ด้านมืดของแสงสีฟ้า ภัยใกล้ตัวที่ควรรู้ทัน

Words: Tanupon Sangchote (MD. MSC.) Doctor Gott

จาก Google trends พบว่ามีผู้ที่เข้าไปเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับแสงสีฟ้ามากขึ้นอย่างมาก รวมถึงมีการศึกษาทางการแพทย์เกี่ยวกับผลของแสงสีฟ้าต่อสุขภาพมากขึ้น ปัจจุบันมีสินค้ามากมายที่เคลมว่าสามารถปกป้องคุณจากแสงสีฟ้าได้ ตั้งแต่สกินแคร์ ไปจนถึง เลนส์แว่น ฟิล์มติดหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ  ในปี 2020 มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์ที่เคลมเรื่องการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าสูงขึ้นถึง 170%

แสงสีฟ้าคืออะไร?

แสงสีฟ้าเป็นช่วงคลื่นแสงที่สายตามองเห็นได้ มีความยาวคลื่นประมาณ 400-500 นาโนเมตร ส่วนแสงขาวที่เรามองเห็นทั่วไปมีความยาวคลื่นที่ 380-700 นาโนเมตรครับ ส่วนรังสี UV ซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าไม่ดีต่อผิวนั้น มีความยาวคลื่นที่ประมาณ 100-400 นาโนเมตร โดย UVC มีความยาวคลื่นสั้นที่สุดคือ 100-280 นาโนเมตร ยาวขึ้นมาหน่อยคือ UVB มีความยาวคลื่น 280-315 นาโนเมตร และ UVA 315-400 นาโนเมตร ด้วยความยาวคลื่นที่สั้นของแสงสีฟ้า จึงทำให้เป็นช่วงแสงที่มีพลังงานสูง (High-Energy Visible Light) จำง่าย ๆ ว่า ยิ่งความยาวคลื่นสั้น ยิ่งพลังงานสูงครับ

แหล่งที่มาหลักของแสงสีฟ้าคือแสงแดด แหล่งที่มาอื่น ๆ คืออุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ เช่น smartphone, computer, laptop, tablet, TV และหลอดไฟ จะเห็นว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เจอแสงสีฟ้าในชีวิตประจำวัน

ผลของแสงสีฟ้าต่อผิว

แสงสีฟ้าทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่ผิว ทำให้เกิดความเสียหายต่อชั้นผิว คล้ายกับเวลาที่ผิวเจอรังสี UV ครับ แต่เนื่องจากแสงสีฟ้ามีความยาวคลื่นที่ยาวกว่ารังสี UV จึงทำให้แสงสีฟ้าสามารถผ่านชั้นผิวได้ลึกกว่ารังสี UV และส่งผลให้เกิดการทำงานผิดปกติระดับเซลล์ รวมถึงทำให้เกิดการความเสียหายต่อสารพันธุกรรม (DNA) ซึ่งนำไปสู่ความชราของผิวจากแสง (Photoaging) และการอักเสบของผิวหนัง

แสงสีฟ้าทำให้เกิดภาวะเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidative Stress) ส่งผลให้สารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายลดลง นอกจากนี้ยังไปกระตุ้นการสร้างเม็ดสี ทำให้ผิวคล้ำ นำไปสู่การเกิดฝ้า และจุดด่างดำได้ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการสร้างเม็ดสีผ่านโปรตีน Opsin-3 ซึ่งอยู่ในเซลล์เม็ดสี (Melanocyte) ซึ่งกระบวนการนี้แตกต่างจากกลไกทำร้ายผิวโดยรังสี UV ครับ

นอกจากนี้แล้วแสงสีฟ้ายังส่งผลเสียต่อผิวโดยไปกระตุ้นเอนไซม์ Matrix Metalloproteinases (MMPs) ที่ทำหน้าที่ย่อยคอลลาเจนและอีลาสตินแถมยังบล็อกการซ่อมแซมสร้างใหม่อีกด้วยครับ

เห็นด้านมืดของแสงสีฟ้าแบบนี้แล้ว อย่าลืมปกป้องผิวจากแสงด้วยการทากันแดดอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธีนะครับ แม้ในวันที่อากาศครึ้ม ก็ยังมีทั้ง UV แสงสีฟ้าจากท้องฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมถึงการใช้ filter ที่ช่วยกรองแสงสีฟ้าครับ

ไม่ใช่แค่ผิวที่โดนทำร้าย

นอกจากผลเสียต่อผิวแล้ว แสงสีฟ้ายังส่งผลเสียต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ อีกนะครับ เช่น กดการหลั่งเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เรารู้สึกง่วงนอน ส่งผลเสียต่อคุณภาพการนอนหลับ อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อจอประสาทตาอีกด้วยครับ รู้แบบนี้แล้วเพื่อสุขภาพดวงตาที่ดีและการนอนที่มีคุณภาพ การไม่เล่นมือถือก่อนนอนน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าครับ

Similar Articles

More