อาการนอนไม่หลับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อร่ายกายเป็นอย่างมาก เพราะขณะที่เรากำลังหลับอยู่นั้นเป็นเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้ผ่อนคลายและหลั่งฮอร์โมนเพื่อซ่อมแซมตามกลไกธรรมชาติ ดังนั้นหากเราไม่สามารถนอนหลับได้ตามนาฬิกาชีวภาพจะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ในระยะยาว และด้วยเพราะเราตระหนักถึงปัญหาสำคัญวันนี้แอลเมนจึงชวนนายแพทย์พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ ผู้อำนวยการ W9 Wellness Center ศูนย์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic) มาพูดคุยถึงสาเหตุของการนอนไม่หลับ รวมไปถึงผลกระทบ และการแก้ไขที่ชาวแอลเมนสามารถนำไปปฏิบัติตามเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
ปัญหานอนไม่หลับมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง?
ปัญหาการนอนไม่หลับจริงๆแล้วเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย และมีหลายรูปแบบ โดยมีความตื้นลึกของปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากการนอนไม่ได้เป็นศาสตร์ทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเรื่องของจิตใจหรืออาจจะลึกเข้าไปถึงจิตใต้สำนึก บางครั้งเป็นการสะท้อนสภาพทางด้านสุขภาพในหลายด้านเลยครับ เรามักพบว่าคนที่นอนไม่หลับอาจจะเสียความสมดุลของระบบสื่อประสาทในสมอง เพราะอาจเกิดจากภาวะความเครียดมากเกินไป แล้วไม่สามารถขจัดมันออกได้ทัน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมันก็จะยังคงค้างอยู่ในสมอง
จึงเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ ซึ่งกว่า 90% ของสารสื่อประสาทในสมองพบว่าเกิดจากการสังเคราะห์จากจูลินทรีย์ในลำไส้ เพราะฉะนั้นในบางกรณีอาจพบปัญหาเรื่องของท้องร่วมด้วย ในเคสแบบนี้หมออาจจะเริ่มจากการปรับสมดุลภายในลำไส้ซึ่งจะช่วยให้สารสื่อประสาทที่สร้างขึ้นมามีมากพอ และจะส่งผลต่อการนอนหลับได้ง่ายขึ้น บางคนอาจจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของฮอร์โมน ต่อมหมวกไต ฮอร์โมนเพศ หรือโกรธฮอร์โมนที่สูงหรือต่ำผิดปกติ เพราะฉะนั้นการรักษาโรคนอนไม่หลับในแต่ละคนจะแตกต่างกันไปครับ
แบ่งเปอร์เซ็นต์ของความรุนแรงได้อย่างไร?
เราจะแบ่งความรุนแรงทั้งจากระยะเวลาและความถี่ เพราะว่าจริง ๆ แล้วเรื่องนอนไม่หลับเจอกันได้ทุกคน อย่างเช่น พอเราเครียดนิดหน่อยก็จะนอนไม่หลับ ซึ่งอันนี้ถือว่ายังเป็นเรื่องปกติ หรือว่าหากเรามีเรื่องหนักใจในชีวิตเราก็จะนอนไม่หลับได้เช่นกัน แต่ว่ามันต้องมีระยะเวลาที่ไม่นานมากนัก เพราะถ้าหากยาวนานเป็น 3 เดือน เป็น 6 เดือน แล้วยังลากยาวต่อไปเรื่อยๆ หรือบางคนอาจจะหลับแต่ตื่นง่าย อันถือว่ามีความผิดปกติแล้ว ควรต้องมาพบแพทย์เพื่อตรวจสาเหตุที่ถูกต้อง
นอนน้อยเป็นประจำแต่ร่างกายไม่ผิดปรกติเกิดขึ้นได้อย่างไร?
คำตอบคือความทนทานต่อการอดนอนของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เพราะพันธุกรรมของแต่คนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะสามารถอดนอนได้นานและยิ่งถ้าอายุยังน้อยๆ ก็ไม่ค่อยแสดงอาการ เพราะฮอร์โมนยังดี ถ้าเราอายะแค่อายุ 10 กว่า หรือ 20 กว่า การอดนอนถือว่าเป็นเรื่องที่สบายมาก แต่พออายุเริ่มมากขึ้น เป็นแตะเลข 3 เลข 4 จะเริ่มรู้สึกตัวแล้วว่าไม่สามารถอดนอนได้เหมือนเดิม แล้วการอดนอนจะเป็นการเร่งความแก่และกระบวนการเสื่อมของร่างกาย เพราะโกรทฮอร์โมนจะหลั่งออกมาสูงมากในช่วงที่เรานอนหลับ
เพราะฉะนั้นถ้าเรานอนน้อยกว่าปรกติ การผลิตโกรทฮอร์โมนก็จะลดลงไปกว่าครึ่งนึง โดยในระยะยาวหากสะสมไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่วัยหลัก 3 ร่างกายก็จะเริ่มมีปัญหา ถ้าเป็นผู้หญิงก็อาจจะเริ่มจากประจำเดือนมาผิดปกติ หงุดหงิดง่าย สิวขึ้น เริ่มปวดตามตัว ไม่ค่อยมีแรงระหว่างวัน ง่วงนอนระหว่างวัน ต้องกินกาแฟเพิ่มขึ้น เหล่านี้คืออาการที่เป็นปลายเหตุทั้งนั้น ซึ่งต้นเหตุจริงๆ ก็คือเราไม่ได้ใส่ใจในเรื่องการนอนหลับ และไม่ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนที่มากพอ
หลับให้ครบชั่วโมงหรือหลับเป็นเวลาดีกว่ากัน?
การนอนหลับให้เป็นเวลาสำคัญที่สุดครับ การนอนให้ครบชั่วโมงแต่ไม่เป็นเวลาแตกต่างกันมากเลย การนอนหลับให้คร่อมช่วงเวลา 5 ทุ่ม – ตี 2 ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของการนอน เพราะร่างกายต้องหลับลึกในช่วงนั้น เป็นเวลาที่โกรทฮอร์โมนที่ช่วยซ่อมแซมร่างกายจะหลั่งออกมา
หัวข้อการวิจัยเรื่องนาฬิกาชีวภาพ หรือ Circadian Rhythms ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2017 พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่านาฬิกาชีวิตของคนเราจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการนอนหลับชดเชยชั่วโมงมันแทนกันไม่ได้ การนอนเวลาปกติดีที่สุด ส่วนเรื่องของระยะเวลาอันนี้อาจขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของแต่ละคน เพราะว่าพฤติกรรมการนอนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนหลับลึก บางคนหลับๆ ตื่นๆ ในส่วนของรายละเอียดเราอาจจะต้องมาดูเพิ่มเติมเป็นรายบุคคล
ข้อแนะนำสำหรับคนที่นอนไม่เป็นเวลาด้วยข้อจำกัดทางอาชีพ?
เคยมีเคสของคนไข้ที่เข้ามาปรึกษาว่าอย่างไรแล้วเขาก็ยังต้องทำงานช่วงดึก หรือมีความจำเป็นที่ต้องนอนดึก หมอก็ต้องแนะนำว่าคุณต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะถ้าฮอร์โมนของคุณเริ่มลดลงแล้ว (วัย 30 ขึ้นไป) คุณต้องดูแลโภชนาการ ควบคุมอาหาร สมดุลลำไส้ และทานวิตามิน เหล่านี้จะช่วยฟื้นฟูฮอร์โมนที่สูญเสียไป เพราะการที่ไม่ได้นอนร่างกายจะรับรู้ว่าเป็นความเครียด และเมื่อเกิดความเครียดร่างกายก็จะใช้วิตามินมากขึ้น หรืออาจจะต้องใช้เทคโนโลยีอย่างออกซิเจนบำบัด และยังมีอีกหลายตัวเลือกสำหรับผู้มีความจำเป็นต้องนอนดึกหรือยังไม่พร้อมปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์
มีอะไรที่ทานแล้วช่วยเสริมหรือชะลอปัญหาในเบื้องต้นได้บ้าง?
หลักๆ เลยจะมีแร่ธาตุสำคัญอย่างแมกนีเซียมครับ เพราะคนที่นอนน้อยร่ายกายจะเครียด หรือคนที่เครียดก็จะนอนไม่หลับ ทำให้ร่างการมีการดึงแมกนีเซียมมาใช้จำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการขาดแมกนีเซียมในระดับเซลล์ได้ เพราะฉะนั้นการทานเสริมเข้าไปก็จะช่วยฟื้นฟูคุณภาพของการนอนหลับได้ หรือจะเป็นการทานสารสะกัดจากกาบา เพราะกาบาเป็นสารสื่อประสาทนิดหนึ่งที่ช่วยในเรื่องของการผ่อนคลาย ต้านสารสื่อประสาทเกิดจากความเครียดในแต่ละวัน โดยปรกติแล้วร่างกายของเราจะสร้างขึ้นมาเองจากการทานอาหารพวก กิมจิ นัตโตะ หรือจมูกข้าว เราอาจทานสะกัดเข้มข้นเพื่อเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ อีกอันคือกลุ่มวิตามิน B6 หรือกลุ่มวิตามิน B (สำหรับคนที่ขาด) ก็จะช่วยลดลดปัญหาได้ และยังมีสมุนไพรอีกนำนวนมากที่เริ่มมีงานวิจัยรองรับว่าช่วยในเรื่องของการนอน
สิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับคนที่นอนไม่หลับ
อยากให้เห็นความสำคัญของการนอน เพราะว่าอย่างไรการนอนหลับพักผ่อนเป็นหลักสำคัญของชีวิต “Sleep is Priority not Lifestyle Leisure” การนอนไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกได้ว่าเราจะนอนหรือไม่นอนก็ได้ มันเป็นความจำเป็นของชีวิต ถ้าคุณไม่อยากแก่ก่อนวัย หรืออยากจะมีชีวิตยืนยาว เราต้องเห็นคุณค่าของการนอนหลับ เมื่อคุณเห็นคุณค่าของมันแล้ว หลังจากสัมผัสกับคุณค่าตรงนั้นได้ คุณก็จะค่อยๆ ปรับทุกอย่างในชีวิตได้เอง