“ทำการบ้านอย่างหนักสู่การเป็นตัวละครที่มีมิติ” หนึ่งวิธีการกำกับของ ‘ครูหนิง’ ใน ‘แมนสรวง’

ก่อนชิมลาง ‘แมนสรวง’ หนังพีเรียดแห่งปีที่เข้าฉายตั้งแต่ 24 สิงหาคม กระแสแรง! ตั้งแต่เผยชื่อนักแสดงนำ อย่าง อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ และ มาย-ภาคภูมิ ร่มไทรทอง มาก็ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ติดอยู่ในลิสต์ที่หลายคนรอคอยวันเข้าฉาย สืบเนื่องจากความสำเร็จอย่างล้นหลามของซีรีส์ Kinn Porsche ที่สร้างขนบซีรีส์วายไทยน้ำดีให้ดูมีมิติ ทั้งในเชิงบทละคร องค์ประกอบศิลป์ ตลอดการแสดงของตัวละครที่เข้มข้น สร้างฐานผู้ติดตามไว้อย่างแน่นหนา ส่งผลให้ ‘แมนสรวง’ ผลงานล่าสุดของค่าย Be On Cloud ได้รับกระแสดีไม่ตกมาตั้งแต่เนิ่นๆ กลายเป็นหนังไทยที่น่าจับตามองอีกเรื่องหนึ่ง

ความน่าสนใจในหลายมิติของ ‘แมนสรวง’ จากเบื้องหน้าที่เราเห็นผ่านโปสเตอร์และทีเซอร์หนังที่ถูกปล่อยออกมา สู่การแหวกหลังม่านเข้าไปพูดคุยกับผู้ร่วมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ครูหนิง-ผศ.ดร.พันพัสสา ธูปเทียน หนึ่งในทีมกำกับ ผู้เป็นบุคคลสำคัญของการละครไทย และเบื้องหลังความสำเร็จของ Kinn Porsche (ด้านการแสดง) มาแชร์ถึงกระบวนการทำงานในฐานะผู้กำกับกับโปรดักชั่นและนักแสดงให้ชาวแอลเมนได้เพิ่มอรรถรสกันก่อนไปชม ‘แมนสรวง’ ที่โรงภาพยนตร์ใกล้บ้าน

ELLE MEN: จุดเริ่มต้นในโปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่อง ‘แมนสรวง’ มีที่มาอย่างไรบ้าง

ครูหนิง: โปรเจกต์เกิดขึ้นมาจากปอนด์ – กฤษดา ผู้ก่อตั้ง Be On Cloud และผู้สร้าง Kinn Porsche the series เป็นคนชวนว่าหลังจากเราทำ Kinn Porsche จบแล้ว เราน่าจะลองทำหนังกันดู เพราะภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ท้าทาย ทำไม่ง่าย แต่ก็สามารถสื่อสารออกไปได้ไกล เราอยากเล่าเรื่องในแบบของเราให้คนทั่วโลกได้ดู วันหนึ่งปอนด์ VDO call มาเปิดกล้องก็เห็นว่าอยู่ที่วัดโพธิ์ เขาบอกว่าทำหนังเกี่ยวกับยุคสยามโบราณไหม เราก็ชอบเลย น่าสนใจมาก ยุครัชกาลที่ 3 มีอะไรให้ค้นหาเยอะ มีพื้นที่ให้เราจินตนาการได้มากเพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังมีไม่มากเท่ายุครัตนโกสินทร์ตอนปลายและเป็นยุคที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ค่านิยมต่าง ๆ มากขึ้น คล้ายๆกับยุคสมัยปัจจุบันของเราคิดว่าผู้ชมสามารถเชื่อมโยงได้และสะท้อนอะไรในยุคสมัยของเราได้เป็นอย่างดี

ELLE MEN: เล่าถึงช่วงการเตรียมตัวก่อนการเปิดกองถ่ายมีอะไรบ้าง และมีความท้าทายอย่างไร

ครูหนิง: เราเริ่มจากการพัฒนาบท ซึ่งก็มีการรื้อแบบล้มกระดานกันไปหนึ่งรอบ เพราะพอคิดโครงเรื่องออกมาแล้ว รู้สึกว่าทีมบทยังติดอยู่กับกรอบที่อยากจะสร้างงานที่เป็น soft power ให้กับประเทศ แต่พอเรามานั่งคุยกัน ก็คิดว่า ไม่ใช่สิ เราต้องเล่าเรื่องที่เราอยากเล่ามากกว่าเรื่องที่ควรจะเล่า จากนั้นเราก็สนุกกันมากกับการทำบท แล้วก็นำบทมาคุยกับทีมต่าง ๆ ในช่วง pre-production ซึ่งความท้าทายในช่วงนี้คือการทำให้บทออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เราถกเถียงกันเยอะมาก ถือว่าเป็นช่วงที่เข้มขึ้น ตึงเครียดแต่ก็สนุกมาก ๆ เพราะทุกคนทุ่มเทมากจริง ๆ

ELLE MEN: ความท้าทายในการถ่ายทอดความสัมพันธ์ของตัวละครหลักที่เป็นผู้ชายใน ‘แมนสรวง’

ครูหนิง: เราพยายามทำความเข้าใจบริบทของคนในยุคสมัยนั้นผ่านข้อมูลต่าง ๆ และนำมาจินตนาการต่อว่าภายใต้สถานการณ์และค่านิยมเหล่านั้น คนในยุคสมัยนั้นจะมีความรู้สึกนึกคิดยังไง แน่นอนว่าตัวละครผู้ชายย่อมมีอิสระในชีวิตมากกว่าผู้หญิงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเรื่องจึงเดินเรื่องด้วยผู้ชาย แต่เราก็พยายามสอดแทรกมุมของเพศหญิงที่เป็นมิติสำคัญของสังคมเข้าไปด้วยในมุมของความเป็นชายในยุคสมัยนั้นก็มีข้อจำกัดและความกดดันบางอย่างเช่นกันที่น่าสนใจ ซึ่งเราก็นำมาใช้สร้างตัวละครผู้ชายต่างๆ ในเรื่อง

ELLE MEN: การที่ได้ ‘มาย’ และ ‘อาโป’ มาเป็นนักแสดงนำ จะทำให้ ‘แมนสรวง’ จะเป็นภาพยนตร์ ‘วาย’ ตามที่หลายคนคาดหมายหรือไม่

ครูหนิง: คิดว่าไม่ค่ะ คือเราตระหนักว่าคนดูส่วนหนึ่งจะมีภาพจำในบทที่มายและอาโปเคยเล่นมา เพราะเขาทำได้ดีมาก แต่ความท้าทายของนักแสดงคือการทำให้ตัวเองกลายเป็นตัวละครตามที่บทเขียนไว้ ฉัตรกับเขม มีความแตกต่างจากคินน์พอร์ซอยู่พอสมควร และทั้งคู่ก็ทำการบ้านอย่างหนัก หลังจากที่ถ่ายทำไปเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็เชื่อว่าคนดูจะเห็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ เห็นมาย อาโปในเวอร์ชันที่อยู่ในแมนสรวงที่ต่างจากคินน์พอร์ซแน่นอนค่ะ

ELLE MEN:ในฐานะผู้กำกับได้มีการทำการบ้านกับนักแสดงและทีมงานอย่างไรบ้าง

ครูหนิง: ก็ได้มีการนำเสนอมุมมองที่เรามีต่อการเล่าเรื่องในทีมงานและนักแสดงฟัง ซึ่งพอเราอยู่ในทีมบทด้วย ภาพเราก็จะชัดมาก เวลาทำงานจึงพยายามฟังมุมมองของทีมงานและนักแสดงให้เยอะ ก็ช่วยให้เราเห็นมุมมองที่หลากหลายขึ้นค่ะ กับทีมงานก็จะมีการแชร์ข้อมูลให้กันดูเพราะเราทำหนังพีเรียด ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญ กับนักแสดง เราจะตั้งกรุ๊ปไลน์ของนักแสดงเพื่อแชร์ข้อมูล รูปภาพต่าง ” รวมถึงให้เขาทำงานกับตัวละครเช่นการเขียน diary ตัวละครตั้งแต่เด็กจนโต การสัมภาษณ์ตัวละคร การทำ improvisation (ด้นสด) เหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในชีวิต รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ทั้งหมดนี้ก็ช่วยให้นักแสดงสามารถสร้างตัวละครในแบบของตัวเองออกมาได้มีมิติขึ้นค่ะ

ELLE MEN: องค์ประกอบใดในภาพยนตร์ ‘แมนสรวง’ ที่อยากให้คนดูโฟกัส

ครูหนิง: อย่างแรกคงเป็นบทเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คนดูเข้าใจเรื่องราวของแมนสรวง จากนั้นก็เป็นการแสดงและการเล่าเรื่องด้วยมุมกล้องและองค์ประกอบศิลป์รวมถึงการตัดต่อค่ะ จะว่าไปก็คงทุกองค์ประกอบค่ะเพราะเราพยายามเล่าเรื่องผ่านทุกองค์ประกอบให้ได้มากที่สุด

ELLE MEN: การตีความในภาพยนตร์มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับสังคมปิตาธิปไตยของช่วงรัชกาลที่ 3

ครูหนิง: ด้วยบริบทในยุคนั้น ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสังคมจะถูกขับเคลื่อนด้วยเพศชาย ซึ่งในหลายมิติก็จะเห็นว่ามันก็ทำให้เพศชาย ถูกกำหนดบทบาทไว้ค่อนข้างตายตัว รวมถึงระบบชนชั้นที่ถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เรื่องแมนสรวงก็พยายามให้คนดูได้เห็นถึงการแบ่งชนชั้นที่หลากหลาย ทั้งข้อดีข้อด้อยของสังคมในลักษณะนี้

ELLE MEN: ความท้าทายในการสื่อสารเรื่องราวไทยพีเรียด ‘แมนสรวง’ ให้ชาวต่างชาติเข้าใจ

ครูหนิง: ทุกคนในทีมเห็นตรงกันว่าเราจะไม่พยายามยัดเยียดข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์เข้าไปในหนัง เพราะเราไม่ได้ทำหนังสารคดี แต่เราจะพยายามทำให้คนดูต่างวัฒนธรรม ต่างยุคสมัยเข้าใจบริบทของแมนสรวงและของตัวละครทุกตัว ซึ่งแน่นอนว่าระดับความเข้าใจย่อมแตกต่างกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการเล่าเรื่องทุกเรื่อง โจทย์ของเราคือทำให้คนดูเข้าใจโลกของแมนสรวงพอที่จะติดตามเรื่องและเข้าใจความรู้สึกของตัวละคร ส่วนในระดับที่ลึกกว่านั้น ถ้าคนดูสนใจและไปค้นคว้าเพิ่มก็จะเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยมากขึ้น ซึ่งก็เป็นกลไกของ soft power ที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้นค่ะ

ELLE MEN: การนำ “นาฏศิลป์ไทย’ มาใช้ในภาพยนตร์ ‘แมนสรวง’ มีความพิเศษอย่างไรในการเล่าเรื่อง

ครูหนิง: นาฏศิลป์ไทยในเรื่องแมนสรวงมีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนตัวละคร เพราะเราอยากนำเสนอในแบบที่แยบยล เป็นธรรมชาติการทำงานของเราคือ เราเป็นเป็นครูด้านศิลปะการละครอยู่แล้ว ก็พอมีความรู้เรื่องละครไทย เราก็จะเลือกเรื่องและตอนที่เหมาะสมกับบทแต่ละช่วง และปรึกษาครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลป์และดนตรีไทยทั้งฝั่งศิลปินและนักวิชาการ ช่วยกันสร้างสรรค์ออกมา ซึ่งถ้าเป็นละครในผู้ชาย เราก็จะยึดตามขนบ เพราะนั่นคือสิ่งที่ตัวละครในเรื่องเขาคิดแบบนั้น แต่พอเป็นละครนอกหรือการแสดงอื่น ๆ เราก็จะพยายามสร้างสรรค์ตามมุมมองของตัวละครในเรื่อง ก็ต้องถือว่าเราโซคดีที่ศิลปีนและครูทุกท่านสนุกไปกับเราด้วยค่ะ

ELLE MEN: ‘แมว’ และ ‘นกยูง’ ที่ปรากฏในทีเซอร์และโปสเตอร์มีความหมายอย่างไรในการตีความของการกำกับ

ครูหนิง: เราพยายามมองผ่านมุมมองของตัวละครและบริบทของสังคม และเชื่อว่าเขาจะเลือกเลี้ยงแมว และไช้นกยุงเป็นสัญลักษณ์ของแมนสรวงค่ะ ส่วนเหตุผลคืออะไร ก็อยากให้คนดูลองตีความกันดูค่ะ

อ่านเพิ่มเติม: ไขความลับหลังม่าน ‘แมนสรวง’ กับ 4 นักแสดงนำด้วยคำถามจากแฟนๆ ทางบ้าน

Similar Articles

More