังกัด เขาคือศิลปินที่มีความสามารถพ่วงด้วยภาพลักษณ์แฟชั่นจ๋ามาตั้งแต่ต้น

“ช่วงเวลานั้นดาราจอแก้วได้รับความนิยมไม่แพ้ดาราจอเงิน และเป็นเรื่องปกติที่แบรนด์ดังจะเป็นผู้สนับสนุนในส่วนเครื่องแต่งกายให้” – วอลเตอร์ หม่า (Walter Ma) นักออกแบบและรองประธานสมาคมนักออกแบบแห่งเกาะฮ่องกง (HKDFA) ให้สัมภาษณ์แก่ TimeOut ในปี 2014 เขาเล่าพาย้อนอดีตไปสู่ยุคแรกที่ฮ่องกงเริ่มกลายมาเป็นผู้นำทางด้านสไตล์ของเอเชีย เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างซอฟต์พาวเวอร์รูปแบบละครชุดทางโทรทัศน์ การปักหมุดหมายครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นโดยทาง HKTDC (องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง) ไปจนถึงการถือกำเนิดร้านรวงเก๋ๆ ระดับตำนานอย่าง Joyce ที่ขาช็อปรู้จักกันดี บูติกแห่งนี้คือศูนย์รวมดีไซเนอร์แบรนด์ระดับโลกมาตั้งแต่ยุค ’70s ไม่ว่าจะเป็น Giorgio Armani, Issey Miyake, Johji Yamamoto และ John Galliano

ทศวรรษที่ 1980 ยุคทองของเลสลี และกระแสแฟชั่นจากฮ่องกง

ต่อมาเมื่อเลสลี จาง ได้ออกอัลบั้มเพลงและประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในยุค ’80s เวลานั้นเกาะฮ่องกงได้ก้าวเข้าสู่ยุคทองของการเป็นเมืองแฟชั่นและสวรรค์ของเหล่านักช้อปด้วยเช่นกัน เศรษฐกิจของฮ่องกงเติบโตควบคู่ไปกับกระแสป๊อปคัลเจอร์ ระหว่างปี 1984 – 1985 ฮ่องกงกลายเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้าอันดับหนึ่งของโลก! กลายเป็นผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นเบอร์ใหญ่ สร้างความนิยมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ด้วยกระแสจากซีรีส์น้ำดีหลายเรื่องและความคลั่งไคล้ในตัวศิลปินที่ช่วยผลักดันให้กระแส HK-Pop ไหลไปทั่วทุกสารทิศ

ทศวรรษที่ 1980 ยังเป็นยุคที่แบรนด์ชั้นนำระดับโลกต่างแห่กันมาเปิดบูติกในฮ่องกง บริษัทลักซ์ชัวรี่เบอร์หนึ่ง อย่าง LVMH เปิดสำนักงานที่นั่นในปี 1987 แบรนด์หรู Chanel ก็บุกตลาดอย่างหนัก ขณะเดียวกันที่ดีไซเนอร์คนดังอย่าง Jean Paul Gaultier ก็นำแฟชั่นหลุดโลกมาเยือนเกาะฮ่องกงเพื่อเติมความซาบซ่าให้เมืองนี้ เป็นที่แรกๆ ในทวีปเอเชียที่มีบูติกของเขา “ยุค ’80s เป็นช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมสำหรับโลกแฟชั่น ผู้คนชอบดิสโก้เธค ชอบปาร์ตี้ และก็กล้าแต่งตัวกันมาก แฟชั่นนิสต้าผู้หาญกล้าลุกขึ้นมาแต่งตัวให้กลายเป็นที่จดจำต้องขอยกให้เลสลี จางและ เหมย เยี่ยนฟาง” – วอลเตอร์ หม่า กล่าวถึงวันวานยุค ’80s อันน่าประทับใจ

นักแสดงขวัญใจชาวเอเชีย

ทศวรรษที่ 1990 ถือเป็นอีกช่วงเวลาที่น่าจดจำของทั้งเลสลีและเกาะฮ่องกง (ยุคนี้มีการจัดงาน Hong Kong Fashion Week โดยนำเสนอผลงานสองฤดูกาลเหมือนในเมืองแฟชั่นหลักๆ) ภาพยนตร์ดังจากช่วงปลายยุค ’80s โปเยโปโลเย เย้ยฟ้าแล้วก็ท้า ภาค 1 และ 2 (A Chinese Ghost Story) ที่เขาแสดงนำถูกนำมาฉายและได้รับความนิยมไปทั่วเอเชียในช่วงต้นยุค ’90s ในปี 1993 เขาได้รับรางวัล Best Original Movie Song Award จาก Golden Horse Film Festival จากเพลงประกอบ Red Cheek ปี 1994 ยังได้รับรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมจากงาน Hong Kong Film Critics Society Awards จากภาพยนตร์ตลก-ดราม่าเรื่อง Ashes of Time และปี 1998 ได้เป็นสมาชิกของคณะลูกขุนในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินครั้งที่ 48

ยุคนี้ บทบาทการแสดงที่ทำให้เลสลีกลายเป็นที่โจษจันคือการรับบท ‘เฉิงเตี๋ยอี๋’ นักแสดงอุปรากรจีนชาว LGBTQ ในภาพยนตร์ ‘หลายแผ่นดินแม้สิ้นใจก็ไม่ลืม‘ (Farewell My Concubine) ปี 1993 เขาเข้าถึงบทบาทจนตีบทแตกกระจุย ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จถึงขนาดได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ก่อนที่จะมาสวมบทชายรักชายอีกครั้งในภาพยนตร์ขึ้นหิ้งของ หว่อง กา ไว (Wong Kar Wai) เรื่องโลกนี้รักใครไม่ได้นอกจากเขา (Happy Together) ในปี 1997

การเปิดตัวรสนิยมทางเพศต่อสาธารณะ

ปี 2000 หรือสามปีหลังภาพยนตร์ Happy Together ประสบความสำเร็จ เลสลีออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่าเขาเป็นชาว ‘เควียร์’ (Queer คำที่ถูกนำมาใช้เกี่ยวกับเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศเกี่ยวกับผู้ที่ไม่ใช่คนรักต่างเพศ) เขาทำให้คำคำนี้เป็นที่รู้จักในโลกตะวันออก คู่ขนานไปกับโลกตะวันตกที่คอซีรีส์กำลังดื่มด่ำกับการเสพเรื่องรสนิยมทางเพศที่หลากหลายในซีรีส์ดังเรื่อง Queer As Folk

“เลสลี จาง คือส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างไมเคิล แจ็กสัน และมาดอนน่า” – Wattakul N. นักเขียนแฟชั่นและไลฟ์สไตล์นิยามถึงซูเปอร์สตาร์ผู้ล่วงลับ “หลังเปิดตัวว่าเป็นเควียร์ เขาลุกขึ้นมาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแนวยูนิเซ็กส์ ก่อนที่ช่วงท้ายของชีวิตจะมีที่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าผู้หญิง โดยเฉพาะกับของ Jean Paul Gaultier แบรนด์โปรดของเขา และที่ฮือฮาไปทั่วโลกคือคอนเสิร์ตใหญ่รับมิลเลนเนียม เพราะฌอง-ปอล ออกแบบคอสตูมให้ด้วยตัวเอง คอสตูมส่วนหนึ่งเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป บวกกับตัดเย็บขึ้นใหม่โดยอิงโอตกูตูร์ทั้งจากของผู้หญิงและผู้ชายที่เห็นในคอลเล็กชั่นเด่นของ Gaultier Paris แม้แต่ร้านโกลติเยร์ในไทยที่ศูนย์การค้าเกษรพลาซ่า ยังมีการนำรูปเลสลีมาใช้โปรโมทคอลเล็กชั่นฤดูร้อนปี 2000 จะว่าไปเขาคือหนึ่งในคนที่กรุยทางเรื่องความลื่นไหลทางเพศให้คนรุ่นใหม่ และเป็นเทรนด์เซตเตอร์ของยุคที่กระแสป๊อปคัลเจอร์ฝั่งฮ่องกงพีกถึงขีดสุด”

ตำนานแห่งฮ่องกงตัวแทนยุคทองแคนโตป๊อป

ปี 2013 หรือหลังเขาเสียชีวิตไปครบหนึ่งทศวรรษ ปีนั้นผมมีโอกาสได้ไปร่วมงาน Hong Kong Fashion Week ’20th Edition’ นักออกแบบชาวฮ่องกงบางรายร่วมรำลึกถึงเขาด้วยการออกแบบผลงานที่ดูคลุมเครือระหว่างเครื่องแต่งกายชาย-หญิง ช่องข่าวบันเทิงยังคงนำเสนอเรื่องราวของซูเปอร์สตาร์รายนี้ แม้แต่นิตยสารแฟชั่นและสไตล์ชั้นนำก็หยิบเอาลุคเด่นของเลสลีมาแสดงให้คนรุ่นใหม่ที่อาจเติบโตไม่ทันรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของเขาและเรื่องราวของเกาะฮ่องกง ว่ายุคหนึ่งเคยทรงอิทธิพลต่อโลกใบนี้เช่นไร

ผ่านมาแล้ว 20 ปี ชื่อของเลสลีไม่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา แฟนคลับทั้งรุ่นเก๋าและใหม่ที่มีโอกาสชมฝีมือด้านการแสดงผ่านซีรีส์และภาพยนตร์ดังมากมายที่ถูกนำกลับมาฉายให้ชมกันตามแพลตฟอร์มต่างๆ ยังคงหลงรักผู้ชายคนนี้ เรื่องราวของเลสลีจะถูกประทับไว้ในความทรงจำและบนหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของฮ่องกงและช่วงเวลาทองของกระแส HK-Pop ที่คนรุ่นผมและเจเนอเรชั่นก่อนหน้าไม่สามารถปฎิเสธได้ว่ายุคนั้นฮ่องกงเรืองรองเพียงใด

Similar Articles

More