WORDS: Poom Petsophonsakul
ข่าวการทำลายงานศิลปะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนเคยได้ยินมาจนชินชา และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในช่วงชีวิตของใครสักคน อย่างไรก็ตาม การทำลายงานศิลปะมักเกิดขึ้นด้วยเหตุผลแตกต่างกัน บางคนทำลายงานศิลปะเพราะเสียสติ บางคนทำลายงานศิลปะเพราะไม่ชอบอุดมการณ์ของศิลปิน บางคนทำไปเพราะต้องการเรียกร้องในเชิงการเมือง คนบางกลุ่มทำไปเพื่อเรียกร้องเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งคนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่เราได้ยินข่าวบ่อยมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีมานี้
ข่าวดังที่ยากจะลืมคงเป็นเหตุการณ์ที่กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ‘Just Stop Oil’ สาดซอสมะเขือเทศใส่ภาพ ‘Sunflowers’ ของวินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent van Gogh) และนำมือทากาวแปะไปที่ฝาผนัง พร้อมกับกล่าวว่า “อะไรสำคัญกว่า งานศิลปะ หรือชีวิต? มัน (งานศิลปะ) สำคัญกว่าอาหารไหม? หรือสำคัญกว่าความยุติธรรม? พวกคุณเลือกที่จะตระหนักในการรักษางานศิลปะ หรือโลกและผู้คนของเรา?” คนที่กล่าวคือ ฟีบี พลัมเมอร์ (Phoebe Plummer) นักกิจกรรมวัย 21 ปี จากลอนดอน ตามด้วยเพื่อนร่วมอุดมการณ์ แอนนา ฮอลแลนด์ (Anna Holland) วัย 20 ปี จากนิวคาสเซิล โดยมีจุดประสงค์รณรงค์ให้รัฐบาลอังกฤษหยุดการใช้น้ำมันฟอสซิล

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเหตุการณ์เช่นเดียวกัน ดำเนินโดยกลุ่มนักกิจกรรมเดิมคือ Just Stop Oil ร่วมกับ ‘Ultima Generazione’ นำมือทากาวติดไปที่ภาพ ‘My Heart’s in the Highlands’ (1860) ของโฮราทิโอ แมคคัลลอค (Horatio McCulloch) ที่พิพิธภัณฑ์และหอศิลปะแห่งชาติเคลวินโกรฟ (Kelvingrove Art Gallery and Museum) ในเมืองกลาสโกว์ กับอีกหลายเหตุการณ์ที่กลุ่ม Just Stop Oil ดำเนินการประท้วงหยุดใช้น้ำมันฟอสซิลด้วยงานศิลปะ จนบางคนกล่าวว่าการทำอะไรแบบนี้มัน ‘เริ่มล้าสมัย’ ไปแล้ว

กลุ่ม Just Stop Oil เป็นกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในอังกฤษเพื่อให้รัฐบาลหยุดหา พัฒนา และผลิตน้ำมันฟอสซิลในสหราชอาณาจักร เนื่องจากการใช้น้ำมันฟอสซิลก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ หรือพูดง่าย ๆ คือ ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง ซึ่งนอกจากกลุ่ม Just Stop Oil แล้ว ยังมีกลุ่ม Ultima Generazione จากประเทศอิตาลีอีกด้วย ที่รณรงค์เพื่อหยุดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการประท้วงต่าง ๆ ไปจนถึงการทำลายงานศิลปะ
จะใช้คำว่าทำลายงานศิลปะก็คงไม่ถูก เพราะสิ่งที่กลุ่มเพื่อสิ่งแวดล้อมทำ เป็นการทำที่ผ่านการคิดมาเรียบร้อยแล้ว อย่างงานภาพ Sunflowers ของแวน โก๊ะ ทาง Just Stop Oil ได้ศึกษาแล้วว่าภาพมีการป้องกันด้วยกระจกนิรภัย ส่วนกาวที่นำไปติดกับฝาผนังนั้นสามารถทำความสะอาดออกได้ และอย่างมากที่สุดในการทำลายก็มีเพียงแค่สาดสี หรือทำให้เปรอะเปื้อน โดยที่ตัวงานไม่เสียหายแต่อย่างใด
ทำไมงานศิลปะถึงเป็นเหยื่อของนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม?
สิ่งที่กลุ่ม Just Stop Oil เพ่งเล็งมากที่สุดคือกลุ่มนายทุนที่สนับสนุนให้มีการพัฒนาการผลิตน้ำมันฟอสซิล ถึงจุดนี้อาจมีคนสงสัยว่า ระหว่างนายทุน น้ำมันฟอสซิล และงานศิลปะ เกี่ยวข้องกันอย่างไร? หรือว่าเป็นเพราะงานของแวน โก๊ะใช้สีน้ำมัน การสาดสีใส่ภาพสีน้ำมันจึงเป็นการสร้างสัญญะ?
เรื่องนี้คงต้องพูดถึงวงการงานศิลปะก่อนเป็นอันดับแรก งานศิลปะปัจจุบัน โดยเฉพาะงานชิ้นโบแดงจากศิลปินอันเลื่องชื่อหลายคนมักได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกลุ่มนายทุนที่มีเงินมหาศาล นอกจากนี้ทุกครั้งที่มีการประมูลงานศิลปะ คนที่สามารถใช้เงินก้อนใหญ่เพื่อครอบครองงานศิลปะมูลค่าหลายสิบล้านก็คงมีแค่กลุ่มนายทุน ถ้าถามกลับไปว่านายทุนพวกนี้ได้เม็ดเงินมาจากตรงไหนบ้าง ก็คงต้องตอบว่าอาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับการลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงต่าง ๆ รวมไปถึงการผลิตเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล
แน่นอนว่าไม่ใช่นายทุนทุกคนที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับการผลิตน้ำมันฟอสซิล แต่นายทุนหลายคนก็เลือกที่จะใช้เงินก้อนโตเพื่อทะนุถนอม เก็บรักษา หรือครอบครองงานศิลปะ มากกว่าที่จะใช้เม็ดเงินในการสนับสนุนเพื่อให้โลกน่าอยู่ขึ้น นี่จึงเป็นที่มาของการเลือกทำลายงานศิลปะของนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม เพราะนายทุนมองข้ามหน้าข้ามตาโลกไป และหมกมุ่นอยู่กับวัตถุมูลค่าสูงที่แม้จะคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมมนุษย์ก็ตาม
การทำลายงานศิลปะได้ผลจริงหรือไม่?
การกระทำเช่นนี้คงไม่ส่งผลให้นายทุนหันมาเห็นใจโลกขึ้นมาอย่างทันทีทันใด แต่เป็นเพียง ‘การแสดงเชิงสัญลักษณ์’ เพื่อกระตุ้นให้คนทั้งโลกหันมาสนใจการรณรงค์กันมากขึ้น ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้ส่งผลแบบเห็นได้ชัด แต่ก็ดีกว่าที่จะไม่ลงมือทำอะไรเลย ทุกครั้งที่กลุ่ม Just Stop Oil ทำ จะมีคนนึกถึงอยู่เสมอ (หรือโดยไม่รู้ตัว) ว่าสิ่งที่นายทุนทำนั้นแย่อย่างไร และเราควรมีแนวคิดอย่างไรต่อการผลิตน้ำมันฟอสซิลในอนาคต รวมถึงคำนึงถึงอนาคตของโลกที่น่าอยู่น้อยลงทุกวัน
กลุ่ม Just Stop Oil เคยอธิบายว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นเป็นการประท้วงแบบสันติ ไม่เน้นใช้ความรุนแรง นี่อาจเป็นเรื่องที่น่าขบคิด เพราะหากเรามองย้อนกลับไปในอดีต มนุษย์นั้นยากที่จะเปลี่ยนแปลงหากปราศจากความรุนแรง จนบางทีอาจเผลอคิดไปว่า จะเป็นอย่างไรหากภาพวาดของแวน โก๊ะเสียหายจริง จนไม่สามารถบูรณะได้ หรือโรงงานผลิตน้ำมันฟอสซิลระเบิดจากฝีมือกลุ่มนักกิจกรรม ถึงตอนนั้นรัฐบาลอาจหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังก็ได้
นักกิจกรรมอาจเลือกทำแบบนั้นได้ก็จริง แต่มันคงเป็นการซ้ำรอยประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่มนุษย์ตัดสินใจเลือกที่จะทิ้งมันเพื่อการอยู่บนโลกที่สงบมากขึ้น การเรียนประวัติศาสตร์คือการศึกษาเพื่อที่จะไม่ซ้ำรอยตัวเอง หรือหากพูดอีกนัยหนึ่ง มนุษย์นั้นพัฒนาที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความสันติมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ดังนั้น การใช้ความรุนแรง แม้ฟังดูได้ผลชัด แต่มันคือการซ้ำรอยความผิดพลาดเดิมในอดีต อีกทั้งยังส่งเสริมให้สังคมไร้ซึ่งความสงบสุขในอนาคตอีกด้วย สิ่งที่มนุษย์ทุกวันนี้ควรมีคือการคิดวิเคราะห์ เข้าใจ และตระหนักด้วยตนเอง จึงจะนำมนุษยชาติไปอยู่ในจุดที่ดีขึ้นกว่าเดิม
เพราะฉะนั้นแล้ว หากเราต้องการให้ศิลปะและวัฒนธรรมมนุษย์ยังคงอยู่ การรักษาสิ่งแวดล้อมก็เป็นตัวเลือกที่สำคัญในการทำให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่ต่อไปเช่นกัน