การทำโทษแบบ ‘ครูยุคเก่า’ ใบเบิกทางให้เขาประสบความสำเร็จบนสายอาชีพ

เหตุการณ์คุณครูทำโทษนักเรียนโดยใช้วิธีประจานเพื่อให้อับอายขายหน้านั้นไม่ได้มีเฉพาะแต่ในประเทศไทย คุณครูของอีกซีกโลกอย่างฝรั่งเศส ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ระบบการศึกษาดีเป็นอันดับต้นๆ ก็เคยมีพฤติกรรมที่ไม่ต่างกัน … แต่! ผมใช้คำว่า ‘เคย’ เพราะเรื่องที่ว่ากลายเป็นอดีต เป็นเรื่องของ ‘ครูยุคเก่า’ ซึ่งมีพฤติกรรมสวนทางกับความเป็นไปของโลกยุคปัจจุบัน อีกทั้งในทศวรรษนี้ฝรั่งเศส ‘จริงจัง และ เอาจริง’ กับเรื่องการบูลลี่ในสถานศึกษา เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้ผ่านร่างกฎหมายเพิ่มโทษของผู้ที่ทำผิดในประเด็นนี้ ซึ่งสวนทางกับประเทศไทย ที่ในปี 2020 ครองตำแหน่งการบูลลี่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก! จากการเปิดเผยโดยมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และยังไม่มีกฎหมายหรือนโยบายต่อเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

โดยผู้ขับเคลื่อนกฏหมายฝรั่งเศสที่มีบทลงโทษสูงในระดับสามารถปรามคนได้อยู่หมัด ระบุว่าการบูลลี่ในสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นจากเพื่อนนักเรียน หรือครู-อาจารย์นั้นเทียบเท่ากับ ‘การก่ออาชญากรรม’ เพราะการบูลลี่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์อันเลวร้าย ผู้ถูกกระทำอาจตัดสินใจปลิดชีพตัวเองได้ กฎหมายฉบับนี้จึงลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการจำคุก 3 ปี และปรับไม่เกิน 45,000 ยูโร หรือราวๆ 1,700,000 บาท แต่หากการบูลลี่นั้นนำมาซึ่งผลลัพธ์ให้ผู้ถูกกระทำคิดและตัดสินใจฆ่าตัวตาย (ไม่ว่าจะเสียชีวิตหรือไม่) โทษจะเพิ่มเป็น 10 ปี ปรับไม่เกิน 150,000 ยูโร หรือราว 5,500,000 บาทเลยทีเดียว เราจึงไม่ได้เห็นภาพการเฆี่ยนตีนักเรียนจนเป็นรอย บิดหูจนแดง หยิกแขนจนช้ำ หรือกล้อนผมในเมืองน้ำหอมเป็นแน่ … เพราะมันผิดกฎหมาย!

“ครูมักใช้วิธีให้เด็กไปนั่งสำนึกผิดบนเก้าอี้ที่วางแยกไว้ซึ่งก็ได้ผลดีทีเดียว” – แป้ง รสิตา นักแปลที่มีลูกน้อยผู้ใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสเล่าให้ฟังถึงวิธีการลงโทษนักเรียนของประเทศนี้ พร้อมอีกมุมน่าสนใจ “อย่าว่าแต่คุณครูเลย พ่อแม่ที่นี่ก็ไม่นิยมทำโทษลูกด้วยการตี แต่จะใช้วิธีที่เห็นกันในหนังฝรั่ง คือจะไม่อนุญาตให้ทำในสิ่งที่ชอบ อย่างไม่ให้เล่นเกม ไม่ให้ของเล่น จะไม่พาออกไปเล่นกีฬา อีกอย่างฝรั่งเศสมีกฎหมายห้ามลงโทษเด็กด้วยการตี”

ใช่แล้วครับ! ห้ามลงโทษลูก/เด็กด้วยการตีคืออีกกฏหมายน่าสนใจของประเทศนี้ โดยในปี 2019 สมาชิกวุฒิสภาฝรั่งเศสได้ทำการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมาย ‘ห้ามตีเด็กเพื่อเป็นการสั่งสอน’ และรัฐบาลจะออกมาตรการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำโทษเด็กกับผู้ปกครองทั่วประเทศ กฎหมายนี้ยังส่งผลต่อคู่แต่งงานใหม่ เพราะต้องแลกเปลี่ยนคำสาบานเพิ่มขึ้นอีกประโยค ระบุว่า “ผู้ปกครองจะไม่มีสิทธิ์ใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อเด็ก” และประโยคที่ว่านี้จะไปปรากฎบนหน้าปกสมุดบันทึกสุขภาพเด็กชาวฝรั่งเศสอีกด้วย … จึงเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งทศวรรษแล้วที่ในฝรั่งเศสไม่มีภาพพ่อแม่วิ่งไล่ตีลูกโดยในมือมีไม้แขวนเสื้อ ใช้เข็มขัดฟาด หรือด่าประจานต่อหน้าธารกำนัลเหมือนในบางประเทศ

การทำโทษแบบยุคเก่าทำให้ผมนึกถึงเรื่องเล่าของนักออกแบบคนดัง Jean-Paul Gaultier … แม้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า ‘การบูลลี่เป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจ’ แต่พฤติกรรมที่ต้องการทำให้หนูน้อยฌอง-ปอล รู้สึกอับอายนั้นได้กลายเป็นที่มาของน้ำหอมขวดดังที่เพิ่งมีอายุ 5 ขวบเมื่อปีที่ผ่านมา น้ำหอมขวดนั้นชื่อว่า ‘Scandal’ หรือที่บนโลกโซเชียลนิยมเรียกว่า ‘น้ำหอมยกขา’

เมอซิเออร์ โกลติเยร์ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ELLE Thailand ในปี 2018 ว่า ‘กลิ่น’ มีความสำคัญกับเขา เพราะทำให้ได้หวนรำลึกถึงอดีต และยังเล่าเรื่องราวของครูยุคเก่าที่เคยทำโทษด้วยวิธีการทำให้อับอาย เนื่องจากเขาเป็น ‘เด็กชาย’ ที่มีพฤติกรรมต่างจาก ‘เด็กชายทั่วไป’ – “ครั้งหนึ่ง ขณะผมกำลังนั่งสเก็ตภาพในช่วงเวลาเรียนแล้วถูกจับได้ ครูทำโทษโดยการเรียกให้ออกไปยืนหน้าชั้น เอาไม้ตีนิ้ว เอาภาพสเก็ตชิ้นนั้นแปะไว้หลังเสื้อ แล้วให้ไปเดินรอบโรงเรียนเพื่อประจานให้อับอาย แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะเพื่อนนักเรียนพากันชื่นชมภาพสเก็ตช์ชิ้นนั้น และขอให้ผมช่วยสเก็ตช์ชุดให้ในโอกาสต่างๆ เหตุการณ์วันนั้นถือเป็นเป็นใบเบิกทางแรกที่ทำให้เห็นว่า มีคนยอมรับในตัวผมโดยที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร” ซึ่งภาพสเก็ตช์ต้นเรื่องที่ว่า คือผู้หญิงเรียวขายาว สวมชุดที่ได้แรงบันดาลใจจากคอสตูมโชว์คาบาเรต์ของโรงละครชื่อดัง

เขาประทับใจในเรียวขาของผู้หญิงมาแต่ไหนแต่ไร โดยการสัมภาษณ์ครั้งนั้นเขาตอบคำถามว่าทำไมน้ำหอมขวดนี้จึงต้องมีส่วนฝาเป็นรูปผู้หญิงยกขา? – “เป็นอะไรที่ชัดเจนมากในทัศนคติส่วนตัวของผม ‘เรียวขาของผู้หญิง’ เป็นส่วนสำคัญของร่างกายที่แสดงออกถึงเรื่องอิสรภาพในเชิงสัญลักษณ์ได้เป็นอย่างดี หากย้อนกลับไปตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ผมเคยไปดูการแสดงคาบาเรต์ในโรงละคร Folies Bergère แล้วตกหลุมรักการแสดงในทันที จึงหัดสเก็ตซ์ภาพ และตัดเย็บชุดกระโปรงครั้งแรกตอนอายุ 9 ขวบ ผมชอบสเก็ตช์ภาพผู้หญิงที่มีขาเรียวยาว สวมถุงน่องตาข่าย อย่างภาพสเก็ตช์ที่ทำให้โดนทำโทษในวันนั้น ก็ถือเป็นอีกแรงบันดาลใจสำคัญเช่นกัน

ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการทำโทษของ ‘ครูยุคเก่า’ ที่นำมาใช้กับหนูน้อยฌอง-ปอล แต่ก็ต้องยอมรับว่าหากไม่มีเหตุการณ์การทำโทษเชิงบูลลี่คราวนั้น และเพื่อนร่วมโรงเรียนของเขาไม่ได้เปิดใจ กูตูริเยร์ดังวัย 70 ปีผู้นี้ก็คงไม่ทราบว่า เขาสามารถเป็นที่ยอมรับของทุกคนได้โดยไม่ต้องเหมือนใคร และพรสวรรค์ที่ส่องประกายตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาก็นำมาซึ่งความั่นใจและตัดสินใจเดินบนเส้นทางสายคนสร้างสรรค์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคงไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะโชคดีเช่นนี้ ดังนั้นการบูลลี่จึงไม่ใช่วิถีที่น้องๆหนูๆควรจะต้องพบเจออย่างในกรณีของฌอง-ปอล ที่การถูกประจานในวันนั้นสร้างแรงบันดาลใจ จุดไฟ และเนรมิตให้เรียวขาผู้หญิงกลายมาเป็นหนึ่งในขวดของน้ำหอมกลิ่นดังที่ถูก ‘โคลน’ มากเป็นอันดับต้นๆ ของยุค อีกทั้งยังตามมาด้วยกลิ่นสำหรับผู้ชาย Scandal pour Homme ในอีก 4 ปีต่อมา … หวังว่าคุณครูที่ทำโทษเขาด้วยวิธีทำให้อับอายในวันนั้น คงจะภูมิใจในตัวลูกศิษย์ที่ได้ดีในวันนี้ แม้ได้ทำหน้าที่เป็นใบเบิกทางโดยไม่ตั้งใจและผิดวิธีก็ตาม!

Similar Articles

More