ไม่กี่วันที่ผ่านมามีการตั้งกระทู้น่าสนใจบนเว็บบอร์ดดัง “กระบอกใส่น้ำแบบนี้ สมัยนั้นเค้าเรียกอะไรครับ?” เป็นกระทู้แนวนอสตัลเจีย (nostalgia) ที่ชวนให้คนเจเนอเรชั่นหนึ่งเห็นแล้วก็อดที่จะถวิลหาอดีตเสียไม่ได้ จนแฟนเพจดังที่นำเสนอเกี่ยวกับไอเทมและเรื่องราวในวันวานต่างหยิบนำไปเสนอต่อ และถูกแชร์เป็นวงกว้าง บ้างก็มีคนคอมเมนต์เรียกว่า “ป๋องนมตราหมี” เพราะเคยใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ของนมผงเจ้าดังในตำนาน และคนเจเนอเรชั่นก่อน Gen-Alpha คุ้นตากันเป็นอย่างดี บ้างก็เรียก “กระป๋องน้ำเย็น” เพราะมีหลายบ้านที่นิยมนำกระป๋องแบบนี้ไปใส่น้ำดื่มแช่เย็น แต่หากเป็นสายแฟชั่นและความงามก็เรียกมันว่า “ป๋องฌองปอล” เพราะเป็นบรรจุภัณฑ์ของน้ำหอมกลิ่นเลื่องชื่อจากแบรนด์ Jean-Paul Gaultier
ว่าแต่คุณผู้อ่านเรียกมันว่าอะไร? แล้วทราบหรือไม่ครับว่าประวัติศาสตร์ของมันน่าสนใจ ชนิดที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญทำให้กองทัพของจักรพรรดินโปเลียน (Napoléon Bonaparte) ได้รับชัยชนะมาแล้ว
มันคือกระป๋องดีบุก
เจ้ากระบอกตัวต้นเรื่องที่ว่าคือ ‘กระป๋องดีบุก’ (Tin Can) กระป๋องสีเงินเมทัลลิก มีลอนคลื่นแบบลูกระนาดตรงกลางให้จับถนัดมือ ซึ่งถือเป็นของที่ดูธรรมดาดาษดื่นทั่วไปในยุคสมัยหนึ่งแต่ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยได้เห็นกันแล้ว และมีสารพัดชื่อเรียกตามประสบการณ์ร่วมที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน ข้อมูลน่าสนใจจากหลากหลายที่สอดคล้องกันว่าแม้ถูกเรียกว่ากระป๋องดีบุก แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้ถูกทำจากดีบุก เพราะกระป๋องลักษณะนี้ที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ทำจากโลหะหรือเหล็กกล้าแล้วเคลือบผิวชั้นนอกด้วยดีบุกเพื่อป้องกันการกร่อน โดยมีหลักฐานบันทึกไว้ว่าการนำดีบุกมาเคลือบโลหะในลักษณะนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล เดิมทีนั้นเป็นเทคนิคที่ใช้กับการผลิตอาวุธและชุดเกราะของเหล่าช่างชาวโบฮีเมีย ก่อนจะแพร่หลายในในช่วงต้นศตวรรษที่ 17
กระป๋อง Donkin โดย Bryan Donkin คิดค้นขึ้นมาจำหน่ายปี 1811 เพื่อให้ทหาร กะลาสีเรือ และนักสำรวจสามารถนำเสบียงอาหารไปได้ทุกที่
บิดาแห่งการถนอมอาหาร
จนกระทั่งช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มีนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสนาม Nicolas Appert (นีโกลา อาแปร์) ที่ง่วนอยู่กับการคิดค้นเทคนิคการถนอมอาหารแต่ละประเภท ได้ตอบรับข้อเสนอของจักรพรรดินโปเลียนที่จะมอบเงินจำนวน 12,000 ฟรังก์ให้ใครก็ตามที่สามารถคิดค้นวิธีการถนอมอาหารแบบใหม่ๆ จนในที่สุด Nicolas ก็ได้ค้นพบวิธีการถนอมอาหารในขวดแก้ว และใช้วิธีนี้ถนอมอาหารสำหรับทหารในกองทัพของจักรพรรดินโปเลียน แต่เนื่องจากการพกพาขวดแก้วนั้นไม่สะดวก ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนไปใช้เป็นกระป๋องโลหะแทน ด้วยความสำเร็จครั้งนั้น Nicolas Appert จึงได้รับฉายา ‘บิดาแห่งการบรรจุกระป๋อง’
การถนอมอาหารโดยนำไปบรรจุในกระป๋องนั้นเป็นกรรมวิธีที่สามารถถนอมอาหารได้หลากหลายประเภท La Maison Appert (ลาแมซงอาแปร์) ของเขาในเมืองมาซีใกล้กรุงปารีสกลายเป็นโรงงานบรรจุอาหารลงขวดแห่งแรกของโลก และกรรมวิธีถนอมอาหารของเขาได้จุดประกายให้เกิดธุรกิจถนอมอาหารในบรรจุภัณฑ์แบบปิดอีกหลากชนิด ซึ่งต่อมาพ่อค้าชาวอังกฤษนาม Peter Durand (ปีเตอร์ ดูแรนด์) ได้นำกรรมวิธีนี้ไปใช้ แล้วต่อยอดโดยการเปลี่ยนกระป๋องดีบุก และจดสิทธิบัตรการผลิตกระป๋องดีบุกเป็นครั้งแรกในปี 1810
การนำดีบุกมาเคลือบโลหะช่วยทำให้กระป๋องมีอายุใช้ยาวนานมากขึ้น เนื่องจากดีบุกนั้นมีคุณสมบัติถูกออกซิไดซ์ได้ยากกว่าเหล็ก ทำให้ทนต่อการกัดกร่อนอันเกิดจากสารเคมีในอาหารได้ดีกว่าเหล็ก กระป๋องดีบุกได้รับความนิยมเป็นวงกว้างจนกระทั่งช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มีการผลิตกระป๋องที่ทำจากอะลูมิเนียม ซึ่งมีข้อดีทั้งในส่วนของราคาที่ถูกและน้ำหนักเบากว่า ทำให้ความนิยมในการกระป๋องดีบุกลดลงไป แต่ก็ยังคงเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะกับอาหารที่ต้องเก็บไว้เป็นเวลานาน อาทิ ผลไม้กระป๋องและนมข้นหวาน
จากเดิมเมื่อหลายศตวรรษที่แล้ว เจ้ากระป๋องหน้าตาธรรมดาที่ว่านี้ถือเป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่ จนกระทั่งในยุคสมัยหนึ่งได้กลายเป็นของธรรมดาที่ไม่ได้มีความน่าสนใจใดๆ จนกระทั่งวันนี้ที่คุณค่าของมันถูกพูดถึงอีกครั้งในฐานะของ ‘ไอเทมย้อนวัย’ ชวนให้คนเจอเนอเรชั่นหนึ่งนึกถึงความหลัง ชวนกันถกสนั่นว่ามันเรียกว่าอะไร และใครเคยมีประสบการณ์ร่วมเช่นไรกับมัน
ลิซ่ากับเครื่องประดับที่ได้แรงบันดาลใจจากกระป๋องดีบุกจาก Gaultier Paris ใส่ขึ้นแสดงเพลง Lalisa
ทำไม Jean Paul Gaultier จึงเลือกมัน?
อีกคำถามที่คอแฟชั่นมักสงสัยและมีคนถามไว้ ซึ่งผมเคยตอบบนเฟสบุ๊คส่วนตัว ‘ทำไมแพ็กเกจของน้ำหอมชื่อดังจึงเป็นกระป๋องดีบุก?’ … น้ำหอมกลิ่นดังของ Jean Paul Gaultier ที่เพิ่งมีอายุครบ 30 ปีเมื่อปีที่ผ่านมานั้นสร้างเซอร์ไพรส์ให้คนแฟชั่นมาแล้วในปี 1993 เมื่อเขาเลือกออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำหอมกลิ่นแรกของตนเป็นกระป๋องดีบุกหน้าตาธรรมดาดูไม่สมราคาค่าตัว 4 หลัก … แต่นั่นละครับถือเป็น ‘ความกวน Teen’
ความฮือฮาที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้วเกิดจากการคอนทราสต์ระหว่างตัวขวดน้ำหอมและบรรจุภัณฑ์ที่ทำหน้าที่เชื้อเชิญให้ลูกค้าถกกันถึงเรื่องความ ‘Chic’ ว่าเก๋หรือไม่ เพราะในต้นยุค ’90s ที่น้ำหอมแบรนด์ดังยังมีราคาหลักร้อยให้เลือกซื้อ แต่น้ำหอมที่ค่าตัวเกือบ 2 พัน (สำหรับ 50ml.) นั้นมาในบรรจุภัณฑ์ที่ดูถูกไร้ราคา จะเห็นความเลอค่าก็ต่อเมื่อเปิดมาเจอขวดแก้วฝ้ารูปเรือนรางอิสตรีวางอยู่บนฐานอย่างดี จะเข้าตำราว่าอย่าตัดสินกันที่ภายนอกก็ว่าได้ แต่ถือเป็นกวนทีนที่น่าสนใจเมื่อเขาเปลี่ยนสถานะของน้ำหอมให้กลายเป็นผลงานศิลปะชวนถกเช่นเดียวกับ Marcel Duchamp (มาร์แซล ดูว์ช็อง) และยังเชื่อมโยงกับคอลเล็กชั่นแรกๆ ของเฮาส์ในปี 1980 ที่นำกระป๋องมาดัดแปลงเป็นเครื่องประดับ ซึ่งในที่สุดได้กลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของ Jean Paul Gaultier