เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีข่าวดราม่าสะเทือนวงการศิลปะทั่วโลก เมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่งเผลอไปทำรูปปั้นสุนัขสีฟ้าสดของ ‘Jeff Koons’ (เจฟฟ์ คุนส์) ศิลปินแนวป๊อปอาร์ตชื่อดังแตกที่งาน Art Wynwood งานแสดงศิลปะที่จัดขึ้นประจำทุกปีในรัฐไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์สะเทือนใจครั้งนี้กลายเป็นไวรัลไปทั่วทั้งโลกออนไลน์ และมีเสียงวิจารณ์มากมายต่อการกระทำของหญิงสาวผู้นี้
แต่อีกฝากหนึ่งกลับมีเสียงค้านว่ารูปปั้นสุนัขสีฟ้าสดชิ้นนี้ของเจฟฟ์เป็นเพียงรูปปั้นธรรมดาๆ ที่ดูไม่ได้มีคุณค่าอะไรมากมาย โดยเฉพาะชาวเน็ตสัญชาติไทยบางคนที่คอมเมนต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ราวกับเป็นเรื่องธรรมดาๆ เช่น “ผมต้องรู้ไหม?” หรือ “งานวัดแถวบ้านเยอะมากครับ ประมาณ 20 บาทเลือกสีได้ด้วย” แต่รู้ไม่ว่าในวงการศิลปะระดับโกลบอลผลงานของเจฟฟ์ คุนส์นั้นมีมูลค่ามหาศาล และเป็นที่ยอมรับในแวดวงศิลปะโลกมากๆ โดยเฉพาะในศิลปะลัทธิ ‘Pop Art’
ความคิดเห็นจากชาวเน็ตเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศของเรานั้นยังไม่ให้ค่ากับงานศิลป์มากนัก อีกทั้งคอมเมนต์เหล่านี้ยังสะท้อนไปถึงปัญหาทางโครงสร้างสังคมไทย ที่ยังไม่ได้เปิดกว้างและให้ค่ากับอาชีพศิลปินและอาชีพอื่นๆ ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จนกลายเป็นที่มาของคอมเมนต์เหล่านี้ ทั้งที่งานครีเอทีฟหรืองานสร้างสรรค์เหล่านี้นั้นสร้างมูลค่าเพิ่มและเม็ดเงินมหาศาลให้หลายๆ อุตสาหกรรมทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศ
วันนี้ ELLE MEN เลยจะพาทุกคนไปรู้จักกับเจฟฟ์ คุนส์ ศิลปิน Pop Art ชื่อก้องผู้เป็นเจ้าของงานศิลปะรูปสุนัขที่ตกแตกที่งานแฟร์อาร์ตในไมอามี นอกจากนั้นเรายังจะพาทุกคนไปทำความรู้จักศิลปะแบบ Pop Art ให้มากขึ้นไปอีกเพื่อทำความเข้าใจในแก่นของศิลปะที่ดูธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาประเภทนี้กัน!
‘Pop Art’ ศิลปะของมวลชน
ก่อนทำความรู้จักกับศิลปินป๊อปอาร์ตแห่งยุคเราต้องมาทำความรู้จักกับศิลปะประเภทนี้กันก่อน ‘Pop Art’ หรือ ‘ศิลปะประชานิยม’ คือลัทธิงานศิลป์แขนงที่เกิดขึ้นในช่วงยุค 1950s โดยได้แรงบันดาลใจจากแนวความคิดของสังคมบริโภคนิยม พูดสั้นๆ ได้ว่าศิลปะแขนงนี้คือการเอาความนิยมในสังคมมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์
ทำให้ศิลปินผู้หลงใหลในศิลปะประเภทนี้มักถูกถ่ายทอดออกมาผ่านโมทิฟที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันของเรา อาทิ ตัวการ์ตูน รูปโฆษณาสินค้า ดารา ตัวอักษร และของใช้ในชีวิตประจำวัน ล้วนถูกนำมาแปรเปลี่ยนให้เป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า Pop Art จึงเป็นศิลปะที่ล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และศิลปินที่อยู่ภายใต้ร่มของศิลปะแขนงนี้จึงมีความเชื่อว่าศิลปะนั้นสร้างขึ้นมาจากสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา และนำมาผสมผสานกับประสบการณ์ของศิลปินในห้วงเวลาใดห้วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
การหยิบเอาสิ่งต่างๆ รอบตัวมาแปรเปลี่ยนเป็นงานศิลป์ทำให้ Pop Art รวมถึง Pop Culture วัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมของมวลชนจำนวนมากของผู้คนในช่วงเวลานั้นๆ จึงถูกมองว่าเป็นศิลปะที่ฉาบฉวยและมีอายุสั้น แต่สำหรับวัฒนธรรมและศิลปะประเภทนี้จะมีประโยคไหนเหมาะไปกว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” เพราะว่าวัฒนธรรมและศิลปะแบบ ‘Pop’ นั้นได้รับความนิยมจากผู้บริโภคไม่เสื่อมคลาย อาจจะเป็นเพราะความเข้าถึงง่ายและสอดคล้องกับแก่นของโลกทุนนิยม
เหล่าศิลปินผู้อยู่ในลัทธิ ‘Pop Art’
มีศิลปินจำนวนมากที่อยู่ใต้ร่มของศิลปะประเภทนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘Andy Warhol’ (แอนดี วอร์ฮอล) หนึ่งในศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ผู้ทำให้ศิลปะแบบ Pop Art นั้นแพร่หลายไปอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมบนโลกใบนี้ หนึ่งในนั้นก็คืออุตสาหกรรมแฟชั่นที่ได้รับอิทธิพลจากผลงานของแอนดีไปเต็มๆ มีหลากหลายนักออกแบบแฟชั่นที่หยิบเอาผลงานของแอนดีมาเป็นแรงบันดาลใจหรือหยอดไปในงานออกแบบของพวกเขา
ซึ่งที่โด่งดังมากๆ คงหนีไม่พ้นการที่ ‘Gianni Versace’ (จานนี เวอร์ซาเช) นำเอาภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนรูป Marilyn Monroe (มาริลิน มอนโร) มาใช้เป็นลายพิมพ์ลงบนเดรสในคอลเล็กชั่น Spring/Summer 1991 รวมไปถึงในหลายๆ งานออกแบของ ‘Raf Simons’ (ราฟ ซีมงส์) ที่พบผลงานของแอนดีวิ่งเล่นอยู่ จนเรียกว่าแอนดีเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอย่างมากทั้งในทางตรงและทางอ้อม
นอกจากนั้นภายใต้ศิลปะแบบ Pop Art ก็มีศิลปินชื่อดังอีกมากมายอยู่ภายใต้ศิลปะแห่งมวลชนนี้ ได้แก่ Roy Lichtenstein (รอย ลิคเทนสไตลน์), James Rosenquist (เจมส์ โรเซนควิสต์), Claes Oldenburg (คเลยส์ โอเดนเบิร์ก), Ed Ruscha (เอ็ด รัสก้า) และ Keith Haring (คีธ แฮริ่ง) ซึ่งล้วนเป็นศิลปินหัวกะทิผู้สร้างงานศิลปะแบบ Pop Art จนศิลปะประเภทนี้กลายเป็นหนึ่งในศิลปะที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา
‘Jeff Koons’ ศิลปินป๊อปอาร์ตตัวพ่อเรื่องดราม่า
และสำหรับศิลปะ Pop Art ยุคใหม่หรือ Neo-Pop Art หากให้กล่าวชื่อศิลปินท่านหนึ่งขึ้นมาจะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจาก ‘เจฟฟ์ คุนส์’ ศิลปิน Pop Art ผู้มีฉายาว่า ‘ลูกชายของแอนดี วอร์ฮอล’ เนื่องจากทั้งสองนั้นศิลปิน Pop Art ที่นำสิ่งธรรมดารอบๆ ตัวมาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นงานศิลปะสุดว้าวที่มีอารมณ์ขัน สะท้อนสังคม
สิ่งของดาษดื่นที่เราเห็นได้ทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันนี้แหละที่ทำให้ผู้บริโภคงานศิลปะนั้นแสงแตกเมื่อจะต้องพูดถึงผลงานของเจฟฟ์ คุนส์ การที่เอาสิ่งของรอบตัวมาเปลี่ยนเป็นงานศิลป์แถมมีราคาสูง ทำให้งานของเจฟฟ์เป็นงานศิลปะแบบ ‘Hate It or Love It’ เลย ผลงานหลายๆ ชิ้นของเขาก็มีดราม่าตามมามากมาย แต่ถึงกระนั้นงานของเขาก็มีเสน่ห์บางอย่างที่ทำให้ผู้บริโภคหลายๆ คนยอมลงทุนหลักล้านเพื่อซื้องานของเขาไว้ในครอบครอง
และจากคอมเมนต์จำนวนมากในอินเทอร์เน็ตสะท้อนให้เห็นว่าผลงานของเจฟฟ์ ซึ่งเป็นงานศิลปะแบบ Pop Art ที่นำสิ่งรอบตัวสุดแสนจะธรรมดามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานกลับถูกมองข้ามคุณค่าไป โดยเฉพาะชิ้นงาน ‘Balloon Dog’ สีฟ้าที่ตกแตกไป ซึ่งงานศิลปะชิ้นนี้มาจากซีรีส์งานประติมากรรมของเจฟฟ์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการบิดลูกโป่ง
งานประติมากรรมในคอลเล็กชั่นนี้มีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่สุนัข งู ลิง กระต่าย หรือแม้แต่ดอกไม้ก็ปรากฏกายอยู่ในซีรีส์งานศิลปะคอลเล็กชั่นนี้ ความดาษดื่นและดูไม่เหมือนกับงานศิลปะในภาพจำและอุดมคติของใครหลายๆ คนทำให้เราเห็นคอมเมนต์เชิงขบขันมากมายในโลกอินเทอร์เน็ต แต่สำหรับเราแล้วเรามองว่างานศิลปะทุกชิ้นล้วนมีคุณค่าและความสวยงามในตัวของมันเอง แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจเจกดังนั้นเรามองว่าอย่าเอารสนิยมของเราไปตัดสินใครหรืองานของใคร โดยเฉพาะในยุคแห่งความหลากหลายนี้เราควรเคารพซึ่งกันและให้เกียรติกันมากกว่า